10 เหตุการณ์เครื่องบินหาย-ตก ที่ลึกลับและแปลกที่สุดในโลก

 กลายเป็นข่าวใหญ่ที่เรียกความสนใจจากคนทั้งโลกได้ในชั่วไม่กี่ชั่วโมง กับการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MH370 ซึ่งสูญหายไปพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต โดยสัญญาณการติดต่อหายไปจากจอเรดา​ร์​ขณะบินอยู่เหนือทะเลจีนใต้ทางตะวันออกของมาเลเซีย ระหว่างเดินทางมุ่งหน้าจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 ปัจจุบันการค้นหายังคงเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางคำถามที่ค้างคาใจทุก ๆ ฝ่ายว่า เครื่องบินทั้งลำ จู่ ๆ จะหายไปโดยไม่ปรากฏร่องรอยอะไรไว้เลยได้อย่างไรกัน 

           แต่อย่างไรก็ดี นอกจากกรณีของเครื่องบินจากสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์สนี้แล้ว ก็ยังมีสถานการณ์คล้าย ๆ กันที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้า มีทั้งที่สาเหตุการตกคลี่คลายได้แล้ว และที่เป็นปริศนาต่อไป ไม่มีใครทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมแห่งความสูญเสีย ลองมาดู 10 เหตุการณ์เครื่องบินหาย​และเครื่องบิน​ตกที่ลึกลับ​และแปลก​ที่สุดในโลก ที่เว็บไซต์มิเรอร์ได้รวบรวมเอาไว้ดังต่อไปนี้กันค่ะ


1. การหายไปอย่างไร้ร่องรองของอะเมเลีย เอียร์ฮาร์ท ขณะบินสำรวจโลก 
 


            อะเมเลีย เอียร์ฮาร์ท ชาวอเมริกัน นักบินหญิงคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้สำเร็จ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยขณะบินอยู่เหนือบริเวณเกาะฮาวแลนด์ ทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับ เฟร็ด นูแนน สหายนักสำรวจ ขณะนำเครื่องบินล็อกฮีด อิเล็กทรา บินสำรวจโลก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1937 

            ชะตากรรมของทั้งคู่เป็นอย่างไรยังคงเป็นปริศนา บ้างว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินหมดกลางทาง และตกลงสู่มหาสมุทรเบื้องล่าง บ้างว่าเพราะเธอเป็นสายลับให้ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ จึงถูกจับไว้โดยชาวญี่ปุ่น บ้างก็ว่าเครื่องบินตกแถบชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น นักบินบาดเจ็บ และเสียชีวิตในที่สุด ร่างของทั้งคู่ถูกกินและย่อยไปโดยปูชายฝั่งที่มีมากมาย บ้างบอกว่าเธออาจยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งในนิวเจอร์ซี แต่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปแล้ว และแม้กระทั่งที่เชื่อว่าทั้งคู่ถูกลักพาตัวไปโดยมนุษย์ต่างดาวก็มีเช่นกัน ซึ่งประการหลังสุดนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างละครโทรทัศน์ตอนหนึ่งของStar Trek : Voyager ในปี 1995 ด้วย 
 
 




2. การหายสาบสูญของเกล็น มิลเลอร์ เหนือช่องแคบอังกฤษ 
 


            เกล็น มิลเลอร์ นักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกัน ในฐานะหัวหน้าวงดนตรีแอร์ฟอร์ซแบนด์ ของกองทัพสหรัฐฯ ทำหน้าที่ผู้มอบเสียงเพลงและความรื่นรมย์ให้แก่กองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงฤดูร้อนของปี 1944 

            มิลเลอร์ใช้เวลาในค่ำคืนสุดท้ายของชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านมิลตัน เอิร์นเนส ในมณฑลเบดฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ โดยไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยวที่เขาโดยสารในวันรุ่งขึ้น จะพาเขาหายสาบสูญไปบริเวณเหนือช่องแคบอังกฤษ ในวันที่ 14 ธันวาคม 1944 ขณะกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปทำหน้าที่ต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

