แกะรอยรากเหง้า?คนไทย? จากภาพลายเส้นท้องถิ่นสยาม 126 ปี

ก่อนจะมาเป็นคนไทยและประเทศไทย ผู้คนในภูมิภาค"สุวรรณภูมิ" หรือที่เคยนิยมเรียก
กันว่า"อุษาคเนย์" นั้น มิได้เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้อุดมการณ์ "ชาติ" ที่ถูก
สร้างขึ้นใหม่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาครับ

 

   "ชาติ" ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการรักษาผลประโยชน์และการอ้างสิทธิในการครอบ
ครองดินแดนของชนชั้นปกครอง ในช่วงเวลาที่รัฐสากลทั่วโลกได้ร่วมกันวางกติกา เขียนเส้น "สมมุติ" พาดผ่านไปบนแผนที่กระดาษ เพื่อการจัดสรรปันส่วนและรับรอง"รัฐประชาชาติ" 

 

    เส้นที่ถูกพาดผ่านบนกระดาษ ก็ไม่เคยได้ไปขีดเขียนลงบนผืนแผ่นดินใด ๆ  แผ่นดิน
เดิมที่ไม่เคยมีอาณาเขต ไม่เคยมีเส้นกั้น ไม่ม่การแบ่งแยก มี"ชนชาติพันธุ์" มากมาย
ตั้งถิ่นฐาน มีเอกลักษณ์ มีความแตกต่างทั้งเชื้อสายรูปร่างหน้าตา เครื่องแต่งกาย ภาษา
วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต่างก็กลายมาเป็นคนในรัฐที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่
ภายใต้ชื่อนิยมว่า "ชาติไทย"

 

    การผสมผสานผ่าน "กาลเวลา"  มาอีกเพียงไม่ถึง 100 ปี ชนชาตินิยมที่มีรากเหง้ามา
จากผู้คนในเชื้อสาย อินเดีย ออสโตรนนิเชีย นิกริโต มองโกลอยด์ ไท-ลาว จีน ยวน
ไทดำ จ้วง เงี้ยว ขมุ  เขมรกัมพุเทศ เนะสยามก๊ก ละว้า มอญ มลายู ฯลฯ อันเป็น
ชนชาติหลักโบราณในสุวรรณภูมิ นับจากสิบสองปันนา แม่สายลงมาจรดเบตง ลงไปที่มาเลเซีย

    จากตัวดำ ปากหนา ผมหยิก เริ่มขาวหมวย สวยเก๋ ด้วยส่วนผสมทางชาติพันธุ์ของ
ชนชาติใหญ่อย่างมองโกลลอยด์ หรือคนตระกูลจีนกว่า 5 – 6 รุ่นชั่วอายุคน กับผู้คน
ในตระกูลไทลาว – ไทสยาม(ขอม) – ไทเขมร ผู้ครอบครองแผ่นดินในอาณาจักรอยุธยา
เป็นส่วนใหญ่ 

.   

หลายคนก็ให้สงสัย ขอมคือเขมรไม่ใช่หรือ ถ้าถามผม ผมก็ขอตอบว่าไม่ใช่ครับ
ขอมคือ "คำเรียกคนอื่น" ของกลุ่มคนพม่าและทางล้านนา เรียกผู้คนในวัฒนธรรมแบบ
เขมรโบราณทั้งหมดในเขมร รวมมาถึงผู้คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจรดแม่กลอง

    นั่นก็หมายความว่า ขอมก็คือรากฐานหนึ่งที่เป็นส่วนผสมสำคัญก่อนจะมาเป็น
"คนไทย" ในปัจจุบันครับ

.

     ผู้คนที่อยู่บนแผ่นดินที่เรียกว่า "ชาติไทย" ล้วนต่างก็ผ่านกาลเวลาและประวัติศาสตร์
ร่วมกันมา แต่ "รากเหง้า"ของแต่ละกลุ่มคนอาจจะแตกต่างกันไป

  ความแตกต่างที่คนกลุ่มหนึ่งผู้ครอบครองแผ่นดิน ผู้ปกครองและผู้ได้รับผลประโยชน์
สูงสุดของประเทศชาติ ได้สร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการครอบครองทาง "จิตใจ" กับพลเมือง
หลากเชื้อชาติในรัฐประชาชาติ

.

