พระราชพิธีโสกันต์ พิธีโกนจุกของเจ้าฟ้า

เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่๗)ทรงฉลองพระองค์ก่อนโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๔๘

 

 

ในปัจจุบันเราแทบจะมองไม่เห็น เด็กไว้ผมจุกกันแล้ว เนื่องจากความเจริญก้าวหน้า ของเทคโนโลยี และความหลากหลายทางสังคม ทำให้วัฒนธรรมหลายอย่าง ถูกลบเลือนไป โดยเฉพาะธรรมเนียมการไว้ผมจุก ซึ่งพลอยทำให้พิธีกรรมโบราณอย่าง โกนจุกก็พลันต้องค่อยๆ เลือนหายตามไปด้วย

 

การไว้จุกของเด็กไทย ในสมัยโบราณเป็นคตินิยม ที่ได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์ โดยเทพเจ้า ในศาสนาพราหมณ์ จะไว้ผมยาว และขมวดเป็นมวยไว้กลางผม จึงมีการดัดแปลง มาใช้เป็นทรงผมเด็ก เพื่อให้เทพคุ้มครอง เมื่อเด็กผู้ชาย มีอายุประมาณ 11-13 ปี และเด็กผู้หญิงมีอายุ 11 ปี (เด็กผู้หญิงต้องโกนจุก ก่อนเด็กผู้ชาย เพราะผู้หญิงโตเร็วกว่าผู้ชาย) ก็จะต้องมีการจัดพิธีโกนจุก ให้ดีที่สุดเท่าที่ฐานะจะทำได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีเชื้อสาย พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์ จะถือว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญ โดยเรียกพิธีโกนจุกพระราชโอรส หรือพระราชธิดาว่า "พระราชพิธีโสกันต์" และ "เกศากันต์"

 

"พระราชพิธีโสกันต์" ซึ่งเป็นพระราชพิธีโกนจุก ของพระราชโอรส หรือพระราชธิดา ของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป ส่วนเจ้านายระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า "พิธีเกศากันต์" โดยพิธีการนี้ ถือเป็นพิธีมงคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของเด็กไทยในสมัยนั้น เมื่อเด็กมีอายุครบตามกำหนด โหรหลวงจะดูฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันเวลาที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน ส่วนใหญ่มักจะประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน 4) ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับ พระราชพิธีตรียัมปวาย(โล้ชิงช้า)

 

ในระหว่างพระราชพิธีโสกันต์ จะมีขบวนแห่เสด็จไปฟังสวด โดยมีโหรหลวง คอยรับเสด็จส่งเสด็จ 4 คน ภายในขบวนแห่ นำหน้าด้วยพวกขับไม้บัณเฑาะว์ 4 คน พวกเชิญเครื่องสูง พระแสงต่างๆ ข้าทูลละอองที่คัดมาเดินเคียง พระราชยาน หรือเสลี่ยงองค์ละ 4 คน และจะปิดท้าย ด้วยขบวนพวกเชิญเครื่องสูงและพระแสง

 

หากเจ้านายที่โสกันต์ เป็นพระเจ้าลูกเธอ จะได้พระราชยาน หรือเสลี่ยงงารับเสด็จ ใช้เกณ์หลวงหรือไพร่ 10 คนหาม ส่วนพระจ้าหลานเธอ จะใช้เสลี่ยงรับเสด็จ ใช้เกณฑ์หลวงหรือไพร่ 8 คนหาม โดยเจ้านายที่เข้าพระราชพิธีโสกันต์ในวัน งานจะแต่งองค์แบบพระราชกุมาร อย่างงดงาม ซึ่งจะต้องทำไรไว้ขอบรอบจุก ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำหมาดๆ และชุบเขม่าทารอบจุก โดยจะโกนพระเกศสรอบจุก ล้างศรีษะให้สะอาด อาบน้ำทาขมิ้นบางๆ เกล้าจุกปักปิ่น แล้วใส่มาลัยรอบจุก หรือเกี้ยวแบบต่างๆ ตามลำดับพระยศ ผัดพักตร์และองค์ให้ขาวนวล ฉลององค์ชุดใหม่ ประดับเพชรนิลจินดาที่เหมาะกับฐานะ และขึ้นพระราชยานเข้าขบวนแห่ เพื่อไปประกอบพระราชพิธี

