คุณรู้หรือไม่? ทำไมเรียกโรงพยาบาลโรคจิตว่า “หลังคาแดง”

 

 

 

 

 

     ประเทศไทยในยุคโบราณเชื่อกันว่า การเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ อาทิ ผีสางเทวดา บางภาคเรียกผู้ป่วยทางจิตว่า “ผีบ้า” เพราะเชื่อว่าผีเข้าสิงทำให้เกิดอาการ จากความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวไปรักษาตามวัดหรือรับการเสกเป่าจากพ่อมดหมอผีต่างๆ แทนที่จะนำตัวไปรับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ดีความเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้เกิดผลดีประการหนึ่งกับผู้ป่วย คือ เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการแล้วชาวบ้านก็จะไม่รังเกียจ เพราะถือว่าผีออกแล้ว ทำให้ผู้ป่วยยังสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติ

          โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคเดียวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลอื่น สถานที่เดิมตั้งอยู่ปากคลองสานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเก๋งเก่าพระยาภักดีภัทรากร มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ ในยุคแรกนั้นไม่มีความมุ่งหมายอื่น นอกจากจะนำคนเสียจริตมาฝากขัง การดูแลจึงมีแต่ขังไว้ ในบางคราวก็มีการรักษาบ้าง เป็นประเภทยาต้ม ยาหม้อ ยาระบาย และยาที่เข้าระย่อม* ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม ที่วุ่นวายนักก็เป่าด้วยยานัตถุ์ ถ้าไม่ทุเลาลงก็ถึงขั้นทรมานทุบถองหนักๆ หรือไม่ก็ให้อดอาหาร บางทีก็ถึงขั้นกอกเลือด ซึ่งหมายถึง การดูดเลือดออกโดยใช้เขาควายหรือไม่ก็ใช้ปลิงดูด มีเวทมนตร์คาถาบ้างตามความรู้ของแพทย์สมัยนั้น

 ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๘ แม้งานฝ่ายแพทย์ได้เจริญขึ้น แต่ก็ยังล้าหลังและบกพร่องอย่างมาก จากรายงานของนายแพทย์ไฮเอด หัวหน้ากองแพทย์สุขาภิบาล กล่าวว่า “…ในจำนวนคนไข้ทั้งหมดนั้นเป็นชาย ๒๖๔ หญิง ๓๒ คน มีอาการคลั่งรุนแรงอาจทำอันตรายต่างๆ ได้ ๕๔ คน ต้องแยกขังไว้ต่างหาก แต่ห้องแยกมีน้อย จึงต้องขังรวมคนอื่นซึ่งยัดเยียดทำร้ายกันเสมอ ห้องหลายห้องชำรุดและรักษาความสะอาดไม่ได้ จนมีผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้มาก โรงพยาบาลนี้ชำรุดและน่าอับอายอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปให้ดีขึ้น ข้าพเจ้าเองไม่สามารถสรรหาคำพูดใดที่แรงพอเพื่อแสดงว่าน่าอับอายและขยะแขยงเพียงใด”

          ในที่สุด รัฐบาลก็อนุญาตให้สร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นใหม่ ณ ที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขณะนี้ เปิดรับคนไข้ได้เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๕๕ โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลแบบตะวันตก เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลจากการคุมขังและการรักษาแผนโบราณมาเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน มีการเลี้ยงดูอาหาร การหลับนอนต่างๆ ให้บริบูรณ์ขึ้น เลิกการล่ามโซ่อย่างแต่ก่อน และพยายามให้เป็นรูปแบบโรงพยาบาลจริงๆ ถึงแม้เรือนไม้หลายหลังยังกั้นห้องด้วยลูกกรงและคนไข้ยังต้องนอนกับพื้นอยู่ก็ตาม

          โรงพยาบาลคนเสียจริตยุคปรับปรุงนี้อยู่ในความดูแลของนายแพทย์ เอ็ม. คาร์ทิว แพทย์ชาวอังกฤษ งานชิ้นสำคัญของท่านนอกจากการวางผังป่าอันสวยงามร่มรื่น โดยถือหลักว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์และความสงบแห่งจิตแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดศัพท์แสลง “หลังคาแดง” อันลือลั่นจากการไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต็อกราคาถูกคุณภาพดีมาผสมน้ำมันเข้า แล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อกันสนิมหลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป เป็นที่มาของสมญา “หลังคาแดง” ที่เรียกกันติดปากมาจนปัจจุบัน

 ล่วงเข้าปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โรงพยาบาลจึงได้มีนายแพทย์ผู้อำนวยการเป็นคนไทยคนแรก คือ “หลวงวิเชียรแพทยาคม” ท่านนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปศึกษาวิชาโรคจิตโดยเฉพาะ ณ สหรัฐอเมริกา และเมื่อท่านกลับจากการศึกษาได้สองสามปี ชื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสานก็เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี” แม้ในยุคตั้งแต่ ดร. คาร์ทิว จนถึงหลวงวิเชียรแพทยาคมเป็นต้นมานี้จะถือได้ว่าเป็นยุคบุกเบิก สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลร่มรื่นสวยงาม แต่การบำบัดเยียวยาผู้ป่วยยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงนั่งหรือยืนอยู่หลังแนวลูกกรงเหล็ก เป็นดุจที่เก็บคนไข้โรคจิต เนื่องจากยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะรักษาผู้ป่วย นอกจากยานอนหลับและการอุตสาหกรรมบำบัด ซึ่งหมายถึงงานอาชีพ เช่น ช่างหรือเกษตรกรรมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนมีคุณค่า ได้รับความเพลิดเพลินไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย

 

 

  มาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้มาถึงยุคของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตสมัยใหม่” และได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งวงการจิตเวชและสุขภาพจิต” ของเมืองไทย ในช่วง ๑๐ ปีแรก (พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๙๕) โรงพยาบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก จนเมื่อมีโครงการห้าปีของกรมการแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๙) โรงพยาบาลจิตเวชต่างๆ จึงได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านอาคารต่างๆ กำลังคน และงบประมาณ สภาพภายในโรงพยาบาลและกระบวนการรักษามีลักษณะเป็นโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์ ไม่มีภาพของสถานที่กักขังหรือลูกกรงเหล็กแบบเดิมเหลืออยู่อีกต่อไป

          ถึงกระนั้นภาพเก่าๆ ที่ค่อนข้างน่ากลัวก็ยังอยู่ในความรู้สึกของคนส่วนมาก เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าอาการบ้าเป็นโรค จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลทั้งหมดอีกครั้ง “โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี” เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา”, “โรงพยาบาลโรคจิตภาคกลาง” (นนทบุรี) เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลศรีธัญญา”, “โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้” เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลสวนสราญรมย์”, “โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ” เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลสวนปรุง” และ “โรงพยาบาลโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์”

 

ที่มา: http://www.doyouknow.in.th/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...