นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ สนุกเพลิดเพลินได้คติสอนใจ Part 2

  7. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง อ้ายก้องขี้จุ๊

          ใคร ๆ ในเวลานั้นก็รู้กันว่าอ้ายก้องเป็นคนขี้จุ๊ (มักกล่าวเท็จ) จุ๊ไม่เลือกว่าเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นธุเจ้า (พระสงฆ์) หรือเป็นพระยาเจ้าเมือง เรื่องที่ก้องหลอกพ่อแม่ มีเรื่องเล่าดังนี้

          วันหนึ่งก้องลาพ่อแม่ไปเที่ยวที่ไกล หายหน้าไปหลายวัน พอกลับมาก็เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าที่ไปเที่ยวมานั้นม่วน (สนุก) มาก ค้าขายก็ดี พ่อค้าวัวต่างวัวหลัง (ขายดี ของที่บรรทุกหลังวัวมาหมดเกลี้ยง) ทำให้ก้องอยากเป็นพ่อค้าวัวต่างบ้าง ขอให้พ่อช่วยซื้อวัว ซื้อสินค้าให้ แล้วชวนพ่อไปค้ากับตนที่เมืองนั้น พ่อเองทั้งนึกกลัวว่าก้องจะจุ๊เอาอีกอย่างที่แล้ว ๆ มา แต่ก้องก็ยืนยันว่าคราวนี้จะไม่จุ๊แน่นอน ทั้งพ่อก็กำกับไปเองด้วย ไม่ต้องกลัวว่าก้องจะทำเหลวไหลให้เสียเงินเสียทอง พ่อแม่จึงยอมตกลงซื้อวัว ซื้อของบรรทุกไปค้าขายกับก้อง

          เมืองที่ว่าค้าขายดีนั้นดีจริงเหมือนก้องพูด พ่อกับก้องขายของหมด ซื้อไปขายมาได้เงินมากได้กำไรจนเพลินไปเกือบจะไม่ได้ปิ๊กบ้านปิ๊กเมือง (กลับบ้านกลับเมือง) อยู่มาวันหนึ่งก้องเตือนพ่อขึ้นว่า จากบ้านมานานแล้วนึกเป็นห่วงแม่อยากจะกลับไปเยี่ยม พ่อก็เห็นดีด้วย แต่ขณะที่กำลังซื้อขายคล่อง ถ้ากลับไปก็เสียดาย จึงตกลงกันว่าให้พ่อค้าขายอยู่ทางนี้ ให้ก้องกลับไปเยี่ยมแม่คนเดียวเอาเงินเอาทองที่ทำมาหาได้ไปฝากแม่ด้วย

          ก้องรับเงินทองจากพ่อแล้วออกเดินทางไป แต่ไม่ตรงไปหาแม่เดียว เที่ยวไถลไปไหน ๆ จนเงินทองหมดตัวจึงกลับไปหาแม่ พอพบหน้าแม่ก็ทำเป็นเศร้าโศกร้องไห้ฟูมฟายว่าไปมาคราวนี้พาพ่อไปล้มไปตาย ข้าวของสมบัติอะไร ๆ ที่ติดตัวไปก็ล่มหมด พ่อตายทำบุญให้แล้วก็รีบกลับมากาแม่นี่แหละ อู้ (พูด) อย่างนี้แล้วก็แนะแม่ว่า เวลานี้พ่อก็หาไม่แล้ว (ตาย) ควรขายบ้านเก่าเสียแล้วย้ายไปเมืองอื่นที่ทำมาหากินได้ดีกว่าเมืองนี้

          ก้องจะอยู่ช่วยแม่ค้าขาย ไม่จากแม่ไปไหนอีกแล้ว แม่กำลังเศร้าโศกเสียใจก็ตกลงทำตามที่ก้องแนะนำ ขายบ้านเก่าแล้วย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้วแม่ก็ยังไม่หายเสียใจ ร้องไห้คิดถึงพ่ออยู่เสมอ ก้องจึงปลอบแม่ว่า "แม่อย่าร้องไห้เสียใจไปนักเลย ไหน ๆ พ่อก็ตายไปแล้ว นึกหาเอาใหม่ก็แล้วกัน"แม่ตอบว่า "จะหาคนเหมือนพ่อไม่ได้แล้ว ถ้าได้อย่างพ่อก็จะเอาใหม่" ก้องจึงบอกแม่ว่า "ถ้าต้องการอย่างนั้นก็บ่ยาก แต่ก่อนเมื่อข้าเที่ยวไป ข้าปะพ่อชายคนหนึ่งเหมือนพ่อไม่ผิดกันเลย ข้าจะไปชักมาให้แม่"

