ฮวน คาร์ลอส อดีตกษัตริย์สเปนนักประชาธิปไตยจอมปลอมผู้หลอกลวงประชาชน

‘ในเวลานี้ แทบทุกสื่อต่างลงข่าวการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างแดนของอดีตกษัตริย์แห่งสเปน ฮวน คาร์ลอส

หลังถูกตรวจสอบหนักกรณีการทุจริตทางการเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์

ที่อดีตกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียจ่ายให้แก่เขาผ่านกองทุนต่างชาติ

อาจเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่บริษัทสเปนได้สัมปทานก่อสร้าง’

พาดหัวข่าวดังกล่าวคือข้อความที่หลายคนอาจเห็นผ่านตาในช่วงนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรวมถึงสื่อไทยต่างพากันลงข่าวคดีทุจริตของอดีตกษัตริย์สเปนผู้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1975 โดยใช้พระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 (Juan Carlos I) ตลอด 39 ปีที่เป็นกษัตริย์ พระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวสเปน เนื่องจากมีบทบาทช่วยเหลือให้สเปนก้าวสู่ประเทศประชาธิปไตยเต็มใบหลังถูกรัฐบาลเผด็จการทหารปกครองมาอย่างยาวนาน

 

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนช่วยเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 บางคนมองว่าอาจไม่ได้เป็นเพราะพระองค์ต้องการให้ประเทศมีสิทธิเสรีภาพจริง ๆ ดั่งที่หลายคนเข้าใจ นักวิชาการชาวสเปนได้เสนอมุมมองน่าสนใจว่า กษัตริย์ผู้เพิ่งขึ้นครองราชย์ไปหมาด ๆ รู้ดีว่าคงไม่สามารถใช้ระบบเผด็จการแบบที่ นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เคยทำได้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะหลังสงคราม หลายดินแดนเริ่มปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ เรียกร้องเอกราชเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตย หากกษัตริย์สเปนจะสวนทางชาวโลกหันมาปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จคงจะดูไม่ดี ซ้ำยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับประชาชน จึงทำให้พระองค์เลือกเส้นทางของประชาธิปไตยด้วยการเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

อีกกรณีน่าสนใจคือเหตุการณ์พยายามทำรัฐประหารปี 1981 ที่รู้จักกันในชื่อ เอลเตเคราโซ (El Tejerazo) โดยกลุ่มทหารอนุรักษนิยมนำกำลังพลกว่า 200 นาย บุกสภาช่วงการเลือกตั้งกำลังเข้มข้น จับคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในสภาเป็นตัวประกัน กลุ่มทหารอ้างว่าพวกเขาได้รับความเห็นชอบจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ให้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดเก่า เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประกอบกับความวุ่นวายและการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ระหว่างกำลังอยู่ในกระบวนการยึดอำนาจ สถานการณ์ของประเทศตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียด สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ออกแถลงการณ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า พระองค์มิได้เห็นชอบกับการพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้ พร้อมกับย้ำหนักแน่นว่าพระองค์เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การออกตัวของกษัตริย์ส่งผลให้นายทหารต้องพบกับความพ่ายแพ้ พวกเขาถูกจับส่วนแกนนำถูกตัดสินจำคุกนาน 30 ปี (ภายหลังถูกลดโทษปล่อยตัวก่อนกำหนด)

 

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 1981 ทำให้ความนิยมของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 พุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของชายผู้ยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ซ้ำยังยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พยายามผลักดันสเปนให้เป็นประเทศประชาธิปไตยเบ่งบาน ทว่าพอมีคนชอบก็ต้องมีคนสงสัยใคร่หวาดระแวงว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงฉากหน้าที่ราชวงศ์อยากให้เห็นเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่พระองค์ครองราชย์ยังคงมีการใช้กฎหมายมาตรา 440 ที่ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์กับประชาชนอยู่เลย จึงทำให้ชาวสเปนบางคนไม่ปักใจเชื่อกับสิ่งที่เห็น เพราะถ้าหากอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง แล้วทำไมถึงมีกฎหมายเฉพาะที่จับคนเข้าคุกเพราะต่อว่ากษัตริย์

ไม่ใช่แค่มาตรา 440 เท่านั้น กรณีข่าวฉาวการใช้เส้นสายของสมาชิกราชวงศ์เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และการเลี่ยงภาษีของสามีของเจ้าหญิงคริสตินา (Infanta Cristina of Spain) พระธิดาคนเล็กของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ก็บานปลายจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งเจ้าหญิงต้องจ่ายค่าปรับราว 10 ล้านบาท ส่วนสามีติดคุก 6 ปี ประกอบกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่สมาชิกราชวงศ์ได้ใช้ระหว่างเสด็จไปเยือนต่างประเทศ ทั้งหมดเริ่มสร้างความขุ่นเคืองใจให้ประชาชน โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ จนในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา เริ่มเกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยกเลิกมาตรา 440 และให้ประชาชนสามารถตรวจสอบทรัพย์สินของสมาชิกราชวงศ์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