    เครื่องมือที่สร้างขึ้นและมีประสิทธิภาพที่สุดในการรวบรวมใจของผู้คน
"ใต้การปกครอง" ก็คือการสร้าง "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อให้เยาวชนอันเป็น
พลเมืองพื้นฐานได้เรียนรู้ ทั้งท่องจำ เกลี้ยกล่อม ร้องกล่อมก่อนนอน  สะกดจิต ผลิตซ้ำ 
สร้างเป็นสื่อ เป็นภาพยนตร์ ก็ล้วนเพื่อให้ "ผู้คนพลเมือง" ภาคภูมิใจและยินดี ยินยอมที่จะ
อยู่ภายใต้กรอบของ "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ" เดียวกันมายาวนานกว่า 100 ปี

.

  นิยาย นิทาน ตำนานและเรื่องเล่าที่ไม่เคยมีตัวตน กลับมาสร้างขึ้นใหม่ให้เสมือนจริง
เป็นเรื่องราวของมหาวีรกรรม เรื่องราวน่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของพระมหากษัตริย์
โบราณ พระราชวงศ์ พงศาวดาร ที่ดูจะเป็นเรื่องราวที่นิยม"สร้าง"มากที่สุด เพื่อที่จะใช้
"ล้างสมอง" พลเมืองให้อยู่ร่วมในระเบียบแบบแผนและอุดมการณ์เดียวกัน
ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จอย่างงดงาม !!!

.

   ตัวอย่างการสร้างประวัติศาสตร์ ก็ลองศึกษาดูในเรื่องของ
"ปรากฏการณ์จาตุคามรามเทพ" จากจารึกเพียง 1 หลัก สามารถนำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์วีรบุรุษ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศรีวิชัยได้เป็นวรรคเป็นเวร

.

    ประวัติศาสตร์แห่งชาติมากมาย ถูก"แต่ง"ขึ้นใหม่เอี่ยมอ่อง ในช่วงหลังการเปลี่ยน
แปลงการปกครอง ช่วงที่เหล่า "ขุนศึก" กำลังถวิลหา "แนวร่วม" เพื่อการ "สร้างชาติ"
 เช่นกรณี สุริโยทัย ย่าโม บางระจัน อาตมาท ขนมต้ม พันท้ายนรสิงห์ ดอนเจดีย์
อัลไต พระแก้วมรกต ฯลฯ

.

    ถึง ประวัติศาสตร์แห่งชาติ จะได้สร้างคุณานุประโยชน์มากมาย ให้ชนชั้นปกครอง
สามารถรวบรวมผู้คนให้หันมาใช้เส้นกั้นอาณาเขต "ประเทศชาติ" เดียวกันจนสำเร็จ 
ถึงจะเป็นยาชั้นดี แต่ผลข้างเคียงของมัน ก็ได้ทำให้เกิด "จิตวิทยา" การปลูกผังให้
ดูถูก – ดูแคลน ชนชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ชนชายขอบ หรือแม้กระทั้งผู้คนที่มีรูปร่าง
ลักษณะดั่งเดิม เจ้าของแผ่นดินเดิม ที่มีรูปหน้าตา ภาษา ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตน
"แตกต่าง"ไปจากศูนย์กลางแห่งรัฐชาติภายใต้เงื่อนไขใหม่

.

 

    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงถูกทำลาย ผู้คนถูกกลืนกลาย กลุ่มชนใดไม่มีวัฒนธรรม
เช่นชนกลุ่มใหญ่ ผู้ปกครองแห่งประเทศชาติ (ที่ก็ลูกผสมกันทั้งนั้น แต่ก็ลืมตัว)  กลุ่มชน
นั้นก็จะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปทันที ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ถูกมอง
อย่างแตกต่าง และดูถูกดูแคลน อย่างไร้ความเข้าใจมาตลอด !!!

.

    ปัญหาทั้งหลายของเราในปัจจุบันก็มาจากส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ"
ที่ห่วยแตกนี่แหละครับ ถึงยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แต่ประวัติศาตร์ก็ยังคงเป็นอุดมการณ์แบบ
"คลั่งชาติ" มากขึ้นไปทุกที

.

