ชิงบรรลังก์ พระนารายณ์

ชิงบรรลังก์ พระนารายณ์

ที่มา นสพ มติชน


คัดจากคำนิยม ของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี (รองประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์) พิมพ์ในหนังสือ ชิงบัลลังก์พระนารายณ์ แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี สำนักพิมพ์มติชน พิมครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2552 เล่มละ 100 บาท




(ซ้าย) ลายลงรักปิดทองภาพชาวต่างชาติ จากหอเขียนวังสวนผักกาด สมัยอยุธยา (ขวา) ภาพวาดสีน้ำการสู้รบที่บางกอก (ภาพจาก โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน)

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือกันว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดยุคหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา พระบรมราโชบายเปิดประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาอำนาจฝรั่งเศสในรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และยังทรงรักษาสัมพันธ์อันดีกับอีกหลายชาติ เช่น อังกฤษ ฮอลันดา และโปรตุเกส ให้มีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคตะวันออก ทำให้สยามรุ่งเรืองขึ้นทั้งทางวัตถุและได้รับความรู้ของฝรั่งชาวยุโรป เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ งานช่างฝีมือและเทคโนโลยี
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากหลายประการที่สะสมมาจนถึงช่วงเวลาทรงพระประชวรหนักจวบจนเสด็จสวรรคต ปัญหาสำคัญทางการเมืองคือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่สมุหนายก ซึ่งมีกองกำลังทหารฝรั่งเศสในบังคับบัญชาของนายพลเดส์ฟาร์จอยู่ประจำที่เมืองบางกอก ต้องการสนับสนุนหม่อมปีย์ ราชโอรสบุญธรรมให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนสมเด็จพระเพทราชาคุมกำลังทหารฝ่ายไทย มีพระสงฆ์ ขุนนาง ประชาชนและพวกฮอลันดาหนุนหลังอยู่ ในเบื้องแรกก็แสดงออกว่าสนับสนุนพระอนุชา 2 พระองค์ให้ขึ้นเสวยราชย์ ทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบกัน ท้ายที่สุดฝ่ายเจ้าพระยาวิไชเยนทร์พ่ายแพ้ ถูกประหารชีวิต ส่วนผู้ที่ตั้งใจจะให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของทั้งสองฝ่ายก็ต้องถูกประหารและสำเร็จโทษหมด สมเด็จพระเพทราชาจึงขึ้นเสวยราชย์แทนหลังจากที่ปฏิวัติยึดอำนาจสำเร็จใน พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) เป็นผลให้เกิดพระราชวงศ์ใหม่คือ "บ้านพลูหลวง"

การที่สมเด็จพระเพทราชาได้กำลังทั้งจากประชาชน ขุนนาง และพระสงฆ์ เชื่อว่าผู้คนทั่วไปในเวลานั้นมีความรู้สึกรักชาติบ้านเมืองมากขึ้นและคงจะเกิดหวั่นใจหวั่นวิตกมากเรื่องอำนาจของฝรั่งเศสในสยาม เห็นได้ในพระราชปุจฉาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้อำมาตย์ไปนมัสการถามพระพรหม ณ วัดปากน้ำประสบ เมื่อ พ.ศ. 2224 ว่า "พระสงฆ์วัดวังไชยนินทาพระเจ้าว่าพระเจ้ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน แลพระเจ้าให้ขับเสียนั้น ชอบฤามิชอบ" และอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2228 ว่า "บัดนี้แขกเมืองเข้ามาเป็นอันมาก พระพรหมจะเห็นเป็นประการใด" นอกจากนี้การที่ฝ่ายฝรั่งเศสมาขอเมืองบางกอกและเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญแทนเมืองสงขลา และให้ตั้งกองทหารไว้ทั้งสองแห่ง คนที่รักชาติคงหวาดระแวงใจมิใช่น้อย ซ้ำยังมีคำสั่งลับถึงนายพลเดส์ฟาร์จให้ยึดเมืองบางกอก ตลาดขวัญและเมืองเพชรบุรีด้วย ถ้ามีปัญหาเสียหายแก่ราชการของฝรั่งเศส นายพลเดส์ฟาร์จสามารถทำทุกอย่างได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้สยามยอมอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสให้จงได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางสังคมที่กองทหารฝรั่งเศสที่บางกอกต้องเผชิญอีกหลายประการ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยให้สมเด็จพระเพทราชาสามารถปลุกใจจนชนะใจประชาชนได้โดยง่าย



