ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทม : ความอดอยากหิวโหยของเวียดนามเหนือในปี ๑๙๔๕

 

หนังสือจัดทำในปี ๒๐๐๕ (พิมพ์ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๐๐๗) โดยสำนักพิมพ์เยาว์ (Nha Xuat Ban Tre) ของหนังสือพิมพ์เยาว์วัย (Bao Tuoi Tre) มีลักษณะเป็นหนังสือรวมข้อเขียนสั้นๆ หลายชิ้นด้วยกัน

 

     จุดประสงค์ที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือ บอกไว้ชัดเจนว่าต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจของประเทศเวียดนามเมื่อปี ๑๙๔๕ ซึ่งในทางจันทรคติเป็นปีที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่า เอิ๊ตโหซ่ว (At Dau) หรือปีระกา คนเวียดนามจึงมักเรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า Nan Doi At Dau (หนั่นด๊อยเอิ๊ตโหซ่ว) หรือ ทุพภิกขภัยปีระกา และในปีที่จัดทำหนังสือนี้ก็เป็นปีเอิ๊ตโหซ่วเช่นเดียวกัน แต่ได้ผ่านมา ๖๐ ปีแล้ว

 

 ปีระกา ๑๙๔๕ ในช่วงเวลาตอนปลายที่เวียดนามถูกยึดครองโดยกองทัพของญี่ปุ่น และขณะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใกล้จะปิดฉากแล้ว ได้เกิดภาวะความอดอยากอย่างรุนแรงที่ภาคเหนือของเวียดนาม โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ๑๙๔๔ ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงขั้นวิกฤตในช่วงต้นปี ๑๙๔๕ จนถึงเดือนพฤษภาคม ผู้คนกว่า ๓๒ จังหวัดในภาคเหนือต้องอดอยากหิวโหยล้มตาย ตัวเลขของคนเวียดนามประมาณว่ามีคนตายในช่วงนั้น ๒ ล้านกว่าคน จำนวนนี้มากกว่า ๑๐ เท่าของคนญี่ปุ่นที่ตายเพราะถูกระเบิดปรมาณูลง ๒ ลูกรวมกัน หรือมากกว่า ๑ ใน ๑๐ ของประชากรเวียดนามเหนือในขณะนั้น

 

เซืองจุงก๊วก ผู้เขียนบทนำเรื่อง เป็นนักวิชาการเวียดนามที่บังเอิญผู้เขียนเคยรู้จักตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ ปัจจุบันยังเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์ นักวิจารณ์การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่มีความแหลมคมคนหนึ่ง เขาและเพื่อนนักวิชาการญี่ปุ่นได้ชวนกันลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความอดอยากหิวโหยในภาคเหนือของเวียดนามปี ๑๙๔๕ พวกเขาค้นพบว่า นอกจากความอดอยากเป็นสาเหตุแห่งการตายอันน่าเศร้าสลดใจแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นเข้ามาผสมโรงด้วย คือ การตายเพราะโดนระเบิดของสหรัฐอเมริกาที่เอามาทิ้ง โดยเฉพาะในเมืองฮานอยระหว่างปี ๑๙๔๔-๔๕ และยังมีการตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกด้วย

 

เขากล่าวว่า ศพคนตายในเมืองฮานอยส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปไว้รวมกันเป็นจำนวนมากในเขตฮายบ่าจึง โดยเฉพาะที่สุสานเหิบเถี่ยน และตั้งแต่ปี ๑๙๖๐ เริ่มมีการล้างสุสานโดยเอาที่ไปทำอย่างอื่น แต่ก่อนที่สุสานจะถูกล้างจนหมดสิ้น เซืองจุงก๊วกได้ลุกขึ้นต่อต้านและรณรงค์ให้อนุรักษ์สุสานที่เหลือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย 

 

     หลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้รักษาสุสานดังกล่าว พร้อมกับจัดทำแผ่นป้ายหินบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ และนำเอาบทกวีขนาดยาวชื่อ แด่มวลชนผู้ประสบทุพภิกขภัยมรณะ (Truy Dieu Nhung Luong Dan Chet Doi) ของหวูเคียว ซึ่งแต่งไว้เมื่อต้นปี ๑๙๔๕ บรรยายสภาพความอดอยากหิวโหยของประชาชนทั่วภาคเหนือ มาสลักลงบนป้ายหินจารึกด้วย

 

 

 เซืองจุงก๊วกยังเรียกร้องรัฐบาลให้เข้าไปเก็บและรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเมืองท้ายบิ่ญ (จังหวัดท้ายบิ่ญ) ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีคนตายเพราะความอดอยากมากที่สุด โดยเฉพาะเขาให้รีบเก็บข้อมูลจากคนที่มีชีวิตเหลือรอดมา หรือผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ เพราะว่าข้อเท็จจริง ความรู้สึกทุกข์ทรมาน รวมทั้งความคิดเห็นที่จะได้จากคนเหล่านี้นั้น คือประวัติศาสตร์บอกเล่าอันมีค่า หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนเวียดนามรุ่นหลัง

 

     เซืองจุงก๊วกย้ำว่า นี่คือประวัติศาสตร์ ที่คนเวียดนามไม่อาจลืมได้และต้องจดจำสำนึกไปชั่วกาลนาน

     หนังสือได้นำบทกวีของหวูเคียว (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์) มาลงต่อจากบทนำของเซืองจุงก๊วก จากนี้เป็นภาพถ่ายของเหตุการณ์ช่วงที่มีคนอดตายในเมืองฮานอยและตามที่ต่างๆ ถ่ายโดยศิลปินชื่อหวออันนิญ ซึ่งต่อมาเขาได้นำภาพถ่ายของเขาไปแสดงในเมืองฮานอยและไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน) เพื่อขอบริจาคเงิน สิ่งของ และอาหาร ไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนอดอยากและครอบครัวของคนตายที่ยังมีชีวิตอยู่

 

 

 ต่อจากภาพเป็นข้อเขียนของนักเขียนและนักวิชาการหลายคน อันมีกวางเถี่ยน (เขียนหลายชิ้น) นักเขียนของหนังสือพิมพ์เยาว์วัย ศาสตราจารย์วันต่าว ศาสตราจารย์ฟองเล ศาสตราจารย์หดั่งฟอง และตามด้วยความคิดเห็นต่างๆ ที่ส่งมาลงหนังสือพิมพ์เยาว์วัย ระหว่างเดือนมีนาคม ๒๐๐๕ โดยมีข้อเขียนของศาสตราจารย์ฟานฮุยเล, เซืองจุงก๊วก และบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์หวูเคียว รวมอยู่ด้วย


 

 

ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทมในปี ๑๙๔๕ มีสาเหตุรากฐานมาจากระบบการปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวียดนาม ซึ่งยึดผลประโยชน์ของเมืองแม่เป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงประชาชนคนพื้นเมืองทั้งยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานอย่างขูดรีดเต็มกำลัง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในเวียดนามเหนือซึ่งปกติสมัยศักดินาปกครองก็ยากจนข้นแค้นอยู่แล้วนั้น ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนไม่รู้จบ กินไม่เคยอิ่ม และสุขภาพย่ำแย่ พวกชาวนาและกรรมกรถูกขูดรีดมากที่สุดในระบบอาณานิคม

 

     สำหรับเวียดนามเหนือ ฝรั่งเศสปกครองโดยให้เป็นรัฐในอารักขา ไม่ได้ปกครองโดยตรงเช่นเดียวกับเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส และเป็นพื้นที่ที่ฝรั่งเศสใช้สำหรับการผลิตข้าวและยางพาราส่งออกเป็นสำคัญ

 

