เผยคนไทยติดยาเสพติด 1.3 ล้าน สูงกว่ามาตรฐานสากล 6 เท่า

 

 

 

 

 

เผยคนไทยติดยาเสพติด 1.3 ล้าน

สูงกว่ามาตรฐานสากล 6 เท่า

 

"วิทยา" เผยมีคนเสพยาเสพติดทั้งประเทศ 1.3 ล้านคนหรือ 1,000 คน มีคนติดยา 19 คน สูงกว่ามาตรฐานสากล 6 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล อายุน้อยสุด 9 ขวบติดยาบ้า สัดส่วนผู้เสพยาอายุต่ำกว่า 15 ปี เพิ่มจาก 5% เป็น 11% ส่วนผู้หญิงเสพเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาเชิงรุกเปิดบำบัดสมัครใจ วันแรกทะลุเป้า เตรียมเดินหน้าต่อทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าปี 55 มีผู้เข้าบำบัดไม่ต่ำกว่า 400,000 ราย

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดปฏิบัติการนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแห่งแรก ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด "เพื่อคืนบุตรหลานให้ครอบครัว คืนคนดีสู่สังคม"

นายวิทยากล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ความปลอดภัยและทรัพย์สิน โดยปี 2554 นี้คาดว่าจะมีผู้เสพยาเสพติดประมาณ 1.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับสถิติประชากรทุก 1,000 คน จะมีผู้เสพยา 19 คน สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 6 เท่าตัว โดยพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนของปัญหามากที่สุด ประมาณร้อยละ 60 รัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ถือเป็นวาระแห่งชาติ และเดินหน้ายุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม พร้อมทั้งมีกลไกช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ชักชวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู ในปี 2555 ไม่น้อยกว่า 400,000 คน โดยวิธีการบำบัดด้วยความสมัครใจนี้จะได้ผลดี เนื่องจากเป็นความตั้งใจของผู้เสพที่ต้องการเลิกเสพยา

นายวิทยากล่าวต่อไปว่า สธ.ได้เตรียมระบบการบำบัดไว้พร้อมแล้ว จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติด รพ.ชุมชนทุกอำเภอ และใน กทม.ทุกเขต รวมทั้งหมด 928 แห่ง จะมีการตรวจคัดกรองผู้เสพเพื่อให้การบำบัดที่เหมาะสม เริ่มต้นดำเนินการในเขต กทม.และปริมณฑลก่อน โดยในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มดำเนินการ มีผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดมากถึง 500 คน เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 300 คน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี บางส่วนมีผู้ปกครองที่นำลูกหลานเข้ามารับการบำบัดด้วยตนเอง เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งสารเสพติดที่ใช้มีทั้งยาบ้า ดมกาว และยาไอซ์ เป็นต้น สำหรับในต่างจังหวัดจะเริ่มดำเนินการวิธีเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้หวนกลับไปติดยาหรือใช้ยาเสพติดซ้ำอีก

สำหรับผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษา ประจำปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด 114,074 ราย เข้าบำบัดด้วยระบบสมัครใจ 28,154 ราย ระบบบังคับบำบัด 71,311 ราย และระบบต้องโทษ 14,609 ราย โดยผู้ที่เข้ารับการบำบัดมีอายุระหว่าง 8-24 ปีมากที่สุด จำนวน 41,960 ราย รองลงมาเป็นอายุ 25 – 29 ปี จำนวน 23,548 ราย

ด้าน น.ต.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า การที่มีผู้เสพยาเข้าร่วมโครงการในวันนี้เกินเป้าหมาย เนื่องจากเป็นการเปิดให้เข้ารับการบำบัดในรูปแบบสมัครใจ เข้ารับการรักษาได้โดยตรง ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาต้องถูกส่งเข้าเรือนจำก่อน แต่โครงการนี้จะตรวจคัดกรองและส่งตัวเข้าไปรักษายังศูนย์บำบัดยาเสพติดทันที 9 วัน ส่วนผู้ที่เสพยาเสพติดมานาน ที่มีอาการทางจิต หรือมีโรคอื่นๆ จะถูกส่งไปยังสถาบันธัญลักษณ์เพื่อบำบัดให้หายต่อไป ทั้งนี้ การที่มีผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดถือเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่าจะมีผู้เสพยาขอเข้ารับการบำบัดในโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่ กทม.คาดว่า มีผู้เสพยาเสพติดประมาณ 100,000 ราย

น.ต.บุญเรืองกล่าวต่อว่า จากสถิติอายุผู้ใช้ยาเสพติดพบว่า อายุต่ำสุดอยู่ที่ 9 ขวบ ซึ่งติดยาบ้าอยู่ที่นครปฐม ขณะที่ปัจจุบันพบว่า ผู้ใช้ยาเสพติดเริ่มเป็นกลุ่มที่มีอายุลดลง โดยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี จากเดิมจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ขณะนี้ขยับขึ้นมาถึงร้อยละ 11 ของจำนวนผู้เสพแล้ว เช่นเดียวกับผู้หญิงมีจำนวนเสพยามากขึ้น จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 9 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 20 แล้ว

ด้าน นพ.อังกูร ภัทรากร รอง ผอ.สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้เสพอายุลดลงเรื่อย ๆ ต่ำสุดที่สถาบันบำบัดรักษาอยู่ในขณะนี้คือ อายุ 12 ปี ซึ่งเสพยาบ้า และสัดส่วนผู้หญิงเสพยาเสพติดก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะยาไอซ์ ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนมากกว่า 90% ซึ่งจะทำให้บ้าเร็วขึ้น คือ เสพไม่ถึงปีก็จะมีอาการทางจิต ทั้งนี้พบว่าผู้เสพยาส่วนใหญ่ 70% จะมีอาการทางจิตคือ หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...