          ครั้นแล้วก้องก็ลาแม่ไป กลับไปหาพ่อที่คอยฟังข่าวอยู่ ก้องพบพ่อทำเป็นร้องไห้รำพันร่ำไรว่ากลับไปบ้านนี้เคราะห์ร้ายมาก ไม่ได้พบหน้าแม่ แม่ตายเสียแล้วตั้งแต่ยังค้าขายกันอยู่ บ้านช่องก็เสียหายเป็นของเขาอื่นไปแล้ว พ่อได้ยินว่าแม่ตายเสียแล้วอย่างนั้นก็เสียใจมาก ร้องไห้คิดถึงแม่อยู่หลายวัน วันหนึ่งก้องได้ช่อง (ได้โอกาส) ก็เข้าไปปลอบพ่อว่า "พ่ออย่าร้องไห้ไปเลย เมื่อก่อนที่ข้าเที่ยวไป ข้าปะหญิงคนหนึ่งเหมือนแม่ไม่มีผิด เมื่อพ่ออยากเห็นข้าจะพาไปที่บ้าน"

          ก้องชักพ่อมาหาแม่ที่เมืองที่แม่ย้ายมาอยู่ใหม่ แล้วรีบหนีไปเที่ยวเสียที่อื่นต่อไป พ่อแม่พบกันนึกว่าเป็นพ่อชาย แม่หญิง ที่เหมือนคู่เก่าของตนที่ตายไปแล้ว ก็ดีใจมาก ตกลงอยู่กินกันต่างคนต่างนึกว่าตนได้คู่คนใหม่

          อยู่มาวันหนึ่ง แม่บ่นถึงก้องว่าหายไปนานแล้วไม่กลับ ไปเที่ยวจุ๊อยู่ที่บ้านไหนก็ไม่รู้ พ่อได้ยินออกชื่อก้องก็สงสัย ซักถามกันขึ้น ก็ความแตกว่าต่างคนมีลูกชื่อก้องขี้จุ๊คนนั้นเอง ลูกหลอกให้มาได้กันเหมือนได้ผัวใหม่เมียใหม่

          ส่วนที่ก้องจุ๊ธุเจ้านั้น มีเรื่องเล่าว่า อาจารย์เจ้าวัดหนึ่งเป็นคนขี้หวง ถึงหน้าต้นไม้ในวัดออกลูกออกผล อาจารย์ก็ป้องกันแข็งแรงกลัวว่าใครจะมาขอมาขโมย คราวหนึ่งมะม่วงในวัดออกลูกมากมาย คนในวัดและชาวบ้านแถวนั้นรู้ดีว่าเจ้าวัดหวงมาก ถึงอย่างไร ๆ ก็คงไม่ยอมให้มะม่วงใคร ก้องอยากลองดีจึงบอกกับพ่อว่าฉันจะเอามะม่วงในวัดมาให้พ่อกินให้ได้ พ่อก็หัวเราะประมาทหน้า แน่ใจว่าเอาของท่านมาไม่ได้