    หลายคนคิดแบบอนุบาล ไทยเคยเป็นเจ้าของที่นั่นที่นั่นที่นี่ เราจะไม่ยอมเสียอธิปไตย
ให้กับพวกโจรป่าเถื่อน แต่ตอนไปเอามาเราหลอกผู้ปกครองรัฐเขาอย่างไรไม่เคยได้เรียน
หรือรับรู้เลย 

.

   และอีกหลายความจำและความคิด ที่ยังคงไม่เคยเข้าใจว่า "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ" 
ได้ทำให้เรา"ใจแคบ"กับเพื่อนร่วมประเทศชาติ แต่ไม่ได้มีรากเหง้าของเชื้อชาติหรือไม่ใช่
ชาติพันธุ์เช่นเดียวกันกับเรา ขนาดไหน หรือ อย่างไร!!!

.

  ไอ้ลาว ไอ้เสี่ยว ไอ้เขมร ไอ้เจ็ก พวกบ้านนอก ไอ้พม่า ไอ้กะเหรี่ยง และหากคำสรรหา ล้วนยังคงปรากฏใน"มโนคติ" ของคนไทยจำนวนมาก ผมว่าในบล็อกนี้ก็คงไม่น้อย
ถึงแม้จะไม่ตั้งใจก็เถอะ

.

   "ประวติศาสตร์แห่งชาติ" ไม่เคยปรับตัวและไม่เคยรับใช้คน "ใต้การปกครอง
ประชาชนหรือไพร่" มายาวนานแล้ว แถมยังมีปรากฏการณ์ออกมากร้าวร้าว 
เผาพริกพริกเผาเกลือ สาปแช่ง ทุกครั้งที่มีใครบังอาจไปแตะต้อง
"วรรรกรรมอันศักดิ์สิทธิ์" อันเป็นความภาคภูมิใจในชาติ ในฐานะของ "พลเมืองหรือ
ประชาชนผู้ซื่อสัตย์" จงรักภักดีกับผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย 

 

อรัมภบทไปซะไกลเลย เพื่อความเข้าใจในแผ่นดินก่อนการเกิดของ "คนไทย"
ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ผมจึงขอชวนท่านมาร่วมกัน แกะรอยค้นหารากเหง้า ผู้คนที่เคย
อาศัยบนผืนแผ่นดินเดียวกันกับเรา ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดประวัติศาสตร์แห่งชาติขึ้น
โดยผมเลือกใช้บันทึกและภาพลายเส้นจากการเดินทางสำรวจสยามในปี 2424 ของนัก
สำรวจชาวนอร์เวย์ คาร์ล บ็อค (Carl Bock) เป็นสำคัญครับ

.

 

คาร์ล บ็อค เป็นนักธรรมชาติวิทยา ที่เข้ามาสำรวจสยามในช่วงสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่
5 ถือเป็นชาวยุโรปคนที่สองที่ได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือสุดของประเทศไทย
ในสมัยที่ยังไม่มีถนนและบ้านเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทรุกันดารอยู่

.

   บ็อค ได้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางและการสำรวจผู้คนในสยามเป็นภาษาเยอรมัน
และแปลมาเป็นอังกฤษภายหลังในชื่อเรื่องว่า “Temples and Elephants”
ซึ่งงานศึกษาของเขาได้รับรางวัลจากสมาคมภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ
ในยุโรปและอเมริกามากมาย

    ผมเลือกบันทึกของ บ็อค มาให้เพื่อนชาว Blog OKNation ได้ใช้ร่วมกันแกะรอย
ตามหาคนไทย เพราะบันทึกเล่มนี้ถือเป็น งานวิจัยสนามทางมานุษยวิทยาของ
ประเทศไทยเล่มแรก (Field Works) ที่สามารถบันทึกเรื่องราวในมุมชีวิตต่าง ๆ
ของผู้คที่อาศัยในราชอาณาจักรของชาวไทสยามได้อย่างละเอียด ทั้งข้อมูลทาง สังคมและวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ โลกทรรศน์ พฤติกรรม การปกครองท้องถิ่น
อาชีพ ประวัติศาสตร์ พร้อมภาพลายเส้น ที่ใช้แทนภาพถ่ายได้จนน่าฉงนใจสุด ๆ
เลยครับ

.