เรื่องการจลาจลวุ่นวายที่นำไปสู่การปฏิวัติผลัดแผ่นดินใน พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) นั้น มีผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยใกล้ชิด หรือบางคนได้รับการบอกเล่า ซึ่งมีทั้งคนอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา หรือโปรตุเกส บันทึกของบางคนเคยมีผู้แปลถ่ายทอดไว้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้อ่านหรือศึกษาอยู่แล้วก็มี บางฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็มี แต่บุคคลที่เป็นตัวจักรสำคัญในเหตุการณ์ที่แท้จริงก็คือนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งได้ต่อสู้กับฝ่ายไทยอย่างเหนียวแน่นที่ป้อมบางกอกและได้บันทึกเหตุการณ์ต่อสู้ช่วงสุดท้ายก่อนออกไปจากสยามไว้ค่อนข้างละเอียด ส่วนว่าข้อเท็จจริงอย่างไรนั้นก็คงสุดแท้แต่จะพิจารณากัน ผู้บัญชาการการรบฝ่ายไทยคือเจ้าพระยาพระคลัง (โกษาปาน) ก็เคยมีหนังสือชี้แจงเหตุผลของการปฏิวัติอย่างละเอียดไปยังฝรั่งเศส ซึ่งสามารถเปรียบเทียบข้อเท็จจริงกับบันทึกของนายพลเดส์ฟาร์จได้

อาจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้แปลบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับนี้ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปอร์โต ประเทศโปรตุเกส และมีอาชีพเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักที่มหาวิทยาลัยบูรพา แต่สนใจประวัติศาสตร์ไทยและไทยศึกษา ทั้งเชี่ยวชาญรอบรู้ภาษาต่างประเทศหลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ โปรตุเกสและฝรั่งเศสนั้นนับว่าเป็นเลิศ มีผลงานแปลเอกสารต่างประเทศที่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศสยามลงพิมพ์ในวารสารวิชาการบ้าง พิมพ์เป็นเล่มหนังสืออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก ที่เป็นคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคือการรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ที่ต่างประเทศมาเผยแพร่และวิเคราะห์ ดังเช่นบันทึกของนายพลเดส์ฟาร์จฉบับนี้ 

ในการแปลบันทึกของนายพลเดส์ฟาร์จ อาจารย์ ดร.ปรีดี แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่พิมพ์ครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ไม่นานนัก มิได้แปลจากภาษาอังกฤษที่มีผู้อื่นแปลไว้ จึงประกันความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้นอีก โดยที่ผู้แปลพยายามรักษาสำนวนต้นฉบับไว้เป็นอย่างดียิ่ง

ฉะนั้นผมจึงเชื่อมั่นในบันทึกฉบับนี้ว่า มีข้อความครบถ้วนบริบูรณ์ และสมควรสรรเสริญในความเพียรพยายามอย่างยิ่ง เพราะภาษาฝรั่งเศสเมื่อกว่า 300 ปีมาแล้ว ย่อมจะผิดจากปัจจุบันมากนัก ความหมายของบางคำอาจเปลี่ยนแปลงไป จึงมิใช่งานแปลที่ง่ายเลยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ดี อาจารย์ยังทำเชิงอรรถอธิบายความเพื่อความสะดวกของผู้อ่านและผู้สนใจทั่วไปได้ทราบข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ผมจึงขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้สละเวลาผลิตงานที่จะเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับวงการประวัติศาสตร์ไทย ที่สมควรจะได้รับความชื่นชมเป็นอย่างสูง



คำนำผู้แปล

ชิงบัลลังก์พระนารายณ์

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมเรื่องราวต่างๆ จัดพิมพ์เป็นชุดประชุมพงศาวดารภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2457 นั้น มีพระดำริแรกเริ่มว่า 