            มีการคาดเดาสาเหตุของการหายสาบสูญของมิลเลอร์ไปต่าง ๆ นานา หลายกระแสเชื่อว่าเครื่องบินลำที่เขานั่งถูกลูกหลงจากฝ่ายเดียวกันเอง หลังจากที่เครื่องบินทิ้งระเบิด แลงคาสเตอร์ บอมเบอร์ เพิ่งได้รับคำสั่งยกเลิกการจู่โจมเมืองซีเก้น ของเยอรมัน และให้ทำลายระเบิดเพลิง 100,000 ลูก ที่เหนือช่องแคบอังกฤษก่อนบินกลับฐานทัพ ส่วนอีกกระแสหนึ่งที่อื้อฉาวมาก และไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยมากนัก ว่าไว้โดยอูโด้ อูล์ฟโคทเทอ นักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมัน บอกว่าที่จริงมิลเลอร์บินไปถึงฝรั่งเศส แต่หัวใจวายตายในซ่องที่ปารีเซียงนั่นเอง 

 




3. ฝูงบิน 19 และการหายสาบสูญที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา
 


            ฝูงบิน 19 (Flight 19) คือชื่อเรียกฝูงบินทิ้งระเบิด ทีบีเอ็ม เอเวนเจอร์ 5 ลำ ของสหรัฐฯ ซึ่งหายไประหว่างการบินทดสอบ หลังบินออกจากฟอร์ท ลอเดอร์เดล ในฟลอริดา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1945 โดยการบินครั้งนี้นำโดยนักบินประสบการณ์สูง ชาร์ลส์ เทเลอร์ 

            หลังเริ่มทดสอบการบินไปได้หนึ่งชั่วโมงครึ่ง นักบินได้รายงานกลับมายังศูนย์ว่าเกิดเหตุสภาวะการแปรปรวน ไม่สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่เบื้องล่างได้ เทเลอร์บอกเจ้าหน้าที่ผ่านการสื่อสารทางวิทยุว่า เข็มทิศทั้งสองของเครื่องไม่สามารถทำงานได้ปกติ แม้ว่าทางศูนย์ทางภาคพื้นจะมีความพยายามในการช่วยระบุตำแหน่ง แต่ก็ไร้ผลเมื่อฝูงบินทั้ง 5 ก็ไม่สามารถจับทิศทางได้ ในที่สุดเครื่องบินทั้ง 5 ลำ พร้อมนักบิน 14 ชีวิต ก็ล้มเหลวในการลงสู่พื้นดิน และพุ่งดิ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่าง ไม่มีใครได้พบแม้แต่เศษซากอีกเลย 

            ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น เครื่องบินค้นหาพีบีเอ็ม ของกองทัพเรือ พร้อมนักบินอีก 13 นาย ที่รับหน้าที่ค้นหาร่องรอยของฝูงบิน 19 ที่สูญหาย ก็กลับหายสาบสูญไปด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าคงมีจุดจบไม่ต่างไปกับฝูงบิน 19 นั่นเอง 

 




4. การหายไปของเครื่องบินสตาร์ดัสต์ และรหัสมอร์สปริศนา

            เครื่องบินสตาร์ดัสต์ ของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ภายใต้การบังคับของกัปตันเรจินัลด์ คุก นักบินผู้มีชื่อเสียง นำเครื่องออกจากกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อเวลา 13.46 นาฬิกา ของวันที่ 2 สิงหาคม 1947 บินข้ามเทือกเขาแอนดีส มุ่งหน้าไปยังกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี แต่ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การติดต่อสุดท้ายของเครื่องบิน คือรหัสมอร์สปริศนา ใจความว่า "STENDEC" 
 


            มีความพยายามแกะความหมายของรหัสมอร์สดังกล่าวมาตลอดหลายสิบปีหลังเกิดเหตุการณ์ มีการคาดเดาถึงหลายสาเหตุที่ทำให้สตาร์ดัสต์บินไปพบจุดจบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ฟังดูเหลว​ไ​หลอย่างการโจมตีจากมนุษย์ต่างดาว ไปจนถึงการก่อวินาศกรรมทางอากาศ การตั้งใจระเบิดเครื่องกลางอากาศเพื่อทำลายเอกสารทางการทูตที่ผู้โดยสารรายหนึ่งนำขึ้นเครื่องมา และการคาดการณ์ที่ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น อย่างเครื่องบินอาจบินเข้าสู่ช่วงเทือกเขาที่มีการเลื่อนไถลในแนวดิ่งของหิมะ ทำให้เครื่องบินตก และซากถูกหิมะฝังไว้มิด 
 


            ​อย่างไรก็ดี ทฤษฎีสุดท้ายนี้ฟังดูสมจริงมากที่สุด เมื่ออีก 50 ปีภายหลังเกิดเหตุการณ์ มีสองนักปีนเขาชาวอาร์เจนตินาได้พบชิ้นส่วนเครื่องยนต์พร้อมกับเศษซากของเสื้อผ้า ระหว่างการปีนยอดเขาทูปันกาโต ของเทือกเขาแอนดีส  
 




