เจ้าสาวเด็ก (เกินไป)

window.addEvent('domready', function() { var myMenu = new MenuMatic(); });
เจ้าสาวเด็ก(เกินไป)

 

เจ้าสาววัยเยาว์กับเรื่องราวอยุติธรรม


 
 
ในอินเดียและประเทศแถบนั้น มีธรรมเนียมผิดกฎหมายอยู่อย่างหนึ่ง ที่คนทั้งหมู่บ้านมักจะร่วมมือกันปิดบัง นั่นคือ การจัดพิธีแต่งงานให้กับเด็กหญิงอายุน้อย เพราะในประเทศนี้ผู้ชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงเป็นเพียงสิ่งของอย่างหนึ่งของครอบครัว ที่มีราคาค่างวดตามแต่ผู้ชายจะเห็นควร
 
บางครอบครัวยกลูกสาวให้กับครอบครัวอื่นเพื่อชำระหนี้ หรือเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับอีกครอบครัวหนึ่ง เพราะเห็นแก่ประโยชน์ทางการค้า หรือความมั่งคั่งอื่น ๆ โดยไม่สนใจว่าชายผู้ที่จะมาแต่งงานกับลูกสาวหรือหลานสาวของตนนั้นจะมีอายุมากกว่าแค่ไหน หรือเด็กหญิงนั้นจะยังเด็กเกินไปเพียงใด…
 
ความเชื่อที่ว่า หญิงสาวที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่เสียหายและน่ารังเกียจ ไม่สมควรกับการแต่งงาน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พ่อแม่ต้องการผลักดันให้ลูกหลานผู้หญิงของตนเข้าพิธีแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
ในประเทศอินเดีย หญิงสาวที่แต่งงานแล้วส่วนมากจะต้องออกจากบ้านไปเพื่ออยู่กับครอบครัวของสามี และเป็นสมบัติของชายผู้เป็นสามีโดยสมบูรณ์ ลูกสาวที่ยังอยู่กับพ่อแม่จะมีคำเรียกในภาษาอินเดียว่า “ปารายาธาน” ซึ่งแปลตามตัวได้ว่า “ทรัพย์สินของคนอื่น”

 

[ตอฮานีย์(ชุดสีชมพู) เล่าถึงวันแรก ๆ ของการแต่งงานกับมาญิดว่า
"ทุกครั้งที่เห็นเขาหนูจะหนีไปซ่อน หนูไม่อยากเจอเขาจริง ๆ ค่ะ"
ตอนนั้นเธออายุ 6 ขวบ ขณะที่เขาอายุ 25 ปี ตอนนี้ตอฮานีย์อายุ 8 ขวบ
เธอกำลังถ่ายรูปพร้อมสามี และอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่เป็นภรรยาวัยเยาว์เช่นกัน]

การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก หลายคนอาจจะคิดถึงวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่ใช่เลยสำหรับประเทศนี้ “เด็ก” ในที่นี้หมายถึงเด็ก ที่เป็นเด็กจริง ๆ นั่นคือ พวกเธออาจมีอายุเท่าไรก็ได้ อาจจะอายุ 7-12 ปี บ้างก็เพิ่งอายุเพียง 4-5 ปี เท่านั้น ก็ต้องเข้าสู่พิธีแต่งงานเสียแล้ว
 
พิธีแต่งงานเด็ก เป็นพิธีแต่งงานที่ผิดกฎหมาย จึงมักจัดขึ้นในเวลากลางคืนจนถึงเช้ามืด โดยคนทั้งหมู่บ้านมักจะเห็นดีเห็นงามด้วยเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน จึงช่วยกันปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้ทางการรู้ โดยแอบไปร่วมพิธีกันอย่างเงียบ ๆ
 
การแต่งงานตั้งแต่เด็กหญิงยังอายุน้อยนอกจากต้องทำให้เด็กหญิงถูกแยกออกจากครอบครัวแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของเด็ก เพราะการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ร่างกายยังไม่พร้อม และยังไม่ถึงวัยสืบพันธุ์นั้นถือเป็นเรื่องอันตรายมาก และชายผู้แต่งงานกับเด็กหญิง บ้างก็อายุมากกว่าหลายปี และบ้างเป็นชายแก่ พวกเขาส่วนมากไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ และมักขืนใจภรรยาตนเองตั้งแต่คืนแรกที่แต่งงาน

 

[ราชานีวัย 5 ขวบ กับเจ้าบ่าวเด็กวัย 10 ขวบ ของเธอ
แทบไม่มองหน้ากันระหว่างประกอบพิธีแต่งงานต่อหน้ากองไฟศักดิ์สิทธิ์
เธอไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ก็ยังโชคดีที่เจ้าบ่าวไม่ได้แก่กว่ามากนัก]

