ประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอนที่2

                                                      ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอนจบ

    

       ถามว่า-มี-ไม่มี ไม่มีนี้ คืออะไร? ที่นี้ติดหมด คิดแก้ไม่ไหว
       เชิญชี้ให้ชัด ทั้งอรรถแปล โปรดแก้เถิด
       ที่ว่าเกิดมีต่างๆ ทั้งเหตุผล แล้วดับ ไม่มีชัด ใช่สัตว์คน
       นี่ข้อต้น มีไม่มี อย่างนี้ตรง ข้อปลายไม่มี มีนี้ เป็นธรรม
       ที่ล้ำลึก ใครพบ จบประสงค์ ไม่มีสังสาร มีธรรม ที่มั่นคง
       นั่นแลองค์ธรรมเอก วิเวกจริง
       ธรรมเป็นหนึ่ง ไม่แปรผัน เลิศพบ สงบนิ่ง
       เป็นอารมณ์ของใน ไม่ไหวติง ระงับยิ่ง เงียบสงัด ชัดกับใจ
       ใจก็สร่าง จากเมา หายเร่าร้อน ความอยาก ถอนได้หมด ปลดสงสัย
       เรื่องพัวพัน ขันธ์ห้า ช้าสิ้นไป เครื่องหมุนไป ไตรจักร ก็หักลง
       ความอยาก ใหญ่ยิ่ง ก็ทิ้งหลุด ความรักหยุด หายสนิท สิ้นพิศวง
       ร้อนทั้งปวง ก็หายหมด ดังใจ จง เชิญเถิด ชี้อีกสักอย่าง
       หนทางใจ สมุทัยของจิต ที่ปิดธรรม
       แก้ว่า สมุทัย ยิ่งใหญ่นัก
       ย่อลงคือ ความรักบีบใจ ทำลายขันธ์
       ถ้าธรรมมีกับจิต เป็นนิจนิรันดร์ เป็นเลิศกัน สมุทัย มิได้มี
       จงจำไว้อย่างนี้ วิถีจิต ไม่ต้องคิดเวียนวน จนป่นปี้
       ธรรมไม่มี อยู่เป็นนิจ ติดยินดี ใจจากที่ สมุทัย อาลัยตัว
       ว่าอย่างย่อ ทุกข์กับธรรม ประจำจิต จิตคิด รู้เห็นจริง จึงเย็นทั่ว
       จะสุข ทุกข์เท่าไร มิได้กลัว สร่างจากเครื่องมัว คือสมุทัย ไปที่ดี
       รู้เท่านี้ก็จะคลาย หายความร้อน พอดักผ่อน สืบแสวงหา ทางดี
       จิตรู้ธรรม ลืมจิต ที่ติดธุลี ใจรู้ธรรม ที่เป็นสุข ขันธ์ทุกขันธ์ แน่ประจำใจ
       ธรรมคงเป็นธรรม ขันธ์คงเป็นขันธ์ เท่านั้นแล
       
       คำว่าเย็นสบาย หายเดือดร้อน
       หมายจิตถอนจากผิด ที่ติดแก้
       ส่วนสังขารขันธ์ ปราศจากสุข เป็นทุกข์แท้
       เพราะต้องแก่ ไข้ตาย ไม่วายวัน
       จิตรู้ธรรมที่ล้ำเลิศ จิตก็ถอน จากผิด เครื่องเศร้าหมอง ของแสลง
       ผิดเป็นโทษของใจ อย่างร้ายแรง เห็นธรรมแจ้ง ธรรมผิด หมดพิษใจ
       จิตเห็นธรรม ดีเลิศที่พ้น พบปะธรรม ปลดเปลื้อง เครื่องกระสัน
       มีสติกับตัว บ่พัวพัน เรื่องรักขันธ์หายสิ้น ขาดยินดี
       สิ้นธุลีทั้งปวง หมดห่วงใย ถึงจะคิด ก็ไม่ทันห้าม ตามนิสัย
       เมื่อไม่ห้าม กลับไม่ฟุ้ง ยุ่งไป พึงได้รู้ ว่าบาปมีขึ้น เพราะขืนจริง
       ตอบว่า บาปเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ ถ้าปิดประตู เขลาได้ สบายยิ่ง
       ชั่วทั่งปวง เงียบหาย ไม่ไหวติง ขันธ์ทุกสิ่ง ย่อมทุกข์ ไม่สุขเลย
       
