"แผนลับ" ดับโรมานอฟ ตอนที่1

แผนลับดับโรมานอฟ (ตอนที่1)
(คำสารภาพของผู้ทรยศ)

“พระเจ้าช่วย! ครอบครัวโรมานอฟจะถูกสังหารในคืนนี้ ทำไมพวกเขาถึงเร่งรีบในการทำลายครอบครัวที่แสนอบอุ่นน่ารักถึงเพียงนี้”


[พระราชวงศ์โรมานอฟ เป็นครอบครัวกษัตริย์ที่อบอุ่นน่ารัก และไม่ทรงถือตัว]

หนุ่มน้อยวัยไม่ถึง 20 ปี นึกรันทดอยู่ในใจ นิคาไลย อเล็กซานโดรวิช กับอเล็กซานดร้า ฟีโยโดรอฟน่า เอ็นดูเขามากราวกับเป็นลูกแท้ ๆ ด้วยความเป็นเด็กหนุ่มน้อย หน้าตาสะอาดสะอ้านน่ารัก ส่วนพระธิดาสาวสะพรั่งของพระองค์ก็ให้ความไว้วางใจเขา มองเขาด้วยความชื่นชม และเจ้าชายพระองค์น้อยที่เห็นเขาเป็นเพื่อนสนิทให้ทรงคลายเหงายามชวนเล่นหมากรุกด้วยกัน ยังไม่รวมถึงหมอบ็อตกินส์ กับเดมิโดว่า นางข้าหลวงที่มองเขาด้วยแววเมตตา และมีรอยยิ้มให้เสมอเวลาที่เขาได้รับหน้าที่ให้ยืนเฝ้าหน้าประตูห้องประทับ ที่เป็นเพียงห้องอับทึบเก่า ๆ ที่หน้าต่างถูกโบกปูนขาวจนทึบหมด แต่ ณ ที่นั้นเขารู้สึกอบอุ่นราวกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวโรมานอฟ


[พระธิดาทั้งสี่พระองค์ เมื่อยังทรงพระเยาว์]

เขาคือเด็กรับใช้ชุดสุดท้ายที่ได้ถวายการดูแลพระเข้าซาร์และครอบครัว เขาเป็นผู้ที่ดูไร้พิษภัยที่สุดใน “บ้านเจตนารมณ์พิเศษ (House of special purpose, HSP)” อันเป็นชื่อเรียก คฤหาสน์อิปาเตียฟ ที่คุมขังพระราชวงศ์ที่ทรงอำนาจยิ่งราชวงศ์หนึ่งของโลก นั่นคือ “โรมานอฟ”

แม้ทุกวันนี้จะไม่มีบัลลังก์ให้แก่ครอบครัวโรมานอฟแล้ว แต่คุณงามความดีทั้งหลายที่ทุกพระองค์ตั้งใจทำให้แก่รัสเซียนั้น จะถูกจารึกไว้ในหัวใจของผู้คนเสมอ แม้ว่าจะแสนนานผ่านกาลเวลา แต่บัดนี้เขาเองจะเป็นผู้เผยความลับนั้นด้วยตนเอง

ความตายของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และราชวงศ์โรมานอฟนั้นเป็นเรื่องน่าโศกสลดที่คนทั้งโลกยังจดจำ ยิ่งในยุคนั้นไม่มีใครคิดแล้วว่า จะมีการผลาญชีวิตราชวงศ์กันอีกเหมือนเมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส อย่างมากก็เนรเทศเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับฆ่ากันอย่างโหดร้ายเหมือนไม่ใช่คน และผู้ที่ร่วมภารกิจเลือดในครั้งนั้นก็มีอันเป็นไปอย่างน่าทุเรศกันหมด ดังเช่น ยาคอฟ ยูรอฟสกี้ ที่ลั่นกระสุนมรณะเป็นนัดแรก ก็ต้องตายด้วยมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างน่าสมเพช

แล้วเหตุใดจึงทำให้โลกนี้ไม่มีที่ว่างพอสำหรับครอบครัวโรมานอฟ ทั้งที่แค่การเนรเทศขับไล่ออกนอกประเทศที่น่าจะร้ายแรงมากพอแล้ว ทำให้เกิดการเดากันไปต่าง ๆ นานา เช่นว่า การมีอดีตพระเจ้าชาร์อยู่ เปรียบเสมือนกับตัวแทนของระบอบโบราณล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่ก้าวสู่ระบอบใหม่ หรือพระเจ้าซาร์จะทรงแทรกแซงทำให้รัฐบาลปั่นป่วน ก็ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับชายที่หมดสิ้นอำนาจแล้วดังนี้


