อัศจรรย์‘ธนาคารขยะ’ ชุมชนสะอาด!!

          อัศจรรย์‘ธนาคารขยะ’ ชุมชนสะอาด!!

 

 

เรียนรู้การจัดการปัญหาขยะในชุมชนกับ “ธนาคารวัสดุรีไซเคิลชุมชนบ้านวังฆ้อง” ความสำเร็จจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนเพื่อจัดการปัญหาขยะอย่างได้ผล

ใครที่มีโอกาสเดินทางไปยัง“บ้านวังฆ้อง” ชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดน่าน ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายน่าน-พะเยา ไม่ต้องแปลกใจถ้ามองไปในหมู่บ้านแล้วไม่มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาด เพราะที่นี่เป็นชุมชนที่มีการตั้ง “ธนาคารวัสดุรีไซเคิล” ทำให้ชาวบ้านมองขยะเป็นสิ่งมีค่าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้

ชุมชนเล็กๆ ที่มีเพียง 94 หลังคาเรือนแห่งนี้ สามารถจัดการปัญหาขยะด้วยความร่วมมือจากคนในชุมชน โดยอาศัยกระบวนการครอบครัวเข้มแข็ง เริ่มจัดการปัญหาขยะด้วยการสร้างมติชุมชนให้ทุกครัวเรือนแยกขยะ ขยะเปียกให้นำไปทำปุ๋ยหมักหรือทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ขยะอันตรายให้แยกทิ้งในที่ที่จัดเตรียมไว้ ส่วนขยะที่ขายได้ก็นำไปขายที่ตลาดนัดขยะ ซึ่งจะให้ผู้รับซื้อของเก่าเข้ามารับซื้อขยะจากชาวบ้าน รวมถึงลดการใช้ถุงพลาสติกในครัวเรือนและในกิจกรรมชุมชน

แต่การดำเนินกิจกรรมของชุมชนก็เกิดอุปสรรค เพราะวัสดุบางประเภทขายไม่ได้ หรือบางชนิดต้องขายโดยไม่ได้กำไร ด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ตลาดนัดขยะชุมชนวังฆ้องจึงพัฒนามาเป็นโครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลเช่นในปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านในชุมชนต่างร่วมมือกันดำเนินโครงการ มีการแยกขยะก่อนทิ้งและนำวัสดุรีไซเคิลมาฝากธนาคาร นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน ยังช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลในการชำระค่ากำจัดขยะอีกด้วย

ธนาคารขยะของชุมชนวังฆ้อง เป็นเพิงขนาดย่อมหลังคามุงสังกะสี ตั้งอยู่ริมถนนในหมู่บ้าน ทุกวันเสาร์แรกของเดือนจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะเปิดดำเนินกิจกรรมในธนาคาร โดยคณะกรรมการธนาคารวัสดุรีไซเคิลเป็นคนในชุมชน ทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ผลกำไรของธนาคารวัสดุรีไซเคิลจะนำไปใช้ในกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น สนับสนุนกิจกรรมกีฬา สนับสนุนกลุ่มแม่บ้านและกิจกรรมของเยาวชนในท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ชาวบ้านยังรวมกลุ่มกันนำของที่ไม่ใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงานเพื่อสร้างรายได้ อาทิ โมบายจากฝาขวดน้ำดื่ม แจกันขวดน้ำอัดลม ดอกไม้จากกระดาษห่อผลไม้ ดอกไม้จันจากกระดาษเหลือใช้ บายศรีกล่องนม หมวกกล่องนม พานจากลังกระดาษอีกด้วย

สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านวังฆ้องและจังหวัดน่านคือ ในปี 2553 ชุมชนวังฆ้องได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล 400 ชุมชน รางวัลชนะเลิศระดับประเทศประเภทชุมชนเครือข่าย โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นอกจากการจัดการปัญหาขยะในชุมชนวังฆ้องแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดน่านยังร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาและสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดโครงการถวายความรู้ให้พระภิกษุเรื่องการจัดการวัสดุรีไซเคิลร่วมกับชุมชนและเทศบาลเมืองน่าน โดยมุ่งให้พระภิกษุเป็นผู้สนับสนุนการจัดการขยะในท้องถิ่นผ่านการเทศนา เพื่อส่งเสริมให้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางความรู้เรื่องการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลแก่หน่วยงานในท้องถิ่นอีกด้วย

 

 

 

19 ส.ค. 54 เวลา 16:03 11,985 4 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...