นอกจากข่าวฉ้อโกง การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย การใช้เส้นสายราชวงศ์ในการทำธุรกิจของลูกหลาน ตัวของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ก็เต็มไปด้วยข่าวฉาวเช่นกัน ในปี 2012 พระองค์ประสบอุบัติเหตุขณะล่าสัตว์จนทำให้เรื่องแดงออกมาว่าพระองค์เสด็จไปล่าช้างในแอฟริกา (โดยทริปนี้เป็นทริปที่ต้องการไม่เปิดเผยให้ประชาชนทราบตั้งแต่แรก) ซึ่งทริปดังกล่าวใช้เงินไปเกือบ 2 ล้านบาท ทั้งที่พระองค์เป็นประธานกิตติมศักดิ์เกี่ยวกับกองทุนเพื่อสัตว์ป่าของสเปน

ซ้ำร้ายในช่วงที่ไปล่าสัตว์ ยังมีชาวสเปนจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้คนตกงาน มีอัตราฆ่าตัวตายที่น่าเป็นห่วง การไปออกทริปของพระองค์ส่งผลให้ชาวสเปนบางส่วนมองว่าพระองค์เพิกเฉย ซ้ำยังใช้ภาษีประชาชนไปกับเรื่องไร้สาระ จนเกิดการล่ารายชื่อผู้คนที่ต้องการให้กษัตริย์สเปนสละราชสมบัติ

เมื่อเกิดการวิจารณ์หนัก สำนักพระราชวังจึงต้องออกมาแถลงการณ์ว่า เงินที่กษัตริย์สเปนใช้ในทริปล่าช้างไม่ใช่เงินของประชาชน แต่เป็นเงินของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียคนหนึ่งที่เสนอตัวออกให้ทั้งหมดต่างหาก ทว่าประเด็นเรื่องเงินกลับกลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว เพราะสื่อตีข่าวว่าในทริปนั้นมีหญิงสาวชาวเยอรมันคนหนึ่งไปร่วมทริปด้วย โดยเธอคนนี้คือแม่หม้ายลูกติดผู้เป็นชู้รักของกษัตริย์สเปน ข่าวดังกล่าวส่งผลให้หลายคนประณามกษัตริย์สเปนว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระราชินีโซเฟีย พอเรื่องราวการล่าช้างและชู้รักแดงออกมา พระองค์ถูกสื่อตามติดแจจนต้องออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเรื่องที่เกิดขึ้น

“เราทำผิดพลาดไปแล้ว และเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”

– สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 แห่งสเปน

ผลของทริปล่าช้างและข่าวฉาวส่งให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ถูกปลดออกจากการเป็นประธานกิตติมศักดิ์เกี่ยวกับกองทุนเพื่อสัตว์ป่าของสเปน ในที่สุดพระองค์ตัดสินใจสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส แต่งตั้ง สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 (Filipe VI) เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ในเดือนมิถุนายน 2014 อดีตกษัตริย์กลับมาใช้ชื่อเป็น ‘ฮวน คาร์ลอส’ ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเสียงของประชาชน พยายามรัดเข็มขัดราชวงศ์มากขึ้นท่ามกลางการเมืองร้อนแรง แต่ยังมิวายมีข่าวลือว่าพระองค์ก็สุรุ่ยสุร่ายไม่น้อยไปกว่ากษัตริย์องค์เก่าเท่าไรนัก ส่วนตัวของอดีตกษัตริย์ยังคงทำงานด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างแดนด้วยการเสด็จเยือนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง

 


สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 และ สมเด็จพระราชินีโซเฟีย

ทุกอย่างดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทาง ราชวงศ์สเปนกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่สื่อกลับขุดคุ้ยเงินต้องสงสัยของอดีตกษัตริย์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ในปี 2018 มีการตั้งคำถามถึงเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3 พันล้านบาท ที่อดีตกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียผู้ล่วงลับพระราชทานเงินกับกองทุนในปานามาที่ปิดตัวลงในปี 2012 และพอกองทุนปิดตัว เงินก้อนใหญ่ก็ถูกโอนไปยังบัญชีในธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ของสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 ซึ่งชวนให้สงสัยว่าเงินมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองเมกกะกับเมืองเมดินา ในปี 2011 หรือไม่ และหากไม่เกี่ยวข้องแล้วเพราะเหตุใดถึงมีการโอนเงินจำนวนมหาศาลให้กับกษัตริย์สเปน

ในช่วงที่ฮวน คาร์ลอส ยังเป็นกษัตริย์ เขาโอนเงินส่วนหนึ่ง (ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์) ที่ได้จากอดีตกษัตริย์ซาอุฯ ไปยังบัญชีธนาคารของหญิงสาวชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ คอรินนา ซู ซานน์-วิตต์เก็นสไตน์ (Corinna Zu Sayn-Wittgenstein) คนเดียวกับที่ไปร่วมทริปล่าช้างเมื่อปี 2012 พอสื่อเริ่มเข้าถึงตัวเธออีกครั้ง คอรินนาก็ยืนยันหนักแน่นว่าเงินที่เธอเคยได้ไม่ใช่การฟอกเงิน แต่เป็นของขวัญจากพระเมตตาของกษัตริย์แห่งสเปนต่างหาก

