โดยปกติเรามักจะไม่ค่อยใส่ใจกับแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือนักจนกว่าโทรศัพท์จะมีอาการผิดปกติ อย่างเช่น ชาร์จแบตฯ ไม่เข้า หรืออยู่ ๆ เครื่องก็ดับไปเฉย ๆ หรือใช้งานแป๊บเดียวแบตเตอรี่หมด เป็นต้น และที่สำคัญมันต้องการยะยะเวลาในการชาร์จนานพอสมควร ดังนั้นหากแบตเตอรี่หมดในสถานการที่มีความจำเป็นจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เราจึงมักจะรู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสียเป็นอย่างยิ่งและในบทความนี้ เราจะมาตีแผ่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งของโทรศัพท์มือถือที่มีความสำคัญมากที่สุด แต่ผู้ใช้กลับมีความเข้าใจน้อยที่สุดและยังไม่ค่อยจะใส่ใจดูแล เนื่องจากมัวแต่ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นการใช้งานของเครื่องมากกว่า จนลืมไปว่าฟังก์ชั่นอันเลิศหรูต่าง ๆ จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีแบตเตอรี่นี่แหละ
รู้จักชนิดของแบตเตอรี่
ถ้าหากสังเกตที่แบตเตอรี่โทรศัพท์ให้ดี จะพบข้อความพิมพ์ติดไว้ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วคุณจะต้องให้ความสนใจบ้างกับข้อความเหล่านี้ เพราะจะบอกถึงปริมาณของพลังงานที่บรรจุอยู่ในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ มีหน่วยการวัดเป็น mAh (milli Amp hours) แบตเตอรี่ที่มีค่าความจุพลังงาน 800mAh จะสามารถใช้งานได้นานกว่าแบตเตอรี่ที่มีความจุ 550mAh
อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้วอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ยังขึ้นอยู่กับการจัดการพลังงานภายในตัวเครื่องโทรศัพท์ด้วย โทรศัพท์มือถืออาจจะสามารถเปิดเครื่องรอรับสายได้หลายวันด้วยการใช้แบตเตอรี่ขนาด 550 mAh ธรรมดา แต่ก็ยังคงต้องใช้พลังงานมากสำรหับการโทรอยู่ดี และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมระยะเวลาการสนทนาต่อเนื่องจึงจำกัดอยู่เพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง
โดยปกติ แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่จะมีค่าความจุ mAh มากกว่า แต่ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ทำให้ผู้ผลิตสามารถที่จะอัดพลังงานเข้าไปมาก ๆ ได้ในขนาดที่เล็กลง โดยมีการไต่ระดับนวัตกรรมของแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือดังนี้คือ เริ่มต้นจากนิเกิลแคดเมียม (NiCad) ตามมาด้วย นิเกิลเมตังไฮไดร์ (NiMH) , ลิเทียมไอออน (Li-ion) และลิเทียมโพลีเมอร์ (Li-Po)
จากที่เคยยกตัวอย่างแบตเตอรี่นิเกิลเมตัล ไฮไดร์ ขนาดความจุ 550mAh อาจจะมีขนาดรูปร่างเท่ากับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่มีความจุ 840mAh ได้ ด้วยเหตุนี้แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน จึงมีราคาแพงกว่าแบตเตอรี่ชนิดนิเกิลเมตัลไฮไดร์ และมักจะพบเห็นว่ามีการนำไปใช้งานในโทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเอนด์ ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ต่อไปมาดูรายละเอียดของแบตเตอรี่แต่ละชนิด
