สำรวจห้องสมุดอเมริกา...ตามรอยพระไตรปิฎกสมัย ร.5

 


 “ขอบ คุณมากครับ” เป็นเสียงของ วิล หนุ่มนักศึกษาปริญญาโทที่เอ่ยกับ แลรี่ แอชมัน บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ขณะรับหนังสือเล่มเขื่องที่มีตัวอักษรภาษาไทยบนปก พร้อมกับรอยยิ้มพึงใจที่สามารถหาข้อมูลไปประกอบการศึกษาค้นคว้าของเขาได้ตาม ต้องการ...

หนังสือ เล่มที่ว่านี้คือเอกสารรายงานโครงการศึกษาความต้องการแรงงานที่แท้จริงและ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร ประมง กิจการต่อเนื่องจากประมง และกิจการก่อสร้าง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ 

เป็น เรื่องน่าทึ่งไม่น้อยที่ผู้คนในอีกซีกโลกหนึ่งสามารถค้นหาหนังสือภาษาไทย เพื่อศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายจากหอสมุดในอเมริกา

แต่ ข้อมูลที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือแค่หอสมุดแห่งนี้แห่งเดียว จากการสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2552 มีหนังสือภาษาไทยอัดแน่นอยู่บนชั้นวางหนังสือให้นักศึกษาได้หยิบยืมไปหาความ รู้ถึง 12,084 เล่ม และเพิ่มจำนวนขึ้นราวปีละ 400 เล่มทุกปี ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมหนังสือภาษาอื่นที่เขียนถึงประเทศไทยอีกมากมายมหาศาล
 และ ที่สำคัญยังมีพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทั้งชุด อายุเก่าแก่กว่าร้อยปี รอบรรจุใน Special Collections ของหอสมุดแห่งความทรงจำแห่งนี้อีกด้วย

 

เส้นทางหนังสือไทยก่อนขึ้นหิ้ง

หอ สมุดเมมโมเรียล (Memorial Library) คือหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในรัฐเกษตรกรรมอันเงียบสงบชื่อเดียวกับชื่อมหาวิทยาลัยในเขตมิด เวสต์ของสหรัฐอเมริกา

หอ สมุดเมมโมเรียลประกอบด้วยอาคารเก่าและอาคารที่ต่อเติมขึ้นใหม่ ส่วนที่สูงที่สุดมีถึง 9 ชั้น มองจากหน้าต่างจะเห็นวิวทะเลสาบเมนโดทาอันงดงาม ซึ่งเมนโดทาคือหนึ่งในห้าทะเลสาบของเมืองแมดิสัน เมืองหลวงของรัฐวิสคอนซิน

ทั่ว ทั้งมหาวิทยาลัยมีหอสมุดน้อยใหญ่กระจายอยู่ตามคณะต่างๆ รวมแล้วถึง 42 แห่ง แต่ “เมมโมเรียล” มีสถานะเป็น “หอสมุดกลาง” โดยในอาคารเดียวกันยังมีหอสมุด ภาพยนตร์ หรือ Microforms & Media Center อยู่บนชั้น 4 มีภาพยนตร์ไทยเรื่อง “แฟนฉัน” อยู่ในคอลเลคชันด้วย และยังมีหอสมุดดนตรี หรือ Mills Music Library อยู่ในชั้นใต้ดิน เอาไว้บริการผู้ที่ร่ำเรียนทางด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์

 

และแน่นอน...หอสมุดเมมโมเรียลคือ “คลังสมองไทย” สำหรับนิสิตนักศึกษาที่สนใจ ไม่ว่าจะอ่านภาษาไทยได้หรือไม่ก็ตาม

“มหาวิทยาลัย เริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทยและหนังสือภาษาไทยเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ตอนนั้นยังไม่มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเมืองไทยมากนัก แต่เมื่อต้องการศึกษาโลก ก็ต้องมีหนังสือจากทุกชาติทุกภาษา” แลรี่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “คลังสมองไทย” ในหอสมุดเมมโมเรียล

 

สำหรับ ตัว แลรี่ เองเข้ามารับงานที่นี่เมื่อปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) เป็นบรรณารักษ์ที่ดูแลหนังสือในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย สาเหตุที่เขาได้รับเลือกให้ทำงานนี้ เนื่องจากแลรี่พูดภาษาไทยได้ เคยอยู่เมืองไทย และทำงานกับมหาวิทยาลัยพายัพ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ตั้งแต่ ผมเข้ามา ทำให้โอกาสของหนังสือไทยที่จะเข้าสู่หอสมุดเมมโมเรียลมีมากขึ้น เพราะผมรู้ภาษาไทย หน้าที่ของผมจึงไม่ใช่แค่จัดหาหนังสือตามระบบปกติเท่านั้น แต่ยังสามารถแนะนำเพิ่มเติมกับทางหอสมุดได้ด้วยว่าควรหาหนังสือจากประเทศไทย เล่มไหนมาขึ้นชั้นวางหนังสือบ้าง”