          ก้องท้าพนันกับพ่อว่า ถ้าเอามาได้พ่อจะให้เท่าไร พ่อบอกว่าได้มะม่วงมาลูกหนึ่งจะให้พันตำลึงทอง ก้องจึงรับรอง่าถ้าได้พันตำลึงทองจะเอามาให้พ่อตะกร้าใหญ่ ไม่ต้องนับว่ากี่ลูก แล้วก็แต่งตัวโอ่โถง ลงเรือหายหน้าไป ๒ – ๓ วัน พ่อก็ไม่รู้ว่าก้องไปไหนพอกลับมาก้องรีบมาที่วัดเข้าไปเคารพอาจารย์เจ้าวัด แล้วบอกว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนรับคำสั่งท่านพญาเจ้าเมืองให้มาตรวจดูสถานที่ในวัดท่านจะมาแปง (สร้าง) หอหลวง ท่านให้มาถามอาจารย์ก่อนว่าจะยอมอนุญาตให้สร้างหรือไม่" อาจารย์เจ้าวัดเห็นก้องแต่งตัวภูมิฐาน ท่าทางดี นึกว่าพญาเจ้าเมืองใช้ให้มาจริง ๆ ก็บอกอนุญาตให้ก้องเที่ยวเดินไปทั่ววัดตรวจไปพลางเอาเชือกเที่ยววัดตรงนั้นตรงนี้ทำท่าเหมือนจริง ครั้นวัดและจดได้เสร็จแล้ว ก็บ่นดัง ๆ ให้เจ้าวัดได้ยินว่า "สะดายสะดาย ( เสียดาย ) มะม่วงต้องตัด หอหลวงนี้ใหญ่โตมาก กินที่ไปถึงต้นมะม่วงพวกนี้ด้วย" อาจารย์เห็นวาได้หอหลวงใหญ่ถึงจะตัดมะม่วงสักต้นก็ยอม และเมื่อไหน ๆ จะตัดมะม่วงอยู่แล้ว ก้องจะเก็บเอาลูกไปบ้างก็ได้ไม่หวงเอาไว้เหมือนแต่ก่อน ทั้งก้องก็เป็นคนที่จะไปนำพญาเจ้าเมืองมาแปงหอหลวงในวัดนี้ จึงให้ก้องเก็บมะม่วงเอาไปตะกร้าหนึ่ง ก้องเอามะม่วงไปให้พ่อ พอร้องทวงตำลึงทองตามที่พ่อสัญญาไว้ พ่อกลับร้องด่าเอาว่า "มึงรู้จักจุ๊ธุเจ้าเอามะม่วงมาได้ กูไม่รู้จักจะจุ๊ใคร จะเอาคำที่ไหนมาหื้อ (ให้) มึงตั้งพัน"

          ส่วนเรื่องที่ก้องจุ๊พญาเจ้าเมือง มีว่า พญาเจ้าเมืองรู้ว่าก้องเป็นคนขี้จุ๊ ใคร ๆ ก็เสียรู้ นึกอยากลองปัญญา จึงให้คนไปหาตัวมาเฝ้าแล้วท้าให้จุ๊ตัวบ้างดูว่าตนจะหลงเชื่อเสียรู้ก้อง หรือไม่ ก้องก็รับปากว่าจะลองดู แล้วทูลขอเอาไว้ก่อนล่วงหน้าว่าอย่าเอาโทษตนเป็นอันขาด ไม่ว่าตนจะทำให้พญาเสียรู้สักแค่ไหน เจ้าเมืองก็รับคำแล้วบอกให้ก้องเริ่มได้ แต่ก้องบอกว่าจะจุ๊เจ้าเมืองในวังไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอกไกล ๆ แล้วพาเจ้าเหนือหัวเดินออกไปนอกเมืองไกลจนถึงบวก (หนองน้ำ) แห่งหนึ่ง แล้วทูลขอให้เจ้าเมืองลงไปยืนในหนองน้ำนั้น ตนจะจุ๊ให้ขึ้นจากหนองน้ำให้ได้ พญาเจ้าเมืองก็ลงไปในหนองน้ำแล้วตั้งใจว่าก้องจะจุ๊อย่างไรก็ไม่ยอมขึ้น

          พอเจ้าเหนือหัวลงไปอยู่ในหนองเรียบร้อยแล้ว ก้องก็ร้องทูลว่า "ข้าพเจ้าจุ๊ให้ท่านเดินออกจากวังมานอกเมืองไกลแค่นี้แล้ว ส่วนที่จุ๊ให้ลงไปอยู่ในน้ำนั้นจะขึ้นหรือไม่ก็ตามพระทัยเถิด"ก้องกล่าวดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลากลับไปเสียเฉย ๆ พญาเจ้าเมืองก็รู้ว่าเสียท่าก้องเสียแล้ว และตั้งแต่เสียรู้ก้องวันนั้นแล้วก็ผูกใจเจ็บอยู่เสมอ วันหนึ่งจึงให้ไปจับก้องลงโทษ ให้เอาใส่หีบไม้ล่อ (โผล่) แค่คอแล้วแขวนเอาไว้บนต้นไม้ริมแม่น้ำใกล้ทางหลวง แขวนประจานเอาไว้เจ็ดวันให้คนทั้งหลายดูหน้าคนบังอาจจุ๊เจ้าเหนือหัว เมื่อครบเจ็ดวันแล้ว จะให้โค่นต้นไม้ตกแม่น้ำไปให้ก้องจมน้ำตายอยู่ในหีบไม้ใบนั้น