"...กรรมการเห็นพร้อมกันว่าในสมัยนี้มีผู้เอาใจใส่ในการศึกษาโบราณคดีมีพงษาวดารเปนต้น ตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความลำบากของผู้ศึกษามีอยู่ ด้วยจะหาหนังสือตรวจสอบได้ด้วยยาก ด้วยหนังสือพงษาวดารแลตำนานเก่าโดยมากยังมิได้พิมพ์บ้าง พิมพ์แล้วแต่จำหน่ายหมดไปเสียแล้วบ้าง บางทีที่พอจะหาได้ ก็เปนฉบับที่วิปลาศคลาศเคลื่อนไม่สมควรจะใช้ในการตรวจสอบศึกษาไปเสียบ้าง ความต้องการหนังสือพงษาวดารแลตำนานเก่าที่เปนฉบับดีจึงมีแก่ผู้ศึกษาอยู่ทั่วไป... หนังสือพงษาวดารแลตำนานในภาษาไทยที่พิมพ์แล้วก็มี ที่ยังไม่แพร่หลายยังมีหลายเรื่อง บางเรื่องเปนเรื่องยาวซึ่งควรจะพิมพ์เฉภาะ เรื่องบางเรื่องเปนเรื่องดี แต่เรื่องไม่สู้ยาวควรรวมหลายเรื่องพิมพ์เปนเล่มเดียวได้ ถ้าพิมพ์หนังสือพงษาวดารแลตำนานเหล่านี้ให้แพร่หลายได้หมด จะเปนคุณแก่การศึกษาไม่น้อยทีเดียว..."

พระดำริในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนี้ จึงก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและค้นหาเอกสารต่างๆ ทั้งจากในและนอกประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีไทยมาจัดพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะว่าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์เช่นนี้อาจมีข้อทักท้วงถกเถียงได้ง่ายตามแต่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบใหม่ จึงไม่อาจยุติได้ว่าประเด็นประวัติศาตร์ช่วงใดที่มีความถูกต้องแม่นยำ แม้จะใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิงมากมายก็ตาม 

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ไทยต้องเผชิญ เมื่อจำเป็นจะต้องค้นคว้ารายละเอียดของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็คือข้อจำกัดของเอกสารไทยที่มีจำนวนน้อยและไม่ได้บันทึกสิ่งอื่นใดนอกจากพระราชประวัติและการสงครามในพระราชอาณาจักร ทั้งมีความหลายตอนที่ถูกเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ตัดทอนซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง นักประวัติศาสตร์ไทยจึงต้องพึ่งพิงเอกสารต่างชาติที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เอกสารจีน ญี่ปุ่น ฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็มีลักษณะเด่นในการบันทึกเอกสารของตนต่างกันไป

เอกสารฝรั่งเศสที่คนไทยรู้จักมีจำนวนน้อย และมักจะเกี่ยวกับการทูตในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทั้งสิ้น เอกสารที่เรียบเรียงโดยทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาลและมีส่วนร่วมในการปฏิวัติปี พ.ศ.2231 หรือ ค.ศ.1688 นั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักชัด ข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้แม้ว่าจะเรียบเรียงขึ้นโดยกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่มีหน้าที่ปฏิบัติก็ตาม แต่ก็สะท้อนนโยบายการเมืองและสถานการณ์ในเมืองสยามได้เป็นอย่างดี อีกทางหนึ่งก็จะแสดงให้เห็นวิธีการบันทึกข้อมูลและการพยายามอธิบายคุณค่าของตนเมื่ออยู่ในอีกโลกหนึ่งด้วย

เอกสารบันทึกการปฏิวัติในสยามปี ค.ศ.1688 (Relation des R?volutions arrive?s ? Siam dans l?ann?e 1688) ของนายพลเดส์ฟาร์จ (le G?n?ral Desfarges) นับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะข้อมูลชั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอยุธยาโดยตรง เพราะผู้เขียนมีบทบาทอย่างมากในการควบคุมดูแล จัดการและต่อสู้กับกองกำลังสยาม ทั้งเป็นผู้รู้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งที่ละโว้และอยุธยา จึงนับได้ว่าข้อมูลที่ผ่าน "แว่นตะวันตก" เช่นนี้อาจก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะการตีความข้อมูลและหลักฐาน รวมทั้งบทบาทของพระเพทราชาใหม่อีกครั้ง นอกจากความรู้ที่ว่าทรงเป็นผู้ก่อการกบฏและล้มล้างราชวงศ์ปราสาททองลง แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นเพียงเท่านั้น








ปรีดี พิศภูมิวิถี

มหาวิทยาลัยบูรพา 

29 มิ.ย. 53 เวลา 22:39 5,589 5 56
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...