มนุษย์กับดาวเคราะห์สีแดง

 

ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าบนดาวเคราะห์สีแดง

นานมาแล้วที่มนุษย์หวังพิชิตดาวเคราะห์สีแดงนามว่าดาวอังคาร แต่การเดินทางไปดาวอังคารไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่แปลกที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในบางช่วงมีอัตราความสำเร็จต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ

ในปี ค.ศ.1998 โดนัลด์ เนฟฟ์ นักข่าวประจำนิตยสารไทม์ จึงได้สร้างอสุรกายนามว่า กาแลกติกกูล (Galactic Ghoul) ขึ้นมา มันเป็นอสุรกายในจินตนาการที่คอยปกป้องดาวอังคารจากสายตาสอดรู้สอดเห็นของมนุษย์โลก ด้วยการดักจับและทำลายยานสำรวจของเรา

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับยานสำรวจบางอย่างก็เหลือเชื่อเสียจนน่าคิดว่าจะต้องมีอสุรกายสักตัวหนึ่งเป็นตัวการจริง ๆ อย่างกรณียานสำรวจมาร์ส ไคลเมตออร์บิเทอร์ ซึ่งเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร เมื่อเดือนกันยายน 1999 เนื่องจากไม่มีการแปลงมาตราวัด คอมพิวเตอร์ของยานถูกตั้งให้รับค่าต่าง ๆ เป็นระบบเมตริก (เช่น เมตร กิโลเมตร) แต่คำสั่งแก้ไขทิศทางการโคจรของยานที่ส่งมาจากโลกกลับเป็นระบบอังกฤษ (เช่น ฟุต ไมล์) ทำให้ยานมาร์ส ไคลเมตออร์บิเทอร์ เข้าใกล้ดาวอังคารมากเกินไป และถูกเผาไหม้จนหมด

ยานสำรวจมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ ก็พบชะตากรรมเดียวกัน มันเดินทางไปถึงดาวอังคารเมื่อเดือนธันวาคม 1999 เพียง 3 เดือน หลังยานมาร์ส ไคลเมตออร์บิเทอร์ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งยานขาดการติดต่อตอนที่กำลังลงจอด นักวิทยาศาสตร์มองว่ายานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ คงคิดว่ามันลงจอดบนพื้นแล้วทั้งที่ความจริงมันยังอยู่สูงจากพื้นดินถึง 40 เมตร ในขณะนั้นขาจอดยานทั้งสามได้กางออก ทำให้ตัวยานสั่งสะเทือนจนคอมพิวเตอร์เข้าใจผิดว่าเป็นการกระแทกขณะลงจอด จึงผิดการทำงานของจรวดชะลอตัวโดยอัตโนมัติ มันจึงหล่นลงสู่พื้น

[มาร์ส ไคลเมตออร์บิเทอร์]

อุบัติเหตุเหล่านี้ทำให้องค์การนาซ่าต้องทบทวนหลักการ “เร็วกว่า ดีกว่า และถูกกว่า” เสียใหม่ จากการตรวจสอบปรากฏว่ายานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์นั้นได้รับงบประมาณน้อยไป 30 เปอร์เซ็นต์ ภารกิจหลังจากนั้นจึงมีการให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น และอัตราความสำเร็จก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี มาแล้วที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของดาวอังคารมากมาย โดยอาศัยยานสำรวจและรถสำรวจสารพัดแบบ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภารกิจทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ ต่อไปนี้คือประวัติศาสตร์แห่งความพยายามของมนุษยชาติที่มีต่อดาวอังคาร…

ปี 1960 : รัสเซียพยายามส่งยานสำรวจไปดาวอังคาร 2 ครั้ง แต่ไม่ทันพ้นชั้นบรรยากาศโลก มันก็ตกเสียก่อน

ปี 1962 : รัสเซียปล่อยยานมาร์ส1 ซึ่งขาดการติดต่อไปก่อนที่จะถึงดาวอังคาร

ปี 1964 : สหรัฐอเมริกาปล่อยยานมารีเนอร์4

[เตรียมส่งมารีเนอร์4]

ปี 1965 : เดือนกรกฎาคม ยานมารีเนอร์4 เคลื่อนที่ผ่านดาวอังคารในระยะ 10,000 กม. และส่งภาพถ่ายระยะใกล้ภาพแรกกลับมายังโลก เผยให้เห็นพื้นผิวที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตเช่นเดียวกับดวงจันทร์

ปี 1969 : ยานมารีเนอร์6 และ 7 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ และเคลื่อนที่ผ่านดวงอังคารในระยะเพียง 3,400 กม. ยานทั้งสองลำนี้ยืนยันความคิดที่ว่า ดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมไปด้วยหลุมอุกกาบาต นอกจากนี้ยานมารีเนอร์7 ยังได้ถ่ายภาพขั้วใต้ของดาวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งไว้ด้วย

[ภาพจากมารีเนอร์7]

ปี 1971 : อเมริกาส่งยานมารีเนอร์9 ซึ่งเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในเดือนพฤศจิกายน และใช้เวลาเกือบหนึ่งปีสร้างแผนที่พื้นผิวดาวอังคาร เผยให้เห็นภูเขาไฟ หุบผาชัน และทางน้ำดึกดำบรรพ์

ในเดือนพฤษภาคม รัสเซียส่งยานมาร์ส2 และ 3 ให้ไปลงจอดบนดาวอังคาร ยานมาร์ส2 ตกเสียหาย ในขณะที่ยานมาร์ส3 ส่งสัญญาณจากพื้นผิวดาวอังตารเป็นเวลา 15 วินาที ก่อนหยุดการติดต่อในเดือนธันวาคม

