รีวิว Mazda CX-5 2.2 XDL Diesel Skyactiv-D รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2013 กลุ่ม SUV Diesel ที่

รีวิว Mazda CX-5 2.2 XDL Diesel Skyactiv-D รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2013 กลุ่ม SUV Diesel ที่แรงแบบนุ่มๆ

 

Mazda CX-5  ได้ถูกเปิดตัวสู่สายตาชาวไทย  ไปเมื่อเดือน พย. 2013 ที่ผ่านมา  อาจช้ากว่าตลาดโลกไปเล็กน้อย  แต่ยังได้  สร้างกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากลูกค้าชาวไทย   จากการเป็นรถยนต์รุ่นแรกใน Generation ที่ 6 ของ Mazda  ที่รวมเอา  แนวคิดการออกแบบ Kodo (Soul of Motion) และ เทคโนโลยี Skyactiv   มาใช้ในคันเดียวกัน    ซึ่งทำให้  Mazda CX-5  ถือเป็น Production Car ของ Mazda คันแรก   ที่นำแนวคิดการออกแบบ Kodo Design ที่อยู่บนแผ่นกระดาษมาสู่ Production car ตัวจริง  โดยที่ก่อนหน้านี้    ได้มี Concept Car Shinari   ที่ทาง Mazda ได้นำมาให้เราได้ยลโฉม กันไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2012


และด้วยการนำเทคโนโลยี Skyactiv ใส่เข้ามาเป็นขุมพลังบล๊อกใหม่ของ Mazda  มันช่วยลบภาพ   ที่รถยนต์ Mazda  ถูกมองว่าเป็นรถซดน้ำมัน   ออกไปได้เป็น   ซึ่ง Mazda ได้กล่าวไว้ตาม Spot โฆษณา ทั้งหลายว่า  เป็นรถที่ทั้งแรงและ ประหยัดในขณะเดียวกัน


ต้องมาดูกันว่า Mazda CX-5 จะสมกับการ ได้รับรางวัลการันตีรถยนต์ยอดเยี่ยมในประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2012-2013 ด้วย Japan Car of the year  และรางวัล Car of The Year 2014  ในกลุ่ม SUV เครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 2.5 ลิตร  หรือไม่


การออกแบบภายนอก   Mazda CX-5 ได้ถูกออกแบบตามแนวคิด  Kodo Design   ซึ่งมีเอกลักษณ์  จากเส้นสาย ไฟหน้า-ท้าย  และ กระจังหน้า  ที่ดูโดดเด่น   ทันทีที่แรกเห็น   สำหรับบั้นท้ายของ  CX-5  ได้ใช้ปลายท่อไอเสียออกคู่   ซึ่งถ้าทำปลายท่อให้ใหญ่กว่านี้ จะเสริมความดุและดูแข็งแกร่งบึกบึนกว่านี้       สำหรับในรุ่น  XDL นี้ สวมล้อโตสะใจ 19”  ใหญ่กว่าชาวบ้าน  หุ้มยาง Toyo  ขนาด 225/55/19 โดยมี 4 สี ได้แก่ น้ำเงิน Skyblue Mica, ขาว Arctic White, เทา Meteor Gray Mica, เงิน Aluminum Metallic



สำหรับมิติตัวรถ มี    ยาวxกว้างxสูง (มม.)   = 4540 x 1840 x 1710  มีระยะฐานล้อ 2.7 ม.   ถือว่าเป็น SUV Fullsize ที่มีขนาดตัวไม่น้อยกว่าคู่แข่งเลย และ  มีน้ำหนักตัวอยู่ที่  1.65 ตัน


เมื่อเปิดประตูเข้ามาดูภายในห้องโดยสาร    จะพบวัสดุหุ้มเบาะเป็นหนังสีดำ   ซึ่งกลมกลืนกับ โทนสีดำ ภายใน    และถ้าสังเกตุดีๆ  จะได้กลิ่นอายของ BMW     เบาะตอนหลังพับได้ละเอียดแบบ  40:20:40   สามารถพับราบลงได้สนิท   ซึ่งทำให้พื้นที่เก็บของจุถึง 1,390 ลิตร (VDA std.)


