เปิดกรุ ! ศิลปินกับยาเสพติด...ศิลปินนอกติดชีวิตดับ ศิลปินไทยติดอนาคตดับ !!!

 

 

 


หลังจากที่มีภาพคนหน้าเหมือน นายเสกสรร สุขพิมาย หรือ เสก-โลโซ ร็อค สตาร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ในอิริยาบทเหมือนกำลังเสพยา หลุดออกมาทางเฟซบุ๊ค โดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นภรรยาเก่าของเสก ที่ทนพฤติกรรมของเขาไม่ไหว จึงปล่อยภาพนี้ออกมา


ภาพนี้จึงกลายเป็นประเด็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ทันที...หลายคนวิจารณ์ว่า การทะเลาะกันเช่นนี้ ไม่สมควรนำมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ เพราะจะมีผลกระทบต่อตัวศิลปินเองและลูกๆของพวกเขา 


แต่ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันก็คือ ตกลง "ยาเสพติด" กับ "ดนตรี" โดยเฉพาะดนตรีร็อค ที่มีคอนเซ็ปว่า "เซ็กซ์ ยา ร็อค แอนด์ โรล" คือต้นกำเนิดในการสร้างงานดีๆจริงหรือ ?  เพราะเท่าที่ผ่านมา มายาคติเช่นนี้ ทำให้ศิลปินหลายคน "ดับ" ทั้งชีวิตและอนาคตมานักต่อนัก




ศิลปินนอกติดยา... ชีวิต "ดับ"


 
หนึ่งในข่าวดังของวงการบันเทิงระดับโลก เมื่อกลางปีพ.ศ. 2554 คงจะหนีไม่พ้นกรณีเสียชีวิต ของเอมี ไวน์เฮาส์ นักร้องเพลงโซล ชื่อดังชาวอังกฤษ ที่เสียชีวิตในวัย 27 ปี สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินเสียชีวิตจากการเสพยา...


ในแวดวงดนตรีนอก ดนตรีถูกผูกติดกับภาพของยาเสพติดมาตั้งแต่ยุคบุปผาชน(ยุค 60-70) เต็มไปด้วยสีฟุ้งๆแบบไซคีเดลิก อันมีแรงบันดาลใจมากจากการเสพยาเสพติดที่เรียกว่า แอลเอสดี ภาพจำในยุคนั้นคงเป็นเรื่องของสงครามเวียดนามและเทศกาลดนตรีวู้ดสต็อก(ปี ค.ศ.1969 , พ.ศ.2512)


ต่อมาในยุคทศวรรษที่ 80-90 จึงเข้ามาสู่ยุคโคเคน เฮโรอีน และต่อมามียาเสพติดอย่าง ยาบ้า ยาอี และยาไอซ์ ตามมาเป็นลูกคลื่นอย่างต่อเนื่อง จะโดยภาวะกดดันจากความเป็นซุปเปอร์สตาร์หรือการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานก็แล้วแต่ แต่การใช้สารเสพติดในหมู่ศิลปิน ทำให้ชีวิตของพวกเขา "ดับ" ก่อนวัยอันควรมานักต่อนัก


ศิลปินระดับตำนานที่สงสัยว่า เสียชีวิตจากการเสพยาเสพติด ซึ่งน่าแปลกใจว่า ศิลปินส่วนใหญ่จะเสียชีวิตตอนอายุ 27 ปี ได้แก่


รูดี้ ลิวอิส (เสียชีวิตปี 2507) นักร้องผิวสีแนวอาร์แอนด์บี จากวงอเมริกันนาม "ดริฟเทอร์ส" ว่ากันว่าเขาเสียชีวิตเพราะเสพยาเกิดขนาด


 ไบรอัน โจนส์(เสียชีวิตปี 2512) มือกีต้าร์ในยุคแรกเริ่มของวงร็อคชื่อดังอย่าง โรลลิ่ง สโตนส์ เสียชีวิตที่สระน้ำที่บ้านของเขาเอง สาเหตุการตายของเขาบ้างก็ว่า จมน้ำเพราะอุบัติเหตุ ดื่มสุรา และเสพยา


 จานิส จ็อพลิน (เสียชีวิตปี 2513) นักร้องนำของวงบิ๊กบราเท่อร์แอนด์เดอะโฮลดิ้งคอมปะนี เสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด


 จิม มอร์ริสัน (เสียชีวิตปี 2514) นักร้องนำและผู้แต่งเนื้อเพลงให้กับวงดัง "เดอะ ดอร์ส" ที่มีเพลงดังอย่าง Light My Fire นี่ก็เสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด


 เคิร์ท โคเบน (เสียชีวิตปี 2537) ตำนานศิลปินกรันจ์ร็อคแห่งวง "เนอร์วานา" ที่ทนความกดดันในฐานะร็อคสตาร์ไม่ได้ จนต้องปลิดชีพตัวเองด้วยการลั่นปืนเข้าที่ศีรษะ เมื่อชันสูตรศพยังพบเฮโรอีนและยานอนหลับในร่างกายของเขาด้วย