แล รี่ เล่าว่า ปัจจุบันนักศึกษาอเมริกันให้ความสนใจเกี่ยวกับเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาในกลุ่มไทยคดีศึกษา ทั้งสอนภาษาไทยโดยตรง สอนวรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ไทย พุทธศาสนา และมนุษยวิทยา มีศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายคน การเสาะแสวงหาหนังสือมาสนองตอบความต้องการของคณาจารย์และนักศึกษาจึงเป็น ภารกิจสำคัญของเขา

“ผม จะสำรวจจากการสอบถามอาจารย์ และพิจารณาจากหนังสือที่เด็กนักศึกษาแสดงความจำนงอยากจะยืม ที่มาของหนังสือก็มีหลายช่องทาง หลักๆ คือสั่งซื้อโดยตรง โดยผมจะเป็นคนหาเองจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ และสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งในประเทศไทย นอกจากนั้นก็รับบริจาค และแจ้งความต้องการผ่านหอสมุดรัฐสภาของสหรัฐซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ด้วย โดยหนังสือที่ได้รับจากช่องทางนี้จะมีรหัสแอลซี ย่อมาจาก Library of Congress”

สำหรับ งบประมาณในการจัดหา เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ จึงมีงบจากรัฐบาลจัดสรรมาให้ผ่านทางมหาวิทยาลัยและศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์

ขณะ เดียวกันรัฐบาลไทยก็เคยให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาที่เปิด สอนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ รวมถึงมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน “ไทยคดีศึกษา” ในสหรัฐ และจัดงบส่วนหนึ่งมอบให้กับห้องสมุด

 

ตามรอยพระไตรปิฎกฉบับ ร.5 

หอ สมุดเมมโมเรียล นอกจากจะเป็น “คลังสมองไทย” เพราะมีหนังสือภาษาไทยอยู่บนหิ้งถึงกว่า 12,000 เล่ม ซึ่งนับว่ามากเป็นลำดับต้นๆ ของหอสมุดในอเมริกาแล้ว ที่หอสมุดแห่งนี้ยังมีหนังสือที่เป็นมรดกล้ำค่าของประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย 

พระไตรปิฎกฉบับนี้มีทั้งหมด 39 เล่ม ค้นพบในหอสมุดเมมโมเรียล 38 เล่ม จากหลักฐานเอกสารที่พอจะค้นหาได้พบว่า มหาวิทยาลัยวิสคอนซินได้รับมอบจากรัฐบาลสยามเมื่อปี ค.ศ.1895 (พ.ศ.2438) หรือ 116 ปีมาแล้ว 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการเรียนการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยสหรัฐ พระไตรปิฎกชุดนี้จึงถูกเก็บไว้บนชั้นวางหนังสืออย่างเงียบสงบและแทบไม่มีใคร เคยทราบมาก่อน กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่มีการสำรวจหนังสือทั้งหมดในหอสมุดเมมโมเรี ยล จึงได้พบหนังสือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตลอดจนความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสองประเทศชุดนี้ 

หากพลิกดูข้อมูลทาง ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกชุดดังกล่าวน่าจะเป็นชุดเดียวกับพระไตรปิฎกที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ.2430 และมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองเมื่อปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี 

จาก ข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าโดย รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว พบว่าหนังสือพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลกนี้ใช้เวลาในการจัดทำนานถึง 6 ปี นับตั้งแต่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริ โดยจัดพิมพ์จำนวน 1,000 ชุด ชุดละ 39 เล่ม หลังจากทำพิธีเฉลิมฉลองในปี พ.ศ.2436 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไปยังสถาบันการศึกษาและ หอสมุดในต่างประเทศถึง 260 แห่ง 

สอดคล้องกับ ข้อมูลเอกสารของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ได้รับหนังสือพระไตรปิฎกจากรัฐบาลสยามเมื่อ พ.ศ.2438 พร้อมๆ กับหอสมุดสาธารณะและหอสมุดของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริการวม 49 แห่ง ผ่านทางกงสุลใหญ่แห่งสยามประจำนครนิวยอร์ค ซึ่งขณะนั้นเป็นชาวต่างประเทศ เมื่อรับมอบมาแล้วก็ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดเมมโมเรียล 

พระ ไตรปิฎกชุดนี้พิมพ์เป็นภาษาบาลี อักษรไทย หุ้มด้วยปกแข็งสีทองอย่างดี มีตราแผ่นดินปั๊มนูนอยู่บนปก และที่แผ่นรองปกมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว ปัจจุบันพระไตรปิฎกทั้งชุดอยู่ใน “โรงพยาบาลหนังสือ” หรือ Preservation Department ของหอสมุดเมมโมเรียล เพื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดไปบ้างตามกาลเวลา