สำหรับออปชั่นภายใน มีมาให้ครบครัน    เบาะคนขับปรับไฟฟ้า, ระบบปรับอากาศ Dual-zone, ระบบ Keyless พร้อมปุ่มสตาร์ท, ระบบควบคุมความเร็วคงที่ และ ควบคุมเครื่องเสียงจากพวงมาลัย  และระบบเชื่อมต่อ Bluetooth, เครื่องเสียงที่มาพร้อมจอ 5.8”    และโดดเด่นด้วยเครื่องเสียง  BOSE  ลำโพง 9 ตัว, ระบบไฟหน้าแบบ  AFS, กล้องมองหลัง นอกจากนั้นในรุ่น XDL นี้  จะมีระบบ   i-stop    เบเครื่องยนต์อัตโนมัติมาให้ใช้ อีกต่างหาก


แต่ที่อาจดูด้อยกว่า SUV คู่แข่ง  ก็ตรงที่ไมมีเครื่องปรับอากาศตอนหลัง   และเบาะตัวเบาะค่อนข้างแข็งนั่งไม่สบายนัก  อีกทั้งเบาะหลังที่ ชันตั้งตรง   จึงดูนั่งแล้วอึดอัดไปบ้าง


เครื่องยนต์ Skyactiv-D     Diesel  Turbo (2 Stage)  ความจุ 2,188cc  พร้อมระบบวาล์ว S-VT    ซึ่งมีกำลังอัด 14.0 : 1    ถือเป็นสัดส่วนกำลังอัดที่ต่ำสุด ของเครื่องยนต์ดีเซล   ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ลด NOx  และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro6  ขั้นสูงสุด      ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า@4,500rpm     และแรงบิด สูงสุด 42.8 กก.-ม. @2,000rpm     เมื่อเทียบกับ น้ำหนักเบาลง  10%  และให้อัตราสิ้นเปลืองดีขึ้น 20%


ในด้านการขับขี่  ออกจะดูผิดแปลกจากบุคลิกเครื่องยนต์ดีเซลไปพอสมควร   มันเป็นดีเซลพันธุ์แรง  ในแบบสุภาพชน  ที่ไม่คำราม และกระโชกโฮกฮาก  ในแบบที่รถกระบะ ดีเซลคันอื่น หรือ รถ PPV  มักเป็นกัน     เริ่มตั้งแต่ติดเครื่องยนต์  เสียงเครื่องเงียบมาก    แถมการเดินเครื่องจะมาแบบนุ่มๆ  เดินราบเรียบไม่มีกระชาก  ยกเว้นขับคลานๆ ที่ความเร็วต่ำๆ  จะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ สั่นเล็กน้อย ให้มีกลิ่นอายแบบดีเซลหลงเหลือ อยู่บ้าง


ทันทีที่กดคันเร่ง ลงบนแป้นคันเร่งแบบยึดติดกับพื้น ซึ่งช่วยให้มันสัมผัสกับฝ่าเท้าได้เต็มมากยิ่งขึ้น   ทันทีที่ออกตัวตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำ รู้สึกได้ว่ารถพุ่งทะยาน จากแรงบิด ที่มาให้ใช้เร็วตั้งแต่รอบต่ำ ประมาณ 2,000rpm    และมันไม่มีอาการดึง กระชากหลังติดเบาะ ให้สัมผัสนัก  แบบรุ่นเครื่องยนต์  2.5  เบนซิน  ที่ดูจะตอบสนองอารมณ์สปอร์ต ได้สะใจกว่า   ในรุ่น XDL  นี้ออกแนวมานิ่มๆ  นุ่มๆ  ขับสบายๆ ไม่กระชาก   และเมื่อลากรอบไปจนถึงรอบ สูงๆ  กลับพบว่า  มันดูไม่เร้าใจมากเท่ารอบต้น     ทำให้รู้สึกว่า  รอบปลายๆ  มันดูกำลังจะแผ่วลงบ้าง   การแซงลากรอบที่เกินกว่า 4,500rpm  ดูจะไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุก  เท่ากับการเร่งในช่วงรอบต่ำ    ที่มีแรงบิดมาอย่างฉับไว  ในส่วนของความเร็วปลาย จากที่ได้ลอง เราสามารถไปได้ถึงที่ประมาณ 190 กม./ชม. ซึ่งในช่วงความเร็วปลายตั้งแต่ ราว 170 กม./ชม. ขึ้นไปนั้น พบว่าเค้นขึ้นได้ช้ากว่าที่คิดเล็กน้อย   แต่สิ่งที่น่าเปลกใจ คือ ตีนต้น  เมื่อลองทดสอบ ดูจากตัวเลขสมรรถนะ  จาก OBD    กลับหน้าแปลกใจ  เพราะได้ตัวเลขดังนี้


