เพิร์ล ฮาร์เบอร์ - สุสานสงครามโลก





พื้นที่ ด้านหลังถัดมาจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานเรือรบ หลวง ยูเอสเอส อริโซน่า เป็นลานหญ้ายื่นเว้าเข้าไปในอ่าว มี แผ่นภาพข้อมูล ให้นักท่องเที่ยวได้อ่านศึกษาประกอบกับภูมิทัศน์ในบริเวณอ่าว เมื่อคราวที่ญี่ปุ่นลอบเข้ามาถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ พร้อมไปกับสามารถมองเห็น กองเรือประจัญบานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปัจจุบันได้ปลดประจำการ จอดลอยลำอยู่ในจุดที่เคยโดนญี่ปุ่นยิงจมเมื่อราว 70 ปีที่แล้วและได้ดัดแปลงเป็นอนุสรณ์สถานให้บรรดาลูกหลานที่เติบใหญ่ในภายหลัง ได้ติดตามศึกษาประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้




ลานด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ได้จัดให้มีลานรูปวงกลมเรียกชื่อว่า วงกลมแห่งความทรงจำ (Remembrance Circle) มีรายนามผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดทั้งทหารและพลเรือนในสงครามอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ สลักบนแผ่นป้ายรายรอบวงกลมแยกเป็นกลุ่มๆ ส่วนตรงกลางเป็นหุ่นจำลองเกาะโออาฮูแสดงสภาพทางภูมิศาสตร์และพื้นที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหล่าวีรชนผู้ล่วงลับ




ถัด ออกไปมองเห็นไกลถึงชายฝั่งเกาะฟอร์ด จะเห็นสิ่งปลูกสร้างเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมหลังคาแอ่นๆ สีขาวสะอาดตา มีสภาพเหมือนอาคารลอยอยู่เหนือผิวน้ำ นั่นคือ อนุสรณ์สถานเรือรบหลวง ยูเอสเอส อริโซน่า (USS Arizona Memorial) สร้างคร่อมเรือรบที่ยังจมสงบนิ่งอยู่ก้นอ่าว




การเดินทางไปยังอนุสรณ์สถานจากจุดที่ตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปได้โดยทางเรือเท่านั้น ซึ่งกองทัพเรือได้จัดเรือลำเลียงท้องแบน สำหรับบริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากท่าเทียบเรือด้านข้างโรงหนัง ภายหลังจากดูหนังสารคดีสงครามอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จบ เจ้าหน้าที่จะจัดให้นักท่องเที่ยวออกจากโรงหนังช่องทางตรงท่าเทียบเรือ สามารถขึ้นเรือลำเลียงที่จัดไว้บริการได้พอดี




เรือ ลำเลียงที่กองทัพเรือจัดไว้บริการรับส่งนักท่องเที่ยว มีขนาดความจุผู้โดยสารได้นับร้อยคน มีหลังคากันฝนกันแดด แต่ด้านข้างเปิดโล่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถชมภูมิทัศน์โดยรอบในขณะล่องเรือได้โดยสะดวก เรือดังกล่าวนี้ มีทหารเรืออเมริกันในชุดเครื่องแบบสีขาวอันสง่าเป็นกัปตันและลูกเรือ เพื่อบริการส่งนักท่องเที่ยวไปพิพิธภัณฑ์กลางน้ำ แล้วรับเอานักท่องเที่ยวจากพิพิธภัณฑ์กลับมาส่งขึ้นฝั่งที่ศูนย์บริการนัก ท่องเที่ยวอีกที เรือลำเลียงแล่นไปกลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เช่นนี้จนปิดเวลาทำการ โดยมิได้คิดค่าบริการจากแขกผู้มาเยือนแต่ประการใด





กองทัพเรืออเมริกันได้วางแผนจัดงานการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวง ยูเอสเอส อริโซน่า โดยกำหนดเงื่อนไขว่าแบบแปลนแผนผังควรอยู่ในรูป สะพานพาดผ่านเรืออับปาง โดยมิให้แตะต้องส่วนใดๆ ของเรือเลย อีกทั้งควรออกแบบให้รองรับแขกผู้มาเยือนได้คราวละประมาณ 200 คน

การ ก่อสร้างเริ่มต้นในปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) หรือราว 20 ปีหลังจากสงครามอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จวบจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) สุสานทหารรูปร่างคล้ายกล่องนมขนาดความยาว 184 ฟุต (56 ม.) จึงแล้วเสร็จ ในวงเงินงบประมาณก่อสร้างจากภาครัฐและเอกชนจำนวน 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐ มีการเฉลิมฉลองพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ตรงกับวันวีรชนรำลึก (Memorial Day) และเปิดบริการแก่สาธารณชนให้เข้าเยี่ยมชมได้เมื่อปี พ.ศ.2523 โดยปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) ร่วมกับกองทัพเรืออเมริกัน