หลัง จากซ่อมแซมเสร็จแล้วคาดว่า พระไตรปิฎกชุดนี้จะได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้อง Special Collections บนชั้นสูงสุดของหอสมุดเมมโมเรียล ซึ่งเอกสารทุกชิ้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ยืมออกไปภายนอก แต่สามารถชมและศึกษาได้ในห้องที่จัดไว้เป็นการเฉพาะเท่านั้น

 

สายพระเนตรอันกว้างไกล
เพื่อความเป็น “ไท” แห่งสยาม

แล รี่ ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ของหอสมุดและได้สัมผัสกับพระไตรปิฎกชุดนี้อย่างใกล้ชิด บอกว่า เขาเองรู้สึกอัศจรรย์ใจที่ได้พบพระไตรปิฎกเก่าแก่ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยที่ ไม่น่าจะมีคนไทยรู้จักในสมัยนั้น เพราะนักศึกษาไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่เท่าที่มีการจดบันทึกไว้ คือ พระช่วงเกษตรศิลปการ(ช่วง โลจายะ) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ ก็จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาสัตวบาลเมื่อ ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) หลังจากมหาวิทยาลัยได้รับพระไตรปิฎกชุดประวัติศาสตร์นานถึง 29 ปี 

แล รี่ วิเคราะห์ว่าการพระราชทานหนังสือพระไตรปิฎกไปยังสถาบันการศึกษาและหอสมุด ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางแห่งเป็นหอสมุดสาธารณะธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ นับเป็นสายพระเนตรอันกว้างไกลของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าสยามคือประเทศศิวิไลซ์ ในยุคที่กำลังถูกคุกคามจากสงครามล่าอาณานิคม

จาก การค้นคว้าข้อมูลของ แลรี่ ยังพบว่า หลังจากได้รับหนังสือพระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ 5 แล้ว มหาวิทยาลัยวิสคอนซินยังได้รับหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าทาง ประวัติศาสตร์จากรัฐบาลสยามอีกถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ.1925 ถึง 1931 (พ.ศ.2468 ถึง 2474) และบางเล่มยังมีจดหมายในพระนามแห่งกษัตริย์สยามแนบอยู่ด้วย

ทัศนะ ของแลรี่ สอดคล้องกับ รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับการจัดทำหนังสืออิเล คทรอนิกส์ หรือ “อีบุ๊ค”เผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5

รศ.ดร.สุภา พรรณ กล่าวเอาไว้ว่า ช่วงที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกและทำพิธีเฉลิมฉลอง ก่อนจะพระราชทานไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลกนั้น เป็นช่วงวิกฤตการณ์ฝรั่งเศสบุกยึดสยามประเทศ การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกชุดนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจในด้าน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว จึงยังเป็นการปกป้องเอกราชของชาติประการหนึ่งด้วย

 

รู้จัก “กฎโรแมนไนซ์” 
และห้องสมุดไทยเชื่อมโลก

แม้ ชั้นวางหนังสือในห้องสมุดจะมีตำรับตำราสาขาต่างๆ มากมาย แต่คงไม่มีประโยชน์อันใดเลยหากไม่รู้วิธีการค้นหรือไม่มีการจัดระบบการค้น ที่ดี

ยิ่ง เป็นระบบการค้นหนังสือภาษาอื่นในห้องสมุดของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษา แม่อย่างอเมริกา การจัดระบบค้นหาจึงถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะระบบการค้นหนังสือภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาที่มีรูปแบบการผสมคำและลักษณะการจัดเรียงประโยคแตกต่างจากภาษา อังกฤษโดยสิ้นเชิง

แล รี่ อธิบายว่า ปัญหาของภาษาไทยคือ word division เพราะไม่ได้แยกเป็นคำๆ เหมือนภาษาอังกฤษ จึงต้องมีโรแมนไนซ์ เทเบิล (Romanization Table) หรือกฎการถอดคำภาษาไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง ซึ่งแต่ละภาษาจะมี โรแมนไนซ์ เทเบิล ของตัวเอง ทว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีกฎมากที่สุดถึง 43 ข้อ

“ที่ ยากที่สุดคือกฎการแยกคำ ก่อนจะถอดคำออกมาเป็นชื่อหนังสืออักษรโรมันเพื่อความสะดวกในการค้น ต้องพิจารณาความหมายของแต่ละพยางค์ด้วยว่ามีความหมายเฉพาะหรือไม่ เนื่องจากคำในภาษาไทยมาจากการผสมคำ บางคำหากนำมาแยกออกจากกันเหมือนภาษาอังกฤษอาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป จึงต้องสร้างกฎขึ้นมา และผู้ที่สนใจค้นหาก็ต้องเข้าใจกฎเหล่านี้เสียก่อน”