0-100 กม./ชม.  =   9.02 วินาที    1/4 mile =   16.727 วินาที  ที่ความเร็ว 137 กม./ชม.   (โหมด D)
และ   0-100 กม./ชม.  =   9.165 วินาที    1/4 mile =   16.846 วินาที  ที่ความเร็ว 136 กม./ชม.   (โหมด S สับเกียร์ที่ รอบ 4,500rpm ช่วงที่แรงม้าสูงสุดออก)

ด้วยตัวเลขอัตราเร่งดังกล่าว ถือว่าเกินความคาดหมายมาก เพราะ เกือบจะไล่ๆ กับ Forester XT ที่ได้เลยโดยแพ้ไป เพียงเสี้ยววินาที และตัวเลขระดับนี้ รถยนต์ Compact 2.0 ทั้งหลายคงต้องยอมศิโรราบแต่โดยดี


ในด้านอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอมาตรวัด   การขับเดินทางที่ความเร็ว 100-110 กม./ชม.  จะได้อัตราสิ้นเปลืองบนโชว์อยู่ ประมาณ 7 ลิตร/ 100 กม.  หรือ ตกประมาณ 14 กม./ลิตร    ในช่วงที่ลองขับซิ่งๆ  เร่งแซง และทดสอบสมรรถนะ  จะได้  8.5 ลิตร/100 กม.  หรือ ตก 11.7 กม./ลิตร

สำหรับการทำงานของระบบ i-stop  ถือว่าชาญฉลาด  ใช้ได้เลย     เมื่อหยุดรถจนความเร็วเป็น 0  แล้วทิ้งไว้ประมาณ 3 วินาที เครื่องยนต์จะดับลง   หรือ จอดหยุดนิ่ง แล้วดันคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง N  เครื่องก็จะหยุดให้ทันที   ซึ่งดูฉลาดดีมาก  และเครื่องจะกลับมาติดอีกครั้ง เมื่ออุณหภูมิภายในห้องโดยสารสูงขึ้น   หรือ ขณะที่ดันคันเกียร์กลับมาที่ตำแหน่ง D


ระบบส่งกำลัง    เกียร์ Skyactiv-Drive คือ เกียร์อัตโนมัติแบบ  6 Speed   ซึ่งมาพร้อมโหมด Manual Activematic   เกียร์ลูกนี้     ได้นำข้อดีของเกียร์ในแต่ละรูปแบบ  มาผนวกเข้าด้วยกัน   ไม่ว่าจะความราบลื่นในการเปลียนเกียร์    การประหยัดน้ำมันในการขับขี่     การตอบสนองที่ดีเยียมแม่นยำ   และการออกตัวได้ดีบนทางชัน

Mazda จึงพัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติ  torque Converter  ให้มีความสามารถมากขึ้น โดยใช้ Multiplate Clutch เพื่อลดการลื่นช่วงจังหวะเปลี่ยนเกียร์ หากเทียบกับระบบเกียร์อัตโนมัติธรรมดาทั่วไป เกียร์  Skyactive  จะมีอัตราการล็อคกำลังส่งมากกว่า 89%  ขณะที่ระบบเกียร์ทั่วไปอยู่ที่ 64%


สำหรับเกียร์ในรุ่น XDL  นี้จะมีการเซ็ตอัตราทดให้แตกต่างจากรุ่นเบนซิน    และในเฟืองท้ายจะมีอัตราทดที่ต่ำที่สุดอยู่ที่  4.09   ในการตอบสนองต่อการขับขี่ใช้งานจริง   พบว่าการทำงานของเกียร์จะมีลักษณะการทำงานแบบเกียร์ AT Torque Converter   แต่จะเนียนกว่า ดูไหลลื่น  ในการเปลี่ยนเกียร์ไม่ดูดิบ  ไม่กระชาก  และให้ความรู้สึกแม่นยำในการตอบสนอง    เมื่อลองเล่นในโหมด M   ที่ให้อัตราทดเท่าเดิม   แต่สามารถลากเกียร์ควบคุมเองได้ การกด  + – ยังตอบสนอง ช้าไปนิด     ขึ้นเกียร์ได้แบบไม่มีกระชาก     และเกียร์ดูค่อนข้างฉลาด  อ่านสถานการณ์การขับขี่ได้ดี


