10 คำถามยอดฮิต เกี่ยวกับการ 'อุ้มบุญ'

 

 

 

 

 

การอุ้มบุญ หนึ่งในเทคโนโลยีช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับคู่สมรสที่มีปัญหาในการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าวิธีอุ้มบุญจะยังเป็นที่ถกเถียงหรือยังมีข้อกังขากันอยู่ในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีนี้ได้ช่วยให้หลายๆ ชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาและทำให้หลายครอบครัวประสบความสำเร็จในการมีบุตรมาไม่น้อยเช่นกัน

10 คำถามยอดฮิต เกี่ยวกับการ 'อุ้มบุญ'   
       
       1. การอุ้มบุญ เป็นวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่แพร่หลายในปัจจุบันหรือไม่?
       
       จากรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า มีการทำเด็กหลอดแก้วประมาณ 1.1 - 1.2 แสนรายต่อปี และประมาณ 72 รายใช้วิธีอุ้มบุญ ดูจากตัวเลขอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากศูนย์การรักษาบางแห่งอาจไม่ได้มีการรายงาน ประกอบกับบางรัฐการอุ้มบุญยังถือเป็นข้อห้าม สำหรับในบางประเทศก็มีกฎหมายเข้ามารองรับแล้ว แต่ในบางประเทศยังถือเป็นข้อห้ามอยู่ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการอุ้มบุญเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น
       
       2. ใครบ้างเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีอุ้มบุญ?
       
       ในกรณีของสตรีที่มีปัญหามดลูกผิดปกติไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน หรือมีปัญหาของมดลูกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ไม่มีมดลูก อาจเพราะความพิการแต่กำเนิด หรือเคยตัดมดลูกมาก่อนแต่ว่ายังมีรังไข่ หรือในหญิงที่เคยตั้งครรภ์แล้วมีการแท้งหลายครั้งไม่สามารถตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดได้ การอุ้มบุญนับเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง ส่วนกรณีที่คุณแม่มีปัญหาด้านอื่นที่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องของมดลูก จำเป็นต้องมีการตรวจหาสาเหตุเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ตรงกับปัญหาที่พบต่อไป
       
       3. การทำเด็กหลอดแก้ว กับ การอุ้มบุญ แตกต่างกันอย่างไร?
       
       โดยปกติการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ แต่บางกรณีกระบวนการนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ การทำเด็กหลอดแก้ว จึงเป็นการช่วยให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นนอกร่างกาย โดยจะทำการเก็บไข่และน้ำเชื้ออสุจิออกมาผสมกัน เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนเกิดการปฏิสนธิและพัฒนาเป็นตัวอ่อน ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกของมารดาต่อไป
       
       วิธีอุ้มบุญเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เพราะฉะนั้นการอุ้มบุญกับการทำเด็กหลอดแก้วมีวิธีการเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนไปฝากในโพรงมดลูกของคุณแม่อีกท่านหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณแม่ทางพันธุกรรม หรือคุณแม่เจ้าของไข่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองด้วยข้อบ่งชี้ต่างๆ
       
       4. ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการอุ้มบุญจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
       
       ส่วนของคุณแม่อุ้มบุญ จะมีการให้ฮอร์โมนเพื่อเตรียมผนังมดลูกและเพิ่มความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกจนถึงขนาดที่เหมาะสม จากนั้นจะให้ฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้ร่างกายมีสภาวะคล้ายกับผู้ที่มีการตกไข่ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งระยะเวลาการเตรียมผนังมดลูกจนเหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
       
       ส่วนคุณแม่เจ้าของไข่ หรือคุณแม่ทางพันธุกรรม จะต้องเตรียมการกระตุ้นรังไข่ เจาะเก็บไข่ เพื่อนำไปผสมกับน้ำเชื้ออสุจิ และทำการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะนำตัวอ่อนที่ได้มาฝังในโพรงมดลูกของคุณแม่อุ้มบุญที่เตรียมความพร้อมแล้ว ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เท่าๆ กัน
 

         5. คุณแม่อุ้มบุญจะต้องมีการดูแลแตกต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติอย่างไร?
       
