กบฎแมนฮัตตัน… กบฎไทยชื่อฝรั่งที่มันส์กว่าหนังฮอลลีวู้ด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 หรือประมาณ 64 ปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองหมุนเวียนไปจนใครหลายคนแทบจะลืมเลือนแล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นนี้อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเหตุการณ์ กบฎแมนฮัตตัน และคงสงสัยว่า ทำไมกบฎในไทยแต่ชื่อฝรั่งจัง? แล้วเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้น

วันนี้ MThai จะพาย้อนกลับไปเหตุการณ์วันนั้น วันที่การเมืองไทยลุ้นระทึกซะจนไม่ติดเก้าอี้ หลายคนยกให้เหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ที่อ่านมันส์ที่สุดถึงขั้นเอาไปสร้างหนังฮอลลีวู้ดได้เลย

กบฎแมนฮัตตัน เป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มนายทหารเรือ ที่เรียกตัวเองว่า คณะกู้ชาติ จี้ตัว จอมพล ป.พิบูลสงครามระหว่างพิธีรับมอบเรือแมนฮัตตัน จากสหรัฐอเมริกา โดยการก่อการประสบความล้มเหลวทำให้ถูกตีตราว่าเป็น ‘กบฎ’ ซึ่งสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารมาจากความไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2

สาเหตุที่2คือ การที่กองทัพเรือไม่ได้รับความไว้วางใจหลังจากที่เกิดเหตุการณ์กบฎวังหลวงและถูกรัฐบาลจอมพล ป. มองว่า กองทัพเรืออยู่ข้างนายปรีดี พนมยงค์ ขั้วตรงข้ามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกอบกับในช่วงนั้นมีการปรับปรุงกรมตำรวจให้มีลักษณะคล้ายกองทัพ ซึ่งระหว่างกรมตำรวจกับกองทัพเรือในเวลานั้นมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ

1วันก่อนลงมือแผนการแมนฮัตตัน

คณะผู้ก่อการได้วางแผนลงมือรัฐประหารมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่สบโอกาส เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก จนกระทั่งผู้ร่วมก่อการหลายคนเชื่อว่า แผนแมนฮัตตันจะถูกเลื่อนไปอีก จึงไม่ได้เตรียมการให้พร้อม ซึ่งสาเหตุที่เลือกวัน จี้ตัว จอมพลป.ในวันนั้นเพราะว่า เป็นวันหยุดของทหาร ซึ่งส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับบ้านนอก ทำให้เหลือทหารในพระนครน้อยและคาดว่าจะเรียกทหารเหล่านั้นกลับมาประจำการไม่ทันเพราะความรวดเร็วการสื่อสารไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้ นอกจากนี้ สถานที่ลงมือเป็นพื้นที่ของทหารเรือด้วย

29 มิ.ย. 2494 นาทีระทึก!

เวลา 15.00 น. 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 จอมพลป. พิบูลสงคราม มาเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือแมนฮัตตันที่ท่าราชวรดิฐ โดยผู้แทนฝ่ายอเมริกันได้พูดกล่าวมอบ เสร็จแล้วจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบทางเรือลดธงชาติอเมริกันลงจากเสา และชักธงชาติไทยขึ้น จากนั้นได้มีการเชิญนายกรัฐมนตรีก็ขึ้นไปชมเรือ แผนการจึงเริ่มต้นขึ้น

น.ต.มนัส จารุภา ผู้ก่อการได้ออกคำสั่ง “หมู่รบตามข้าพเจ้าวิ่ง” นำทหารเรือวิ่งไปปิดสะพานบันไดขึ้นเรือห้ามมิให้ผู้ใดผ่าน ถ้าฝ่าฝืนจะยิงทันที น.ต.มนัสเข้าจี้ตัวจอมพลป.พิบูลสงคราม พร้อมประกาศว่า “เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวข้องถอยออกไป ขอเชิญท่านจอมพลทางนี้”

จากนั้นได้พาตัวจอมพลป.พิบูลสงคราม ลงเรือที่เตรียมไว้แล้วพาตัวไปคุมขังที่เรือหลวงศรีอยุธยา โดย น.ต.มนัส จารุภา ได้เปิดเผยบทสนทนาช่วงเวลาที่จี้ประชิดตัว จอมพลป. ในหนังสือชื่อ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล โดยจอมพล ป.ได้ถามข้อสงสัยต่างๆ ดังนี้

จอมพลป. :”ในการการกระทำครั้งนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยหรือเปล่า”

น.ต.มนัส : “ไม่มี”