       แต่ก่อน ข้าพเจ้ามืดเขลา เหมือนเข้าถ้ำ
       อยากเห็นธรรม ยึดใจ จะให้เฉย
       ยึดความจำ ว่าเป็นใจ หมายจนเคย เลยเพลินเชยชม จำธรรม มานาน
       ความจำผิด ปิดไว้ ไม่ให้เห็น จึงหลงเล่น ขันธ์ ๕ น่าสงสาร
       ให้ยกตัว ออกตน พ้นประมาณ เที่ยวระราน ติคนอื่น เป็นพื้นใจ
       ไม่ได้ผล เที่ยวดู โทษคนอื่น ขื่นใจ เหมือนก่อไฟ เผาตัว ต้องมัวมอม
       ใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอม
       อย่าให้อกุศล วนมาตอม ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบาย
       เห็นคนอื่นเขาชั่ว ตัวก็ดี เป็นราคียึดขันธ์ ที่มั่นหมาย
       ยึดขันธ์ ต้องร้อนแท้ ก็แก่ตาย เลยซ้ำแท้ กิเลสเข้ากลุ้ม รุมกวน
       เต็มทั้งรัก ทั้งโกรธ โทษประจักษ์ ทั้งหลงนัก หนักจิต คิดโทษหวน
       ทั้งอารมณ์ การห้า ก็มาชวน ยกกระบวนทุกอย่าง ต่างๆ กัน
       เพราะยึดขันธ์ทั้ง ๕ ว่าของตน จึงไม่พ้น ทุกข์ร้าย ไปได้เลย
       ถ้ารู้โทษของตัวแล้ว อย่าช้าเฉย ดูอาการ สังขาร ที่ไม่เที่ยงร่ำไป ให้ใจเคย
       คงได้เชยชมธรรมอันเอก วิเวกจิต ไม่เพียงนั้น หมายใจไหว จากจำ
       เห็นแล้วขำ ดู ดูอยู่ ไหว อารมณ์นอก ดับระงับไปหมด ปรากฏธรรม
       