คอรินนาเล่าให้สื่อฟังว่าตัวเองเคยถูกฮวน คาร์ลอส หลอก เขาคบกับเธอโดยบอกว่าเขากับสมเด็จพระราชินีโซเฟียไม่ได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งข้องเกี่ยวกันอีกแล้ว แต่ตอนนั้น (ช่วงที่ยังเป็นกษัตริย์สเปน) ทั้งสองยังต้องคงฐานะกษัตริย์กับราชินีเอาไว้ ทว่าภายหลังเขากลับเผยว่าไม่ใช่แค่คอรินนาเท่านั้นที่เขามีสัมพันธ์ด้วย แต่ยังมีผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่คบมาหลายปีเช่นกัน ด้วยประเด็นความรักวุ่นวายที่มีคนเกี่ยวข้องมากกว่า 3 คน จึงทำให้ความสัมพันธ์ของอดีตกษัตริย์กับคอรินนาเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด

สมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอสที่ 1 และ สมเด็จพระราชินีโซเฟีย

คอรินนายังเล่าต่ออีกว่าเธอไม่พอใจมาก ๆ ที่สื่อเคยตีข่าวกล่าวหาตัวเองเป็นเหมือนกับ วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) แห่งอังกฤษ สตรีที่ถูกตราหน้าว่าหว่านเสน่ห์ให้กษัตริย์ตกหลุมรักจนทำเรื่องน่าอับอาย เงิน 65 ล้านดอลลาร์ที่ได้จากอดีตกษัตริย์ ก็ได้มาเพราะเขารู้สึกผิดที่ทำให้เธอต้องเดือดร้อนจากการถูกปาปารัสซีตามติด ถูกหน่วยข่าวกรองลับของสเปนค้นบ้าน จึงอยากจะชดเชยกับเรื่องที่เกิดขึ้น ซ้ำยังพูดอีกว่า ฮวน คาร์ลอสให้เงินเธอตอนปี 2012 แต่ในปี 2014 เขามาทวงเงินก้อนนั้นคืนภายหลัง (ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยัน)

นอกจากเงิน 100 ล้านดอลลาร์ที่ได้มาอย่างน่าสงสัย การโอนเงิน 65 ล้านดอลลาร์ให้อดีตชู้รัก ฮวน คาร์ลอสยังถูกลือว่าช่วงที่เดินทางไปสานสัมพันธ์ยังประเทศแถบตะวันออกกลาง เขามักกลับเข้ามาพร้อมกับกระเป๋าเอกสารที่อัดแน่นด้วยเงินสดจำนวนมาก และยังมีการเปิดเผยว่าเขาเกี่ยวข้องกับกองทุนต่างประเทศอื่น ๆ อีก ทำให้ในเดือนมิถุนายน 2020 อัยการศาลสูงสุดแห่งสเปนเริ่มเปิดการสอบสวนอดีตกษัตริย์ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันจริงหรือไม่

ทางด้านกษัตริย์สเปนองค์ปัจจุบันทรงพยายามกอบกู้ชื่อเสียงราชวงศ์ด้วยการไม่รับมรดกของพระราชบิดา ส่วนฮวน คาร์ลอส หายเงียบไปจากหน้าสื่อฯ จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2020 ชายวัย 82 ปี ตัดสินใจย้ายที่พำนักจากสเปนออกไปอยู่ต่างประเทศ โดยข่าวล่าสุดกล่าวว่าตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคาดว่าอดีตกษัตริย์ไม่น่าจะโดนตั้งข้อหาใด ๆ แต่ถึงจะมีสิทธิรอดคดีอื้อฉาว แต่ชื่อเสียงเขาตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย จากกษัตริย์ผู้ยึดมั่นในประชาธิปไตยที่ถูกมองเป็นวีรบุรุษ ในตอนนี้กลายเป็นชายไม่ซื่อสัตย์ที่เกี่ยวพันกับการทุจริตครั้งใหญ่เสียอย่างนั้น

 

ที่มา

https://www.newyorker.com/news/daily-comment/juan-carloss-fall-from-grace-in-spain-and-the-precarious-future-of-the-worlds-monarchies

https://www.bbc.com/news/world-europe-53810323

https://www.theguardian.com/world/2020/aug/17/juan-carlos-spains-disgraced-former-king-confirmed-to-be-in-uae

https://www.theguardian.com/world/2020/aug/03/spains-scandal-hit-former-king-juan-carlos-to-move-abroad

https://www.nytimes.com/2020/08/17/world/europe/king-juan-carlos-spain-uae.html

https://english.elpais.com/spanish_news/2020-08-12/how-the-fate-of-spains-juan-carlos-i-was-decided.html

 

เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์

Credit: https://thepeople.co/juan-carlos-i-king-of-spain/
25 พ.ย. 63 เวลา 03:43 2,379
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...