บอร์ด
กระทู้: สนามบินไทย อีกกี่ปีถึงจะคึกคักเหมือนเดิม

จำได้ว่าตอนเกิดเหตุการณ์ 9/11 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้วิธีการใช้สนามบินในโลกเปลี่ยนไป จากเดิมที่เดินเข้าไปใน Gate อย่างสะดวกสบายตรวจไม่กี่อย่าง หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้การเดินเข้า Gate ต้องมีการตรวจมากกว่าเดิมเยอะ ไม่่ว่าจะการห้ามนำของเหลวจากภายนอกเข้าไป การตรวจโดยการถอดเข็มขัด รองเท้า แยกโน้ตบุ๊คออกจากกระเป๋า ไอแพด กระเป๋าสตางค์ ฯลฯ ทำให้เราเสียเวลาในสนามบินเยอะมากกว่าเดิมเยอะ แต่ในปีล่าสุด 2562 ที่ผ่านมาผมเดินทางบ่อยมาก แต่กลับไม่ได้รู้สึกกับกระบวนการตรงนี้ที่เสียเวลา กลับรู้สึกว่า สนามบิน เป็นพื้นที่ที่คึกคักมาก เพราะ มีคนอยู่ในสนามบินมากมายเหลือเกิน

แต่หลังจากสถานการณ์วันนี้ไป ภาพที่เราเห็นว่าสนามบินโล่งมาก ไม่คึกคักเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะ ตราบใดที่วัคซีนยังไม่สามารถกระจายไปยังประชากรทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากความกลัวในเรื่องโรคระบาดแล้วนั้น กระบวนการเดินทางระหว่างประเทศจะมีความยุ่งยากมากกว่าเดิมแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางด้านสุขภาพที่แต่ละประเทศต้องการจากผู้ที่เดินทาง หรือระยะเวลาการกักตัวเมื่อเวลาต้องเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง

คำถามของผมมี 2 คำถามกับเรื่องราวของสนามบิน คือ ตอนนี้ใครได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้บ้าง กับเอาจริง ๆ ว่าอีกกี่ปี สนามบิน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน จะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

มาดูสถิติย้อนหลังในปี 2562 กัน ยอดตัวเลขผู้เดินทางผ่านสนามบินในปีงบประมาณ 2562 มีถึง 141.87 ล้านคนจากสนามบิน 6 แห่งภายในประเทศ และเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศถึง 84.05 ล้านคน

เช่นเดียวกันกับตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รายงานโดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีจำนวนถึง 39.7 หรือง่าย ๆ 40 ล้านคน

ในที่นี้ผมอยากเน้นสนามบินเฉพาะในไทยก่อนนะครับ เพราะว่า เมื่อสนามบินเป็นของคนไทย ต้นทุนค่าเสียโอกาสจึงเกิดขึ้นสำหรับคนไทย หรือผู้ประกอบการทั้งหลายในสนามบิน และแน่นอนมีผลกระทบวงกว้างกับครอบครัวของพนักงานทุกคนในทุกส่วนของสนามบิน

คนที่ 1 ที่เสียผลประโยชน์คือ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในฐานะขององค์กรกิจการหลัก ผู้ที่ใช้บริการของสนามบินในปี 2563 นี้จะลดเหลือเท่าไร่ยังไม่มีคนทราบ สมมติว่า หายไปครึ่งนึง เหลือ 70 ล้านคน สมมติตัวเลขค่าใช้บริการ (หรือภาษีสนามบิน) คนละ 200 บาทพอเป็นตัวเลขกลม ๆ นั่นหมายถึง ตัวเลขรายได้ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จะหายไปถึง 14,000 ล้านในปีที่ 1 และในปีต่อ ๆ ไปเป็นอย่างไรเรายังประเมินไม่ได้

คนที่ 2-3-4-5 ผู้ประกอบการในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าต่าง ๆ ร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี ค่าส่งของ บริการห่อกระเป๋า ฯลฯ กลุ่มผู้ประกอบการในสนามบินเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะผู้เดินทางลดหายไปกว่าครึ่ง ถึงไม่มีรายได้เลย ถ้าร้านค้าเหล่านี้อยู่ในบริเวณที่เป็นของการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น และตรงนี้ก็จะส่งผลกระทบกับการท่าอากาศยานแห่งปประเทศไทยในทางอ้อม เพราะไหนจะเป็นค่าเช่า หรือค่าดำเนินการ ที่หักจากผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของการท่าฯ เช่นกัน

แต่ความเชื่อมโยงแบบขัดแย้งเบา ๆ ในระหว่างที่บุคคลที่ 1 หรือการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้จากทุกทาง กับผู้ประกอบการอื่น ๆ นั้น แต่ การท่าฯ ต้องคิดว่า จะดำเนินการอย่างไรกับ ผู้ประกอบการในสนามบินต่าง ๆ การท่าฯ จะช่วยเช่นไร จะปล่อยให้ตายไปตามยถากรรม การบินดีขึ้นค่อยว่ากันไหม หรือจะช่วยเยียวยา เพื่อประคองธุรกิจในสบามบินทั้ง 6 แห่งให้รอดไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบในระยะสั้นให้น้อยที่สุด และเกิดผลดีในระยะยาวมากที่สุด