       เห็นธรรมแล้ว ย่อมหาย วุ่นวายจิต
       จิตนั้นไม่ติดคู่ จริงเท่านี้หมดประตู
       รู้ไม่รู้ อย่างนี้ วิธีจิต รู้เท่าที่ ไม่เที่ยง จิตต้นฟื้น ริเริ่ม
       คงจิตเดิม อย่างเที่ยงแท้ รู้ต้นจิต พ้นจาก ผิดทั้งปวง ไม่ห่วง
       ถ้าออกไป ปลายจิต ผิดทันที
       คำที่ว่า มืดนั้น เพราะจิต คิดหวงดี จิตหวงนี้ ปลายจิต คิดออกไป
       จิตต้นที่ เมื่อธรรมะปรากฏ หมดสงสัย เห็นธรรมอันเกิด เลิศโลกา
       เรื่องจิตค้น วุ่นหามา แต่ก่อน ก็เลิกถอน เปลื้องปลด หมดได้ ไปสิ้น
       ยังมีทุกข์ ต้องหลับนอน กับกิน ไปตามเรื่อง
       ธรรมดาของจิต ต้องคิดนึก พอรู้สึก จิตคุ้น พ้นรำคาญ
       เงียบสงัด จากมาร เครื่องรบกวน
       ธรรมดา สังขารปรากฏ หมดด้วยกัน เสื่อมทั้งนั้น คงไม่มีเลย
       ระวังใจ เมื่อจำ ทำละเอียด มันจะเบียด ให้จิต ไปติดเฉย
       ใจไม่เที่ยงของใจ ซ้ำให้เคย
       เมื่อถึงเฮย หากรู้เอง เพลงของจิต เหมือนดั่งมายา ที่หลอกลวง
       ท่านว่า วิปัสสนูกิเลส จำแลงเพศ เหมือนดังจริง ที่แท้ ไม่ใช่จริง
       รู้ขึ้นเอง นามว่า ความเห็น
       ไม่ใช่เข่น ฟังเข้าใจ ชั้นไต่ถาม
       ทั้งไตร่ตรอง แยกแยะ และ รูปนาม ก็ใช่ ความเห็นต้อง จงเล็งดู
       จิตตน พ้นรำคาญ ต้นจิต รู้ตัว ว่าสังขาร
       เรื่องแปรปรวน ใช่ขบวนไป
       ดู หรือ รู้จริง อะไรรู้อยู่ เพราะหมายคู่ ก็ไม่ใช่
       จิตคงรู้จิตเอง เพราะเพลงไหว จิตรู้ไหว ไหวก็จิต คิดกันไป
       แยกไม่ได้ตามจริง สิ่งเดียวกัน
       จิตเป็นของอาการ เรียกว่า สัญญา พาพัวพัน
       ไม่เที่ยงนั้น ก็ตัวเอง ไปเล็งใคร ใจรู้เสื่อมรส หมดสงสัย ขาดต้นคว้า หาเรื่อง เครื่องนอกใน
       เรื่องจิตอยาก ก็หยุด ให้หายหิว พ้นหนักใจทั้งหลาย หายอิดโรย
       เหมือนฝนโปรย ใจก็เย็น ด้วยเห็นใจ ใจเย็นเพราะ ไม่ต้อง เที่ยวมองคน
       รู้จิต คิดปัจจุบัน พ้นหวั่นไหว ดีหรือชั่ว ทั้งปวง ไม่ห่วงใย
       เพราะดับไปทั้งเรื่อง เครื่องรุงรัง
       อยู่เงียบๆ ต้นจิต ไม่คิดอ่าน ตามแต่การของจิต สิ้นคิดหวัง
       ไม่ต้องวุ่น ไม่ต้องวาย หายระวัง นอนหรือนั่ง นึกพ้น อยู่ต้นจิต
       ท่านชี้มรรค ทั้งหลักแหลม ช่างต่อแต้ม กว้งขวาง สว่างใส
       ยังอีกอย่าง ทางใจ ไม่หลุดสมุทัย
       ขอจงโปรด ให้ชี้พิศดาร เป็นการดี
       
       ตอบว่าสมุทัย คืออาลัยรัก เพลินยิ่งนัก ทำภพใหม่ ไม่หน่ายหนี
       ว่าอย่างต่ำ กามคุณห้า เป็นราคี อย่างสูงชี้ สมุทัย อาลัยฌาน
       ถ้าจะจับ ตามวิธี มีในจิต ก็เรื่องคิด เพลินไป ในสังขาร
       เคยทั้งปวง เพลินมา เสียช้านาน กลับเป็นการดีไป ให้เจริญจิต
       ไปในส่วนที่ผิด ก็เลยแตกกิ่งก้าน ฟุ้งซ่านใหญ่
       เที่ยวเพลินไป ในผิด ไม่คิดเขิน สิ่งใดชอบอารมณ์ ก็ชมเพลิน
       เพลินจนเกิน ลืมตัว ไม่กลัวภัย เพลินดูโทษคนอื่น ดื่นด้วยชั่ว
       โทษของตัว ไม่เห็น เป็นไฉน
       โทษคนอื่น เขามาก สักเท่าไร ไม่ทำให้เรา ตกนรก เสียเลย
       โทษของเรา เศร้าหมอง ไม่ต้องมาก ลงวิบาก ไปตกนรก แสนสาหัส
       หมั่นดูโทษตนไว้ ให้ใจเคย
       เว้นเสียซึ่งโทษนั้น คงได้เชิญชมสุข พ้นทุกข์ภัย
       เมื่อเห็นโทษตนชัด พึงตัดทิ้ง ทำอ้อยอิ่ง คิดมาก จากไม่ได้
       เรื่องอยากดี ไม่หยุด คือ สมุทัย เป็นโทษใหญ่ กลัวจะไม่ดี นี้ก็แรง
       ดีไม่ดี นี้เป็นผิด ของจิตนัก เหมือนไข้หนัก ถูกต้อง ของแสลง
       กำเริบโรค ด้วยพิษ ผิดสำแดง ธรรมไม่แจ้ง เพราะอยากดี นี้เป็นเดิม
       ความอยากดี มีมาก มักลากจิต ให้เที่ยวคิด วุ่นไป จนใจเหิม
       สรรพชั่ว มัวหมอง ก็ต้องเติม ผิดยิ่งเพิ่ม ร่ำไป ไกลจากธรรม
       ที่จริงชี้ สมุทัย นี้ ใจฉันคร้าม ฟังเนื้อความไปข้างฟุ้ง ทางยุ่งยิ่ง
       เมื่อชี้มรรค ฟังใจ ไม่ไหวติง ระงับนิ่ง ใจสงบ จบกันที
       อันนี้ เชื่อว่า ขันธะวิมุติสมังคีธรรม
       ประจำอยู่กับที่ ไม่มีอาการไป ไม่มีอาการมา
       สภาวธรรมที่เป็นจริง สิ่งเดียวเท่านั้น และไม่มีเรื่อง จะแวะะเวียน
       สิ้นเนื้อความ แต่เพียงเท่านี้
       ผิดหรือถูก จงใช้ปัญญาตรองดู ให้รู้เถิด
       