จอมพลป. :”แล้วหลวงประดิษฐ์ (นายปรีดี พนมยงค์) ร่วมด้วยหรือเปล่า”

น.ต.มนัส : “ไม่ได้ร่วม”

จอมพลป.: “ได้ซับซิดี้ (เงินสนับสนุน) จากใคร”

น.ต.มนัส  :”พวกที่ทำงานครั้งนี้เป็นพวกคนหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ไม่เคยได้รับเงินทองอุดหนุนจากบุคคลหรือคณะใด ๆ มีแต่เงินเดือนของตัวเอง แม้แต่ตัวของผมเองก็มีเงินติดกระเป๋าอยู่ในขณะนี้เพียงพันสองร้อยบาทเท่านั้น”

ท่านจอมพลป.พิบูลสงครามฟังแล้วก็นิ่งอยู่ขณะหนึ่ง แล้วก็พูดว่า “เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้วก็ให้โล่งใจมาก” ถามต่อไปใหม่ว่า “เหตุใดพวกคุณถึงคิดทำการเช่นนี้ขึ้น”

น.ต.มนัส :”ที่พวกผมทำขึ้นก็เพราะว่า รัฐบาลคณะนี้มีความเหลวแหลกมากมาย รัฐมนตรีในคณะหลายคนทำความชั่วร้าย ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของราษฎรส่วนรวม ตลอดทั้งบุคคลหลายคนในคณะรัฐประหารก็ได้ใช้อภิสิทธิ์แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าพรรคพวกตนเองเช่นเดียวกัน”

จอมพลป.: “แล้วพวกคุณทราบได้อย่างไร มีหลักฐานอย่างไร”

น.ต.มนัส :”พวกผมทราบจากท่านผู้ใหญ่ในวงราชการ จากบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง และจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของประชาชน”

จอมพลป.:”การที่จะไปเชื่อข่าวอย่างนั้นดูจะไม่แน่นอน โดยเฉพาะพวกหนังสือพิมพ์ ถ้ามีจริงก็ควรจะได้จัดการกันตามกฏหมาย”

ระดมแผนแย่งตัวประกัน

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกคุมตัวอยู่ในเรือ หัวหน้าคณะผู้ก่อการคือ  น.อ.อานนท์ ปุณฑริกกาภา ร.น. ได้ให้จอมพล ป. ออกกระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ขึ้นเป็นนายกฯแทน แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมทำตามจึงได้ตอบวิทยุกระจายเสียงกลับไปและตั้งนายวรการ บัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นรักษาการนายกฯ แทน

กองบัญชาการเฉพาะกิจถูกจัดตั้งอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายถูกเรียกเข้าประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อวางแผนชิงตัวจอมพล ป. กลับคืนมา ในระหว่างนั้นเองบนฝั่ง น.อ.อานนท์ ก็ได้ระดมกำลังตั้งรับในบริเวณพื้นที่ของกองเรือรบที่ท่าราชวรดิษฐ์ และบริเวณท่าช้างวังหลวง โดยมีกำลังทหารเรือส่วนหนึ่งที่ได้จู่โจมเข้าทำการยึดโรงไฟฟ้า และโทรศัพท์กลางวัดเลียบ แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นต่อรัฐบาลแต่อย่างใด เมื่อกองกำลังหลักของคณะกู้ชาติไม่สามารถมาสนับสนุนได้ต่อมา โรงไฟฟ้า และโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ถูกกำลังตำรวจรถถังยึดคืนไปได้ มีการยิงรบสู้กัน

ยิ่งไปกว่านั้นจุดที่ทำให้แผนของผู้ก่อการรัฐประหารกลายเป็นที่เพลี่ยงพล้ำมาจาก เรือรบหลวงอยุธยาไม่สามารถแล่นผ่านสะพานพุทธได้ เนื่องจากสะพานไม่เปิดตามแผนที่ได้วางเอาไว้ ต่อมาเครื่องยนต์เสียจากการถูกโจมตีอย่างหนัก

ทางฝ่ายรัฐบาลกำลังหารือว่าจะทำอย่างไรดี พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก รวมถึง พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 กลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการชิงตัวจอมพลป.คืน ในขณะที่ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เข้ามาขอพบฝ่ายรัฐบาลเพื่อยืนยันว่า ทหารเรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และผู้ก่อการเป็นเพียงทหารเรือส่วนน้อยเท่านั้น โดยฝ่ายรัฐบาลมีแนวคิดจะให้ทหารเรือแอบขึ้นเรือรบหลวงศรีอยุธยาในยามวิกาลเพื่อชิงตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาก่อนเวลา 05.00น.ของวันรุ่งขึ้น  แต่แผนนี้ก็ถูกพับลงเพราะเกรงว่าจอมพลป.อาจจะโดนลูกหลง

เริ่มแผนชิงตัว ระเบิดจากฟ้าลงสู่เจ้าพระยา!