มาถึงคำถามต่อไปว่า แล้วในโลกมองกันอย่างไรว่า สนามบิน และธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักอีกเมื่อไหร่

IATA หรือ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ประเมินว่า อุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศมีแนวโน้มสูงที่จะยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยตรง แปลเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า ปี 2023 หรือ 2566 - 3 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจการบิน และสนามบิน ถึงจะกลับมาใกล้เคียงกับจุดเดิมที่เคยเป็นอยู่ก่อนสถานการณ์โรคระบาด

อะไรเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนยังไม่สามารถลับมาใช้ชีิวิตการบินปกติได้ 

ความกังวลเกี่ยวกับโรค ที่ยังไม่หมดไป ถ้าบินไปมาแล้วต้องโดน กักตัว 14 วัน อันนี้จะทำให้ทุกคนไม่เดินทาง ซึ่งเลยเป็นที่มาของ Travel Bubble ที่จะเปิดช่องการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับประเทศที่ตกลงกันได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน

และแน่นอน ข้อจำกัดทางการเงินและรายได้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อ GDP หรือรายได้มวลรวมสหประชาชาติของทั้งโลก และแน่นอนกระเป๋าสตางค์ของทุกคน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ คาดการณ์กันว่า จะลดลงถึง 6% โดยในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะหนักสุดคือ - 40 ถึง - 60% ซึ่งประเด็นย่อยเป็นแบบนี้ครับ

เมื่อรายได้ลด การท่องเที่ยวจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย การท่องเที่ยวจะประหยัดขึ้น และใช้จ่ายได้น้อยลง

ราคาตั๋ว และราคาใช้จ่ายระหว่างเดินทาง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะพื้นที่เท่าเดิม แต่ขายได้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนี้สวนทางกับรายได้ ยิ่งทำให้โอกาสในการไปเที่ยว หรือเดินทางยิ่งลดน้อยลง

แค่สองเหตุผลหลักนี้ก็น่าจะเพียงพอต่อคำอธิบายต่อสถานกาาณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ผมได้แต่หวังว่าเราจะเจอวัคซีนในเร็ววันนี้ หรือมีแนวทางในการดำเนินธุรกรรมทางการบิน ทางการท่องเที่ยว ที่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในเร็ววัน ไม่ต้องดีไปกว่าเดิม แต่ให้ดีเท่าเดิมก็น่าจะเพียงพอในระยะสั้น และกลาง ในขณะเดียวกันธุรกิจทางการบิน ไม่ว่าจะสนามบิน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ต้องวางแผนในระยะยาว เพื่อเตรียมรับสู่การปรับตัวเข้าสู่สภาวะ New Normal หรือสภาวะปกติใหม่อีกครั้ง ซึ่งมองกันตอนนี้แล้ว ผมเองยังไม่กล้าประเมินว่ามันจะออกมาในรูปแบบใดเลย

วันนี้ ผมกำลังจะตั้งคำถามว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาส ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กำลังจะดำเนินการอย่างไร เพื่อดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไป ในลักษณะแบบไม่สนใจผู้ประกอบการใด ๆ ในสนามบินเลย แล้วมุ่งเน้นกำไรสูงสุด หรือค่าบริหารของการท่าเป็นหลัก หรือจะดำเนินการแบบไม่ได้มองบรรทัดสุดท้ายของ Balance sheet แต่มีการเยียวยาวผู้ประกอบการในสนามบินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิขของคนไทย ในสนามบิน อันรวมถึง ลูกจ้างต่าง ๆ ให้สามารถก้าวพ้นผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน จนกว่าสนามบินของไทยเราจะกลับมาคึกคักดังเดิม

หมายเหตุ 1 เบา ๆ ณ ตอนนี้ กลางเดือน มิถุนายน ประเทศไทย ยังไม่เปิดน่านฟ้า หมายความว่าทั้งนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่ง Business Traveller ก็ยังคงเดินทางไม่ได้ นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการรายย่อย และเจ้าบ้าน การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ยังคงต้องขาดรายได้หลักส่วนนี้ไป เว้นเสียแต่เที่ยวบินขนส่งสินค้าเท่านั้น

หมายเหตุ 2 : แต่ผมทำการสำรวจจากการพูดคุยคร่าว ๆแล้ว มีเพื่อน พี่น้อง หลายท่านมาก โดยเฉพาะคนยุค Millenium ที่พร้อมจะเดินทางระยะสั้น (เส้นทางการบินประมาณ 3 - 6 ชม) หาก Travel Bubble สำเร็จ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะพูดคุยต่อไป

#AIRPORT

#THAILAND

#NEWNORMAL

#COVID-19

 

เครดิตบทความ:

https://www.facebook.com/101197531492015/posts/147089386902829/

https://www.facebook.com/101197531492015/posts/147090256902742/

21 มิ.ย. 63 เวลา 23:15 305
โพสต์โดย

eikillman


คนดู
กระทู้ล่าสุดของ eikillman