       พระภูริทัตโต (มั่น) วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง

 

ปัจฉิมบท
       
       ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่น มาอยู่ที่จังหวัดสกลนครเปลี่ยนอิริยาบทไปตามสถานที่วิเวก ผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบัน เป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้างครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึง ปีสุดท้ายของชีวิต
       
       ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมากได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์ เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ให้ชื่อว่า “มุตโตทัย”ครั้นมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเรื่มอาพาธเป็นไข้ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น
       
       ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและศิษยานุศิษย์ ก็มาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธ มีแต่ทรงกับทรุด โดยลำดับ
       
       ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่ วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนครโดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัด เวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น.ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา
       
       การบำเพ็ญประโยชน์ ของท่านหลวงปู่ ประมวลในหลัก ๒ ประการ ดังนี้
       
       ๑.ประโยชน์ชาติ ท่านหลวงปู่ ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมือง ของทุกชาติ ในทุกๆ ถิ่น ที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัดไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครองของประเทศทำให้พลเมืองของชาติ ผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดีมีสัมมาอาชีพง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ตามควรแก่สมณวิสัย
       ๒.ประโยชน์ศาสนา ท่านหลวงปู่ ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ ด้วยความเชื่อ และความเลื่อมใสจริงๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษา และปฏิบัติธรรมวินัย ด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริงๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม
       
       ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ ได้นำหมู่คณะ ฟื้นฟูปฏิบัติพระธรรมวินัยได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ และ พระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจ ตามหลักการสมถวิปัสสนาอันเป็นสมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนไว้ว่า เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว อดทนไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไร ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตามคงมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัด ในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด ของภาคอีสาน และแถบบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย
       
       นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้วท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้นๆ ด้วยผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวไว้ด้วยความภุมิใจว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา
       
       ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านหลวงปู่ ได้รับพระกรุณาจากพระสังฆราชเจ้า ในฐานะเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุตติกา ให้เป็นพระอุปัชฌายะ ในคณะธรรมยุตติกา ตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่และได้รับตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของ เจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์)ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อย ตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้นโดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย
       
       งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่า ท่านได้ทำเต็มสติกำลังยังศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมานับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษษที่ ๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านอาจกล่าวได้ ด้วยความภูมิใจว่า ท่านเป็นพระเถระ ที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุด ในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่ง ในยุคปัจจุบัน

 

หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมีผู้เคารพนับถือมาก หลวงปู่มีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนทั้งประเทศ อาทิ[ต้องการอ้างอิง]