 คริสเตน มารี พาฟฟ์ (เสียชีวิตปี 2537) มือเบสหญิงแห่งวง "โฮล" เสียชีวิตจากการเสพฝิ่น

 

 



ศิลปินไทยติดยา...อนาคต "ดับ" 


ส่วนทางฝั่งศิลปินไทย หากข้องเกี่ยวกับ ยาเสพติด บอกได้คำเดียวว่า อนาคตทางด้านบันเทิงที่กำลังรุ่งโรจน์ จะต้องดับลงแบบไม่ต้องสืบ
 
รายแรกที่มีเรื่องเกี่ยวพันกับยาเสพติด คือ นักร้องดังในอดีตนามว่า ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง


ทัช แจ้งเกิดในยุคที่กระแสป๊อบแดนซ์ ผสมแร็พกำลังมาแรง โดยทางฝั่งแกรมมี มีเจ-เจตริน วรรธนะสิน เป็นซุปเปอร์สตาร  ทางฝั่งอาร์เอสจึงเข็นทัชขึ้นแท่นซุปเปอร์สตาร์ในพ.ศ.2533 ในอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า "สัมผัสทัช" หลังจากนั้นก็ออกอัลบั้มต่อมา อย่าง "ทัช ธันเดอร์" "มหัศจรรย์" และ"ทัช V-4" ซึ่งทั้ง 3 อัลบั้มถือเป็นอัลบั้มสร้างชื่อของศิลปินหนุ่ม(ในตอนนั้น) ผู้นี้  หลังจากนั้นเขาก็มีทั้งหนังใหญ่และละครจนเรียกได้ว่าเป็นดาราคิวชุกคนหนึ่ง


จนเมื่อปีพ.ศ. 2540 เขาถูกจับในคดียาเสพติด...แล้วในปีต่อมา แม้ว่าเขาจะไม่ได้ต้องโทษใดๆ แต่กรณีพัวพันในเรื่องยาเสพติด ทำให้งานเพลงของเขาในอัลบั้มอัลบั้มชุดที่ 5 "ทัช ไซโคลน" ถูกแบนห้ามออกอากาศ


ในขณะที่ เจ-เจตริน ก็ยังโลดแล่นอยู่ในเส้นทางบันเทิงอย่างแรงดีไม่มีตก ล่าสุดทำกิจกรรมอาสาในภาวะน้ำท่วมอย่างเต็มกำลัง


 แต่สำหรับ ทัช แม้จะทำงานเพลงต่อ แต่ก็ไม่โด่งดังเท่าที่ควร จนเบนสายไปร้องเพลงลูกทุ่งแทน บวกกับงานแสดงละครอีกประปราย


 จนเรียกได้ว่า ปรากฏการณ์ "มหัศจรรย์" ของเขาจบลงแล้ว



คนต่อมาคือ ต๊ะ-ฌานิศ ใหญ่เสมอ เจ้าของฉายาแหบเสน่ห์แห่งวงบอยแบนด์ สัญชาติไทย "บอยสเก๊าท์"


 วงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อาร์เอสหมายมั่นปั้นมือที่จะปั้นศิลปินในรูปลักษณ์บอยแบนด์อย่างจริงจัง


 "บอยสเก๊าท์" ซึ่งมีสมาชิกในวงที่ประกอบไปด้วย ต๊ะ-ฌานิศ ใหญ่เสมอ โจ-ธเนศ ฉิมท้วมจึง และดิ๊บ-ธนพงศ์ คล้ายพงศ์พันธ์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2536 ในชื่ออัลบั้ม "บอยสเก๊าท์ไว้ลายไม่ใช่เล่น" ที่มีเพลงดังอย่าง ปอดปอด, คิกขุ อาโนเนะ และ ขอคืน


 ในฐานะที่เป็นศิลปินที่ค่อนข้างจะเด่นที่สุดในวง จึงทำให้ต๊ะ มีงานภาพยนตร์ดีๆให้เล่นอย่างไม่ขาดมือ และงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาคือเรื่อง "เด็กเสเพล" ที่ได้รับรางวัลรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 6 ประจำปี 2539


 แต่หลังจากที่ ต๊ะ มีข่าวว่าติดยา แม้ว่าภายหลังจะถูกตัดสินว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง "บอยสเก๊าท์" จึงต้องยุบวงไปเมื่อปี 2539


 ทำให้งานในสายบันเทิงของเขาลดน้อยลง เท่าที่เห็นก็มีงานละครที่จะโผล่มานานๆครั้ง และงานเพลงเดี่ยวที่ทำกับค่ายแกรมมีเมื่อปี 2548 ในชื่ออัลบั้ม "ความหวัง กำลังใจ" ซึ่งก็ไม่มีใครพูดถึงมากนัก


 ยุคของบอยแบนด์แบบ "บอยสเก๊าท์" จบไปนานแล้ว


 แต่ทุกวันนี้ อาร์เอสเขาก็มีบอยแบนด์ยุคใหม่ อย่าง "กามิกาเซ่" มาแทนที่

 

