โรงเรียนในปากีสถานแบนหนังสือ 'มาลาล่า ยูซุฟไซ'



 

โรงเรียนในปากีสถานแบนหนังสือ 'มาลาล่า ยูซุฟไซ'

 

 

 

 

เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของปากีสถานเปิดเผยว่า หนังสืออัตชีวประวัติของ มาลาล่า ยูซุฟไซ เป็นหนังสือต้องห้ามในโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาภายในไม่ได้เคารพต่อศาสนาอิสลาม และตัวมาลาล่าเองก็เป็นเพียงเครื่องมือของชาติตะวันตกเท่านั้น

 

 

 

 


 

 

มาลาล่า ยูซุฟไซ วัย 16 ปี เป็นที่รู้จักและจับตามองจากทั่วโลกเมื่อกลุ่มตอลีบานยิงเธอเข้าที่ศีรษะ เนื่องจากเธอไปวิพากษ์วิจารณ์การจำกัดการศึกษาของเด็กผู้หญิงในประเทศ หลังจากนั้น มาลาล่าก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กและสตรีคนสำคัญ จนเมื่อเดือนที่ผ่านมา เธอได้ออกหนังสืออัตชีวประวัติชื่อว่า "ไอ แอม มาลาล่า" ซึ่งร่วมเรียบเรียงโดย คริสตินา แลมบ์ นักสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษ

 

ขณะที่มาลาล่าเปรียบเสมือนฮีโร่ผู้ยืนหยัดเพื่อการศึกษาสตรี และเป็นที่ชื่นชมในหมู่กลุ่มผู้ต่อต้านตอลีบาน แต่ก็ได้มีกลุ่มคนบางส่วนตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เธอถูกยิงนั้นอาจเป็น การจัดฉาก เพื่อทำให้เกิดตัวบุคคลที่ชาติตะวันตกสามารถเชิดชูได้ก็เท่านั้น

 

อาดีบ จาเวดานี ประธานสมาคมจัดการโรงเรียนเอกชนปากีสถาน ระบุว่าองค์กรประกาศแบนหนังสือของมาลาล่าจากห้องสมุดโรงเรียนทั้ง 40,000 แห่งทั่วประเทศ และต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลตัดหนังสือเล่มนี้ออกจากหลักสูตรการเรียนการ สอนทุกหลักสูตร นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นว่ามาลาล่านั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของปากีสถาน หากแต่เป็นตัวแทนของชาติตะวันตก

 

คาชีฟ มีร์ซา ประธานสหพันธ์โรงเรียนเอกชนปากีสถาน กล่าวว่ากลุ่มของเขาก็ต่อต้านหนังสือของมาลาล่าเช่นกัน และตัวเขาเองก็เห็นว่า แม้มาลาล่าจะเป็นต้นแบบของเด็ก ๆ จำนวนมาก แต่หนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เธอกลายเป็นเพียงเครื่องมือภายใต้อำนาจของชาติตะวันตกไปเสียแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่ไม่เคารพต่อศาสนาอิสลามเท่าที่ควร เช่น การเขียนชื่อท่านนบีมูฮัมหมัดโดยไม่มีตัวย่อ PBUH หรือ peace be upon him ต่อท้าย ดังเช่นที่โลกมุสลิมกระทำกัน เป็นต้น

 

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจของฝ่าย มุสลิมขวาจัดที่มีต่อกลุ่มตอลีบาน และยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่ล้มเหลวของประเทศ ซึ่งมีเด็กจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เรียนจบหลักสูตร และการที่นักเรียนนับล้านต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ก็เพราะว่าระบบการศึกษารัฐบาลมีสภาพที่ย่ำแย่มากนั่นเอง

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2552 กลุ่มตอลีบานได้เข้าควบคุมหุบเขาสวัต ที่ซึ่งมาลาล่าอาศัย และได้ประกาศห้ามเด็กผู้หญิงไม่ให้ไปโรงเรียน จนกระทั่งมาลาล่าถูกยิง โดยผู้ที่บงการการยิงในครั้งนั้น คือ มุลเลาะห์ ฟาซลุลเลาะห์ ล่าสุดได้รับผู้นำกลุ่มตอลีบานแทนผู้นำคนเดิมที่ถูกสังหารโดยสหรัฐฯ


 

 

 

 

13 พ.ย. 56 เวลา 20:35 8,509 3 150
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...