4 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง นม

อย่าเข้าใจ นม ผิด THE BEST LIFE NUTRITION (man's Health)

          เชื่อว่ามีหลายคนหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า "นม" ขณะที่อีกหลายคนซึ่งยังไม่ค่อยรู้สึกรู้จริงในเรื่อง "นม" อาจยังสงสัยอยู่ว่า "นม" มีอะไรดีถึงขนาดจะเผลอตัวไปใหลหลงด้วยหรือ อืม...คุณไม่รู้สึกหรือครับว่า "นม" น่าสัมผัสจับต้องจะตาย เอ่อ! ที่ว่าน่าจับต้องนั้นผมหมายถึง "นมในแก้ว" หรือ "นมในกล่อง" ที่อุดมด้วยพลังงาน โปรตีน แคลเซียม วิตามินบี วิตามินดี ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซึ่งช่วยให้ร่างกายแข็งแรงนะครับ ถึงจะมีประโยชน์แต่หลายคนมักเข้าใจเรื่องนมแบบผิด ๆ อย่างเช่น การดื่มนมจำเป็นสำหรับเด็กเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจผิดอย่างนี้เป็นเรื่องที่เราอยากชวนคุณก้าวพ้น และก้าวเข้ามาค้นพบเรื่องดี ๆ มหัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่า "นม" กันดีกว่า อ่านจบแล้วคุณอาจพบว่า "นม" น่าสัมผัสจับต้องและล้วงลึกมากกว่าที่เคยคิดก็เป็นได้นะครับ

          4 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง "นม"

1. การดื่มนมเป็นประจำ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

          ข้อเท็จจริงคือ ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานไม่ได้มาจากสาเหตุการดื่มนมเป็นประจำ แต่มาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนสมดุล ปัจจุบันมีผลงานวิจัยออกมาแล้วว่าการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานต่ำควบคู่กับ การดื่มนมให้มากขึ้น มีความสัมพันธ์กัน และช่วยทำให้น้ำหนักลดลงได้ การดื่มนมเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยสร้างสมดุล ในปริมาณอาหารที่บริโภคเข้าไป ซึ่งจากการศึกษาโดยใช้นมพร่องมันเนยในเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในโปรแกรมลดน้ำหนัก พบว่ากลุ่มเด็กที่ดื่มนมพร่องมันเนยสามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ ดื่มนม เนื่องจากแคลเซียมมีผลต่อการใช้ไขมัน ซึ่งทำให้สรุปได้ว่านมมีส่วนช่วยในเรื่องลดน้ำหนัก

2. การดื่มนมอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

          ข้อเท็จจริงคือ อาการแพ้นมสามารถเกิดขึ้นได้ แต่อาการแพ้โปรตีนในนมวัวนั้นเกิดในคนจำนวนน้อยมากหรือเฉพาะในเด็กทารกเท่า นั้น ตามสถิติพบว่า 2-4 เปอร์เซ็นต์ของเด็กเล็กเท่านั้นที่จะเกิดอาการแพ้ และอาการแพ้ต่าง ๆ จะหายไปเองเมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่สองขวบขึ้นไป สำหรับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้ใหญ่นั้นจะเป็นลักษณะของอาการท้องเสีย เมื่อดื่มนมโดยเฉพาะในขณะท้องว่าง อาการเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะร่างกายไม่คุ้นเคยกับการดื่มนม และไม่มีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสในน้ำนม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการทยอยดื่มครั้งละน้อย ๆ วันละหลายเวลาพอสักระยะหนึ่งร่างกายจะค่อย ๆ สร้างน้ำย่อยแลคเตสสำหรับย่อยแลคโตสขึ้นมาเอง

3. การบริโภคนมเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคหัวใจ

          ข้อเท็จจริงคือ นมและผลิตภัณฑ์จากนมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจนั้นคืออาหารที่ประกอบด้วยไขมันสูง คุณจึงมั่นใจได้ว่าการบริโภคนมทั่วไปไม่ทำให้เป็นโรคหัวใจ ส่วนการบริโภคนมและโยเกิร์ตพร่องไขมัน จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์เหมือนการบริโภคนม โดยที่ไม่ต้องกังวลกับปริมาณไขมันอีกด้วย

4. การดื่มนมจำเป็นสำหรับเด็ก ๆ เท่านั้น

          ข้อเท็จจริงคือ หลายคนคิดว่านมเป็นเครื่องดื่มสำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตในวัยเด็กเท่า นั้น เมื่อเติบโตขึ้นแล้วจึงไม่เป็นต้องดื่มนมอีก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นร่างกายของเรายังคงมีความต้องการสารอาหารตลอดเวลาใน ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะแคลเซียมสำหรับใช้ในการเสริมสร้างกระดูก ซึ่งมีการสลายตัว และสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยในวัยเด็กจะมีสัดส่วนการสร้างมากกว่าการสลายจนถึงอายุ 20 ปี โดยในช่วงอายุ 25-40 ปี สัดส่วนการสร้างและสลายกระดุกจะสมดุลกัน และเมื่ออายุมากขึ้น การสลายกระดูกจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มวลกระดูกลดน้อยลงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน

          Two-second Tip จากข้อมูลล่าสุดของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้เราได้รู้ว่าปัจจุบันคนไทยดื่มนมคนละ 7 ลิตรต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราเฉลี่ยที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น (เฉลี่ยคนละ 39 ลิตรต่อปี) อเมริกา (เฉลี่ยคนละ 92 ลิตรต่อปี) ทั้ง ๆ ที่นมมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย บางทีนอกจากรัฐบาลควรหันมากระตุ้นให้คนไทยอ่านหนังสือแล้ว ยังควรกระตุ้นให้หันมาดื่ม "นม" ด้วยนะครับ

12 มี.ค. 54 เวลา 13:29 5,186 8 150
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...