       หลังจากย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกแล้ว คุณแม่อุ้มบุญจะต้องรับประทานยาตั้งแต่ก่อนเริ่มฝังตัวอ่อนพร้อมกับสอดยาที่ช่องคลอดต่อเนื่องนาน 3 เดือน จนกระทั่งรกของคุณแม่อุ้มบุญสามารถผลิตฮอร์โมนได้ดีเพียงพอ โดยแพทย์จะพิจารณาให้หยุดยาได้ หลังจากนั้นก็ให้การดูแลรักษาเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ
       
       6. พันธุกรรมของคุณแม่อุ้มบุญจะส่งผลต่อเด็กในครรภ์หรือไม่?
       
       ลักษณะทางพันธุกรรมของเด็กครึ่งหนึ่งจะได้จากพ่อ อีกครึ่งหนึ่งจะได้จากแม่ นั่นคือครึ่งหนึ่งมาจากตัวอสุจิ อีกครึ่งหนึ่งมาจากไข่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการปฏิสนธิจนกระทั่งมีการแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อน ถือว่าจบกระบวนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบการอุ้มบุญก็เป็นเพียงการอาศัยมดลูกของคุณแม่อุ้มบุญเพื่อให้เด็กในครรภ์มีบ้านให้อาศัยเจริญเติบโตเท่านั้นเอง ดังนั้นลักษณะทางพันธุกรรมของเด็กจะต้องเหมือนเจ้าของไข่และอสุจิเท่านั้น จะไม่ได้รับพันธุกรรมของคนที่อุ้มบุญ
       
       7. ภาวะอารมณ์ของคุณแม่อุ้มบุญมีผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กหรือไม่?
       
       โดยทั่วไปหญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ถือว่ามีภาวะเครียดอยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากฮอร์โมนภายในร่างกายเอง แต่ในกรณีที่คุณแม่อุ้มบุญไม่ได้เตรียมจิตใจให้พร้อมอาจมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ก็อาจส่งผลไปสู่เด็กได้ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์เวลาที่โกรธหรือเครียด ฮอร์โมนบางตัวจะหลั่งมากกว่าปกติ ซึ่งอาจรบกวนการทำงานของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
       
       8. อะไรบ้างที่สามารถถ่ายทอดจากคุณแม่อุ้มบุญไปสู่ทารกในครรภ์ได้?
       
       กรณีที่คุณแม่อุ้มบุญมีโรคติดต่อบางอย่างซึ่งเป็นโรคประจำตัว หากนำตัวอ่อนไปฝากไว้ทารกก็จะมีโอกาสติดเชื้อจากคุณแม่อุ้มบุญผ่านทางรกได้ เพราะฉะนั้นก่อนให้การรักษาจึงต้องมีการตรวจสุขภาพคุณแม่อุ้มบุญอย่างละเอียด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อจากคุณแม่อุ้มบุญสู่ทารกในครรภ์ได้
       
       9. การอุ้มบุญ ในประเทศไทยมีกฎหมายรองรับหรือไม่?
       
       ปัจจุบันคณะกรรมการแพทยสภากำลังพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน คุณแม่อุ้มบุญคือคุณแม่ตัวจริงตามกฎหมาย แต่ในอนาคตถ้ากฎหมายครอบคลุมถึงการอุ้มบุญ ก็อาจจะทำให้คุณแม่ที่เป็นเจ้าของไข่มีโอกาสได้รับสิทธิ์เป็นคุณแม่ที่แท้จริง แต่ในปัจจุบันมักจะเป็นการตกลงกันระหว่างคุณแม่อุ้มบุญและคุณแม่ที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่อุ้มบุญมักจะเป็นคนสนิทหรือเป็นญาติที่สามารถไว้วางใจซึ่งกันและกันได้มากกว่า
       
       10. การอุ้มบุญ เป็นทางออกที่ดีที่สุดของผู้มีบุตรยากอย่างนั้นหรือ?
       
       คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากโดยการทำเด็กหลอดแก้วหรือการอุ้มบุญจะประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ความจริงคือมีโอกาสแท้งได้เหมือนกับการตั้งครรภ์ทั่วๆ ไป การอุ้มบุญจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งต่ำกว่าเฉพาะในกรณีที่คุณแม่ที่แท้จริงมีปัญหามดลูกไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์เท่านั้น เนื่องจากสาเหตุของการแท้งมีหลายปัจจัย การตั้งครรภ์ของแม่อุ้มบุญจึงยังสามารถเกิดการแท้งได้ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสม ฮอร์โมนผิดปกติ และปัจจัยเกี่ยวกับโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสแท้งสูงขึ้น เช่น โรค SLE (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง) เป็นต้น

11 ก.ย. 56 เวลา 21:00 1,173 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...