[เจ้าหญิงอนาสตาเซีย]

ปัญหาเรื่องซาร์และครอบครัวตกอยู่กับกลุ่มรัสเซียแดงท้องถิ่นไม่กี่คน ด้วยความที่ยังมีประชาชนที่ยังรักและภักดีต่อพระราชวงศ์อยู่มาก จึงตัดสินใจว่า วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ได้คือ โรมานอฟจะต้องไม่อยู่ในโลกใบนี้

การมีพระเจ้าซาร์อยู่ในแผ่นดินนั้น เป็นสิ่งที่นักปฏิวัติกลัวกันมากแม้จะไม่ทรงมีสิทธิ์มีเสียงใด ๆ แล้วก็ตาม แต่การเลือกวิธีการที่จะกำจัดพระองค์นั้นจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะผู้จงรักภักดียังมีอยู่มาก และรัฐบาลกลางบอลเชวิกก็ไม่สั่งการสิ่งใดลงมา เพราะในเมืองหลวง สิ่งที่คณะปฏิวัติกลัวมากที่สุดได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้นำปฏิวัติเอง ซึ่งการทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานภาพของระบอบใหม่ไม่มั่นคงเข้าไปใหญ่ และถ้าประชาชนเบื่อมาก ๆ อาจเข้าร่วมกับนายทหารฮุสซาร์ผู้ภักดี ยึดบัลลังก์คืนมาถวาย ก็เป็นไปได้สูง รัฐบาลกลางจึงโยนเผือกร้อนมาให้รัฐบาลท้องถิ่นอย่างอูราล

ซาร์นิโคลัสและครอบครัวจึงได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของนักปฏิวัติบ้านนอก ที่ทำกันอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ เต็มที ฉะนั้นพวกนี้จึงได้รับการ “ล้างสมอง” ได้ง่าย ให้เกลียดชังพระราชวงศ์ว่าเป็นเหตุให้ชาติพินาศและแพ้สงคราม


[พระเจ้าซาร์ นิโคลัส(II) และราชินีซาริน่า อเล็กซานดร้า]

พระเจ้าซาร์ถูกมองว่าเป็นนายทุนเผด็จการ ซาริน่า อเล็กซานดร้า(ราชินี) ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่าเป็น “อเล็กซานดร้า เนมก้า (Alexandra Nemka)” หรือ นังผู้หญิงเยอรมัน ถูกกล่าวหาว่าไปทรงรับความเชื่องมงายกับรัสปูติน พระบ้านนอกที่ใช้เล่ห์เพทุบายเข้ามาแทรกแซงกับกิจการแผ่นดินจนล่มจม

การที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และราชินีซาริน่าถูกใส่ร้ายป้ายโคลนอย่างหนักหน่วงโดยพวกปฏิวัติ ทำให้องค์ซาริน่าหวาดหวั่นพระทัยในเรื่องการล้มล้างเจ้ามากกว่าพระเจ้าซาร์เสียอีก เพราะแต่ไหนแต่ไรมา พระองค์ทรงทอดพระเนตรภาพพระราชินีมารี อังตัวแนตต์ ซึ่งแขวนอยู่ที่วังซาสโกย เซโล อยู่บ่อยครั้ง ด้วยกลัวว่าชะตากรรมของโรมานอฟจะเป็นเช่นนั้น จึงทรงหมกมุ่นในชะตากรรมของฝรั่งเศสตลอดมา ยิ่งเมื่อเกิดเหตุหน้าสิ่งหน้าขวานขึ้นในปลายรัชกาล ยิ่งกระตุ้นให้หวาดระแวงมากขึ้น ทั้งเรื่องจดหมายของรัสปูตินที่เขียนทำนายความล่มสลายของราชวงศ์ไว้เพียงไม่กี่วัน ก่อนที่เขาจะถูกรุมฆ่าตาย ทั้งพวกคอมมิวนิสต์ของเลนิน ที่ปลุกปั่นประชาชนให้ลุกฮือไปทั่ว แต่แม้กระนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ยังคงมองผู้คนที่กระหายเลือดเหล่านั้นด้วยความรัก ความเมตตาเสมือนบุตรอยู่เสมอ ทั้งสองพระองค์ทรงรักประเทศรัสเซียอย่างสุดพระทัย แม้จะเป็นห้วงเวลาที่ทรงถูกจองจำอยู่ก็ตาม


[พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ทรงรักครอบครัวของพระองค์ และรักประชาชนเสมอกับครอบครัว]

ซึ่งถ้าจะมองอย่างยุติธรรมแล้ว หากทั้งสองพระองค์จะมีความผิดอยู่บ้างก็น่าจะเพียงประการเดียว คือ ทรงพระทัยอ่อนเกินไปจนไม่เด็ดขาด ดังเช่นคราวที่กลุ่มผู้ชุมนุมชางนาแห่งรัสเซีย ได้พากันเดินฝ่าหิมะลมหนาวมาถึงหน้าพระราชวังเฮอมิทาจนั้น พวกเขาเพียงต้องการมาเข้าเฝ้า “บาตุชก้า” หรือพ่อหลวงของพวกเขาเพื่อถวายฎีกา ให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนยากจน แม้ขนมปังรายวันก็ยังหายาก ไม่พอยาไส้

ระหว่างที่ซาร์นิโคลัสทรงตัดสินพระทัยให้มีการเจรจาอยู่นั้น นายทหารลิ่วล้อกลับทำรุนแรงเกินเหตุและเกินคำสั่ง คือ เปิดฉากยิงชาวบ้านผู้ไม่รู้ประสีประสาจนตายไปนับร้อย เรื่องนี้ทำให้นิโคลัสโทมนัสและทรงโกรธผู้ที่กระทำการลงไปนั้นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ไม่อาจเรียกชีวิตคืนแก่พ่อแม่พี่น้องผู้เสียชีวิตนั้นได้ พระองค์ถูกกล่าวหาว่า ไม่สามารถปกป้องลูกจากทรชนได้ เลือดที่หลั่งในวันนั้นจึงเป็นดุจดั่งสีแห่งการเริ่มต้น “ปฏิวัติแดง”

องค์พระเจ้าซาร์ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งมวล ตั้งแต่ แพ้การยุทธนาวีกับญี่ปุ่น พ่ายสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปจนถึงการฝักใฝ่ในคุณไสยตามรัสปูติน ทรงถูกพวกหัวรุนแรงชี้นิ้วติดสินว่าพระองค์เป็น “จุดอ่อน” ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะทรงถูกเหยียดหยามนานัปการจากคณะปฏิวัติ พระเจ้าซาร์ก็ยังคงถือว่าคนพวกนี้เป็นประชาชนเสมือนกับลูกของพระองค์อยู่เช่นเดิม ทรงมีขัตติยมานะอดทนอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะถูกเชิญเสด็จแออัดไปในตู้รถไฟขบวนเก่า ที่แล่นโขยกเขยกไปไกลถึงไซบีเรียอันแสนกันดาร เพื่อไปกักขังอยู่ในบ้านเก่าที่ห้ามแม้แต่การเปิดหน้าต่าง แม้จะลำบากเพียงไร อดีตพระเจ้าซาร์ก็ยังทรงมีพระอารมณ์ขัน เปรียบสิ่งที่พวกนั้นทำกับพระองค์และครอบครัวว่า “อยู่กันอย่างแทบเกยกัน เหมือนกับปลาแฮริ่งในถัง”