     แม้จะเป็นรัฐในอารักขา ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ละเว้นในการแสวงหาผลประโยชน์จากเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการผลิตข้าวและการใช้ทรัพยากรแหล่งแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในเวียดนามเหนือ 

 

 

ในปี ๑๙๑๓ ฝรั่งเศสเริ่มเร่งรัดการส่งออกข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีข้าวสำหรับการบริโภคภายในเหลือน้อยลง ยิ่งในเวียดนามเหนือด้วยแล้วยิ่งลำบาก เพราะไม่ได้อุดมสมบูรณ์เท่ากับเวียดนามใต้ และยังมีประชากรที่หนาแน่นกว่าด้วย การขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคจึงส่งผลถึงคนเวียดนามเหนือโดยตรง

 

     ทุพภิกขภัยในเวียดนามเหนือเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐-๔๐ ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ฝรั่งเศสได้เปิดฉากการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ขูดรีดอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นในอินโดจีน โดยบังคับให้คนพื้นเมืองกันพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (cash crops) เพิ่มขึ้น ในราคาค่าตอบแทนพืชผลที่ต่ำมาก ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์อะไร ซ้ำยังต้องเสียภาษีหนัก และขาดแคลนที่ดินสำหรับปลูกข้าวด้วย รวมทั้งทำให้เกิดตลาดมืดรับซื้อพืชผลในราคาสูงมากถึง ๒๐ เท่า

 

ในระหว่างช่วงแรกที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๓๙-๔๑) ฝรั่งเศสกักตุนอาหารโดยเฉพาะข้าวจากชาวนาเวียดนามทั้งเหนือและใต้ ทำให้ข้าวซึ่งมีเหลือสำหรับการบริโภคน้อยอยู่แล้วนั้น กลับน้อยลงไปอีก เพราะนอกจากจะไว้ส่งออกแล้ว ยังเอาข้าวไปกลั่นเป็นน้ำมันเอทานอลอีก

 

     ภาวะที่ย่ำแย่ของคนเวียดนามเหนือต่อเนื่องซ้ำเติมด้วยช่วงเวลาการยึดครองของญี่ปุ่นในระหว่างปี ๑๙๔๑-๔๕ ซึ่งบังคับเอาข้าวปลาอาหารจากพวกชาวนาไปเป็นเสบียงของตน ปรากฏว่าในระหว่างปี ๑๙๔๒-๔๕ ญี่ปุ่นนำข้าวจากเวียดนามใต้ส่งออกไปประเทศของตนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังบังคับชาวนาให้ปลูกพืชเศรษฐกิจแทนข้าวเช่นเดียวกับพวกฝรั่งเศส การผลิตข้าวที่ลดลงกับผลผลิตที่เหลือน้อยจึงยาวนานสืบต่อกันถึง ๑๕ ปี 

 

 

 และแล้ว สาเหตุปัจจุบันมาถึงเมื่อสวรรค์ไม่ปรานี จุดวิกฤตก็บังเกิด การผลิตข้าวที่ลดลงอยู่แล้วต้องถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงที่สุดจากภัยแห้งแล้งและน้ำท่วมต่อกันในช่วงปี ๑๙๔๔ ปรากฏว่าผลผลิตลดลงทันที ๒๐% และยังลดลงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงต้นปี ๑๙๔๕ ผู้คนเริ่มขาดแคลนอาหาร จากมีกินน้อยกลายเป็นไม่มีจะกิน เริ่มอดอยาก หิวโหย และล้มตาย จากตายน้อยถึงตายมาก จากตายมากถึงตายเป็นเบือ ไม่ต้องนับ

 

