ประวัติศาสตร์แรงงานไทย

ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาประเทศตั้งแต่สังคมไทยโบราณเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลอาบเหงื่อต่างน้ำตรากตรำกรำแดดกรำฝน ทุ่มเทแรงกายเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับกระบวนการพัฒนาประเทศตลอดมา

 

 

 

1. แรงงานบังคับ ไพร่-ทาส

 

สังคมไทยโบราณปกครองในระบอบศักดินา มีแรงงานไพร่-ทาส ซึ่งเป็นแรงงานบังคับหรือแรงงานเกณฑ์เป็นผู้ดำเนินการผลิตทุกด้านของสังคมทั้งการเกษตร การก่อสร้างวัดวา เวียงวัง ถนนหนทาง ตลอดเป็นทหารป้องกันประเทศ ไพร่ก็คือราษฎรสามัญชนคนทั่วไปทั้งชายและหญิง ทุกคนต้องขึ้นทะเบียนสังกัดกับมูลนาย ส่วนใหญ่ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานราชการ ส่วนทาสก็จะมีสถานะภาพที่ต่ำกว่าไพร่

 

 

 

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 สยามต้องเปิดประเทศเพื่อทำการค้ากับชาติตะวันตก การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อการค้าเสรี ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในประเทศ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากชาวต่างชาติโดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ เกิดการขยายตัวของแรงงานรับจ้างที่มีผลทำให้ระบบแรงงานบังคับไพร่-ทาส ต้องเสื่อมสลายลง

 

 

 

 

 

2. กุลีจีน : แรงงานบังคับรุ่นแรก

 

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงเปลี่ยนจากสังคมศักดินาเข้าสู่ระบบทุนนิยม ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับในระบบไพร่ไม่มีอิสระที่จะไปรับจ้างจึงมีการใช้แรงงานจีน หรือ กุลีจีน ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แรงงานจีนถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกๆในการทำงานบุกเบิกสังคมไทย โดยต้องมีการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือเป็นสัญลักษณ์การเสียภาษีให้รัฐไทยราวปีละ 2 บาท ก็จะมีอิสระในการเดินทางและทำงานรับจ้าง แรงงานจีนขยันขันแข็ง ทำงานหลากหลายประเภท เช่น เป็นกุลีลากรถ ทำงานขุดหนองขุดคลอง อู่ต่อเรือ เป็นกะลาสีเรือ ทำงานก่อสร้าง สร้างถนน เป็นคนงานในโรงงานน้ำตาล โรงสี โรงเลื่อย คนงานเหมืองแร่ โดยได้ค่าตอบแทนน้อยมากเมื่อเทียบกับงานที่หนักมากและขาดหลักประกันในการทำงาน ผู้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนติดอบายมุข สูบฝิ่น เพราะรู้สึกสบายหายปวดเมื่อย และยังมีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า "อั้งยี่" ขึ้นมา และอาศัยองค์กรประเภทนี้ดูแลพิทักษ์ผลประโยชน์ แต่ "อั้งยี่" ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสมาคมลับ เมื่อมีการออกกฎหมายอั้งยี่ขึ้นมา

 

 

 

 

3. แรงงานกับการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายๆด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปฏิรูประบบสาธารณูปการได้สร้างความสะดวกสบาย นำความกินดีอยู่ดีมาสู่ประชาชนชาวสยามเช่น การขุดคูคลองเพื่อการคมนาคมขนส่ง และการชลประทานสร้างสะพาน ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ การประปา ไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์ มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายที่ทุ่มเททำงานและพลีชีพเพื่อความสำเร็จของโครงการปฏิรูป เป็นการปูพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในยุคต่อๆมา กระบวนการพัฒนาประเทศมีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก การมีไพร่ – ทาสก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ล้าหลังป่าเถื่อนในสายตาชาวโลก

 

 

 

 

 

รวมทั้งมีปฏิกิริยาเรียกร้องจากชนชั้นล่างจนเกิดเป็น กบฎไพร่ อยู่เสมอทำให้ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน เพื่อยกเลิกระบบไพร่-ทาส ขุนนางในช่วงปี พ.ศ. 2448

 

 

4. กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

นับแต่เปิดประเทศและเริ่มดำเนินการอุตสาหกรรม มีการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างจนทำให้เกิดข้อขัดแย้งและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างแรงงานกับนายจ้างตลอดมา มีการประท้วงผละงานของคนงานซึ่งมักมีสาเหตุมาจากเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงาน มีการรวมตัวกันไปร้องทุกข์กับตำรวจหรือนักหนังสือพิมพ์ มีการกดดันจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพื่อให้มีกฎหมายดูแลแรงงาน จนกระทั่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างได้รับการยอมรับมากขึ้น กรรมการจึงเริ่มมีปากมีเสียงสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามที่นำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช

 

 

 

 

ได้รับการจดทะเบียนเป็นแห่งแรก รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มก้าวแรกของนโยบายเกี่ยวกับกรรมกร โดยออกกฎหมายให้มีการจัดหางานมากขึ้นและมีนโยบายให้รัฐเข้าไปดำเนินกิจการอุตสาหกรรมแทนที่ชาวต่างชาติซึ่งเรียกว่า ทุนนิยมโดยรัฐ เกิดหน่วยงาน "รัฐพาณิชย์" ซึ่งก็คือรัฐวิสาหกิจในยุคต่อๆมานั่นเอง

 

 

 

5. ยุคมืดของแผ่นดิน

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้นโยบายของคณะราษฎรที่เปิดกว้างขึ้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพจะทำให้เกิดองค์กรแรงงานที่เข้มแข็งอย่าง สมาคมสหอาชีวะแห่งประเทศไทยและต่อมาก็คือ กรรมกร 16 หน่วยที่ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกฎหมายแรงงานฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2499 แต่อิทธิพลของทหารรัฐบาลในช่วงเวลาต่อมาก็ทำให้สิทธิเสรีภาพของคนงานถูกริดรอน ในยุคสงครามเย็นอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำแห่งค่ายทุนนิยม มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนให้เกิดระบอบเผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นต้นมาถือเป็นยุคมืดของแผ่นดิน รัฐบาลกำจัดกวาดล้างผู้มีความคิดเห็นต่างๆ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน และผู้นำแรงงานของกรรมกร 16 หน่วย ถูกยิงเป้าประหารชีวิตด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์

 

 

 

 

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ การหนุนภาคอุตสาหกรรมแล้วทอดทิ้งชนบท ทำให้เกิดการอพยพเพื่อไปหางานทำในเมือง แต่ชีวิตของผู้ใช้แรงงานต้องกลับแร้นแค้น สิทธิเสรีภาพถูกริดรอน ถูดเอารัดเอาเปรียบ ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมือง คนจนกับคนรวยถูกขยายออกไป

 

6. ยุคฟื้นฟูขบวนการแรงงานไทย

 

14 ตุลา 2516 ขบวนการนักศึกษา ประชาชน ลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการจนเกิดประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย สิทธิของแรงงานกลับคืนมามีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมามากมายเพื่อเป็นปากเสียงของผู้ใช้แรงงาน 6 ตุลา 2519 สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน การคุกคามถึงชีวิตทำให้นักศึกษา ประชาชน  รวมทั้งผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 การรัฐประหารของคณะ รสช. ได้แยกสลายขบวนการแรงงานภาครัฐวิสาหกิจกับเอกชน ทะนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหารหายสาบสูญไป ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชน

 

 

 

 

 

 

7. ยุควิกฤตขบวนการแรงงานไทย

 

วิกฤตเศรษกิจ "ต้มยำกุ้ง" ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดการเลิกจ้างคนงานมากมายและมีการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อด้วยวิกฤต"แฮมเบอร์เกอร์" ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ. 2550 ที่ผลักคนงานจำนวนมากให้เป็นแรงงานนอกระบบที่กฎหมายไม่ให้การคุ้มครองดูแล การขาดเอกภาพในขบวนการแรงงานรวมทั้งวิกฤตการเมืองแบ่งสี เหลือง - แดง ส่งผลให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอลง ความไม่เข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทยส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานยังย่ำแย่มาจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ขาดความมั่นคงในการทำงาน ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการไม่เพียงพอ ทำงานในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

 

 

 

 

29 เม.ย. 56 เวลา 13:53 2,858 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...