5. เครื่องบินสตาร์ไทเกอร์ กับการหายไปที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา 

            เป็นอีกครั้งที่เกิดความสูญเสียกับเครื่องบินของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ในคราวนี้คือเครื่องบินสตาร์ไทเกอร์ พร้อมผู้โดยสาร 25 ชีวิต โดยหนึ่งในนั้นคือฮีโร่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งของสหราชอาณาจักร พลอากาศโทเซอร์อาเธอร์ โคนิงแฮม ที่บินออกจากเกาะซานตามาเรีย ประเทศโปรตุเกส มุ่งสู่หมู่เกาะเบอร์มิวดา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1948 ท่ามกลางสภาพอากาศค่อนข้างเลวร้ายเนื่องจากลมพัดแรงจัด

            สตาร์ไทเกอร์ออกบินพร้อมเชื้อเพลิงเหลือเฟือ บังคับเครื่องให้บินต่ำเพื่อเลี่ยงการต้านกระแสลม โดยบินตามเครื่องบินขนส่งแลงคาสเทรนออกมาไม่ทิ้งห่างกันนัก จากระยะทางที่น่าจะกินเวลาบินราว 12 ชั่วโมง เครื่องบินแลงคาสเทรนมาถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ แต่ปรากฏว่าสตาร์ไทเกอร์นั้นไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย

            เป็นที่คาดการ​ณ์​ว่าการบินที่ระดับต่ำ ประกอบกับกระแสลมแรงจัด พัดให้สตาร์ไทเกอร์ร่วงสู่พื้นมหาสมุทรเบื้องล่าง หรืออาจเป็นการทำงานที่ขัดข้องของมาตรวัดระดับความสูง บวกกับความเหนื่อยล้าของนักบินจากชั่วโมงบินที่ยาวนาน ทำให้เกิดความผิดพลาดบังคับเครื่องสตาร์ไทเกอร์พุ่งลงสู่ผืนน้ำก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีทั้งเครื่องบิน และผู้โดยสารในเที่ยวบินทั้งหมด ยังคงหายสาบสูญจนถึงปัจจุบัน 
 

เครื่องบิน Tudor Mark IV (หน้าตาคล้ายกับเครื่องบินสตาร์ไทเกอร์ที่หายสาบสูญไป) 


 


คลิป AVRO Tudor โพสต์โดย คุณ Bomberguy


 




6. ปริศนาหายนะเที่ยวบิน 191 
 

ซากเครื่องบินเที่ยวบิน 191 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส  


            หากลองสังเกตดูจะพบว่าสายการบินหลาย ๆ แห่ง จะไม่ตั้งชื่อเที่ยวบินของตนว่า เที่ยวบิน 191 (Flight 191) ซึ่งปกติจะเป็นเที่ยวบินที่บินจากสนามบินนานาชาติโอแฮร์ ในชิคาโก ไปยังสนามบินนานาชาติลอสแอนเจลิส กันเท่าใดนัก สืบเนื่องมากจากหายนะหลาย ๆ ครั้งที่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมานี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับหมายเลขของเที่ยวบินดังกล่าว 

            หนึ่งในหายนะเที่ยวบิน 191 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินอเมริกา คือเที่ยวบิน 191 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1979 ที่เครื่องบินตกหลังออกจากสนามบินโอแฮร์ได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น คร่าชีวิตผู้โดยสาร 258 ชีวิต และลูกเรืออีก 13 ชีวิต

            นอกจากนี้ก็ยังมี เครื่องบินเจท X-15 เที่ยวบิน 191 ซึ่งขึ้นบินเป็นการบินทดสอบเครื่อง โดยนักบินไมเคิล เจ. อดัมส์ ออกตัวที่ทะเลสาบร้างเดลามาร์ ในรัฐเนวาดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1967 แต่เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคหลังนำเครื่องขึ้นเพียงไม่กี่นาที ลงเอยด้วยการโหม่งโลก คร่าชีวิตนักบินในซากเครื่องบินไหม้พังยับเยิน และเหตุการณ์หวิดนำหลายชีวิตดิ่งสูญดับของเที่ยวบิน 191 สายการบินเจ็ตบลู แอร์เวย์ส ในปี 2012 ที่กัปตันผู้บังคับเครื่องเกิดอาการแพนิคกะทันหัน โชคดีที่ผู้โดยสารเข้าช่วยเขาระงับอาการได้ทันท่วงที จึงไม่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