 

ระหว่างที่เสด็จ จะมีพราหมณ์ 4 คน รดน้ำกลศ น้ำสังข์ และโปรยข้าวตอกดอกไม้ และมีโหรโปรยข้าวเปลือก ข้าวสาร ซึ่งใส่อยู่ในขันทอง พร้อมพานรองนำหน้า เมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนฟังพระสวดพระพุทธมนต์ ตรงที่ประทับฟังสวด ที่อยู่ในพระฉากปูพรม และมีเขนยรองกรนั้น เบื้องหน้าจะมีโต๊ะ สำหรับวางพานมงคล ที่ทำไว้ด้วยสายสิญจน์ 108 เส้น ขนาดพอดีกับศรีษะ โดยประธานในพิธี ซึ่งมักจะเป็นพระมหากษัตริย์ จะทรงจุดเทียนหน้าพระรับศีล พระสวดมนต์ แล้วก็สวมมงคลให้ ซึ่งสายสิญจน์โยงไปยังที่บูชาพระ จนพระสวดจบจึงจะปลดสายสิญจน์ออกจากมงคล

 

ต่อมาในวันโสกันต์ช่วงเช้า จะประกอบพระราชพิธี บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเช่นเคย โดยโหรจะเป็นผู้ถวายพระฤกษ์ จรดพระกรรบิด (กรรไกร) ซึ่งเจ้านายที่โสกันต์ จะฉลองพระองค์ถอด ด้วยชุดขาว มีผ้านุ่งและเสื้อประดับขอบริมด้วยสีทอง พร้อมทั้งตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับเหมือน เมื่อครั้งทรงเสด็จมาฟังพระสวดพระพุทธมนต์ แต่จะไม่ทรงถุงเท้ารองเท้า หลังจากนั้นจะเสด็จ มาถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อได้ฤกษ์จะประทับบนพระแท่นที่เตรียมไว้ และหันพระพักตร์ไปทางทิศ ที่เป็นมงคลตามที่โหรกำหนดไว้ เพื่อจรดพระกรรบิด

 

เมื่อโสกันต์แล้ว จะเสเด็จไปถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ถวายสบง และเครื่องไทยทาน พร้อมทั้งถวายข้าวสาร โดยใส่ลงในกระจาดตามจำนวนพระสงฆ์ ซึ่งกระจาดจะมีขนาดที่กำหนดไว้ คือ ก้นลึก 1 ศอก หรือ 1 ศอก 3 นิ้ว หากโสกันต์พระเจ้าลูกเธอร่วมอยู่ด้วย กระจาดจะต้องเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ และใช้หวายมัด ปิดกระดาษสีอย่างเรียบร้อย ข้าวสารที่ใส่นั้น ใส่กระจาดละ 5 ทะนาน (ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว โดยที่ 20 ทะนานเป็น 1 ถัง ส่วน ทะนานหลวง จะเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก) ถวายพระสงฆ์ รวมทั้งอังคาสเภสัชด้วย

 

ภายหลังจากถวายเครื่องไทยทานแล้ว จะเสด็จกลับเข้าไปที่ทรงบาตร ที่ชานชาลาท้ายพระมหาปราสาท ซึ่งมีม่านกั้นตั้งแต่กำแพงแก้ว มาจนถึงพระมหาปราสาทตรงเข้าในพระราชวัง และทรงบาตร ที่ชาลาริมพระราชมณเฑียร

 

เมื่อทรงบาตรเสร็จสิ้น จะเสด็จขึ้นพระเสลี่ยง ด้วยขับไม้ และพราหมณ์นำเสด็จ เสนาบดี 4 คน ซึ่งรับสมมุติเป็นจตุโลกบาล เดินเคียงพระเสลี่ยงไปสรงน้ำ ถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า จะสร้างเขาไกรลาส เพื่อประกอบพิธีสรงน้ำ แต่ถ้าพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ที่ไม่ได้ดำรงพระยศเจ้าฟ้า รวมถึงพระเจ้าหลานเธอ และบุตรธิดาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์ จะโสกันต์ให้ จะสร้างพระแท่นสรง ขึ้นบนลานมุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