          ผู้คนก็พามาดูอ้ายก้องขี้จุ๊กันมากมาย ในเย็นที่ก้องจะต้องตายนั้น เผอิญอ้ายเงี้ยวตาฟางคนหนึ่งเดินงุ่มง่ามมา ก้องแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจมาก ร้องเรียกให้เข้ามาใกล้ ๆ เงี้ยวตาฟางจึงถามว่าก้องเป็นใคร ก้องบอกว่าตนเป็นคนตาบอด หมอรักษาตาเอาใส่หีบแขวนไว้ เวลานี้ตาหายแล้วเห็นดีแล้ว เงี้ยวตาฟางอยากตาดีบ้าง จึงขอให้ก้องช่วยเอาตัวใส่หีบแขวนไว้ เงี้ยวจึงช่วยก้องออกมาแล้วเข้าไปอยู่ในหีบแทน ครบกำหนดเจ็ดวัน เพชฌฆาตก็มาโค่นต้นไม้ เงี้ยวตาย ส่วนก้องพ้นตายไปได้ แล้วก็ไปเฝ้าเจ้าเมือง เจ้าเมืองแปลกใจว่าเหตุใดก้องตากน้ำแล้วยังไม่ตาย

          ก้องจึงกุเรื่องขึ้นเล่าว่า "ตกน้ำไปจริงแต่ไม่ตาย ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค เมืองนั้นสนุกสนานมาก มีแต่ผู้หญิงงาม ๆ ทั้งเมือง ไม่มีผู้ชายเลย" แล้วขยายเรื่องจนเจ้าเมืองอยากไปบ้าง ขอให้ก้องช่วยจัดการให้ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค ก้องจึงเอาเจ้าเมืองใส่หีบทิ้งน้ำ เป็นอันว่าพญาเจ้าเมืองไม่ได้กลับมาครองบ้านเมืองอีกต่อไป

          ส่วนก้องกลับมาเฝ้านางเทวี ชายาเจ้าเมือง เล่าว่าเจ้าเมืองไปอยู่เมืองพญานาค มีความสุขสนุกสนาน ไม่ยอมกลับบ้านเมืองอีกแล้ว มอบให้ก้องเป็นพญาแทน ส่วนเจ้านางเทวีนั้น พญาสั่งว่าอย่าให้เอาผู้ใดเป็นผัวนอกจากก้อง อ้ายก้องขี้จุ๊ก็ได้เป็นพญาแต่นั้นมา

          ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          - ให้ความสนุกเพลิดเพลิน

          - ให้เห็นถึงความโกหกหลอกลวงของคนที่โกหกหลอกลวงไม่เลือกแม้แต่พ่อแม่ พระสงฆ์

          - คนมีสติปัญญาสามารถเอาตัวรอดได้เสมอ

      8. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ผาวิ่งชู้

          นานมาแล้ว มีเจ้าหญิงไตองค์หนึ่ง (ไต – ไทย) เมื่อเติบโตเป็นสาวก็ไปหลงรักกับชายหนุ่ม คนหนึ่ง ชายหนุ่มก็หลงรักเจ้าหญิงมาก ทั้งสองมีความรักซึ่งกันและกันอย่างแน่นแฟ้น แต่เพราะความแตกต่างกันในเรื่องฐานะ ศักดิ์ ตระกูล ความรักของเขาทั้งสองจึงมีอุปสรรค มันเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงยากที่จะฟันฝ่าไปให้ถึงจุดหมายได้ ในเมื่อกำเนิดของเขาต่างกันราวฟ้ากับกิน