            ด้วยเหตุการณ์ที่น่าพิศวงเหล่านี้นี่เอง หลายสายการบินถึงพร้อมใจกันถอนการเรียกชื่อเที่ยวบิน 191 ไปโดยปริยาย 
 




7. การหายที่เป็นปริศนาของเครื่องบินสตาร์แอเรียล 
 


            สตาร์แอเรียล นับเป็นเครื่องบินอีกลำของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ที่ต้องเผชิญชะตากรรมไม่คาดคิด จากไฟลท์ที่บินจากหมู่เกาะเบอร์มิวดามุ่งหน้าไปยังประเทศจาเมกา ในวันที่ 17 มกราคม 1949

            สตาร์แอเรียล ออกบินอย่างราบรื่นสู่ท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ไม่มีสัญญาณของหายนะใด ๆ ปรากฏมาก่อน กระทั่งเกิดเหตุขัดข้องด้านสัญญาณการติดต่อกับนักบิน และแล้วสตาร์แอเรียลก็ไม่อาจพาผู้โดยสาร 20 ชีวิตพร้อมนักบินอีกหนึ่งนาย ไปถึงจุดหมายปลายทางได้​ นอกจากนี้ยังน่าแปลกใจที่ความพยายามในการค้นหาเครื่องบินลำนี้ดำเนินไปเพียงไม่นาน ก็ยุติลงในวันที่ 25 มกราคม

            การสรุปสาเหตุการหายไปของสตาร์แอเรียลยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ดอน เบนเนตต์ อดีตผู้อำนวยการของ BSAA ออกมาระบุว่า เหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งกับสตาร์ไทเกอร์ และสตาร์แอเรียล คือการจงใจก่อวินาศกรรมทางอากาศ ทั้งยังพาดพิงถึงนายคลีเมนต์ แอทท์ลี นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในตอนนั้น ว่าเป็นผู้ออกคำสั่งอย่างลับ ๆ ให้ยุติการค้นหา และการสืบสวนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของเครื่องบินทั้งสองลำตัว 

 




8. หายนะเที่ยวบิน 571 ที่เทือกเขาแอนดีส 
 


            เครื่องบินเช่าเหมาลำอุรุกวัยแอร์ฟอร์ซ นำผู้โดยสาร 45 ชีวิตรวมนักบิน และทีมรักบี้ของอุรุกวัย บินจากเมืองหลวงของอุรุกวัย มุ่งหน้าไปยังกรุงซานติอาโก ของชิลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1972 แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องหยุดพักที่สนามบินนานาชาติเมนโดซ่า ในอาร์เจนตินา ก่อนออกเดินทางอีกครั้งในวันถัดมา โดยไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเป็นการเดินทางที่พาพวกเขาไปสู่หายนะที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมทางไปหลายสิบคน ส่วนผู้รอดชีวิตก็ต้องกินเนื้อจากร่างมนุษย์ด้วยกันเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง 

            เครื่องบินลำดังกล่าวเกิดเหตุขัดข้อง ประกอบกับสภาพอากาศเลวร้าย จึงตกลงบนเทือกเขาแอนดีส ผู้โดยสาร 12 ราย เสียชีวิตทันทีจากเหตุเครื่องบินตก อีก 6 ราย เสียชีวิตในอีกไม่กี่วันถัดมา และยังมีอีก 8 ชีวิต ที่จบลงจากเหตุหิมะที่ถล่มลงมายังซากเครื่องบินซึ่งพวกเขาปักหลักยึดเป็นที่พักพิง 

            อีก 16 คน ที่เหลืออยู่รอดได้ด้วยการกินเนื้อจากร่างผู้โดยสารที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อประทังชีวิตตัวเอง กว่าทั้งหมดจะถูกค้นพบและได้รับความช่วยเหลือก็เป็นเวลาอีก 72 วันถัดมา เมื่อ 2 คนในกลุ่มที่รอดชีวิต ตัดสินใจออกเดินเท้าข้ามเขตเขา ใช้เวลาถึง 10 วัน จนกระทั่งได้พบกับเซลล์แมนนักเดินทางชาวชีลีที่ได้แบ่งปันน้ำและอาหารให้ พร้อมทั้งแจ้งขอความช่วยเหลือกู้ภัยเร่งด่วนไปยังทางการ 

            เรื่องราวหายนะของเที่ยวบิน 571 และการต่อสู้ของผู้รอดชีวิตทั้ง 16 คน กลายเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง Alive (1993)
 