   การเดินทางของบ็อค เริ่มต้นที่จากการเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ 
ผ่านพระเจดีย์สมุทรปราการ  โดยมีพระองค์เจ้าเทวัญ ฯ พระอนุชาเป็นผู้นำเข้าเฝ้า
"....พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์แห่ง
ประเทศสยามและลาวประทับอยู่ตรงหน้าเราพอดี พระองค์มี
ลักษณะอันสง่างามมาก พระชนมายุประมาณ 30 พรรษา
พระวรกายค่อนข้างผอมและประทับตรงมาก พระฉวีงามตามแบบ
ของชาวไทย และเนตรก็ดำวาวเป็นประกาย...."

.

 

.

   บ็อคได้รับโอกาสให้สำรวจและเที่ยวชมพระราขวังหลวง วัดพระแก้วและพระราชวัง
หน้าของยอร์ช วอชิงตัน อันเป็นชื่อนิยมของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าใน
สมัยนั้น และที่นี่ บ็อคได้วาดภาพหญิงชาวสยามเป็นภาพแรก (สวยไหมครับ)

.

.

   บ็อคได้ท่องเที่ยวชมกรุงเทพ ฯ ถนนเจริญกรุง ไปดูชาวต่างประเทศคุมคุกสยาม 
ไปดูการแสดงละครในของพระยามหินทร์ เขาชมชอบที่คนไทยรักในการดนตรีและ
นาฏศิลป์มาก  บล็อคได้ไปเที่ยววัดโพธิ์ ขึ้นภูเขาทอง และมาดูแร้งกินศพที่วัดสระเกศ

.

   หลังจากนั้น เขาได้เดินทางขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบางปะอิน ย้อนตะวันตกไ
ปชมถ้ำเขาหลวง เขาวังและมาพบกับเรื่องราวของ "ชาวกะเหรี่ยง" ที่เมืองเพชรบุรี

.

.

   จากเมืองเพชรบุรี บ็อคได้ไปสำรวจเมืองกาญจนบุรีและกลับมาร่วมงานบวช
นาคที่วัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี แล้วจึงเดินทางกลับร่วมงานพระราชพิธีกฐินหลวง
โดยเขาได้วาดบันทึกภาพลายเส้นของพระพระพุทธเจ้าเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค
ไว้ด้วย

.

.

    บ็อคเริ่มเดินทางขึ้นสำรวจภาคเหนือในปลายปี 2424  ตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ กำแพงเพชร ไปหยุดพักยาวที่เมืองละคร(ลำปาง)ในช่วงแรก

.

 

บ็อค บันทึกไว้ว่า หัวเมืองภาคเหนือ 6 เมืองที่เป็นประเทศราชโดยตรงของไทย
ได้แก่ ละคร(ลำปาง) ลำพูน เชียงใหม่ น่าน หลวงพระบางและแพร่ ที่เมืองลำปางเขา
ก็ได้วาดภาพลายเส้นของชาว "ลาว" อันหมายถึงชาวล้านนาทั้งหมด กำลังแสดง
ความเคารพผู้ใหญ่เอาไว้

 เมื่อ 126 ปีที่แล้ว คนลาว ก็คือความหมายของผู้คนตั้งแต่กำแพงเพชรขึ้นไป
ทั้งหมดครับ !!!

.

.

 ที่เมืองละครหรือลำปาง บ็อคประสบความวุ่นวายจากระบบการปกครองท้องถิ่น
ของเหล่าเจ้านาย"พญา"ลำปาง ที่สร้างปัญหามากมาย แต่ก็จบลงด้วยดี เขาได้บันทึกเรื่อง
ราวของการ"สัก"อันเป็นธรรเนียมและความนิยมของชายชาวลาว เป็นเครื่องหมายแสดง
ความเป็นลูกผู้ชายตัวจริง ความกล้าหาญ ความอดทน สมัยนั้นใครไม่สักเชยสุด ๆ

ชายชาวลาว (คนไทยในปัจจุบันนั่นแหละ) นิยมสักใต้สะดือลงมา และมักจะเมาฝิ่น
ก่อนสักเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด รูปที่นิยมสัก ก็มี หนู เมฆ ลม นกกระจาบ นกแร้ง
สิงโต ค้างคาว เต็น ราชสีห์ นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิง หนุมาน

.