          ชายหนุ่มเป็นลูกชายของมหาอำมาตย์ท่านหนึ่ง ความรักของคนทั้งสองก็ต้องถูกกีดขวางไม่ให้ติดต่อกัน แต่ความรักคือความรักที่รุนแรง ไม่มีกำแพงใด ๆ จะสูงเกินไปกว่าความรักเหมือนโรเมโอกล่าวว่า "แม้รั้วสิลา บ่มิอาจกั้นเราได้" แล้วหนุ่มสาวก็ถือโอกาสลอบพบปะกันเสมอ นับวันก็จะถูกกีดขวางมากขึ้น

          วันหนึ่งทั้งสองก็นัดกันว่าจะหนีไปด้วยกันโดยขี่ม้าหนีไป พอได้เวลานัดชายหนุ่มก็มาคอยรับเจ้าหญิงในที่ลับ ๆ แห่งหนึ่งนอกเมือง ในที่สุดชายหนุ่มก็พาเจ้าหญิงหนีไปในกลางดึกคืนวันนั้น แต่ทั้งสองไปไม่รอดเพราะพระราชบิดาของเจ้าหญิงทราบเรื่องก็ให้ไพร่พลควบม้า ติดตามไป ตามไปทันในขณะที่ม้าของชายหนุ่มกับเจ้าหญิงไปถึงฝั่งของแม่น้ำซึ่งเป็น หน้าผาสูงชันมาก เมื่อหมดทางหนีเขาทั้งสองคิดว่าจะต้องถูกนำตัวไปลงโทษสถานหนัก อาจถึงขั้นประหารชีวิตก็ได้ แต่ชายหนุ่มก็ไม่อาจตัดสินใจได้ เสียงฝีเท้าม้าดังใกล้เข้ามาทุกขณะ เจ้าหญิงซึ่งนั่งข้างหลังม้าจึงเปลี่ยนมานั่งข้างหน้าเสียเอง เธอเป็นผู้ถือบังเหียนม้าแล้วให้วิ่งลงมาจากหน้าผาทันที ทำให้ทั้งสองคนเสียชีวิต ณ ที่นั้น

          แต่นั้นมาผาสูงนั้นก็ได้ชื่อว่า "ผาวิ่งชู้" และสิ่งต่าง ๆ ที่หล่นมาจากหน้าผารวมทั้งชื่อของคนทั้งสองก็เป็นชื่อเรียกแก่งหลาย ๆ แก่งในลำน้ำปิง เป็นที่ระลึกถึงความรักของคนทั้งสองซึ่งถือว่าความรักเป็นศาสนาอันบริสุทธิ์

          ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากล่าวถึงและเศร้าด้วย ใครไปที่นั่นต้องนึกถึงนิยายของหญิงชายคู่นี้ซึ่งรักกันแล้วต้องมาจบชีวิตที่ผานี้ คนยังไม่มีอิสระพอต้องถือตามประเพณีอย่างเคร่งครัด เมื่อฝ่าฝืนต้องมีโทษ ทำให้ขาดอิสรภาพในตัวเอง

      9. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ควายลุงคำ

          ลุงคำอยู่บ้านนอก ไม่เคยไปติดต่อธุระการงานกับทางอำเภอเลย ดังนั้นเรื่องราวหรือวิธีปฏิบัติที่ทางอำเภอได้กระทำไปอย่างไรแกจึงไม่เข้า ใจ แต่แก่เป็นคนที่สนใจ เอาใจใส่สอบถามเขาอยู่เสมอ

          ครั้งหนึ่ง ลุงคำมีกิจธุระจะเป็นต้องไปติดต่อกับทางอำเภอ เนื่องจากแกมีควายสองตัว เมื่อควายโตแล้วจะต้องนำไปทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณ เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ แกตื่นแต่เช้า ห่อข้าวและจูงควายทั้งสองไปยังที่ทำการอำเภอ เพราะกรนำควายไปแต่เช้าความไม่เหนื่อย ควายทั้งคู่นี้ ตัวหนึ่งเขาบี้ (คือเขาเกเกตกลงข้างล่าง) เป็นตัวผู้ อีกตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย เขากิ (เขาสั้นไม่โง้ง)

          เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่ทางอำเภอก็มาตรวจขวัญและกรอกลงในแบบพิมพ์ เสร็จแล้วจึงมอบตัวพิมพ์รูปพรรณนั้นให้แก่ลุงคำไป ลุงคำรับตั๋วพิมพ์มายืนอ่านดูหลายเที่ยว ป้ามาเมียลุงคำยืนดูอยู่จึงขอดูตั๋วพิมพ์นั้นบ้าง พอดูรูปในตั๋วพิมพ์กับดูควายของแกแล้ว ป้ามาร้องออกมาดัง ๆ ว่า

          "ป้อละอ่อนเหย มันท่าจะบ่าใจ้ควายเฮาเหียแล้ว" (พ่ออีหนู มันคงจะไม่ใช่ควายของเราเสียแล้ว)

          ลุงคำสงสัยรีบถามออกไปว่า "มันเป๋นจะใดแม่ละอ่อน" (มันเป็นอย่างไรรึแม่อีหนู)

          ป้ามา รีบบอก "ควายเฮาเขาบี้กับเขากิลู่ ควายในฮูปเขาว้องตึงมวน" (ควายของเราเขาเกกกับเขาสั้นนี่ ดูควายในรูปซิ เขาโง้งทั้งสองตัว)

          ลุงคำ พิจารณาดูรีบตอบว่า "เอ่อ แต้ ๆ ข้าจะไปหาเสมียนก่อน" (เออ จริง ๆ ซิ ฉันจะต้องไปถามเจ้หน้าที่ก่อน แกรีบเดินไปหาเจ้าหน้าที่ทันที)

          พอไปถึงแกรีบบอกพนักงานตั๋วพิมพ์รูปพรรณ ครั้นจะออกเป็นภาษาพื้นเมืองก็เกรงว่าเสมียนจะไม่เข้าใจ จึงพูดภาษากลางว่า

          "คุณ คุณ ซวาย (ควาย) ของผมเขาบี้กะเขากิ แต่นี่มันเขาว้องนี่ครับ "

          เสมียนเมื่อได้ยินาคำตอบบอกดังนั้น จึงค่อย ๆ กระซิบว่า "ลุง เบา ๆ หน่อยอย่าพูดดัง คนอื่นจะได้ยิน"

          ลุงคำคิดว่าตนได้ทีจึงตอบดัง ๆ ว่า

          "จะเบาจะใด ควายเขากิเป็นเขาว้อง มันตึงเบาบ่าได้ มันบ่าใจ่ลู่ " (จะให้พูดเบา ๆ ได้ อย่างไรควายเขาสั้นมาทำตั๋วเป็นเขาโง้งนี่ ไม่ย่อมละเพราะมันไม่ใช่นี่)

      10. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ย่าผันคอเหนียง

          กาลก่อน ณ หมู่บ้านตั้งอยู่ในชนบท ไกลออกไปจากเมืองหลวง ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนาหาของป่ามาขาย หมู่บ้านแห่งนี้มีหญิงสาวรูปร่างอาภัพผู้หนึ่ง นางไม่มีชายหนุ่มผู้ใดไปเที่ยวหาเลยเนื่องจากนางคอพอกโตใหญ่น่าเกลียด ชาวบ้านเรียกนางว่า "อีตาคอเหนียง"

          ทุก ๆ คืนแม้ว่านางจะนั่งปั่นฝ้ายอยู่กลางลานบ้านรอหนุ่ม ๆ มาเที่ยวหา ก็ปรากฏว่าไม่มีใครมาหานางเลย แม้ว่าจะได้ยินเสียงร้องเพลงและเล่นดนตรีของพวกหนุ่ม ๆ ที่ผ่านมา นางคิดว่าเขาคงจะแวะมาเที่ยวหาตน แต่ปรากฏว่าหนุ่มเหล่านั้นกลับเลยไปบ้านอื่นเสียทุก ๆ คราว

          เมื่อเป็นเช่นนี้ นางสาวตารู้สึกน้อยใจ อยากจะตายเสียให้พ้นความชอกช้ำใจ วันหนึ่งขณะที่นางเห็นปลอดคน จึงจัดการตระเตรียมเครื่องใช้ตั้งใจว่าจะเข้าไปตายในป่าเสียให้รู้แล้วรู้ รอดไป บางทีความตายอาจช่วยให้ตนพ้นทุกข์ไปได้

