รุนแรงยิ่งกว่าปี2538 'อภิมหาอุทกภัย' เตือนชาว กทม.เตรียมรับมือ!!

 

 

 

 

 

รุนแรงยิ่งกว่าปี2538 'อภิมหาอุทกภัย'

เตือนชาว กทม.เตรียมรับมือ!!

 

จากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมรุนแรงในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นับว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสายที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่ผ่านมาอย่างเช่นปี 2538 เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่าปีใดจะมีความร้ายแรงกว่ากัน

ดร.ยุทธนา พันธุ์กมลศิลป์ อาจารย์วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ความรู้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมีกำเนิดมาจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ไหลมาบรรจบที่ อ.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานครและไหลออกสู่อ่าวไทยที่ จ.สมุทรปราการ นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำสะแกกรังไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ คืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีความจุใช้งานรวมกันราว 16,300 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีระบบส่งน้ำของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ โดยมีเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาทเป็นหัวงาน ทำหน้าที่ทดน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทาน 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้แม่น้ำธรรมชาติที่เป็นลำน้ำสาขาและคลองที่ขุดขึ้นใหม่เป็นระบบส่งน้ำสายหลัก จำนวน 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ทางฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก) และคลองอนุศาสนนันท์ และคลองชัยนาท-อยุธยาทางฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันออก)

เหตุการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2538 มีสาเหตุมาจากฝนตกหนักต่อเนื่องในลุ่มน้ำตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านระหว่างเดือนสิงหาคมต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน เป็นผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด 3,300 ล้าน ลบ.ม.ในเดือนสิงหาคม จนน้ำเต็มความจุเก็บกักปกติของอ่าง ทำให้ต้องระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้นด้วยอัตราสูงสุดถึง 1,960 ลบ.ม. ต่อวินาที ในช่วงเดือนกันยายน ส่วนเขื่อนภูมิพลครั้งนั้นยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ด้วยปริมาณน้ำที่ระบายลงท้ายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะไหลรวมกับปริมาณน้ำหลากตามธรรมชาติจากพื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนจนถึงสถานีวัดน้ำท่า C.2 ที่จังหวัดนครสวรรค์

จากการบันทึกข้อมูลครั้งนั้นพบว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.2 เมื่อปี พ.ศ. 2538 มีปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเดือนกันยายนมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงถึง 3,460 ล้าน ลบ.ม. ถัดมาเดือนตุลาคมสูงสุดถึง 9,760 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอัตราการไหลสูงสุดถึง 4,210 ลบ.ม. ต่อวินาที เมื่อปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 จะมีน้ำไหลเข้ามาเสริมจากแม่น้ำสะแกกรังอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องผันน้ำออกเข้าพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง คลองอนุศาสนนันท์ คลองชัยนาท-อยุธยา เป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระบายน้ำออกด้านท้ายน้ำเป็นปริมาณสูงสุดถึง 10,712 ล้าน ลบ.ม. มีอัตราการไหลผ่านสูงสุด 4,560 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราการไหลที่เกินขนาดความสามารถของบานระบายน้ำที่สามารถระบายน้ำได้สูงสุดเพียง 3,300 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น

ขีดจำกัดสำคัญอันหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ขนาดความจุเต็มตลิ่งของแม่น้ำจะลดลงเมื่อน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย โดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มีความจุเต็มตลิ่ง 3,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีความจุลดลงเหลือ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่จังหวัดอ่างทองเหลือเพียง 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากสภาพความจุลำน้ำเต็มตลิ่งและคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะสามารถรับน้ำได้ไม่เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพมหานครจะรับน้ำได้ไม่เกิน 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหากเกินขนาดนี้แล้วกรุงเทพฯ จะเริ่มเกิดปัญหาจากสภาพน้ำท่วมและหากปริมาณน้ำเกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรุงเทพมหานครจะมีปัญหาน้ำท่วมทันที