พระสิงห์ ขันตยาขโม พระมหาปิ่น ปัญญาพโล พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์(เทสก์ เทสรังสี) หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกองเพล  จ.หนองบัวลำภู) พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร หลวงพ่อพรหม จิรปุญโญ หลวงพ่อลี ธัมมธโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงพ่อหลุย จันทสาโร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อลจธมโม พระสมชาย ฐิตวิริโย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน) พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) เป็นต้น

หลวงปู่มั่นได้รับ การเรียกขานจากบรรดาศิษย์ว่า "พระอาจารย์ใหญ่" เป็นผู้มีประวัติงดงาม เป็นฐานที่พึ่งอันมั่นคงตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาในเพศบรรพชิต ได้ปฏิบัติตนจนกระทั่งเป็น แบบอย่างที่ดี อันจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง

พระปู่มั่นมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 80 ปี 56 พรรษา

คำสอน

ธรรมชาติของดีทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม ก็เกิดขึ้นมาจาก โคลนตม อันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียด

แต่ว่า ดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งสะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ เสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีก

-ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ -

ได้สมบัติทั้งปวงไม่เท่าได้ตน เพราะตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่ง สมบัติทั้งปวง

— หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ขอเสริมนิด จริงๆ อยากจะบอกว่า  สาเหตุที่นำพระประวัติ และประวัติ ของท่านทั้งหลายมาลงนั้น

ไม่ได้คิดจะ เป็น ผู้รู้ หรือ บางคนอาจจะคิดว่า ทำไมไม่ทำเว็บไซด์ ด้านพระ ไปเลย

จริงๆเราก็ยังไม่ได้ตัดกิเลส เป็นผู้รู้แจ้งใดๆทั้งนั้น เพียงแต่ บางครั้ง คนเรา จะมี จิตฟุ้งซ่าน

และ อารมณ์หลากหลาย ทั้ง เสียใจ ดีใจ โกรธแค้น หรือ หาทางออกของปัญหาไม่เจอ

แล้วยังเรื่องอีก108 (เนอะ)

การอ่าน บทความดีๆ อันไหน ที่พอจะนำไปใช้ ในชีวิตประจำวันได้ มันก็คือทางออกทางหนึ่ง

แล้ว กับ ตัวผู้นำเสนอเอง เจอปัญหา มากมายผ่านเข้ามา เรียกว่า รายวันเลย

เกิดการเครียด เลยมา นั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ และ ทำใจ เดินสายกลาง (แอบเอียงนิดๆ)

พอดีกับทางบ้าน คุณพ่อจะสวดมนต์  และ คุณพ่อจะมี วัตถุมงคลของท่านทั้งหลายที่นำมาลง

อยู่ ที่บ้าน จะ นับถือ หลายท่าน   และคุณพ่อ จะมีเซนต์ ทางนี้เยอะ (อันนี้ ไม่ได้โน้มน้าว)

บางครั้งเจอ ความหัศจรรย์ บางอย่าง และ การ สวดมนต์นั่งสมาธิ ประโยนช์ คือ คลายทุกข์

รู้จักผ่อนคลาย เหมือนโยคะ  แต่ มันจะ ดีนิดนึง คือ ปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ ก็ทำให้บางอย่าง

แก้ได้ ที่สำคัญ อันนี้ ดีมาก จะเป็นคนใจเย็น หนักแน่น และ โกรธ ยาก  หรือถ้าโกรธ แป๊ปนึง

ก็หายไป  คนบวช แล้วก็โกรธได้ แต่จะหายเร็วกว่าคนทั่วๆไป(คนไม่ได้ ถือศีล ฝึกนั่งสมาธิ)

ทุกศาสนา สอนให้เป็นคนดี  อยู่ที่คนนำไปใช้ ไปปฏิบัติ  ทำดี คิดดี สิ่งดีๆ จะเข้ามาหาเราเอง

ขอขอบคุณเพื่อนๆทุกท่าน ที่เข้ามาอ่าน สกู๊ป ของผู้นำเสนอ  มีความสุขทุกท่านนะค่ะ :)

#นานาสาระ
sekimi
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
12 ม.ค. 53 เวลา 15:40 3,091 4 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...