หากลากรอบจนชน redline  จะไม่ตัดขึ้นเกียร์ใหม่   จนกว่าจะ + เกียร์ขึ้นเอง    แต่เวลา ลดเกียร์ลงทีละ มากๆ  จะไม่สามารถทำได้เนื่องจากป้องกันเกียร์เสียหาย  จากรอบเครื่องสูงเกินไป   ซึ่งจุดนี้รู้สึกว่า  ไม่อิสระต่อการควบคุมเกียร์นัก ในขณะจะลดเกียร์ลงก่อนเข้าโค้ง     รวม ขณะขับอยู่บนทางชัน เกียร์จะไม่ยอมตัดขึ้นให้    แต่หากขับมาเรื่อยๆแล้ว ความเร็วชะลอลง  โดยที่เราไม่ได้ ลดเกียร์ลง   มันฉลาดพอที่จะลดเกียร์ลงให้เองอัตโนมัติ

ลองดูความสัมพันธ์ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ 3 ค่า  ได้ดังนี้    80 กม./ชม.=1500rpm   100กม./ชม.=1850rpm   120กม./ชม.=2200rpm


ระบบบังคับเลี้ยว    ในด้านของพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPAS)   ให้ความเบาดี  ในการสาวจอด หรือหักวงเลี้ยวที่ความเร็วต่ำ   ให้ความกระฉับกระเฉงพอสมควร    แต่พอขับที่ความเร็วสูงขึ้น พวงมาลัยจะเริ่มหนืดมือขึ้น เรื่อยๆ แปรผันไปกับความเร็ว   ซึ่งให้ความรู้สึกที่ไม่ฝืนธรรมชาติมากนัก   ให้ความไวพอสมควร  ไม่ไวมือจนเกินไป    และเมื่อขับขี่ ที่ความเร็วสูงพบว่า  ระยะฟรีพวงมาลัยยังมีอยู่มาก ดังนั้น   ช่วงการขับที่ความเร็วสูง อาจต้องคุมพวงมาลัยให้ดี  แต่สำหรับการบังคับพวงมาลัยเข้าโค้ง  ยังคงทำได้ดีแม่นยำ พอตัว และ มันช่วยให้การต่อโค้ง จากปลายโค้งหนึ่ง  ต่อไปยังอีกต้นโค้งหนึ่งทำได้อย่าง ไม่ยากเย็นและดูจะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน  เป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งความรู้สึกแบบนี้   อาจจะหาได้ยาก  กับรถสไตล์ SUV


ระบบช่วงล่าง    ด้วยเทคโนโลยี  Skyactiv-Chassis   ใช้ช่วงล่างแบบอิสระ  ระบบสตรัท (หน้า) และมัลติลิงค์ (หลัง)  ให้ความแข็งแกร่งสูงและมีน้ำหนักเบา (น้ำหนักเบาขึ้น 14% เมื่อเทียบกับแชสซีส์ปัจจุบัน) และ Skyactiv-Body   ให้ความแข็งแกร่ง และน้ำหนักเบา   จากโครงสร้างรูปแบบใหม่  ชิ้นส่วนโครงสร้างถูกออกแบบให้มีความตรงและยาวที่สุดในแต่ละชิ้น และแนวคิดของโครงสร้างต่อเนื่องหรือ Continuous Framework ที่ทุกชิ้นส่วนจะถูกเชื่อมต่อกันอย่างลงตัว      ซึ่งมันช่วยให้มีสมดุลของตัวถังรถที่ดียิ่งขึ้น

แต่สำหรับ 2.2 XDL คันนี้ จะมีจุดที่โดดเด่นกว่า  ในรุ่น เบนซิน นั่นก็คือ จะใช้ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ AWD   แทนขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า ในรุ่นเบนซิน


ในการวิ่งใช้งานนั้น  พบว่า  ช่วงล่างยังคงสไตล์  แข็งแน่นหนึบ  ไว้ใจได้ตามแบบฉบับของ Mazda     ซึ่งช่วยให้การขับรถผ่านโค้งบนหุบเขา  เป็นเรื่องสนุก    แม้ตัวถังรถที่สูง  อาจทำให้มีอาการโยนของตัวถังรถออกมาเล็กน้อย   แต่ต้องบอกเลยว่า  มันสามารถเข้าโค้งเล่น ได้อารมณ์ในแบบรถสปอร์ต Compact  หรือ ดีกว่า ในหลายรุ่น   หรือแม้กระทั่ง Subaru Forester ที่มากับระบบขับเคลื่อน  Full Time  AWD  เสียอีก    ซึ่ง  CX-5 มันสามารถเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่า   ในโค้งเดียวกัน  มันยังคงให้สมดุลรถที่ดี  ไม่มีอาการยวบให้เห็นแต่อย่างใด  และที่สำคัญมันไม่สูญเสียการยึดเกาะ  หรือมีเสียงยางกรีดร้องดังออกมาให้ได้ยิน