 



ยุคที่เจ-ร็อคเริ่มเข้ามาตีตลาดเมืองไทย อย่าง ลาร์คอองเชียล และ ลูซิเฟอร์ ในยุคประมาณปี 2543-2545 

 ทางแกรมมี่ได้ปั้น “แพท-วรยศ บุญทองนุ่ม" ในฐานะนักร้องนำวง “พาวเวอร์แพท” ในมาดหนุ่มหล่อเจร็อค เพลงดังของเขาก็คือ "หลุดปากใช่ไหม"


 แพท อยู่ในวงการบันเทิงแบบเงียบเชียบ จนดือนพฤศภาคม ปี 2547 เขาถูกจับด้วยข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย


 เส้นทางในสายบันเทิงของเขาจบลงแค่นั้น เพราะนโยบายของบริษัทต้นสังกัดอย่างแกรมมี หากศิลปินคนใดเกี่ยวพันกับยาเสพติด จะถูกตัดชื่อออกจากการเป็นนักร้องของแกรมมีทันที


 ชีวิตที่ต้องเดินต่อไปของนักร้องหนุ่มต้อง คือการรับโทษจำคุก 50 ปี ( ลดมาจากการประหารชีวิต ) ปรับอีกเป็นเงิน 1 ล้านบาท


 ซึ่งถึงตอนนี้ ผ่านไป 7 ปีแล้ว ดูเหมือนแพทกำลังเรียนรู้ชีวิตที่เคยพลั้งผิดไป ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ขณะอยู่ในเรือนจำ ซ้อมเล่นดนตรี และที่สำคัญ เขาเรียนจบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิตของ มสธ. ให้ครอบครัวได้ภูมิใจอีกด้วย


 สังคมให้โอกาสผู้ที่เคยหลงผิดเสมอ...

 

 


ในยุคที่เซ็นเตอร์ พ้อยน์ ยังอยู่แถวสยามฯ ไม่ได้ย้ายไปที่เซ็นทรัลเวิร์ลด "ไทรอัมพ์ส คิงดอม" วงเกิร์ลแบนด์ผลผลิตจาก โดโจ ซิตี้ สังกัดย่อยของค่ายเพลง "เบเกอรี มิวสิก" คือศิลปินที่ปลุกกระแสแฟชั่นหวือหวาแบบสาวญี่ปุ่น


 สองสาว โบ-สุรัตนาวี สุวิพร และ จ๊อยซ์-พรพรรณ รัตนเมธานนท์ มาพร้อมกับเพลงร้องง่ายสไตล์สาวข้างบ้านก็ร้องได้ อย่างเพลง "อยู่นาน ๆ อีกนิด","ผ้าเช็ดหน้า","ถอด","อ้วน","ล่ำบึ้ก" และ "อย่าเข้าใจฉันผิด"


 เพลงเหล่านี้ กลายเป็นเพลงดังที่เด็กที่มาเรียนพิเศษแถวสยามเก็บไปร้องตาม...


 แต่ยุครุ่งเรืองของ ไทรอัมพ์ส คิงดอม จบลงไปในเวลาที่ไล่เลี่ยกับตอนที่เบเกอรี่ มิวสิคอยู่ในสังกัดของโซนี มิวสิค


 ไทรอัมพ์ส คิงดอม แยกวงกัน และหลังจากนั้นอีกไม่นาน เมื่อปลายปี 2547 จอยซ์ก็โดนจับมียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทำให้เธอต้องถูกจำคุก 30 กว่าปี

 

 



ในปี 2553 นักรบ แนวณรงค์ หรือ เดียร์ นักร้องนำแห่งวง "อะคาเปล่า เซเว่น" ถูกจับในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง คือยาไอซ์และโคเคน ซึ่งเจ้าตัวสารภาพว่า เสพมานานตั้งแต่ปี 2542


 สำหรับวง "อะคาเปล่า เซเว่น" การรวมตัวกันของนักศึกษา ภาควิชาดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ ที่ร้องเพลงประสานเสียงแทนเสียงดนตรี มีผลงานอัลบั้มแรกกับค่ายอาร์เอส เมื่อปี 2545 เพลงดังของวงนี้คือ Dog, เธอคนเดียว, ดึก และ ตุ่ม ในระยะหลัง งานของวงดูเงียบๆไป ทุกคนแยกย้ายไปทำงานเบื้องหลัง ยกเว้นก็แต่เดียร์ ที่พอจะมีอีเว้นต์ออกงานกับเขาบ้าง


 นักร้องหนุ่ม เข้ารับการบำบัด และขอโทษต่อสังคม พร้อมทั้งสัญญาว่าจะประพฤติตัวเป็นพลเมืองดี

 

ขอบคุณที่มาของภาพและข่าว


hthttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322992499&grpid=01&catid=&subcatid=

5 ธ.ค. 54 เวลา 12:05 9,902 8 180
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...