"ดิกชันนารี ฉบับ แม็คฟาร์แลนด์" ความพยายามของคนในอดีต 100 ปีก่อน

"ดิกชันนารี อังกฤษ-ไทย" ของตระกูลแม็คฟาร์แลนด์ ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้น ถือได้ว่า เป็นความพยายามของคนในอดีต และปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในสยามทีเดียว เพราะก่อนหน้านั้น "ดิกชันนารี" หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า "พจนานุกรม" เพิ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงไม่กี่เล่มนัก





ดิกชันนารี อังกฤษ-ไทย เล่มนี้, จัดทำขึ้นครั้งแรกโดยการริเริ่มของศาสนาจารย์ เอส.จี.แม็คฟาร์แลนด์ (Samuel Gamble McFarland) มิชชันนารีในคณะเพรสไบทีเรียนผู้เพิ่งเดินทางมาถึงสยามในปี พ.ศ.2403 โดยเมื่อแรกมาถึงท่านได้พำนักอยู่ที่สำนักงานกลาง คณะเพรสไบทีเรียนที่สำเหร่


ต่อมาเมื่อมีข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดฯให้สร้างพระราชวังบนภูเขาที่จังหวัดเพชรบุรี พวกมิชชันนารีจึงได้เดินทางไปสำรวจ และขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อตั้งสำนักงานเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณของพระผู้เป็นเจ้าขึ้นที่เพชรบุรี

เมื่อได้รับการอนุญาตจากทางการแล้ว ครอบครัวของศาสนาจารย์แดนเนียล แม็คกิลวารี และครอบครัวของศาสนาจารย์เอส.จี. แม็คฟาร์แลนด์ จึงเดินทางไปตั้งถิ่นฐานและสอนศาสนาอยู่ที่เพชรบุรี


แต่หลังจากพำนักอยู่ที่นั่นได้ 6 ปี ศาสนาจารย์แดนเนียล แม็คกิลวารี ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนศาสนาจารย์แม็คฟาร์แลนด์ยังคงอยู่เพชรบุรีสืบต่อมาเป็นเวลาถึง 17 ปี

ในระหว่างที่อยู่ที่เพชรบุรี ศาสนาจารย์แม็คฟาร์แลนด์และภรรยายังได้ตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อสอนกุลบุตร-กุลธิดาชาวเพชรบุรี เมื่อมีเวลาว่างท่านก็จะได้ฝึกฝนการพิมพ์ที่ได้เรียนมา(ซึ่งผู้ที่สอนการพิมพ์ให้ท่านนั้น น่าจะได้แก่หมอบรัดเลย์ และภายหลังก็ได้รับแท่นพิมพ์จากหมอบรัดเลย์มาชุดหนึ่งด้วย) จนมีความชำนาญในการพิมพ์และการป้อนกระดาษไม่แพ้ช่างมืออาชีพ แม้แต่ลูกๆ ของท่านก็ยังได้รับการฝึกหัดให้เรียงพิมพ์และป้อนกระดาษเป็น



ครั้นถึงปี พ.ศ.2419 ศาสนาจารย์แม็คฟาร์แลนด์ก็จัดพิมพ์หนังสือ "บทเพลงนมัสการภาษาไทย" ขึ้นสำเร็จ และมีความแตกต่างกว่าที่เคยพิมพ์ขึ้นในประเทศสยาม คือ หนังสือบทเพลงนมัสการที่พิมพ์ใหม่นี้ จะมีโน้ตเพลงพิมพ์ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2428 หนังสือบทเพลงฉบับนี้ก็ถูกจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2

นอกจากนี้, ศาสนาจารย์แม็คฟาร์แลนด์ยังได้ใช้เวลาในการศึกษาภาษาไทย จนสามารถจัดทำพจนานุกรมขึ้นเองได้สำเร็จในปี พ.ศ.2408 จำนวน 400 เล่ม โดย English and Siamese Vocabulary ฉบับพิมพ์ครั้งแรกได้บรรจุคำเอาไว้จำนวน 7,500 คำ โดยท่านได้จัดพิมพ์ขึ้นเองที่โรงพิมพ์ของท่านที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งน่าจะเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกๆ ในจังหวัดนี้



ต่อมาเมื่อศาสนาจารย์เอส.จี. แม็คฟาร์แลนด์ ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้มาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ "โรงเรียนสวนอนันต์" ณ สวนนันทอุทยานฝั่งธนบุรี ที่ทางรัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2421

ครั้นถึงปี พ.ศ.2423 ท่านจึงได้จัดพิมพ์ดิกชันนารีของท่านขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ โรงพิมพ์ภายในโรงเรียนสวนอนันต์ และในปี 2433 จึงได้จัดพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 3 จำนวน 600 เล่ม หลังจากนั้น, ศาสนาจารย์เอส.จี. แม็คฟาร์แลนด์ จึงได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2440



ซึ่งหลังจากดิกชันนารีฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ขาดตลาดไปแล้ว พระอาจวิทยาคม(ยอร์ช แม็คฟาร์แลนด์) ผู้บุตรของศาสนาจารย์เอส.จี. แม็คฟาร์แลนด์ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 4 จำนวน 2,000 เล่ม โดยในการพิมพ์ครั้งนี้, พระอาจวิทยาคมได้แก้ไขปรับปรุง-เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น

เวลาต่อมา พระอาจวิทยาคมก็ได้ส่งต้นฉบับดิกชันนารีไปทำบล็อคที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขนาดของดิกชันนารีที่พิมพ์เป็นครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ.2453 มีขนาดเล็กลง



แต่ปรากฏว่าอีก 5 ปีต่อมาได้เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ทำลายบล็อคเสียหายหมด ดังนั้น ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มา จึงต้องแกะบล็อคขึ้นใหม่ในเมืองไทย จนกระทั่งในการพิมพ์ครั้งที่ 10(อันเป็นครั้งสุดท้าย) จึงได้มีการขยายขนาดของรูปเล่มและตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

นับจากนั้น, พระอาจวิทยาคมก็มิได้พิมพ์ดิกชันนารีของบิดาอีก แต่ได้คิดทำพจนานุกรมของตนเองขึ้นมาบ้าง


จากฉบับทดลองในปี พ.ศ.2480 ที่มีเพียง 144 หน้าแจกไปยังนักเรียนผู้สนใจทดลองใช้ดูก่อน แล้วแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายประการ จนกระทั่งสำเร็จเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ จำนวนกว่า 1,000 หน้า(บรรจุคำเอาไว้ 167,546 คำ) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2484

30 มี.ค. 53 เวลา 23:33 2,480 1 508
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...