เกร็ดความรู้ เรื่องของพระยศ กรณีเจ้านายฯ ทรงลาออก

 

 

จากกรณีที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ทำให้มีการพูดถึงเรื่องของพระยศ คำนำหน้านาม จากกรณีเจ้านายฯ ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ โดยหลายๆสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ เวปไซต์ ก็ทีบ้างที่เขียนไม่ตรงกับความเป็นจริงตามธรรมเนียมราชสำนักไทย พอดีผมไปเจอข้อมูลมา เลยนำมาฝากกันครับ
 


 

 

๑.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยสำหรับฝ่ายใน มีทั้งหมด ๕ ตรา คือ ปฐมจุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุถจุลจอมเกล้า โดยมีการกำหนดคำนำหน้านามสตรีไว้ดังนี้ (แบบหลังการยกเลิกพระราชทานบรรดาศักดิ)
.
- สตรีสามัญชนที่สมรสหรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ชั้นจตุถจุลจอมเกล้า ขึ้นไปถึง ทุติยจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" เช่น คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นต้น

- สตรีสามัญชนที่สมรส หรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ถึงปฐมจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" เช่น ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย เป็นต้น
.
- สตรีสามัญชนที่มิได้สมรส หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใดก็ตาม ก็จะมีคำหน้านามว่า "คุณ" เช่น คุณจันทนี ธนรักษ์ คุณทวี มณีนุช เป็นต้น
.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเป็นคุณหญิง หรือ ท่านผู้หญิง ต้องแต่งงาน หรือเคยแต่งงานมาก่อน
.
- พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใดก็ตาม หากสมรสก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็น คุณหญิง ท่านผู้หญิง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร เป็นต้น
.
- สตรีที่เป็นราชนิกุล ชั้นหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ ที่สมรสแล้วหรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ ชั้นจตุถจุลจอมเกล้าถึงทุติยจุลจอมเกล้า (เป็นคุณหญิง) ไม่ต้องเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต หม่อมราชวงศ์ ดัจฉราพิมล ตุงคนาค เป็นต้น
.
- สตรีที่เป็นราชนิกุล ชั้นหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ ที่สมรสแล้วหรือเคยสมรส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ถึงชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (เป็นท่านผู้หญิง) เปลียนคำนำหน้านามเป็น ท่านผู้หญิง เช่น ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ภิรมย์ภักดี (หม่อมราชวงส์เหมือนจิต ประวิตร ภิรมย์ภักดี) ท่านผู้หญิงสารภี มิ่งเมือง (หม่อมหลวงสารภี สนิทวงศ์ มิ่งเมือง)
.
- สตรีที่เป็นหม่อมห้ามพระราชวงศ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นใด ไม่ต้องเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา เป็นต้น
.
- พระราชวงศ์ฝ่ายใน ที่กราบบังคมทูลพระกรุณา ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส ให้ใช้คำนำหน้านามว่า นาง เช่น นางปัทมนรังสี เสนาณรงค์ (หม่อมเจ้าปัทมนรังสี เสนาณรงค์) หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นใด ก็ให้ใช้คำนำหน้านามเหมือนสามัญชน เช่น คุณหญิงรังษีนภดล สนิทวงศ์ (หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล) ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล - นางพันธุ์สวลี กิติยากร - คุณหญิงพันธุ์สวลี กิติยากร)

๒. 
- หม่อมศรีรัศมิ มหิดล ณ อยุธยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ในโอกาสวันฉัตรมงคล 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0B/00141571.PDF
.
- ต่อมาเมื่อหม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา มีครรภ์พระกุมารในสมเด็จพระบรมฯ ขณะนั้น มีพระราชดำริ พระราชทานอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า แก่พระกุมารที่ประสูติมานั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา หม่อมศรีรัศมิ มหิดล ณ อยุธยา ป.จ. ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00166795.PDF มีลำดับโปเจียมเป็นที่หนึ่ง ของบรรดาพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าทุกพระองค์ และได้รับพระราชทานพระยศทหารเป็นพลตรีหญิง ในเวลาต่อมาhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/B/025/1.PDF
.
- ต่อมา เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ พระวรชายาฯ ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ คือทรงหย่า ดังนั้นถือเป็นสามัญชน มีชื่อว่า พลตรีหญิง (นาง) ศรีรัศมิ์ สุวะดี (อันเป็นนามสกุลเดิมก่อนจะใช้นามสกุลพระราชทาน) แต่ด้วยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า จึงมีคำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" โดยอัตโนมัติ 
.
อีกประการหนึ่ง มีผู้ถามว่า ต้องใช้ราชาศัพท์เป็นการถวายพระเกียรติท่านผู้หญิงหรือไม่ ก็อาจจะตอบได้ว่า หากเป็นผู้ที่มี"สกุลยศ"(ยศแต่กำเนิด) เดิมเป็นเจ้า ก็นิยมใข้ราชาศัพท์ เช่น ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี เป็นหม่อมเจ้าหญิงมาก่อน เวลาทูลอะไรก็นิยมใช้ราชาศัพท์ ถวายพระเกียรติแด่พระชาติกำเนิดก่อนทรงลาออกเป็นต้น แต่สำหรับท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ นั้น พระชาติกำเนิดเดิมเป็นสามัญชน ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ในการพูดคุย 
.
เพิ่มเติมอีกนิด การที่สตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ จะแจ้งแก่นายทะเบียนว่าจะให้ตนเองมีคำนำหน้านามอย่างไร สุดแต่ความประสงค์ของสตรีผู้นั้น เช่น เป็นคุณหญิง แต่ประสงค์ที่จะแจ้งแก่นายทะเบียนผู้ทำบัตรประชาชนว่า "นาง" ย่อมทำได้ เป็นต้น
.
ส่วนสำหรับการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีพระบรมราชโองการให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันไม่เกี่ยวข้องกับการลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ซึ่งหากจะมีพระบรมราชโองการดังกล่าว ก็สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ...
.
ในกรณีสตรีผู้สมรสแล้ว หรือ เลิกการสมรสแล้ว จะมีความประสงค์จะใช้คำนำหน้านามว่า นางสาว หรือนาง ก็แล้วแต่ความประสงค์ ตามพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง ปี ๒๕๕๑ 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/028/72.PDF

ที่มีข้อมูล เฟซบุ๊ค Wassana Nanuam

เรียบเรียง พี่มือ www.eduzones.com

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...