ทุกพระองค์ยังคงเปี่ยมไปด้วยขันติธรรม ผิดกับประชาชนของพระองค์ที่ทรงถือเสมือนลูก พวกนั้นเอาแต่โจมตีพระองค์ในหนังสือพิมพ์ว่า “กระหายเลือด” และกล่าวหาพระราชินีของพวกเขาเองว่าเป็น “นังผู้หญิงเยอรมัน” หาว่าพระนางขายชาติ เอาความลับไปบอกฝ่ายเยอรมันซึ่งเป็นบ้านเกิด นอกจากนี้ยังทรงเลื่อมใสในพระอุบาศว์รัสปูติน ซึ่งเป็นคนคิดคดทรยศ เต็มไปด้วยตัณหาราคะ ลามไปจนถึงขั้นว่า พระองค์ทรงฝักใฝ่ในกามคุณด้วยรัสปูตินรูปนี้ ซึ่งข้อหาเหล่านี้ล้วนรุนแรงร้ายกาจสุดแล้วแต่จะคิดออกมาได้ ซึ่งคนที่คิดเช่นนี้มีน้อยมาก แต่ทว่า คนรัสเซียเมื่อร้อยปีก่อนนั้นยังหาที่มีการศึกษาน้อยมาก ส่วนใหญ่ 90% ไม่รู้หนังสือและไม่เคยเข้าเมืองหลวงด้วยซ้ำ เมื่อการปฏิวัติเริ่มขึ้นใหม่ ๆ ได้เห็นรถรางคันใหญ่เข้ามาก็ตื่นเต้น คุกเข่าประสานมือ ร้องเรียก “ปามิลุย โก๊สปาดิ” (พระเจ้าช่วย) กันยกใหญ่ ด้วยเห็นว่าใหญ่โตราวกับสัตว์ร้ายที่ส่งเสียงน่ากลัว

แม้คนรัสเซียกว่า 90% จะไม่ได้มีจิตคิดถึงขนาดจะผลาญชีวิตพระเจ้าซาร์ทั้งครองครัว แต่พวกเขาก็เริ่มเชื่อคำป้ายสี และไม่อยากให้พระองค์กลับมาปกครองอีก ชีวิตของเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์จึงแขวนอยู่ตรงกลางระหว่างความอิหลักอิเหลื่อนี้ ซึ่งตอนนี้ทุกพระองค์และข้าราชบริพารทุกคนที่ตามเสด็จต้องตกอยู่ที่เมืองไกลชายแดน เช่น เยกาเตอรินเบิร์กนี้


[พระที่นั่งลิวาเดียที่แสนงามในแหลมไคเมีย เป็นที่โปรดปรานของพระราชวงศ์ทุกพระองค์]

ไม่มีใครคาดคิด แม้แต่องค์พระเจ้าซาร์เองก็ตาม ดังที่เจ้าฟ้าหญิงทาเทียน่า พระธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมยิ่งนั้นได้เคยกล่าวไว้ว่า “ทีแรกนั้น ทูลกระหม่อมปาป้าคิดว่าเขาจะพาเราไปกักไว้ที่ลิวาเดีย (Livadia) เหมือนดั่งสมเด็จย่ามาเรีย เพราะที่แห่งนั้นเป็นที่โปรดของพวกเราทุกคน…” (ลิวาเดียนั้นเป็นพระราชฐานไว้ตากอากาศอยู่ริมแหลมไครเมีย)

การที่พระเจ้าซาร์ไม่ทรงตัดสินพระทัยพาครอบครัวหนีนั้น ได้ถูกวิเคราะห์ออกมาหลายประเด็นดังนี้

1. ไม่ทรงเชื่อว่าจะหนีสำเร็จ เพราะทหารรักษาการณ์ที่บ้านอิปาเตียฟนี้แน่นหนามาก โดยในบ้านมี 20-30 นาย ส่วนบ้านฝั่งตรงข้ามถนนมีอยู่ถึง 50 นาย ราวกับเป็นกองบัญชาการย่อม ๆ ยังไม่รวมถึงป้อมปืนกลที่ตั้งรายล้อมอยู่ และกระบอกหนึ่งนั้นเล็งตรงมาที่หน้าต่างบานเดียวที่เปิดอยู่พอดี

2. สภาพแวดล้อมทำให้ทรงหนีไม่สะดวก เพราะเมืองเล็กแห่งนี้ถือเป็นเมืองของพวกแดง ซึ่งประชาชนค่อนข้างถูกล้างสมองหมดแล้วและเห็นเจ้าเป็นศัตรูของพวกเขา ถ้ามีการหลบหนีเกิดขึ้นก็คงถูกจับส่งกลับมา ซึ่งยิ่งเป็นที่เสื่อมพระเกียรติที่พวกแดงจะเอาไปอ้างได้

3. พระกุมารน้อยอเล็กเซย์ไม่อาจทรงไต่เชือกลงมาทางหน้าต่างได้ เพราะทรงได้รับบาดเจ็บที่พระชงฆ์ และอาการบาดเจ็บนั้นยังคงอักเสบอยู่บ่อย ๆ แม้จะทรงดำเนินเองจากรถเข็นที่ประทับก็ยังยาก