.

     รอบ ๆ เมืองลำปาง มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มาก มีช้างเลี้ยงและช้างป่ามากมายที่สุด
ในสยาม เขาได้ศึกษาและวาดภาพของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยบนหุบเขาทางทิศตะวันออก
ของเมืองละครไว้เพื่อเปรียบเทียบกับกะเหรี่ยงที่เข้าพบที่เพชรบุรี

.

    จากเมืองลำปาง บ็อคได้เดินทางต่อไปยังเมืองลำพูน ตามเส้นทางด่วนสมัยนั้นที่
มีเพียงเส้นเดียว โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ใครพลาดก็ตกเขา !!!

.

.


 ในระหว่างทาง บ็อคได้พบกันคาราวานสินค้าของพ่อค้าเงี้ยวหรือจีนฮ่อ
(คนไทยในปัจจุบันสายหนึ่งเช่นกัน)จากยูนนาน เอาสินค้าท้องถิ่นบรรทุกล่อ วัว และ
ม้าลงมาขาย

.

.

   จากลำพูน บ็อคเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ เขาได้พบกับ ดร.ชีค หัวหน้า
คณะแพทย์มิชชันนารีอเมริกัน ที่ได้ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บและช่วยชีวิตชาวเมือง
เชียงใหม่ไว้เป็นจำนวนมากในสมัยนั้น

.

   บ็อคสำรวจเชียงใหม่นานหลายเดือน แวะชมวัดโบราณและได้วาดภาพบันทึกลาย
เส้นของเจดีย์งาม วัดเก้าตื้อไว้

.

.

 

  

บ็อค เดินทางต่อไปยังเมืองฝาง ที่พวกเงี้ยวเคยเข้ามายึดครองเมื่อ 4 ปีที่แล้วแต่
ก็ถูกชาวเมืองขับไล่ไป เขาได้วาดภาพลายเส้นชาวเงี้ยวที่เมืองฝางไว้

.

.

   

จากเมืองฝาง บ็อคเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังเมืองเกียงราย(เชียงราย) เขาได้
รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าราชสีห์ผู้ปกครองเกียงฮาย ให้เขาได้พักในเหย้าเรือน
แบบลาวของเจ้าราชสีห์เอง

.

.



ที่เมืองเชียงราย บ็อคได้เจอผู้คนหลากชาติพันธุ์ เขาได้บันทึกเรื่องราวและภาพ
ลายเส้นของพวกมูเซอ(ชาวไทยภูเขากลุ่มหนึ่ง)ไว้  "...ผู้หญิงมูเซอเกล้าผมไว้กลางศีรษะ
ปล่อยชายผ้าไว้ข้างหลัง เครื่องแต่งกายมีเสื้อดำสั้น ๆ ตัวหนึ่งใช้เศษผ้าสีแดงหรือน้ำเงิน
ปะไว้รอบๆ ชายเสื้อ และนุ่งกระโปรงให้เข้าชุดกัน ในยาวมีงานมีการใช้เสื้อคลุมยาว
ติดกระดุมเงินและมีเศษผ้าสีแดงหรือน้ำเงินประดับอย่างพิสดารยิ่งขึ้นแทนเสื้อที่ใช้กัน
ตามธรรมดา ของใช้ต่าง ๆ เหล่านี้ พวกมูเซอทำกันเอาเองทั้งสิ้น เรื่องเครื่องประดับนั้น
พวกมูเซอชอบสวมสายสร้อยทำด้วยเงิน หญ้า หรือหวายซ้อนกันเป็นพวง ซึ่งดูเข้ากับผิว
สีน้ำตาลได้เหมาะสมมาก โดยเฉพาะสายสร้อยที่ทำจากหญ้า มักจะมีสีทองเจืออยู่ด้วย
เมื่อยังสดอยู่

.

.



ข้าพเจ้าออกจะตกใจเมื่อเห็นตุ้มหูเงินคู่มหึมาของหญิงพวกนี้ พยายามจะขอซื้อ
มาซักคู่หนึ่ง แต่ผู้หญิงมูเซอไม่ยอมขายให้ เมื่อสามีมิได้ยินยอมเหมือนดังภรรยาที่
ดีทั้งหลาย ..."