เหตุการณ์ผ่านไปข้ามวัน จนกระทั่งเวลา 15.00น. การเผด็จศึกของฝ่ายรัฐบาลจึงเริ่มขึ้น  จอมพล ฟื้น ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งให้เครื่องบิน ทิ้งระเบิดบอมบ์ใส่ ร.ล.ศรีอยุธยา ทั่วพื้นน้ำเจ้าพระยาสนั่นหวั่นไหว แม้ว่าจะเป็นวิธีที่เสี่ยงที่จอมพลป.จะได้รับอันตราย แต่ระเบิดลูกนั้นก็ทำให้เรือค่อยๆเอียงและจมลง ทหารบนเรือกระโดดสละเรือหลวงว่ายเข้าหาฝั่ง ทหารเรือคนหนึ่งนำเสื้อชูชีพสวมให้จอมพลป.ก่อนที่จะพาว่ายน้ำมาขึ้นฝั่ง

มีภาพฉากหลังควันไฟสีดำพวยพุ่งเป็นเรือรบหลวงศรีอยุธยาค่อยๆจมลงช้าๆ ท้ายที่สุดฝ่ายผู้ก่อการและรัฐบาลเปิดการเจรจากัน ฝ่ายกบฏได้ปล่อยตัวจอมพล ป.ในเวลา 23.00น.เป็นอันจบคืนวันอันระทึกของจอมพลป.พิบูลสงคราม

[การเลือกวิธีทิ้งระเบิดนี้ถึงกับมีข่าวลือมาว่าเป็นคำสั่งจากฝ่ายรัฐบาลที่เชื่อว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม เพิ่งปรึกษาหมอดูมาและหมอดูบอกว่าดวงยังไม่ถึงฆาต รวมถึงก่อนหน้านี้จอมพลป.รอดจากการลอบสังหารมาหลายครั้ง หลายคนเลยคิดว่า ท่านผู้นำคงมีของดีแน่ๆ]

ปิดฉากกบฎแมนฮัตตัน

ผู้ต้องหาร่วมหนึ่งพันคนถูกจับไปรวมกันไว้ที่สนามศุภชลาศัย แต่เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอจึงมีการส่งฟ้องแค่100คนและได้รับนิรโทษกรรมในปี 2500 ส่วนน.อ.อานนท์ และน.ต.มนัส ต้องลี้ภัยไปย่างกุ้งประเทศพม่า ก่อนที่น.ต.มนัสจะกลับเข้ามาในประเทศไทยปี 2495และถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด

“….ทันทีที่เท้าข้างหนึ่งจุ่มลงไปในแม่น้ำแม่สาย ข้าพเจ้าก็บอกกับตัวเองว่า พอกันทีอย่ามาตามจับตัวกันเสียให้ยากเลย ข้าพเจ้าลุยน้ำตามหลัง น.อ.อานนท์ น้ำในแม่น้ำแม่สายมีระดับเพียงเอว แต่กระแสก็ไหลแรงพอดู ปะทะตัวให้โอนเอนไปมา บางครั้งก็ลื่นถลำไปบนกองหินใต้น้ำ ทำให้จมลงไปถึงแค่คาง สุดท้ายก็ก้าวขึ้นฝั่งตลาดขี้เหล็กดินแดนของสหภาพพม่า ซึ่งมีอธิปไตยของตนเองโดยสมบูรณ์ บัดนี้ เป็นอันว่าเราได้รับสิทธิคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยทางการเมืองแล้ว เราเชื่อว่า ต่อแต่นี้ไปเงื้อมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่สามารถจะมาเหนี่ยวรั้งเอาตัวพวกเราไปได้โดยเด็ดขาด ลาก่อน ประเทศไทยที่รัก จนกว่าจะกลับมาอีก….” น.ต.มนัส เขียนในหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล

หลังจากเหตุการณ์นี้ กองทัพเรือได้ถูกลดบทบาทความสำคัญลงมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการก่อรัฐประหาร2ครั้งติดต่อกันตั้งแต่กบฎวังหลวง มีการยุบกรม กอง โยกย้ายและลงโทษทหารเรือระดับสูงจำนวนมากแม้ไม่มีความผิดกับเรื่องนี้และหลังจากนั้นกองทัพเรือก็ไม่เคยนำทำรัฐประหารอีกเลย

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...