กำเนิดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

 

กำเนิดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

มีแนวคิดว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเริ่มจากชาวสวนยางพาราทางภาคใต้นำยางแผ่นไปขายให้พ่อค้า เพราะสภาพถนนในสมัยก่อนยังเป็นทางเล็กๆ และทุรกันดาร ต้องใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก
       
ส่วนในกรุงเทพฯ จากบทสัมภาษณ์ของเรือเอกสมบูรณ์ บุญศักดิ์ดี อดีตผู้จัดการคิวรถมอเตอร์ไซค์ ในซอยงามดูพลี ในนิตยสาร Thailand Business ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526 พอจะทำให้ทราบว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างสายแรกในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นที่ซอยงามดูพลี และย่านชานเมืองบริเวณดอนเมืองและบางกะปิ ซึ่งได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการจัดตั้งคิวรถมอเตอร์ไซค์ไว้ว่า “ ในซอยงามดูพลีมีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แฟลตทหารเรือซึ่งอยู่ห่างจากถนนพระรามสี่ถึง 0.8 ก.ม. มีคนอาศัย 300 ครัวเรือน และมีอีก 200 ครัวเรือนในชุมชนที่ห่างจากถนน 1.2 ก.ม. คนเหล่านี้มีรายได้น้อยจึงไม่มีเงินจ้างแท็กซี่หรือสามล้อ เข้าออกจากซอย สมัยก่อนตอนเย็นคนเหล่านี้ต้องเดินเข้าซอยมืดๆ ซึ่งอันตรายเพราะมักมีการจี้ปล้นบ่อยๆ ในซอย ครอบครัวเหล่านี้จึงต้อง คอยดูแลลูกหลานของตนเวลาเข้าออก พ่อบางคนต้องไปรอรับลูกสาวที่กลับบ้านมืด เวลานั้นมีรถมอเตอร์ไซค์ 4-5 คันที่แฟลตทหารเรือ เจ้าของจะช่วยรับส่งคนรู้จักเข้าออกจากซอยโดยไม่คิดเงิน ต่อมาคนอาศัยรถรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมจึงออกเงินช่วยค่าน้ำมัน ในเดือนมิถุนายน 2524 นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งจึงรวบรวมคนในแฟลตที่มีรถมอเตอร์ไซค์มาตั้งเป็นชมรมมอเตอร์ไซค์แฟลตทหารเรือ เพื่อให้บริการ รับส่งคนตอนเช้าและเย็นโดยคิดค่าโดยสาร 2-3 บาทต่อคน ในไม่ช้าบริการนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้คนขับหาเงินได้มาก จึงเริ่มมีคนขับ มาร่วมชมรมมากขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจไป”
       
หลังจากนั้นคนขับมอเตอร์ไซค์ในวินได้ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมการให้บริการ กฎเหล่านี้ได้แก่การกำหนดค่าอัตราโดยสารตายตัวเพื่อป้องกันคนขับบางคนโก่งราคาค่าโดยสาร ระเบียบการจอดรถและการจัดคิวรถ การห้ามแข่งรถในขณะมีผู้โดยสาร เพื่อรักษาความปลอดภัย ห้ามดื่มสุราและเล่นการพนันระหว่างปฏิบัติงาน เป็นต้น
       
อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขยายตัวอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่กองกำกับการตำรวจนครบาล มีข้อสรุปว่าการใช้รถมอเตอร์ไซค์ให้บริการขนส่งผู้โดยสารไม่ผิดพระราชบัญญัติการใช้รถยนต์ และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกก็ลงความเห็นเช่นกันว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ผิดกฎหมายการใช้รถและกฎหมายการขนส่งทางบก ความเห็นดังกล่าวทำให้สถานีตำรวจในกรุงเทพฯ ยินยอมให้มีการตั้งวินมอเตอร์ไซค์ ในท้องที่ของตนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจคิวรถมอเตอร์ไซค์จำนวน 49 วิน ปรากฏว่า 22 วิน (เกือบร้อยละ 45) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525-2527
       
ในปัจจุบันมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ ประมาณ 37,500 คันจากวินทั้งหมดประมาณ 1,570-2,500 วิน (กองกำกับการตำรวจนครบาลรายงานว่า มีวินที่จดทะเบียนกับสถานีตำรวจต่างๆ 1,570 วินในปี 2537 แต่ก็ยังมีวิน “เถื่อน” อีกจำนวนหนึ่ง วินเถื่อนส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก บางแห่งอยู่ในขั้นเริ่มธุรกิจ) โดยเฉลี่ยวินหนึ่งแห่งจะมีรถให้บริการ 20 คัน เจ้าของวินมี 2 ประเภท ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) จะเป็นเจ้าของคนเดียว แต่บางวินมีเจ้าของเป็นกลุ่มในลักษณะหุ้นส่วน ข้อสังเกตคือ วินที่มีหุ้นส่วน จะมีรถน้อยกว่าวินที่มีเจ้าของคนเดียว เพราะหุ้นส่วนกลัวว่ารายได้ของตนจะลดลง หากมีรถวิ่งมากเกินไป
       
สรุปแล้วก็คือสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ล้วนกำเนิดมาจาก ความต้องการ (Wants) ทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เมื่อมีผู้ต้องการ สังคมก็จะพยายามจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นบริการ และตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ และเมื่อไรที่ไม่มีผู้ใดต้องการมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้ว เมื่อนั้นอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะจางหายไปจากสังคมไปเอง

21 ม.ค. 54 เวลา 16:33 18,198 49 140
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...