แล รี่ ยกตัวอย่างคำว่า “กรมวัง” ถ้าแยกออกเป็น 2 คำคือ “กรม” กับ “วัง” เมื่ออ่านในรูปประโยคอาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป เพราะคำว่า “กรม” ก็มีความหมายอย่างหนึ่ง “วัง” ก็มีความหมายในตัวของมันอีก อย่างหนึ่ง แต่เมื่อรวมกันเป็นคำว่า “กรมวัง” ก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

ขณะ ที่คำบางคำในภาษาไทย แม้จะเขียนและอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่กลับมีหลายความหมาย เช่น คำง่ายๆ อย่าง “หนู” เป็นได้ทั้งสรรพนามแทนตัวเองของผู้หญิง และยังแปลว่า mouse คือหนูในความหมายของสัตว์ชนิดหนึ่งได้ด้วย ฉะนั้นกฎการแยกคำจึงสำคัญมาก หากแยกเพื่อความสะดวกในการค้นหาเป็นภาษาอังกฤษแล้ว จะต้องไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป

นอก จากกฎการแยกคำที่สลับซับซ้อนไม่น้อย ยังมีปัญหาเรื่องการออกเสียงพยัญชนะไทยเทียบเคียงกับเสียงภาษาอังกฤษ เช่น ช.ช้าง กับ จ.จาน ใช้ตัวภาษาอังกฤษ “CH” เหมือนกัน แต่เมื่อเสียงในภาษาไทยต่างกัน จึงต้องสร้างสัญลักษณ์ประกอบ เช่น เครื่องหมาย v บนตัว CH จะหมายถึง จ.จาน แต่ถ้าไม่มีเครื่องหมายนี้ ให้หมายถึง ช.ช้าง เป็นต้น

 

ส่วน วิธีการค้นหนังสือของหอสมุดเมมโมเรียล สามารถค้นได้ทั้งในแบบดั้งเดิมคือ“บัตรรายการ” กับแบบใหม่ที่ใช้ระบบ “ออ นไลน์” โดยการค้นในรูปแบบทันสมัยนี้สามารถคลิกผ่านเว็บไซต์ของหอสมุดตรง ลิงค์ที่เขียนว่า “MADCAT” ซึ่งบางคนล้อเลียนแบบติดตลกว่าหมายถึง “แมว บ้า” แต่จริงๆ แล้วย่อมาจาก Madison Catalogue (มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน)

ระบบการค้น ของ “MADCAT” จะเชื่อมโยงกับระบบ “WORLDCAT” ซึ่งสามารถหาหนังสือจากหอสมุด อื่นๆ ได้ทั่วโลกที่เข้าร่วมในระบบนี้ ผลการค้นโดยปกติจะแสดงผลเป็นตัวอักษรโรมัน (ภาษาอังกฤษ) แต่ระยะหลังมีการพัฒนาระบบกระทั่งสามารถแสดงผลเป็นภาษาไทยสำหรับหนังสือบาง รายการที่มีชื่อเรื่องเป็นภาษาไทยด้วย

ระบบ WORLDCAT ทำให้นักศึกษาและผู้สนใจสามารถยืมหนังสือข้ามมหาวิทยาลัยและข้ามห้องสมุดได้ แม้อยู่คนละซีกโลก แต่การจะอนุญาตให้ยืมหรือไม่เป็นเอกสิทธิ์ของห้องสมุดแต่ละแห่ง ซึ่งขึ้นกับมูลค่าและความหายากของหนังสือเล่มนั้นๆ แต่หากอนุญาตให้ยืม ทางหอสมุดฝ่ายผู้ยืมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยไม่คิดเงินจากผู้ยืม

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังปรับระบบเพื่อเชื่อมกับ WORLDCAT ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้นักศึกษามหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่สนใจและอ่านภาษาไทย ได้อย่าง “วิล” ก็จะสามารถยืมหนังสือที่เขาต้องการได้โดยตรงจากต้นทางใน ประเทศไทย ขณะที่นักศึกษาลูกแม่โดมก็จะมีโอกาสยืมหนังสือจากหอสมุดใหญ่ๆ ทั่วทุกมุมโลก

และเมื่อถึงวันนั้น คนไทยก็คงจะได้ตามรอยและสัมผัสกับหนังสือเก่าแก่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ชาติเราซึ่งอาจวางอยู่บนชั้นหนังสือในหอสมุดชื่อดังของโลกได้ง่ายขึ้นและ ใกล้ชิดขึ้นกว่าทุกวันนี้.

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...