ณ พระแท่นสรงเชิงเขาไกรลาส เชิงเขาจะเป็นสระน้ำอโนดาตน้อยๆ มีน้ำออกจากปากสิงห์ การสรงน้ำนี้จะมีการสมมุติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ที่นับถือเป็นพระอิศวร เสด็จขึ้นไปทรงเครื่อง อยู่บนเขาไกรลาสชั้นท่านบุษบก ชาววังจะเอาม่านลายทอง แผ่ลวดพื้นสักหลาดผูกบังรอบทั้ง 4 ด้าน แล้วเอาม่านพื้นทองดาพุ่ม ข้าวบิณฑ์บนบุษบกไขทั้ง 4 ด้าน โดยจะคอยชักไขข้างละคนเอาเสื่ออ่อน พรม พระยี่ภู่ผืนใหญ่ พระเขนยลายกระบวน แต่งที่บุษบก พื้นชั้นแท่นบุษบกปูเสื่อ ตั้งเตียง สนมพลเรือนปูพรม ขับไม้พราหมณ์อยู่ในที่สรง พราหมณ์จะถวายน้ำกลศ และน้ำสังข์ โดยเสด็จเข้าในพลับพลาเปลื้อง เครื่องทรง ผลัดพระภูษา แล้วจึงเสด็จขึ้นบนยอดเขา พระอิศวร(สมมุติ) จะเสด็จลงมารับถึงกลางบันไดนาค ขึ้นไปถึงชั้นพระแท่น เมื่อเสด็จเข้าไปในบุษบก ชาววังชักม่านไขปิด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จะเสด็จเลี้ยวไปทรงเครื่องที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ เสร็จแล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระอิศวร ชาววังชักม่านไขเปิดทั้ง 4 ด้าน พระอิศวรประทานพร แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็เสด็จ กลับลงไปด้านทิศตะวันออก

 

ตกบ่ายจึงมีการประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภช ณ พระที่นังจักรพรรดิพิมาน (พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในปัจจุบัน) ซึ่งจะมีการตั้งข้าวขันพานรอง สำหรับแว่นเวียนเทียน แว่นนี้จะติดเทียนแว่นละ 3 เล่ม พานน้ำวักแว่นเวียนเทียน บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน และมีบายศรีตอง 3 ชั้น ใส่เครื่องกระยาบวดไปบูชาเทวดา เมื่อได้ฤกษ์โหรจะลั่นฆ้องเป่าสังข์ พราหมณ์จะเบิกแว่นเวียนเทียน เวียนไปครบ 3 รอบ ก็เปลี่ยนผ้าคลุมบายศรี ให้ผู้จะโสกันต์ ถือไว้แล้วเวียนเทียนต่ออีก 2 รอบ รวม 5 รอบ จึงทำพิธีดับเทียน ขณะที่เวียนนั้นพราหมณ์ จะร่ายพระเวทไปด้วย เมื่อสมโภชเสร็จก็เป็นเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นก็อัญเชิญพระเกศาไปลอยแม่น้ำ

 

ภายหลังจากประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชเสร็จแล้ว จะมีการละเล่นสมโภชในงานด้วย ซึ่งการละเล่นที่มักจะเล่นกันอยู่เสมอคือกุลาตีไม้ และโมงครุ่ม

 

ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชพิธีโสกันต์หลายครั้ง แต่พระราชพิธีโสกันต์ใหญ่เจ้าฟ้า และมีเขาไกรลาศ รวมทั้งพระราชพิธีครบถ้วน เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในพระราชพิธีโสกันต์ "สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี" พระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา เจ้าทองสุก ธิดาเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต เจ้าประเทศราช

 

 ....... จะจงรักภักดีตลอดไป .......

ที่มา: ปากเซ.คอม
11 ก.ค. 56 เวลา 22:43 5,438 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...