4. ทรงรู้ดีว่า แม้จะหนีออกมาได้ แต่การจะขอความช่วยเหลือจากพระญาติในประเทศใกล้เคียงอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนีนั้นก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะขณะนั้นทุกประเทศก็ยังวุ่นวายกับเหตุการณ์หลังสงครามโลก ไม่มีใครพอมีน้ำใจนึกถึงราชวงศ์โรมานอฟสักเท่าใด แม้บางท่านจะเป็นญาติของนิโคลัสและอเล็กซานดร้าเองก็ตาม


[เจ้าชายน้อยอเล็กซ์เซย์]

แต่ข้อที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ปรารถนาจะทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลังแม้เพียงผู้เดียว ดังพระราชหัตถเลขาลับที่ตอบจดหมายออกไปว่า “ถ้าไม่พาพวกเรา ซึ่งรวมถึงข้าราชบริพาร คนครัว หรือแม้แต่เด็กรับใช้ในห้องเครื่องออกไปให้ปลอดภัยด้วยกัน ก็ไม่คิดจะเสด็จออกไป” ซึ่งน้ำพระทัยอันอ่อนโยนนี้กลับนำภัยมาสู่พระองค์เอง

แผนลวงสกปรก และวันสุดท้ายชั้นใต้ดิน

ในสายตาของเด็กรับใช้ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรคนหนึ่ง ซึ่งได้เห็นความเลวทรามของพวกปฏิวัติ ทำให้นับวันยิ่งรู้สึกว่าความโหดร้ายที่กระทำต่อครอบครัวโรมานอฟนั้นสุดที่จะบรรยาย พวกมันหาเรื่องทำร้ายจิตใจของพวกโรมานอฟอย่างทารุณ เป็นต้นว่า ใช้หมึกดำแบบลบไม่ออกวาดภาพลามกอุบาศว์เอาไว้ในห้องสรงที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน โดยนำเอารูปพระเจ้าซาร์และพระราชินีมาล้อเลียนอย่างต่ำช้า เพื่อประจานให้พระโอรสและพระธิดาทุกพระองค์ได้เห็น เป็นความถ่อยที่สุดเท่าที่มนุษย์จะนึกได้


[เจ้าหญิงโอลก้า, ทาเทียน่า, มาเรีย, อนาสตาเซีย ในที่คุมขัง ฤดูใบไม้ผลิปี 1916]

และนั่นไม่ใช่ความเลวร้ายอะไรเลยถ้าจะเทียบกับแผนการโยนบาปขั้นสุดท้าย นั่นคือ การออกจดหมายลวง โดยใช้ความหวังของครอบครัวโรมานอฟทั้งหมดมาเป็นเดิมพัน ฝากจดหมายนี้มากับนายทหารยามซึ่งทำทีเหมือนกับจงรักภักดีแฝงเข้ามา และเนื้อความในจดหมายนั้นเป็นการเสมอความช่วยเหลือลับ ๆ จากกลุ่มนายมหารผู้ภักดีภายนอกที่รอเวลาจะทำการบุกเข้ามาช่วยตัวประกันอยู่

ในตอนแรกพระราชินีทรงเชื่อสนิทใจ และจะรีบทรงจดหมายตอบออกไป แต่พระเข้าซาร์ผู้สุขุมกว่าทรงยั้งไว้ โดยกล่าวว่าน่าจะเป็นแผนลวง ต้องดูให้รอบคอบ และเมื่อดูแล้วในที่สุด แม้จะทรงคลางแคลงพระทัยอย่างไร แต่สถานการณ์ในบ้านที่ผู้คุมแต่ละคนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามานั้นยิ่งเลวร้ายลง เป็นต้นว่า ทรงถูกลิดรอนสิทธิ์อย่างหนัก แม้จะเปิดหน้าต่างสักบานให้คลายร้อนก็ไม่ได้ หรือเมื่อเปิดแล้ว พระธิดาแสนซนอย่างอนาสตาเซียโผล่ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์บ้างก็ถูกยิงสวนเข้ามา เฉียดพระวรกายไปไม่กี่กระเบียด นอกจากนั้นข้าวของส่วนพระองค์ก็ถูกรื้อค้นฉกชิงเอาดื้อ ๆ จากทหารยามที่เดินยุ่มย่ามเข้านอกออกในโดยไม่สนใจความเป็นส่วนตัวของเจ้านาย ดังนั้นแผนตอบจดหมายจึงเกิดขึ้น