ปี 1973 : รัสเซียส่งยานมาร์ส4-7 แต่ทุกลำส่งข้อมูลกลับมาได้เพียงน้อยนิด ยานมาร์ส5 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดสามารถส่งสัญญาณกลับมาได้เพียง 9 วันจากวงโคจรรอบดาวอังคาร

ปี 1975 : สหรัฐฯส่งยานไวกิง1 และ 2 ไปค้นหาชีวิตบนดาวอังคาร

[ไวกิ้ง1]

ปี 1976 : ยานสำรวจไวกิงทั้ง 2 ลำ ลงจอดได้สำเร็จ แต่ข้อมูลการสำรวจไม่อาจตอบได้ว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่

ปี 1988 : รัสเซียส่งยานโฟบอส1 และ 2 ไปสำรวจดวงจันทร์โฟบอส ยานโฟบอส1 ขาดการติดต่อระหว่างเดินทาง

ปี 1989 : ยานโฟบอส2 ได้โคจรรอบดาวอังคาร แต่เกิดหยุดทำงานเสียก่อนที่จะเริ่มการสำรวจดวงจันทร์โฟบอส

ปี 1992 : สหรัฐฯ ส่งยานมาร์สออบเซิร์ฟเวอร์

ปี 1993 : ยานมาร์สออบเซิร์ฟเวอร์ขาดการติดต่อก่อนไปถึงดาวอังคารเพียงไม่กี่วัน

[ยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์]

ปี 1996 : ยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ ถูกส่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และเข้าสู่วงโคจรในปีถัดมา มันได้ส่งภาพถ่ายหลายพันภาพ และข้อมูลอื่นกลับมายังโลกจนกระทั่งปี 2006 ภาพและข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ในการทำแผนที่อย่างละเอียด

รัสเซียส่งยานมาร์ส96 ขึ้นไป แต่ตกลงสู่โลกใกล้ประเทศชิลีหลังส่งขึ้นไปไม่นาน

เดือนธันวาคม นาซ่าทำการปล่อยยานมาร์สพาธไฟน์เดอร์

ปี 1997 : ยานมาร์สพาธไฟน์เดอร์ ลงจอดพร้อมด้วยรถสำรวจไซเจอร์เนอร์คันจิ๋วขนาดเท่ากล่องรองเท้า ซึ่งเป็นรถสำรวจคันแรกบนดาวอังคาร

ปี 1998 : ยานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ และมาร์สไคลเมตออร์บิเทอร์ ถูกส่งขึ้น แต่ไม่ทำงานทั้งคู่เมื่อไปถึงดาวอังคาร

ปี 2001 : ยานมาร์สโอดิสซีของนาซ่าถูกส่งเข้าสู่วงโคจรในเดือนตุลาคม ภารกิจหลักคือการตรวจวัดปริมาณน้ำใต้พื้นผิวที่ลึกไม่เกิน 1 เมตร หน้าที่หลักหลังจากนั้นคือเป็นดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณให้แก่รถสำรวจสปิริตและออพพอร์ทูนิที ซึ่งจะตามมาให้ภายหลัง

[ยานออพพอร์ทูนิที]

ปี 2003 : องค์การอวกาศยุโรปส่งยานมาร์สเอ็กซ์เพรสเข้าสู่วงโคจรเมื่อเดือนธันวาคม ยานมาร์สเอ็กซ์เพรส นำยานลงจอดบีเกิล2 ไปด้วย แต่ขาดการติดต่อหลังจากลงจอด ส่วนยานมาร์สเอ็กซ์เพรสนั้นยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้ส่งภาพถ่ายกลับมาเป็นจำนวนมาก

สหรัฐอเมริกาส่งรถสำรวจสปิริตและออพพอร์ทูนิทีขึ้นไป

ปี 2004 : รถสำรวจสปิริตและออพพอร์ทูนิที ลงจอดบนดาวอังคารด้วยอายุการใช้งานเพียง 3 เดือน รถสปิริตไปติดกองทรายเมื่อต้นปี 2009 ส่วนรถออพพอร์ทูนิทียังปฏิบัติหน้าที่อยู่ และกำลังมุ่งหน้าไปยังหลุมอุกกาบาตเอ็นเดเวอร์

[ยานมาร์สรีคอนเนสแซนส์ออร์บิเทอร์]

ปี 2005 : ยานมาร์สรีคอนเนสแซนส์ออร์บิเทอร์ ถูกส่งขึ้น ภาพถ่ายจากยานลำนี้ชัดมากเสียจนเห็นรถสปิริตและออพพอร์ทูนิทีได้อย่างชัดเจน ภารกิจอีกอย่างคือการวิเคราะห์สมบัติทางธรณีวิทยาของหลุมอุกกาบาต

ปี 2007 : นาซ่าส่งยานสำรวจฟีนิกซ์

[น้ำแข็งพื้นผิวดาวอังคาร]

ปี 2008 : ยานฟีนิกซ์ลงจอดใกล้ขั้วเหนือดาวอังคารและช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในอีก 6 เดือนต่อมาก็ส่งภาพกลับมา ยานสำรวจลำนี้ยังตรวจสอบดิน โดยอาศัยอุปกรณ์ตักดินแขนกลที่มีความยืดหยุ่นสูง และพบน้ำแข็งที่ใต้พื้นผิวลงไปเพียงไม่กี่เซนติเมตร

Helle and Henrik Stub


ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...