เจ้าของวาทะ..ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้

  

 

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
อธิบดีกรมตำรวจ 
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. 2494–พ.ศ. 2500

สมัยก่อนหน้า พล.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล 
สมัยถัดไป พล.ต.อ. ไสว ไสวแสนยากร 


ประวัติ
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2452 ณ ตำบลบางขุนพรม 
อำเภอบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของ พ.ต.พระพลาพิรักษ์เสนีย์ 
(พลุ้ย ศรียานนท์) และนางพงษ์ ศรียานนท์ สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ 
(ชุณหะวัณ) บุตรสาวของพลโทผิน ชุณหะวัณ


การศึกษา
สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยม
วัดเบญจมบพิตร ในปัจจุบัน ต่อมาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก 
เมื่อ พ.ศ. 2469


การรับราชการ
ประวัติการอ้างอิงของพล.ต.อ.เผ่ามีดังนี้

เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ใน พ.ศ. 2474 ในตำแหน่งยศร้อยตรี 
พ.ศ. 2486 เป็นทหารคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความใกล้ชิด
จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาก จนกระทั่งจอมพล ป.ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
พ.ศ. 2485 เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 
พ.ศ. 2486 เป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม 
พ.ศ. 2486 ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอก 
พ.ศ. 2487 เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิง และลาออกจากราชการเป็นการชั่วคราว 
พ.ศ. 2490 กลับเข้ารับราชการ โดยโอนมาอยู่กรมตำรวจ 
พ.ศ. 2491 ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี 
รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม 
พ.ศ. 2494 เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้รับพระราชทานยศเป็น พลตำรวจโท 
พ.ศ. 2494 (26 ก.ค.) เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 
พ.ศ. 2494 (11 ธ.ค.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 
พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานยศเป็น พลโท พลเรือโท และพลอากาศโท 
พ.ศ. 2495 (21 ก.ค.) ได้รับพระราชทานยศเป็นพลตำรวจเอก 
พ.ศ. 2497 เป็นอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดิน 
พ.ศ. 2497 (16 ก.พ.) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

บทบาทในทางการเมือง
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นนายตำรวจที่ประชาชนชาวไทยในยุคสมัยนั้นรู้จัก
เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเสมือนมือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น 
นายกรัฐมนตรีเผด็จการทหารในสมัยนั้น เริ่มแรก พล.ต.อ.เผ่านั้นรับราชการเป็น
ทหารมาก่อน ก่อนจะย้ายตัวเองมาเป็นตำรวจ

ยุคของพล.ต.อ.เผ่านั้น ถูกเรียกว่ายุค "รัฐตำรวจ" หรือ "อัศวินผยอง" เนื่องจาก 
พล.ต.อ.เผ่า ได้เสริมสร้างขุมกำลังตำรวจจนสามารถเทียบเท่ากับกองทัพๆ หนึ่ง
เหมือนทหารได้ โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, ตำรวจม้า, ตำรวจรถถัง
ตลอดจนให้มีธงไชยเฉลิมพลเหมือนทหาร จนมีการกล่าวในเชิงประชดว่า อาจจะ
มีถึงตำรวจเรือดำน้ำ เป็นต้น โดยประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของตำรวจ
ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นประโยคของพล.ต.อ.เผ่าเอง คือ 
"ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" 
จนได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า "บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย"

ในทางการเมือง พล.ต.อ.เผ่า มีฐานะเป็นเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลาของ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 
ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีตั้งแต่
การข่มขู่ผู้ลงคะแนนให้เลือกแต่พรรคเสรีมนังคศิลา มีการเวียนเทียนลง
คะแนนกันหลายรอบ ที่เรียกว่า พลร่ม หรือ ไพ่ไฟ และนับคะแนนกันถึง 7 
วัน 7 คืน โดยในยุคนั้นประชาชนทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่ควรจะกระทำการใดที่
เป็นการต่อต้านอำนาจรัฐเพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น กรณีสังหาร
4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2492 หลัง
เหตุการณ์กบฏวังหลวง หรือการจับถ่วงน้ำหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ ผู้นำอิสลาม
จังหวัดปัตตานี ที่ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นฝีมือตำรวจ โดย พล.ต.อ.เผ่า 
และเป็นที่รับรู้กันว่าตำรวจเป็นผู้เลี้ยงบรรดานักเลง อันธพาลในยุคนั้นเป็นลูกน้องด้วย
ซึ่งเรียกกันว่า "นักเลงเก้ายอด" อันมาจากการที่นักเลงอันธพาลเหล่านั้นสามารถ
เข้าออกกองบัญชาการตำรวจกองปราบที่สามยอดได้โดยสบาย ซึ่งทำให้
เหล่านักเลงอันธพาลเกลื่อนเมือง

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารที่นำโดย พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 
ไม่พอใจ โดยเริ่มทำการปราศรัยโจมตีตำรวจที่ท้องสนามหลวงบนลังสบู่ ที่เริ่มกันว่า 
"ไฮปาร์ค" และทางตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการไฮปาร์คบ้าง จนในที่สุดนำไปสู่
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น 
พล.ต.อ.เผ่า ยังไม่ได้หลบหนีไปต่างประเทศเหมือนจอมพล ป. แต่ยอมเข้า
มอบตัวแต่โดยดี โดยกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอายังไงก็ว่ามา"

วันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พล.ต.อ.เผ่า มีทรัพย์สินอยู่มากมาย มีคฤหาสถ์หลังใหญ่ติดทะเลสาบที่นครเจนีวา 
จนครั้งหนึ่งเมื่อนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งจัดอันดับมหาเศรษฐี 10 อันดับของโลก 
ก็มีชื่อของ พล.ต.อ.เผ่า ติดอยู่ในอันดับด้วย

ถึงแก่กรรม
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

**************



 

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...