นั่งรถไฟท่องแดนพุทธประวัติ

เนื้อหา ข่าว รูป ภาพ

 

นั่งรถไฟท่องแดน พุทธประวัติ

มีคนไทยตั้งคำถามกัน  มากมาย ไปเที่ยวอะไรที่อินเดีย ? แต่ก็มีหลายคนที่เคยไปอินเดียมาแล้ว กลับพูดแตกต่างกันแบบสิ้นเชิง บางคนถึงขั้นพูดว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ชาวพุทธหากมีโอกาสควรไปสัมผัส ! ไม่เว้นแม้กระทั่งคำพูดที่ว่า นักท่องเที่ยวใช่มีเงินแล้วจะมาง่าย ๆ แต่คุณต้องมี ศรัทธา-เวลา-ทรัพย์ !
   
ทริปนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมท่องดินแดนพุทธประวัติ ในประเทศอินเดีย โดยนั่งขบวนรถไฟสายพิเศษ มหาปรินิพพาน เอ็กซ์ เพรส ที่ทางการท่องเที่ยวประเทศอินเดียทุ่มทุนดึง  บรรดาสื่อมวลชนทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา ฯลฯ รวมทั้งประเทศไทยให้มาร่วมนั่งขบวนรถไฟสายพิเศษ จะเรียกว่า  ตามรอยเส้นทางพระพุทธเจ้าก็ไม่ผิด สำหรับปีนี้ ดร.นาลิน ชินฮาล ผอ.ด้านการท่องเที่ยวและการตลาด การรถไฟอินเดีย (IRCTC.) ส่งเทียบเชิญผ่านมาทาง คุณสมทรง สัจจาภิมุข บริษัท เอส.เอส.ทราเวิล เซอร์วิส ที่คร่ำหวอดท่องเที่ยวประเทศอินเดีย เชิญคณะของชาวไทยไปทั้งหมด 12 คน นำทีม  โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และเจ้า  ของบริษัททัวร์ ฯลฯ
   
การเดินทางเข้าไปในดินแดนพุทธประวัติ ตามรอยอารยธรรมพุทธ คงเป็นเพราะเส้นทางการเดินทางไปแต่ละเมืองของอินเดียยังมีอุปสรรคพอสมควร โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทจึงทำให้ต้องมีการนำรถไฟมาร่วมบริการ จัดเป็นขบวนพิเศษขึ้นมาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หากนึกถึงภาพแผนที่ของประเทศอินเดีย เส้นทางสายที่จะเดินทางไป สังเวชนียสถาน ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานที่ประสูติ 2.สถานที่ตรัสรู้ 3.สถานที่แสดงปฐม  เทศนา และ4.สถานที่ปรินิพพาน จะอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่รัฐอุตตรประเทศ,รัฐพิหาร ข้ามไปจนถึงลุมพินี   ประเทศเนปาล ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดต่อกัน
   
คณะของเรามาเยือนอินเดีย ช่วงต้นเดือนก.พ. 53 อากาศกำลังหนาวพอดี จุดเริ่มออกเดินทางจากสถานีรถไฟซัฟดาจัง ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ขบวนรถด่วนพิเศษมหาปรินิพพาน นอกจากคณะประเทศไทย ยังมี กลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์  อินโดนีเซีย ฯลฯ ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะนอกจากจะไปตระเวนชมสังเวชนียสถานแล้ว ยังต้องมีภารกิจเข้าร่วมประชุม  เดอะ บุดดิสต์ คอนเคลฟ อิน นาลันทา (The Buddhist Conclave in Nalanda) กับบรรดานานาชาติ 17 ประเทศ
   
ในเมื่อหัวเรื่องจั่วถึง รถไฟ คงต้องเล่าถึงรายละเอียดกันสักหน่อย รถไฟของอินเดียจะมีขนาดใหญ่กว่าเมืองไทยพอสมควรอาจคงได้ต้นแบบมาจากอังกฤษ ทาง IRCTC. จึงริเริ่มจัดรถไฟขบวนพิเศษมหาปรินิพพานขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เน้นบริการนักท่องเที่ยวเอเชียโดยเฉพาะ เป็นขบวนรถปรับอากาศมีทั้งชั้น 1-3 จัดห้องพักแบบเตียงคู่, แบบเตียงสองชั้น โบกี้ละประมาณ 6-7 ห้องนอน แต่ละโบกี้จะจัดห้องอาบน้ำมีน้ำอุ่นไว้คอยบริการ แยกโซนออกมาจากห้องสุขา แถมใช้เสร็จมีพนักงานบริการรีบทำความสะอาดเช็ดแห้งทันที นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัย มี รปภ.คอยดูแลอยู่ทุกโบกี้ เพื่อความอุ่นใจของนักท่องเที่ยว
   
หัวใจหลักของการท่องเที่ยวเส้นทางพุทธประวัติ คือ สังเวชนียสถาน (สถานที่ที่ทำให้เกิดรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อได้ไปพบเห็นก็จะเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี) แต่การเดินทางของเราไม่ได้เรียงตามลำดับ 1-4 โดยจุดแรก   ที่ขบวนรถไฟจากนิวเดลีพา  คณะเราวิ่งมาไกล 990 กม.ส่งยังเมืองคยา รัฐพิหาร (Bihar) สถานที่ตรัสรู้ สักการะ พระมหาเจดีย์พุทธคยา ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา องค์เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่งดงาม สูงถึง 51 เมตร สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
   