     ในภาวะสงคราม ทุพภิกขภัยมรณะของเวียดนามเหนือแทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือบรรเทาทุกข์ได้ทันเวลา เหตุเพราะอยู่ในระหว่างสงคราม และการคมนาคมไม่สะดวก เพราะการทิ้งระเบิดอย่างหนัก ปิดเส้นทางบกและน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างปี ๑๙๔๔ พวกเวียดมินห์ (เหวียดมิญ) ยังอยู่ในป่า คอยหลบการปราบปรามของพวกญี่ปุ่น พวกฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นขับไล่ออกไปแล้ว และถึงยังอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้หรือจะทำให้แย่ลง พวกญี่ปุ่นซึ่งกำลังสาละวนรบอยู่ก็ถือว่าข้าวเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญในการทำสงคราม จึงไม่ได้เอาข้าวที่อยู่ในเสบียงคลังของตนออกมาแจกจ่ายช่วยเหลือคนเวียดนาม ส่วนจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียนที่เฮว้ก็ไม่สามารถสั่งการช่วยเหลือดูแลอะไรได้ เพราะหมดอำนาจและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติ ได้แต่ยังอยู่อย่างเจว็ดตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสเข้าปกครองแล้ว

 

 ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศสซึ่งรบกันอยู่ต่างก็ปล่อยให้เวียดนามเหนืออดอยากไป และยังมีส่วนที่คิดเห็นว่าเป็นการดีที่จะทำให้ฐานขบวนการปฏิวัติของพวกเวียดมินห์ถูกขจัดไปหรืออ่อนกำลังลงด้วย

 

     แต่เหตุการณ์อันแสนสาหัสนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อพวกเวียดมินห์ กลายเป็นโอกาสสำคัญทำให้ได้ใช้ประโยชน์สำหรับการรณรงค์ต่อต้านลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสและฟาสซิสต์ญี่ปุ่น ทำให้สามารถระดมคนจำนวนมากเข้ามาเป็นกำลังของพวกเวียดมินห์ การใช้ประโยชน์นี้รวมไปถึงการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าปล้นสะดมคลังอาหารของญี่ปุ่นด้วย โดยมีคำขวัญว่า ปล้นฉางข้าวเอามาช่วยคนอดอยากŽ ในระหว่างนี้จึงเกิดการปล้นคลังข้าวปลาอาหารของญี่ปุ่นในหลายจังหวัด 

 

     ในคำประกาศอิสรภาพของโฮจิมินห์ (โห่จี๊มิญ) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๑๙๔๕ ภายหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม (ก๊ากหมั่งท้างต๊าม) ประสบความสำเร็จแล้ว ได้กล่าวว่า ประชากรของเวียดนามเหนือที่ล้มตายเพราะความอดอยากนั้นมีจำนวน ๒ ล้านกว่าคน ในขณะที่สถิติของฝรั่งเศส (Annuaire statistique de lž Indochine 1943-1946) บันทึกไว้จำนวน ๑๓,๑๕๖,๓๐๐ คน นักประวัติศาสตร์เวียดนามจึงให้ตัวเลขเป็นกลางๆ โดยประมาณจำนวน ๑-๒ ล้านคน

 

 

 จำนวน ๑-๒ ล้านคน มีลำดับของจังหวัดต่างๆ ที่มีคนตายมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนของประชากรในจังหวัดนั้นๆ ดังนี้ กว๋างเย็น มากกว่า ๗๐% ท้ายบิ่ญ มากกว่า ๖๐% เกี๊ยนอัน นามดิ่ญ มากกว่า ๕๐% นิญบิ่ญ มากกว่า ๓๐% ห่าดง บั๊กนิญ ฮึงเย็น หายฝ่อง มากกว่า ๒๐% หายเซือง บั๊กซาง ฟู้เถาะ มากกว่า ๑๐% ห่าโหน่ย (ฮานอย) ประมาณ ๑๐% ทั้งหมดนี้คือจังหวัดที่อยู่รายรอบที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ซึ่งปกติมีประชากรหนาแน่น แต่มีปัญหาการทำนาในลุ่มแม่น้ำแดงแ</


 

19 พ.ค. 54 เวลา 19:48 20,760 28 410
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...