และด้วย  ความที่ใส่ล้อใหญ่ถึง 19” กับยางขนาด  225/55/19  Toyo Proxes   Made in Japan    นี่เองเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มันแข็งกว่าชาวบ้าน   และอาจมีเสียงลอดเข้ามาเล็กน้อย       แต่ยังไงก็ตาม  มันถือเป็นรถยนต์ SUV  ญี่ปุ่นที่มีช่วงล่างดีที่สุดในบ้านเราเลยก็ว่าได้      แต่เสียดายเพียงแต่อาจไม่ถูกใจ คุณพ่อคุณแม่  หรือผู้โดยสารที่ต้องการนั่งแบบสบายๆ  เน้นโดยสารเป็นหลัก


ระบบเบรก  แบบดิสก์ 4 ล้อ   พร้อมครีบระบายความร้อนในคู่หน้า   ในด้านการตอบสนองยังคงให้ความรู้สึกเช่นเดียวกันกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน     คืออาจจะเซ็ตแป้นเบรกมาให้ตอบสนองได้ค่อนข้างช้า   เน้นลงลึก ออกแนวให้นิ่มนวล   จึงทำให้เบรกไม่ค่อยอยู่เท้าเท่าที่ควร     ซึ่งอาจต้องเบรกลงน้ำหนักกันมากสักนิดหนึ่ง     ซึ่งน่าจะปรับเซ็ตให้มันตอบสนองได้ เร็วฉับไว กว่านี้  เพื่อรองรับกับความเป็นสปอร์ต SUV  ดูจะสร้างความมั่นใจได้ดียิ่งขึ้น


ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย  มีมาให้ครบครัน ระบบไฟหน้าเลี้ยวตามการเลี้ยวของรถ AFS ถุงลมนิรภัยถึง 6 ลูก กล้องมองหลัง กุญแจ Keyless พร้อม Immobilizer ระบบควบคุมเสถียรภาพของรถ DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน HLA, ระบบเตือนแรงดันลมยาง


สรุป  Mazda CX-5  รถยนต์ ที่ได้รับรางวัลการันตี Japan Car of the year  และรางวัล Car of The Year 2014  ในกลุ่ม SUV เครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 2.5 ลิตร  จาก GPI  ในงาน Motor Show  ที่ผ่านมา   ร่วมกับการทดสอบสมรรถนะของเราที่ฟีลลิ่งอาจดู ไม่แรง  แต่ระบบบังคับ  และการขับเคลื่อนทำได้ดียอดเยี่ยม   แถมตัวเลขที่ออก มันได้ชี้ชัดแล้วว่า  Mazda CX-5  เป็น  SUV ที่ให้สมรรถนะการขับขี่ ที่ดีที่สุด   ด้วยราคา  1.67 ล้านบาท  ในรุ่น  2.2 XDL คันนี้   คุณจะได้รถ SUV  ที่ยอดเยี่ยมที่สุด  ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท     ทั้งแรงและ ประหยัด  แถมใส่ใจโลกจากมลพิษที่น้อย

แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลย    เพราะมันอาจไม่ถูกใจ  ผู้ที่รักความสบายนัก  เพราะไม่มี อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทั้งระบบนำทาง  เครื่องปรับอากาศตอนหลัง   ตำแหน่งเบาะหลังที่ดูชัน   และวัสดุหุ้มหนัง ที่ดูจะไม่ค่อยสบายต่อการนั่งนัก

ขอขอบคุณ Mazda Sales ประเทศไทย
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ชมภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก


Mazda CX-5 XDL ราคา 1,670,000 บาท มีให้เลือก 4 สี ได้แก่ น้ำเงิน Skyblue Mica, ขาว Arctic White, เทา Meteor Gray Mica, เงิน Aluminum Metallic
ใช้เครื่องยนต์ SkyActiv-D ความจุ 2.2 ลิตร
เกียร์ Skyactiv 6 Speed
พวงมาลัยผ่อนแรงไฟฟ้า EPAS
ระบบช่วงล่างด้านหน้า แม็กเฟอร์สันสตรัท และด้านหลัง มัลติลิงค์
ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...