นิเกิลแคดเมียม (NiCad)
แบตเตอรี่ชนิดนี้มีราคาถูกที่สุด แต่มีข้อเสียหลายอย่าง และเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานหลายปีแล้ว เป็นแบตเตอรี่ชนิดที่มีค่าความจะพลังงานน้อยที่สุด คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า “Memory Effect” หรือที่เรียกว่าการลดลงของแรงดันไฟฟ้า ซึ่งแบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียมมักจะเกิดปัญหานี้ นั่นก็หมายความว่า ถ้าคุณไม่ได้ทำการคายประจุแบตเตอรี่ให้หมดก่อนการชาร์จในแต่ละครั้งค่าความจุของแบตเตอรี่จะค่อย ๆ ลดลงทีละเล็กละน้อย สิ่งสำคัญอีกอย่างของแบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียมก็คือ สารเคมีที่บรรจุไว้ภายในนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยากต่อการกำจัดสารแคดเมียมที่เป็นของเสีย ด้วยข้อเสียดังกล่าวเราจึงแทบจะไม่พบแบตเตอรี่ชนิดนี้นำมาใช้กับโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป
นิเกิลเมตัลไฮไดร์ (NiMH)
แบตเตอรี่ชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันมากกว่านิเกิลแคดเมียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโทรศัพท์มือถือรุ่นราคาถูก แบตเตอรี่นิเกิลไฮไดร์ มีขนาดความจุที่มากกว่านิเกิลแคดเมียมและยังเป็นชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการกำจัด และยังมีความไวน้อยต่อ Memory Effect แบตเตอรี่นิเกิลเมตัลไฮไดร์ ต้องการคายประจุอย่างสมบูรณ์ทุก ๆ สัปดาห์หรือสองสัปดาห์ นั่นก็หมายความว่าถ้าคุณใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้อยู่ จะต้องปล่อยให้แบตฯหมดจริง ๆ ก่อนการนำไปชาร์จอย่างน้อยก็สองสัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง เนื่องจากพฤติกรรมการชาร์จแบตส่วนใหญ่ก็คือ เมื่อเห็นที่หน้าจอว่าแบตฯเกือบหมด แต่จริง ๆ แล้วยังสามารถใช้ได้อีกสักระยะก็จะนำไปชาร์จเลย บางคนชาร์จทุกวัน ข้อเสียของแบตเตอรี่นิเกิลเมตัลไฮไดร์ ก็คือในเรื่องของความทนทานหลังจากการถูกชาร์จไปแล้วประมาณ 200-300 ครั้ง แบตเตอรี่อาจไม่สามารถให้พลังงานได้มากเพียงพอสำหรับการใช้โทรนาน ๆ
ลิเทียมไอออน (Li-ion)
แบตเตอรี่ชนิดนี้มีความสามารถในการจุพลังงานได้อย่างดีเยี่ยม ในขนาดที่เล็กและน้ำหนักเบา และยังไม่มีปัญหาใด ๆ เหมือนกับที่มีในแบตเตอรี่ชนิดอื่น ลิเทียมไอออน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับนิเกิลเมตัลไฮไดร์ และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ยังกล่าวได้ว่าสามารถป้องกัน Memory Effect ได้ด้วย แต่แบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีราคาแพงและมักพบว่ามีการใช้งานในโทรศัพท์มือถือรุ่นไอเอนด์เป็นส่วนใหญ่
ลิเทียมโพลีเมอร์ (Li-Po)
แบตเตอรี่ชนิดนี้จะคล้าย ลิเทียมไอออนมาก ความแตกต่างระหว่างแบตเตอรี่ทั้งสองชนิดนี้คือ แบตเตอรี่ลิเทียมโพลิเมอร์ สามารถทำแบบให้มีรูปร่างต่าง ๆ ได้ ขณะที่ลิเทียมไอออน จำกัดอยู่แค่รูปร่างที่เป็นก้อนสี่เหลี่ยม แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน แบตเตอรี่ลิเทียมโพลิเมอร์ยังมีราคาแพงอยู่มาก จึงไม่ค่อยพบเห็นในการนำมาใช้ทั่วไปนัก
