ช็อก ผลสำรวจเด็กใช้มือถือ

 

 

 

 

ช็อก'ผลสำรวจเด็กใช้มือถือ

 

 

อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็น "ปัจจัยที่ 5" ในการดำรงชีวิตของคนแทบจะทั่วโลกแล้ว และหลายประเทศ รวมถึงไทยก็มียอดใช้งานอยู่แซงหน้าประชากรที่มีจำนวนประมาณ 70 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว

                 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีผลสำรวจที่ชวน "ช็อก" เปิดเผยออกมาว่า ล่าสุดมีประชากรในวัย 8-18 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 69% ที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ

                 ผลสำรวจนี้ร่วมกันจัดทำขึ้นโดยสมาคมผู้ให้บริการมือถือโลก (จีเอสเอ็มเอ) และสถาบันวิจัยสังคมโทรศัพท์มือถือ ของเอ็นทีที โดโคโม ที่พบพฤติกรรมของผู้ใช้กลุ่มนี้ว่า  72% ของเด็กวัย 12 ปีใช้มือถือเพื่อเชื่อมต่อเข้าบริการเครือข่ายสังคม ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก, อายุเฉลี่ยต่ำสุดของเด็กที่เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์คือ 13 ปี, 27% ของเด็กวัย 10 ปี และ 55% ของเยาวชนวัย 15 ปี ส่งข้อความผ่านมือถือโดยเฉลี่ยมากกว่า 6 ข้อความต่อวัน เป็นต้น

                 แม้ว่า การจัดทำผลสำรวจนี้เดิมมุ่งไปที่ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก ไซปรัส จีน เกาหลีใต้ แต่เมื่อมองจากพฤติกรรมใช้งานแล้ว น่าจะสะท้อนได้ดีถึง "ข้อเท็จจริง" ของสังคมในยุคดิจิทัล ที่เริ่มเข้ามาทับซ้อนกับโลกจริงจนแทบแยกกันไม่ออก

                 โดยเฉพาะเมื่อย้อนมองไปถึงการปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดของ "แผนที่โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก" เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า "เฟซบุ๊ก" กำลังเข้าครองโลกใบนี้ ด้วยการขึ้นเป็นผู้นำเครือข่ายสังคมที่มียอดใช้งานอันดับ 1 ในแทบทุกประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเองก็ระบุว่า มีสาวกที่เข้ามาใช้บริการทุกวัน (active users) มากกว่า 800 ล้านคน โดยในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่เกือบ 13 ล้านคน คิดเป็นมากกว่า 19% ของจำนวนประชากร

                 อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างเด็ก, มือถือ และโซเชียลมีเดีย ได้ชัดเจนอย่างมาก ก็คือ รายงานที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) จัดทำร่วมกับ Berkman Center for Internet and Society มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมรายใหญ่สุดในแอฟริกาใต้ "Mxit" และมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ซึ่งพบว่า 30% ของผู้ใช้บริการ Mxit จะเข้ามาใช้งานหลังเวลาเลิกเรียน ซึ่งไม่ได้แตกต่างมากนักจากการทำสำรวจเมื่อปี 2553 ที่พ่อแม่ชาวแอฟริกาใต้เคยบอกว่า ลูกๆ วัยรุ่นของพวกเขา ใช้เวลาช่วงเย็นไปกับการพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์มือถือ

                 รศ.ดร.ทันย่า บ๊อช แห่งศูนย์ศึกษาด้านสื่อและภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ มองว่า การขยายตัวของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในประเทศนี้ หมายถึงการที่จะมีคนมากขึ้น โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว กำลังใช้เครือข่ายสังคมเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความเป็นตัวเอง ทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถเข้าใจได้ถึงรูปแบบวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวในยุคการสื่อสารแบบเคลื่อนที่

                 ...เชื่อว่า ณ วันนี้ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลก แต่พฤติกรรม และวัฒนธรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ การต่อเชื่อมเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านมือถือ ต่างก็เป็น "วัฒนธรรมร่วม" ของเยาวชนทั่วโลกไปแล้ว

27 พ.ย. 54 เวลา 14:30 3,753 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...