9. ชะตากรรมที่น่าเศร้าของเที่ยวบิน 990 สายการบินอียิปต์แอร์ 

            หายนะดับยกลำของเครื่องบินโบอิ้ง 767 สายการบินอียิปต์แอร์ เที่ยวบินที่ 990 ซึ่งบินออกจากสนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ​สหรัฐฯ ​มุ่งหน้าสู่กรุงไคโรของอียิปต์ ​เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1999 ​เครื่องบินลำนี้ได้​พาผู้โดยสารรวมลูกเรือ นักบิน และกัปตัน ทั้งสิ้น 217 ชีวิต ไปสู่จุดจบทั้งหมด เมื่อเครื่องบินตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตอนใต้ของรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ

            มีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุคือนายกามิล เอล-บาตอตตี้ ผู้ช่วยนักบิน ที่เพิ่งจะถูกนายฮาเทม รัชดี้ หนึ่งในผู้บริหารของอียิปต์แอร์ ที่ร่วมโดยสารในเที่ยวบินนั้นด้วย ตำหนิอย่างรุนแรงเรื่องประพฤติ​ตัว​ไม่เหมาะสมทางเพศ โดยหนึ่งในคำต่อว่าคือ "นี่จะเป็นไฟลท์สุดท้ายของนาย" ก่อนที่นายกามิลจะโต้ตอบด้วยคำพูดเดียวกันว่า "มันจะเป็นไฟลท์สุดท้ายของคุณเหมือนกัน"

            ในภายหลังพบว่าเครื่องบันทึกเสียงภายในห้องนักบินที่สามารถบันทึกเสียงของนายกามิลพึมพำว่า "ฉันเชื่อในพระเจ้า" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กัปตันได้ขอตัวมาเข้าห้องน้ำ ก่อนที่ระบบออโต้ไพลอ​ต​จะถูกปิด และเครื่องบินก็ดิ่งหัวลงสู่เบื้องล่าง เสียงพึมพำนั้นยังคงดังต่อเนื่องในระหว่างที่เครื่องบินลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งลุกไหม้และตกลงสู่มหาสมุทร 

            หน่วยงานสอบสวนอากาศของสหรัฐฯ (The US National Transportation Safety Board) มีความเห็นว่าเหตุเครื่องบินตกในครั้งนี้เป็นผลจากการกระทำของนายกามิล แต่ไม่ได้ระบุถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้ช่วยนักบินรายนี้แต่อย่างใด 

สภาพกล่องบันทึกเสียงจากห้องนักบินของเที่ยวบินมรณะ

 




10. หายนะสะเทือนใจ เที่ยวบิน 447 สายการบินแอร์ฟรานซ์
 


            เครื่องบินแอร์บัสรุ่น A330 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 477 มุ่งหน้าออกจากกรุงริโอ เดอ จานีโร ประเทศบราซิล สู่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2009 แต่ก็ไม่อาจพาผู้โดยสาร 214 ชีวิต และลูกเรืออีก 12 รายไปถึงจุดหมายได้

            จากการสืบสวนระบุว่า เกิดผลึกน้ำแข็งก่อตัวในท่อของเครื่องบิน ขัดขวางการทำงานของระบบออโต้ไพลอต จนกระทั่งระบบไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เครื่องบินทิ้งดิ่งตัวลงปะทะกับพื้นน้ำของมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่พบผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างใด

            ร่างผู้เสียชีวิต 50 ร่าง ถูกพบลอยอืดเหนือน้ำเป็นที่น่าสะเทือนใจในช่วงเดือนถัดมา กล่องดำถูกค้นพบในเดือนพฤษภาคม ในปี 2011 พร้อมกับพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 104 ศพ ส่วนอีก 74 ร่างยังคงหาไม่เจอจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

 



            เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ก็คืออุบัติเหตุทางอากาศ ซึ่งเป็นความเสียหายที่สูงทั้งในแง่มูลค่า และยิ่งประเมินค่าไม่ได้ในด้านชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้แต่ขอไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก และกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็ขอเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตามหาร่องรอยของเที่ยวบินดังกล่าว และเหนือสิ่งอื่นใดขอร่วมภาวนาและเอาใจไปอยู่เคียงข้างผู้ที่ยังคงรอคอยบุคคลอันเป็นที่รักด้วยนะคะ 

#เครื่องบินหาย
Lost City
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
11 มี.ค. 57 เวลา 19:00 11,037 1 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...