ด้วยปริมาณน้ำดังกล่าว และขีดจำกัดความจุที่สามารถรองรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายของเขื่อนในหลายจังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี (ระดับน้ำท่วมสูงกว่าระดับตลิ่งประมาณ 1.60 เมตร) อ่างทอง (ระดับน้ำท่วมสูงกว่าระดับตลิ่งประมาณ 1.80 เมตร) พระนครศรีอยุธยา (ระดับน้ำท่วมสูงกว่าระดับตลิ่งประมาณ 0.90 เมตร) และ อำเภอปากเกร็ด (ระดับน้ำท่วมสูงกว่าระดับตลิ่งประมาณ 0.60 เมตร) นอกจากนั้น ยังมีน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสักที่มียอดน้ำสูงถึง 1,480 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายจากท้ายเขื่อนพระรามหก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมเป็นน้ำเหนือเคลื่อนตัวเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงจังหวัดปทุมธานี มีคันกั้นน้ำเลียบแนวแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ส่วนจังหวัดปทุมธานีลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร จะมีคันกั้นน้ำเฉพาะฝั่งตะวันออกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคันกั้นน้ำที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงอำเภอบางไทร คันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกสามารถรับได้ ส่วนทางด้านตะวันออกมีน้ำไหลล้นคันเป็นช่วง ๆ อาทิ ช่วงคันมหาราชขาดที่บริเวณอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และตั้งแต่จังหวัดปทุมธานีลงมาน้ำได้ไหลออกนอกเขตคันกั้นน้ำด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก ความสามารถของคันกั้นน้ำรับแรงดันน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้น้ำไหลล้นคันออกไป ส่วนประการที่สอง มีประชาชนที่อยู่ภายในคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาก จึงได้ทำการเซาะคันกั้นน้ำให้ทลายลงบริเวณคันกั้นน้ำรังสิต ทำให้น้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาออกไป และจะไหลลงสู่อ่าวไทยผ่านที่ราบลุ่มระหว่างลุ่มน้ำแม่น้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง

ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ นับว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากพิจารณาสาเหตุของการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ในแง่ของปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่าแล้วมีความแน่ชัดว่าปริมาณน้ำในปี 2554 สูงเป็นประวัติการณ์ ดังจะเห็นได้จากกราฟแสดงการเปรียบเทียบปริมาณน้ำท่ารายเดือนที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2538 กับปริมาณน้ำท่าในปี 2554 จากกราฟชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำท่าปี 2554 มีปริมาณที่สูงกว่าปี 2538 ประมาณร้อยละ 40 โดยปริมาณน้ำเริ่มมีสัดส่วนที่สูงกว่าตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา และเดือนตุลาคมเดือนเดียวมีปริมาณน้ำสูงสุดถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าความจุของเขื่อนสิริกิติ์ทั้งเขื่อน ส่วนอัตราการไหลสูงสุดที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า C.2 ที่จังหวัดนครสวรรค์ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 4,686 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้วยอัตราการไหลดังกล่าวนี้ ทำให้พื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเกิดน้ำหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมสูงในหลายพื้นที่ เกิดความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฏ เกิดเหตุการณ์แนวกั้นน้ำไม่สามารถทัดทานกระแสน้ำได้ในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมเป็นบริเวณกว้างแผ่ขยายไปยังพื้นที่ข้างเคียง เช่น จังหวัดลพบุรี และสระบุรี ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในจังหวัดนครสวรรค์ด้วย จากข้อมูลน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ นั่นแสดงว่ามีมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่เปลี่ยนทิศทางการไหลออกจากแนวลำน้ำเจ้าพระยา หลากเข้าท่วมสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี มวลน้ำเหล่านั้นต้องไหลออกสู่ทะเล โดยแนวโน้มของน้ำหลากจะมีทิศทางการไหลไปตามแนวความลาดชันของพื้นที่ลงสู่อ่าวไทยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง

จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกิดขึ้น บอกได้เลยว่าจากปริมาณน้ำและอัตราการไหลที่ปรากฏชัดในข้อมูล พื้นที่กรุงเทพมหานครคงยากที่จะหลีกพ้นภาวะน้ำท่วมไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้วย และคงต้องรอดูกันแล้วว่ากรุงเทพมหานครจะสามารถบริหารจัดการเอาชนะปริมาณน้ำมหาศาลนี้ได้หรือไม่...?!?.

..................

เฝ้าระวัง 7 จุดเสี่ยงแนวคลองประปา

คลองประปาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมกรุงเทพ มหานคร โดยทางการประปานครหลวง (กปน.) ได้ส่งสัญญาณเตือน 7 จุดที่อยู่ในแนวป้องกันน้ำท่วม ได้แก่

1. จุดระบายลงคลองสาธารณะ (คลองสามเสน)

2. จุดระบายน้ำลงคลองสาธารณะ (คลองบางเขน)

3. สำนักงานใหญ่การประปานครหลวง และโรงงานผลิตน้ำบางเขน

4. คลองประปากิโลเมตรที่ 15–19

5. ท่อลอดคลองรังสิต (ไซฟอนรังสิต)

6. ท่อลอดคลองบางหลวง

7. สถานีสูบจ่ายน้ำดิบสำแล

 

24 ต.ค. 54 เวลา 15:56 10,602 8 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...