.

 และเขาได้วิเคราะห์เรื่องของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ในบันทึกและวาดภาพของหญิง
ชาวลาว(ไทลื้อ)ที่เมืองเชียงรายไว้ด้วย

.

.

  

จากเมืองเชียงราย บ็อคเดินทางไปสำรวจเมืองเชียงแสน ที่ยังตึงเครียดเพราะ
ปัญหาสงครามระหว่างเชียงรายของสยามกับกองโจรชาวพม่าและพวกเงี้ยวที่เคยครอบ
ครองเมืองเชียงแสนอยู่ เขาบันทึกเรื่องราวของโบราณสถานเมืองเชียงแสนไว้ว่า

.

     " .....เมืองนี้มีซากปรักหักพังซึ่งมีสถาปัตกรรมที่แปลกตา ฝีมือประณีต พระเจดีย์
บางองค์ประดับด้วยลวดลายแกะสลัก แต่ทุกองค์ก็ถูกบุกรุกทำลาย ลักเอาของมีค่าไปจนหมดสิ้น ......ตามพื้นดินมีพระพุทธรูปสำริดกองอยู่เกลื่อนกลาด บางองค์ก็มีขนาดใหญ่โตมาก
พวกเงี้ยวยังคงมาทำการสักการะ เพราะเป็นปูชนียสถานที่พวกเขานับถือ แต่ถูกพวกเชียงราย
( รากเหง้าคนไทยในปัจจุบัน) มาบุกรุกทำลาย.......

.

    ......ข้าพเจ้าเข้าไปดูตามซากพระเจดีย์หลายแห่ง พบพระพุทธรูปประทับนั่งใต้เศียร
พระยานาค  5 หัว การเข้าไปค้นหาพระพุทธรูปครั้งนี้ ข้าพเจ้าแทบสำลัก เพราะอากาศใน
พระเจดีย์เหม็นอับ....." ในการเยือนเชียงแสน และหลายเมืองที่มีพระเจดีย์โบราณ
 เขาได้เข้าไปในกรุและนำเอาพระพุทธรูปจากซากพระเจดีย์กลับลงมาแล้วเอาไป
ยุโรปด้วยเป็นจำนวนมาก!!! 

.

    บ็อคเริ่มต้นเดินทางกลับจากเมืองเชียงแสนตามเส้นทางเดิมสู่เมืองเชียงราย และ
เมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้เขาได้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพด้วย

.

   เมื่อเขาไปเยี่ยมชมการทำป่าไม้ของเมืองเชียงใหม่ ก็พบกับชาวขมุ และชาวพม่า
เขาจึงได้บันทึกภาพของชาวพม่าที่มาทำงานในบังคับของอังกฤษในเมืองเชียงใหม่ไว้
(น่ากลัวดีจัง)

.

.



บ็อคเดินทางกลับมากรุงเทพ ฯ ตามเส้นทางแม่น้ำแม่ปิง แล้วเข้าถวายบังคมลา
ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ในช่วงก่อนงานฉลองพระนครครบ 100 ปี  เขาเดินทางออกจาก
สยามกลับยุโรปในวันที่ 2 สิงหาคม 2425 

    เรื่องราวน่าสนใจที่บันทึกและภาพวาดอีกหลายภาพของคาร์ล บ็อค ผมขอแนะนำ
หนังสือ ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดยเสฐียร
พันธรังษี และ อัมพร ทีขะระ ที่เรียบเรียงมาจากบันทึกอันทรงคุณค่า Temples and
Elephants ของคาร์ล บ็อค

.

    เป็นอย่างไรบ้างครับ กับเรื่องราวของชาวสยามก่อนจะมาเป็นชาวไทย ในส่วนของ
ภาคเหนือพื้นที่สีแดงทางการเมืองจากบันทึกการสำรวจของคาร์ล บ็อค ซึ่งก็เป็นหลักฐาน
สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว หากเลยกำแพงเพชรขึ้นเหนือไป ผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5
ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไทยมาแต่ดั่งแต่เดิมอย่างไร เป็นลาวทั้งนั้น

.

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...