ข้อมูลจาก : นพ.กฤษดา ศิรามพุช

 

ซาร์นิโคลัสที่ 2 สมรสกับหลานสาวสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย แห่งเยอรมัน คือ ซารีน่าอเล็กซานดรา มีพระราชโอรส - ธิดา ดังนี้ 
1. แกรนด์ ดัชเชส โอลก้า 
2. แกรนด์ ดัชเชส ทาเทียน่า 
3. แกรนด์ ดัชเชส มาเรีย 
4. แกรนด์ ดัชเชส อนาสตาเซีย 
5. ซาเรวิทช์ อเล็กซิส

โอรส - ธิดา ธรรมดา ชายใช้ แกรนด์ ดุ๊ก หญิง ใช้ แกรนด์ ดัชเชส ส่วนที่เป็นมกุฎราชกุมาร หรือ มกุฎราชกุมารีใช้ ซาเรวิทช์ หรือ ซาเรฟน่า ราชวงศ์โรมานอฟปกครองรัสเซียมานานกว่า 300 ปี พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 - 1917

ค.ศ. 1917 เกิดปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย ล้มล้างระบบจักพรรดิสู่ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 
ค.ศ. 1918 พระองค์และราชวงค์พร้อมทั้งข้าบริพารถูกสังหารโดยกลุ่มบอลเชวิกที่เอกาเต็นเบริ์ก (Ekaterinburg)

ระบบจักพรรดิ(ซาร์) เริ่มมีการต่อต้านมาเรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1881 พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยการปาระเบิดใส่ราชรถ ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จกลับพระราชวังฤดูหนาว พระองค์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสด็จสวรรคตที่พระราชวังฤดูหนาว นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก หลังจากนั้นมีการลงโทษประหารกบฏด้วยการแขวนคอ หนึ่งในนั้นมี พี่ชายวลาดิมีร์ เลนินรวมอยู่ด้วย

ปี ค.ศ. 1904 เกิดสงครามกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีอาวุธที่ดีกว่าเหนือกว่าทำให้ชนะรัสเซียได้ ประชาชนโทษพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

มกราคม ค.ศ. 1905 มีการชุมนุมประท้วงเพราะแพ้สงครามและประชาชนอดอยาก ที่จตุรัสพระราชวัง มีการสลายการชุมนุมประท้วงโดยกองทหารม้าคอสแซค มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก เพิ่มความเกลียดซังพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มากยิ่งขึ้น (Bloody Sunday)

ปี ค.ศ. 1914 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเข้าร่วมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และพระองค์ทรงเสด็จออกแนวหน้าเพื่อบัญชาการรบเอง ปล่อยให้หน้าที่การบริหารประเทศเป็นของพระมเหสีซาริน่า อเล็กซานดร้า ซึ่งพระนางทรงฟังคำพูดของนักบวชนามว่า รัสปูติน ดังนั้นการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ก็ล้วนเป็นคนที่รัสปูตินเสนอขึ้นมา และมีข่าวว่าพระนางซาริน่า ได้ทรยศไปเข้าข้างเยอรมันอีกด้วย ค.ศ. 1916 นักบวชรัสปูติน ถูกลอบสังหารเสียชีวิต

ปี ค.ศ. 1917 มีการนัดหยุดงาน และเกิดจลาจลในกรุงเปโตรกราด ทางสภาดูมาได้วิจารณ์และตักตือนพระองค์ แต่พระองค์ทรงโต้ตอบด้วยการยุบสภาดูมา ฝ่ายทหารจำนวนมากจึงเข้าร่วมกับคนงาน การปฏิวัติได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บีบบังคับให้พระองค์ต้องสละบัลลังค์ให้กับพระอนุชา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอม ต้องการให้เปลี่ยนระบบการปกครอง

ค.ศ. 1918 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่2 และราชวงค์พร้อมทั้งข้าบริพารถูกสังหารโดยกลุ่มบอลเชวิกที่เอกาเต็นเบริ์ก (Ekaterinburg)

ปี ค.ศ. 1918 เลนิน เซ็นสัญญา เบรสท์ - ลิทอฟส์ เพื่อยุติสงครามกับเยอรมัน

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...