การดูแลรักษาแบตเตอรี่
สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนมาก การชาร์จแบตเตอรี่ให้กับโทรศัพท์มือถือ ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ต้องเสียบปลั๊กเครื่องชาร์จ แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อเติมกำลังไฟให้แบตเตอรี่ อย่างไรก็ตามมักจะขึ้นอยู่กับชนิดของแบตเตอรี่ที่ใช้ด้วย การชาร์จที่นานเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจจะทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้นลง ซึ่งคุณควรจะเข้าใจถึงกระบวนการเคมีที่เกี่ยวข้องด้วยว่า แบตเตอรี่จะเสื่อมคุณภาพเมื่อใช้งานไปนาน ๆ จากข้อมูลในตารางที่ 1 เป็นจำนวนรอบการชาร์จสูงสุดของแบตเตอรี่แต่ละชนิด ซึ่งค่าความจุสูงสุดในการชาร์จของแบตเตอรี่จะลดลงต่ำกว่า 80% ของความจุเดิม
ดังนั้นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากและต้องชาร์จแบตเตอรี่บ่อย ๆ อาจจะต้องซื้อแบตเตอรี่ใหม่เร็วกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้โทรศัพท์มาก อย่างไรก็ตาม ไม่มีแบตเตอรี่ชนิดใดที่สามารถชาร์จไฟใหม่ได้จนถึงจำนวนรอบสูงสุดดังกล่าว เพราะมันจะเสียซะก่อน แต่สำหรับการทำให้แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้จนถึงจำนวนรอบตามธรรมชาติของมันนั้น ต้องอาศัยการดูแลรักษาที่ถูกต้อง แบตเตอรี่อาจจะได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยม แต่ก็อาจถูกทำให้เสียหายได้โดยไม่ตั้งใจ
เริ่มต้นใช้งาน
เมื่อคุณได้แบตเตอรี่หรือโทรศัพท์มือถือมาในครั้งแรก คุณจะต้องทำการกระตุ้นตัวมัน ด้วยการชาร์จและดิสชาร์จอย่างสมบูรณ์ประมาณ 3-4 ครั้งก่อน มันจึงสามารถให้ความจุที่สูงสุดได้ ซึ่งวิธีการนี้จะใช้กับแบตเตอรี่ทุกชนิด
ในครั้งแรกที่คุณชาร์จแบตเตอรี่ โทรศัพท์อาจจะแสดงผลบอกว่าชาร์จเต็มแล้วหลังจากการเสียบปลั๊กเพียง 5-15 นาที นนี่คือเรื่องปกติให้ถอดปลั๊กแล้วเสียบเข้าไปใหม่ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการชาร์จอีกครั้ง ถ้าคุณต้องการเก็บรักษาแบตเตอรี่ที่ถอดแยกออกจากตัวเครื่องนาน ๆ ให้นำไปเก็บไว้ในที่ที่แห้งและเย็น เพราะความร้อนและการวางไว้กับวัตถุที่เป็นโลหะ อาจทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้ นอกจากนี้แบตเตอรี่จะคายประจุด้วยตัวมันเองเมื่อถูกเก็บไว้นาน ๆ ซึ่งคุณจะต้องทำการกระตุ้นแบตเตอรี่ดังวิธีที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นก่อนการนำมาใช้งานอีกครั้ง จึงมีการกล่าวไว้ว่า ไม่ควรปล่อยแบตเตอรี่ชนิดที่ชาร์จไฟได้ทิ้งไว้นานเกินไปโดยไม่มีการนำมาใช้งาน เพราะการชาร์จและดิสชาร์จ จะช่วยทำให้แบตเตอรี่มีประจุอยู่เสมอ
ตารางที่ 1 จำนวนรอบการชาร์จของแบตเตอรี่แต่ละชนิด
ชนิดของแบตเตอรี่ จำนวนรอบการชาร์จ (ครั้ง)นิเกิลแคดเมียม (NiCad)1,500
นิเกิลเมตัลไฮไดร์ (NiMH) 300-500
ลิเทียมไอออน (Li-ion) 500 – 1,000
ลิเทียมโพลีเมอร์ 300-500