 


โครง สร้างภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ออกแบบให้โปร่งโล่งฉลุลายส่วนกลางของอาคารเป็น ช่องๆ ทั้งเพดานด้านบนและผนังด้านข้าง สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมและเรือรบหลวงอริโซน่าที่อับปางสงบนิ่งอยู่ก้นอ่าว พร้อมกับ เหล่าลูกเรือ 1,102 นาย ของจำนวนลูกเรือลำนี้ที่เสียชีวิตทั้งหมด 1,177 นาย พื้นทางเดินหน้าวิหารของเหล่านักรบที่มองเห็นประตูทางเข้าเป็นรูปสามเหลี่ยม อยู่ส่วนท้ายของอาคาร ก็มีช่องหนึ่งให้สามารถมองทะลุผ่านลงไปเห็นสภาพของเรือจม ส่วนพื้นที่ตรงกลางระหว่างทางเดินมีแท่นยกระดับจัดวางแบบแปลนแผนผังโครง สร้างของเรือรบหลวงอริโซน่า ให้บรรดาผู้มาเยือนได้อ่านศึกษาประกอบ

ใน บรรดาผู้คนที่มาเยือนสุสานทหารแห่งนี้ปีหนึ่งๆ นับล้านคน ล้วนแต่อยู่ในอาการสงบเสงี่ยมมิได้ส่งเสียงดังโขมงโฉงเฉงเหมือนสถานที่ท่อง เที่ยวอื่นๆ อันเป็นการให้เกียรติและน้อมจิตคารวะต่อเหล่าบรรดาวีรชนผู้ล่วงลับ ที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำพร้อมกับเรือประจัญบานอันเปรียบเสมือนบ้านที่ อาศัยและกลายเป็นเรือนตายของพวกเขาในที่สุด




วิหารนักรบผู้แกล้วกล้า อยู่ตรงส่วนท้ายของอาคารอนุสรณ์สถาน ในวันธรรมดาเป็นห้องโถงโปร่งโล่ง มี รายชื่อทหารหาญประจำการทั้งหมด ในเรือรบหลวง ยูเอสเอส อริโซน่า ที่พลีชีพในคราวญี่ปุ่นถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ สลักนามชื่อชั้นยศบนหินอ่อนสีขาวนวล

ในจำนวนรายชื่อทหารหาญที่ปรากฏต่อสายตาเหล่านี้ มี ทหารนามสกุลเดียวกัน อยู่หลายตระกูลที่สูญเสียชีวิตในคราวเดียวกัน คาดว่าบรรดาญาติมิตรที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในภายหลัง คงได้รับปริเวทนาเปี่ยมล้นด้วยความโศกาอาดูร ถึงบรรดาลูกหลานที่ล่วงลับไปอย่างไม่มีวันกลับ

แต่อีกนัยหนึ่งครอบ ครัวของบรรดาทหารหาญเหล่านี้ ต่างภาคภูมิใจที่เลือดเนื้อเชื้อไขในวงศ์ตระกูลของพวกเขา ได้มีส่วนในการสละชีพเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก โดยทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จัดงานสดุดีรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าผู้กล้าตรง กับวันมหาวีรชนรำลึก (Memorial Day) ในวิหารแห่งนี้ทุกปี ทั้งนี้ ประธานาธิบดี สหรัฐทุกท่านนับแต่ท่านอดีตประธานาธิบดีรูสเวลท์ ผู้นำประเทศในภาวะสงคราม รวมทั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิฮิโรฮิโต้และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอากิฮิโต้ (Emperors Hirohito and Akihito) แห่งราชอาณาจักรญี่ปุ่นอันเคยเป็นคู่สงครามก็เดินทางและเสด็จนิวัติมาคารวะ เหล่าวีรชน ณ สถานที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน

 

     




ส่วนของ ฐานปืนเรือกระบอกที่ 3 โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ ป้อมปืนส่วนนี้ถูกรื้อถอนพร้อมกับป้อมปืนเรือกระบอกที่4 เพื่อนำไปสร้างเป็นป้อมปืนประจำยามชายฝั่งป้องกันเกาะโออาฮู ฐานป้อมปืนที่อยู่เหนือผิวน้ำส่วนนี้เป็นโครงสร้างของเรือที่ใหญ่และสะดุดตา ที่สุด สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากอาคารอนุสรณ์สถานกลางน้ำ แต่ซากเรือส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ผืนน้ำสีเขียวคราม สามารถมองทะลุผ่านผิวน้ำเห็นได้เพียงลางๆ