ในประเทศนี้โดยปกติจะค่อนข้างปิดบังในเรื่องเพศ คือ เด็ก ๆ แทบจะไม่ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยจากทั้งที่โรงเรียน และจากผู้ปกครอง ลองคิดภาพเด็กผู้หญิงที่ปวดท้องใกล้คลอดเต็มที และพยาบาลต้องอธิบายกลไกการสืบพันธุ์ของมนุษย์ให้ฟังดูก็ได้ พวกเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังเติบโตอยู่ในตัวเธอนั้นคือเด็กทั้งคน
 
ใช่ว่าเด็กหญิงทุกคนจะเต็มใจเข้าพิธีแต่งงาน เด็กหญิงส่วนมากหวาดกลัวและพยายามคัดค้าน พวกเธอยังเด็กเกินกว่าจะรับรู้เรื่องเหล่านี้ และเด็กเกินกว่าจะรับผิดชอบครอบครัวรวมถึงชีวิตอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากเธอ แต่เธอก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในประเทศที่ผู้ชายมีสิทธิ์ในการตัดสินใจและเป็นผู้ครอบครองทุกอย่างไม่เว้นแต่ชีวิตของพวกเธอ เมื่อแต่งงานแล้ว พวกเธอจะต้องเสียโอกาสในการเรียน และต้องใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่คนหนึ่ง
 
แต่ก็ใช่ว่าเด็กหญิงทุกคนจะยอมให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ถูกย่ำยีอยู่ฝ่ายเดียว มีเด็กหญิงอายุ 10 ปี คนหนึ่ง ชื่อ นูจู๊ด (ชาวเยเมน) เธอลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมในชีวิต ต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกคนที่ถูกกดขี่ แม้จะเป็นแค่เสียงร้องทุกข์ของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ แต่ความกล้าก็ทำให้เธอโด่งดังไปทั่วโลก และทำให้มุมมืดอันเร้นลับของวัฒนธรรมที่โหดร้ายถูกตีแผ่

 

[สุริตา วัย 16 ปี จากเนปาล ไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะแต่งงาน 
เธอร้องไห้คร่ำครวญอยู่บนเสลี่ยงระหว่างทางไปยังหมู่บ้านของสามี]

นูจู๊ดวัย 10 ปี หลบหนีจากสามี เพื่อกลับบ้าน และท้าทายพ่อผู้ตะโกนใส่เธอว่า เกียรติยศของครอบครัวขึ้นอยู่กับการที่เธอต้องทำหน้าที่ของเจ้าสาวที่ดี แม่แท้ ๆ ของเธอไม่กล้าช่วยเหลือเธอ มีเพียงแม่เลี้ยงที่ให้เงินเธอเป็นค่าแท็กซี่ และแนะนำว่าเธอควรจะไปที่ไหน
 
เด็กหญิงไปปรากฏตัวที่ศาลกลางเมืองอันใหญ่โตแห่งหนึ่ง ท่ามกลางความงุนงงของผู้พิพากษา เขาถามเธอว่า มาทำอะไรคนเดียวในที่แห่งนี้ นูจู๊ดตอบอย่างไม่ลังเลว่า “หนูจะมาหย่าค่ะ”
 
ทนายหญิงคนหนึ่งของเยเมนรับว่าความให้เธอ เพราะชื่นชมในความห้าวหาญของเด็กหญิง คดีเล็ก ๆ นี้ถูกเผยแพร่ออกไปทุกมุมโลก ราวกับการโยนก้อนหินเล็ก ๆ ลงไปในผืนน้ำที่เงียบสงบ เธอกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนไม่อาจมองข้าม และท้ายที่สุดเธอก็ได้รับอนุญาตให้หย่า ท่ามกลางฝูงชนที่ลุกขึ้นปรบมืออย่างกึกก้อง

 
 
 
ทุกคนประทับใจในความกล้าหาญ สุขุม และการวางตัวอย่างสง่าผ่าเผยของนูจู๊ด ทุกที่ ๆ เธอปรากฏตัวจะได้รับเสียงเชียร์กึกก้อง เธอตอบคำถามได้น่ารักและตรงไปตรงมา ไม่เคยเหนื่อยเลยที่จะเล่าเรื่องราวซ้ำ ๆ ให้ทุกคนได้ฟัง เธอได้กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง แม้พ่อของเธอจะไม่เต็มใจนัก และเธอก็ดีใจที่ได้กลับไปเรียนหนังสือ เรื่องราวของเธอได้ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ “นูจู๊ด…หนูจะหย่า (I am Nujood, Age 10 and Divorced)” และมีการพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก
 
 
 

21 มิ.ย. 56 เวลา 14:40 8,330 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...