ภายในเจดีย์ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างสมัยปาละ (พ.ศ.1100) ประดิษฐานในห้องโถงชั้นล่าง ชาวไทยนิยมเรียก “หลวงพ่อพุทธเมตตา” ส่วนพื้นที่รอบ ๆ มีทั้งโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ ฯลฯ ปัจจุบันบริเวณพุทธคยาจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่เดินทาง มาแสวงบุญก็ว่าได้ เพราะมีความเชื่อกันว่าเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุดใน 4 แห่ง เป็นจุดศูนย์รวมพลังศรัทธาของชาวพุทธ ทำให้บรรดาพระภิกษุสงฆ์นานาชาติเดินทางมาเจริญพระพุทธมนต์เนืองแน่น เมื่อได้ไปสัมผัสบรรยากาศทำให้รู้สึกทันทีว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ธรรมดามีคุณ ค่าทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนยิ่งนัก จึงทำให้มีผู้คนมานั่งสมาธิสงบจิตใจกันตั้งแต่เช้าจดค่ำ โดยเฉพาะบริเวณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ยังมีนักท่องเที่ยวรอจังหวะใบโพธิ์ร่วงหล่นเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเคยมาสักการะยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้
   
การเดินทางของคณะเราสลับสับเปลี่ยนระหว่างรถไฟและรถบัส จึงทำให้มีโอกาสได้เห็น ทุ่งมาสตาด เหลืองสะพรั่งเต็มไปหมด อีกทั้งยังได้ชมวิถีชีวิตชาวอินเดียแท้จริงทั้งในเมืองและชนบทเช่นกัน เนื่องจากก่อนจะไปสักการะสังเวชนียสถานจุดต่อไปซึ่งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เส้นทางต้องผ่านเมืองนาลันทา (Nalanda) อดีตเคยมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลกมีพระสงฆ์จากทั่วสารทิศมาศึกษาธรรมะ และรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์ ซึ่งยังเห็นร่องรอยของเมืองเก่าที่ถูกทำลายอยู่ จากนั้นคณะของเราจึงออกจากรัฐพิหาร เดินทางไกลอีก 220 กม. เพื่อมายังเมืองสารนาถ (Saranath) สถานที่แสดงปฐมเทศนา ภายในอาณาบริเวณสารนาถหรือรู้จักในสมัยโบราณชื่อ “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” จะมี ธัมเมกข สถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ เป็นรูปทรงกลมบาตรคว่ำ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้พบกับปัญจวัคคีย์ทั้ง ห้า จากนั้นได้แสดงปฐมเทศนาครั้งแรกชื่อ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร
   
ที่สารนาถ นอกจากได้ตระเวนชมร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนาแล้วยังได้แวะ  เมืองพาราณสี ล่องเรือตอนหัวค่ำในแม่น้ำคงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ชมพิธีบูชาไฟ รวมไปถึงพิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาตามแบบโบราณ (ห้ามบันทึกภาพ) ทำให้บรรยากาศช่วงหัวค่ำในแม่น้ำคงคามีเรือนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด หลังจากนั้นคณะเรากลับขึ้นมานอนบนรถไฟคืนสุดท้าย พอรุ่งเช้าเดินทางถึงสถานีรถไฟโครักปูร์ ต้องขนสัมภาระทั้งหมดลงหลังจากใช้เป็น  สถานที่พักผ่อน 3 คืน โดยมีรถบัสมารอรับมุ่งหน้าไปที่ เมืองกุสินารา (Kusinara) สถานที่ปรินิพพาน ที่สาลวน อุทยาน มีอนุสรณ์ มหาปรินิพพานวิหาร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางอนุฏฐิตไสยาสน์ (นอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ส่วนด้านหลังวิหารจะเป็นสถูปปรินิพพาน ถัดจากสาลวน    อุทยานไปประมาณ 1 กม. จะมี “มกุฏพันธนเจดีย์” สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่
   
สำหรับจุดสุดท้ายที่เราเดินทางไป คือ สถานที่ประสูติ ที่สวนลุมพินีวัน อยู่ในอำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล จากกุสินารา ต้องนั่งรถแต่เช้าเพื่อไปให้ถึงชายแดน ทำเรื่องผ่านเข้า-ออกประเทศใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางปาเข้าไป เกือบเย็น ปัจจุบัน สวนลุมพินีวัน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก มีเสาอโศกจารึกข้อความภาษาพราหมณ์ว่า “สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นอกจากนี้ยังมี “วิหารมายาเทวี” ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส และยังขุดค้นพบศิลารูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้า ก้าวที่เจ็ด ของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงพระดำเนินได้ในวันประสูติ
   
คงต้องยอมรับว่าการเดินทางไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่ยังเต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมสมัยพุทธกาล เกือบทุกเมืองมีเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างล้วนได้คุ้นเคยมาจากเรื่องราว พุทธศาสนา นอกจากนี้เรื่องราวสีสันต่าง ๆ ของอินเดีย ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สภาพบ้านเรือน รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆ แต่เนื้อที่มีจำกัดจริง ๆ ก่อนจากกันขอให้ผลบุญกุศลที่ได้มีโอกาส  ไปเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา ที่สังเวชนียสถานจนครบทั้ง 4 แห่งครั้งนี้ จงมีแด่ผู้อ่านทุกท่าน สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ…

เกรียง ไกร บัวศรี

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=55005

20 มี.ค. 53 เวลา 10:58 2,073 3 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...