แรกเริ่มเดิมที ภายหลังจากที่เรือรบหลวงอริโซน่าถูกยิงจม ไฟได้ลุกโหมไหม้ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 2 วัน หน่วยกู้ภัยสามารถช่วยเหลือลูกเรือที่ติดค้างออกมาได้ร้อยกว่านาย ส่วนที่เหลืออีกนับพันเสียชีวิตติดอยู่ในซากเรือ ทาง กองทัพตัดสินใจที่จะไม่กอบกู้เรือประจัญบานที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงลำนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้รื้อถอนชิ้นส่วนที่สำคัญที่อยู่เหนือผิวน้ำและปล่อยให้ เหล่าลูกราชนาวีที่พลีชีพในคราวเรืออับปาง นอนสงบนิ่งอยู่ภายใต้อ้อมกอดของพระแม่คงคา ภายในซากเรือประจัญบานอันเป็นที่รักของพวกเขา พร้อมกันนั้น รัฐบาลสหรัฐได้กำหนดให้สถานที่นี้เป็นทั้ง สุสานทหารและอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าวีรชนในที่สุด




ในบรรดาเรือประจัญบานที่ถูกทำลายทั้งหมดในคราวที่ญี่ปุ่นบุกถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เรือรบหลวง ยูเอสเอส อริโซน่าและ ยูเอสเอส ยูท่าห์ รวม 2 ลำ มิได้รับการเก็บกู้ เนื่องจากได้รับความ เสียหายอย่างรุนแรง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการกู้ซากเรือต้อง ใช้งบประมาณมากมายมหาศาล ประกอบกับการ บำรุงซ่อมแซม ต้องใช้เวลานานนับปี ไม่ทันต่อสถานการณ์รุกรบ ระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายอักษะที่กำลังโรมรันพันตูกันอย่างถึงพริกถึงขิงในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังนั้น ซากเรือรบทั้งสองลำจึงยังจมอยู่ก้นอ่าว ส่วนเรือประจัญบานลำอื่นๆ ได้รับการเก็บกู้และซ่อมแซมนำกลับมาใช้งานได้ดังเดิม




กราบขวา ของดาดฟ้าเรือจมอยู่ใต้ผิวน้ำ โดยมีเสาผูกเรือโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาให้เห็นเพียงเล็กน้อย ส่วนของดาดฟ้าที่เป็นแผ่นโลหะถูกสนิมจับเกรอะกรังและปกคลุมด้วยตะกอนใต้น้ำ จนหนาเตอะ ส่วนของเรือที่เห็นนี้อยู่ทางด้านหน้า ถัดขึ้นไปจะเป็นป้อมปืนที่ทางการคงไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม




คราบน้ำมัน ลอยเป็นแพอยู่เหนือซากเรืออับปาง ในวันที่พวกเราเดินทางไปเยือนพบว่ามีมากเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ประมาณการว่าเรือรบหลวง ยูเอสเอส อริโซน่า มีน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลืออยู่มากถึง 500,000 แกลลอน (2,300 ตัน) ภายหลังจากที่เรืออับปางอยู่ก้นอ่าวนานเกือบ 70 ปี ถึงน้ำทะเลกัดกร่อนเสื่อมทรุดไปตามธรรมชาติ น้ำมันเรือที่ติดค้างอยู่กับซากเรือใต้น้ำได้รั่วไหลออกมาจากถังเก็บนับแต่ วันแรกที่เรือจมจนถึงเวลาปัจจุบัน ในวันนั้น พวกเราได้เห็นเจ้าหน้าที่ 2-3 นาย ใส่ชุดประดาน้ำดำผุดดำว่ายอยู่ใกล้ซากเรือ ทราบว่ามีหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุรักษ์คุ้มครองซากเรืออับปางดูแลอยู่ คงจะหาทางป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเรือที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่าง รุนแรงนี้ให้มากที่สุด

น้ำมันที่รั่วไหลออกมานี้ ชาวบ้านร่ำลือกันว่าเป็น "น้ำตาเรืออริโซน่า" (Tears of the Arizona) ที่หลั่งไหลออกมานับแต่วันแรกที่เรือจมและจะหยุดไหลก็ต่อเมื่อเหล่าวีรบุรุษ สงครามสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คนสุดท้ายลาลับจากโลกนี้ไป (ว่าสั้น   )