          นางมุ่งหน้าออกเดินทางเข้าป่าขึ้นเขาไป โดยตั้งใจเด็ดขาดว่าเป็นตายร้ายดีจะไม่ยอมกลับบ้าน วันที่ 14 นางบรรลุถึงกลางดงลึก ซึ่งนางเลือกว่าที่นี่คงจะไม่มีใครตามมารบกวน นางคงจะตายอย่างเป็นสุข

          เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นางล้มฟุบเป็นลมอยู่กลางดงนั้นเอง ขณะที่นางนอนสลบไสลอยู่ที่นั้น คืนวันนั้นเป็นคืนที่เหล่าผีป่าทั้งหลายตระเตรียมยืมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดงานเลี้ยงดูกันตามประเพณีของตน

          ผีตนหนึ่งเดินมาเห็นคอพอกของนางสาวตา มันคิดในใจว่า เราอุตส่าห์ยืมหม้อแกงที่ไหน ๆ ก็หาไม่ได้ เพิ่งมาพบที่นี่ ผีจึงตรงคว้าเอาคอพอกของนางไป พร้อมกับพูดว่า "แม่นาง ข้าขอยืมหม้อแกงหน่อยนะ เสร็จธุระแล้วจะเอามาส่งให้"

          นางสาวตารู้สึกตัวตื่นขึ้น เอามือคลำต้นคอของตนรู้สึกว่าคอพอกของตนที่เป็นอยู่นั้น ขณะนี้หายไปสิ้น นางรู้สึกดีใจยิ่งนัก รีบวิ่งบ้างเดินบ้างจนถึงบ้านโดยไม่เหน็ดเหนื่อย พอถึงบ้านก็เล่าเรื่องราวทั้งหลายให้เพื่อน ๆ ฟัง

          เพื่อน ๆ ที่ทราบเรื่องคอพอกของสาวตาหาย ต่างพากันมาซักถามจนรู้สึกเรื่องราว ณ ที่นั้น มีหญิงสาววัยกลางคนผู้หนึ่งชื่อ "ผัน" แกก็คอพอกเหมือนกัน แต่ไม่ได้โตใหญ่เท่าของสาวตา นางเองต้องการอยากให้คอพอกของตนหาย นางเฝ้าซักไซ้ไล่เลียงจนทราบความจริง

          นางจึงออกเดินเข้าป่าไป เป็นเวลาร่วม ๆ สิบวัน จนถึงป่าที่นางสาวตาไปนอนสลบไสล ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียนางจึงแวะพักนอนกลางวันกลางทางนั่นเอง เมื่อผีมาดูนางสาวตาไม่พบ มันเห็นหญิงวัยกลางคนนอนแทนที่ จึงส่งหม้อนั้นคืน พอรุ่งเช้านางผันตื่นขึ้น เมื่อเอามือลูบคลำคอของตน แทนที่คอพอกของตนจะหาย กลับโตกว่าเดิมขึ้นอีกมากมาย นางร้องไห้เสียใจที่ตนเสียแรงอุตส่าห์ดั้นด้นเข้าป่ามาทั้งทีอยากจะให้คอพอก หาย กลับกลายโตยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

          เมื่อเป็นเช่นนี้นางไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อหมดหนทางแก้ ประกอบกับนางคิดไว้ว่าวัยของตนก็ล่วงเข้ากลางคนแล้ว แม้ว่าคอจะพอกก็ไม่เห็นเป็นอะไร สู้ตนพยายามทำความดีแล้วความดีนั้นคงจะสนองให้นางเป็นสุขใจได้บ้างกระมัง

          นับแต่นั้นมา นางพยายามประกอบกรรมดี ช่วยเหลือกิจกรรมงานของชาวบ้านโดยไม่เห็นเหน็ดเหนื่อย ชาวบ้านทุกคนถึงกับออกปากสรรเสริญคุณงามความดีที่นางได้ปฏิบัติไป ถึงแม้ว่านางจะตายไปหลายปีแล้วก็ตาม ชาวบ้านยังกล่าวขวัญถึงนางเสมอว่า "ใจบุญเหมือนย่าผันคอเหนียง"

          ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้  

          - โชควาสนาของคนนั้นไม่เหมือนกัน และย่อมกระทำได้ทุกคนหากมีความตั้งใจจริง

          - คติ "แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้"








อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- dek9.com
- nitarn.com 
- นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...