ภาพลาย เส้นที่ผู้เขียนไปยืมเขามาโดยมิได้บอกกล่าว แสดงให้ถึงสภาพของเรืออริโซน่าที่อับปางอยู่ก้นอ่าวชายฝั่งเกาะฟอร์ด ส่วนซ้ายมือของภาพเป็นหัวเรือที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ค่อนไปทางท้ายจะเห็นอาคารอนุสรณ์สถานสร้างคร่อมเรือ คล้ายอาคารที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ




ถัดไปทางด้านหัวเรือรบหลวงอริโซน่า จะเห็นเรือประจัญบานสมัยสงครามโลกจอดเทียบท่าหันหัวมายังทิศทางที่เรืออริโซน่าจม นัยว่าเพื่อปกปักรักษาเรืออริโซน่าที่นอนแน่นิ่งอยู่ก้นอ่าว เรือทั้งสองลำนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งยวดใน ฐานะสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

เรือลำที่กล่าวถึงข้างต้นคือ เรือประจัญบาน ยูเอสเอส มิสซูริ (USS Missouri) ที่ผ่านสมรภูมิรบมาอย่างโชกโชนตั้งแต่สมัยสงครามโลก สงครามเกาหลีจนถึงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปลดประจำการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1992 (พ.ศ. 2535) เรือประจัญบานลำนี้ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะที่ใช้เป็นสถาน ที่ลงนามสงบศึกระหว่างจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นกับกองกำลังพันธมิตร (Allied Powers) โดยมีแม่ทัพนายกองตัวแทนจากชาติพันธมิตร รวมทั้ง จอมพลเรือ เชสเตอร์ นิมิตซ์ (Fleet Admiral Chester Nimitz) และ พลเอก ดักลาส แม็คอาร์เธอร์ (General of the Army Douglas MacArthur) สองขุนพลแห่งกองทัพอเมริกัน ร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยฝ่ายญี่ปุ่นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกมิตสุ (Foreign Minister Mamoru Shigemitsu) นำคณะลงนามยอมรับการพ่ายแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Surrender) เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488) บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน ยูเอสเอส มิสซูริ กลางอ่าวญี่ปุ่น หลังจากที่โดนกองทัพอเมริกันนำระเบิดนิวเคลียร์ไปหย่อนใส่เมืองฮิโรชิม่าและ นางาซากิ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นล้มตายนับแสนคน นักรบสายเลือดบูชิโด้อันแกล้วกล้า ต้องกล้ำกลืนฝืนความอัปยศกระทำการฮาราคีรีคว้านไส้ตัวเองหนีความอับอายล้ม ตายไปเป็นจำนวนมาก

ส่วน จอมพลเรืออิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Fleet Admiral Isoroku Yamamoto) ผู้บัญชาการกองกำลังผสม แม่ทัพใหญ่ของชาวซามูไร ถูกสอยร่วงขณะนั่งเครื่องบินบัญชาการรบท่ามกลางการคุ้มกันอย่างหนาแน่นของ ฝูงบินซีโร่ (A6M Zeroes) อันลือลั่นของกองทัพญี่ปุ่น ในขณะที่มือยังกำซามูไรไว้อย่างเหนียวแน่น สมศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร




อภิมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายอักษะในชั่วระยะเวลา เพียงแค่ 6 ปี  ได้คร่าชีวิตผู้คนชาวโลกล้มตายไปถึง 60 กว่าล้านคน หรือพอๆ กับจำนวนประชากรชาวไทยทั้งประเทศในปัจจุบัน

ผลจากสงครามอาจจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้สังคมชาวโลก ได้เห็นถึง ความโหดร้ายทารุณระหว่างมนุษย์ที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังตัวอย่าง การกระทำทารุณกรรมของเหล่าทหารนาซีที่มีต่อชนชาวยิว หรือความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่กระทำการย่ำยีต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของเพื่อนพี่น้องสายเลือดมองโกลในแถบเอเชีย

อันเป็นบทเรียนที่ ล้ำค่าต่อเหล่าบรรดาผู้ทรงอิทธิพลบารมี ให้ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น มิใช่เกิดแต่กับผู้นำที่กระหายสงคราม หากแต่บรรดาลูกหลานที่เติบใหญ่ในภายหลัง ย่อมได้รับผลกระทบจากบาปกรรมที่บรรพบุรุษได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้นั้นด้วย

 

 

 

 

 

 

 


 

25 ม.ค. 55 เวลา 20:43 12,033 5 140
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...