ครบรอบ 1 เดือน หลังคราบมฤตยูสีดำ หายนะน้ำมันรั่วที่ไม่จางหายไปของปตท.

ฝากกระจายข่าวกันด้วยครับ โพสตามเว็บบอร์ดหรือลง facebook ก็ได้ พักนี้ทีวีไม่ค่อยมาทำข่าวเรื่องนี้แล้ว

เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วหลังจากเหตุการณ์หายนะน้ำมันรั่วไหลลงสู่อ่าวไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2556 ที่บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และท้องทะเลนอกชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยอง  จากระบบท่อรับน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้สร้างผลกระทบอันเลวร้ายต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์ทะเล ชาวประมง และทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เแค่เพียงความทุกข์ที่เกิดจากการที่ต้องสูญเสียพื้นที่จากประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ทุกข์ทางใจดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสเสียยิ่งกว่าคือความเคลือบแคลง สงสัย ความกังวลใจ ที่มีต่อท้องทะเลอันที่เคยสวยงามแห่งนี้ว่าแท้จริงแล้วภายใต้ผืนน้ำทะเลนั้น ไม่เคยมีใครรู้ข้อเท็จจริงจากผลของคราบมฤตยูสีดำที่รั่วไหลของ ปตท นั้นฝังรากลึกและกระทบต่อสรรพชีวิตที่เชื่อมโยงกับท้องทะเลเพียงใด

ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ลงไปร่วมสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบการรั่วไหลของน้ำมัน ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด โดยเป็นทีมประสานงานและให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ และสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จังหวัดระยอง  จากนั้นเราได้รวบรวมรายชื่อจากประชาชนทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ ที่มีการลงทุนขุดเจาะนำ้มันไปทั่วโลก รับผิดชอบโดยทำการศึกษาประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอย่างรอบด้านและโปร่งใส และรับผิดชอบค่าเสียหายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งหมด เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นประเทศออสเตรเลีย  ซึ่งเมื่อปี 2552  ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำมันรั่วจากหลุมขุดเจาะที่แหล่งมอนทาราของประเทศออสเตรเลีย  โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ จนทำให้ ปตท.ต้องเสียค่าปรับให้รัฐบาลและศาลออสเตรเลียไปกว่า 8,946ล้านบาท

แบบคำร้องขอรับค่าชดเชยจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว การเอาเปรียบในคราบของคำว่า “เยียวยา”

ในด้านการดำเนินการชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้านของบริษัท พีทีที.จีซี. แท้จริงนั้น หน่วยราชการจังหวัดระยองได้เสนอแบบประเมินความเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ  ซึ่งเมื่อชาวระยองพิจารณาแล้วเห็นว่าครอบคลุมความเสียหายอย่างไเหมาะสมจึงไม่ยอมรับ ประกอบกับมีแบบประเมินความเสียหายที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วยเสนอมาแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทางฝ่ายราชการเช่นกัน

“แบบฟอร์มการชดเชยค่าเสียหายที่ได้มาจากจังหวัดนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ไม่ระบุที่มีที่ไปของแบบฟอร์ม ขาดการระบุถึงการเยียวยาเบื้องต้น มีแค่คำว่า “การเยียวยา” อีกทั้งสามบรรทัดสุดท้ายมีระบุว่าหากให้การไม่ตรงกับความเป็นจริงจะมีการดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ให้การ และทางการสามารถขอหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าหลักฐานคืออะไร และในการเยียวยาความทุกข์ของชาวบ้านไม่ควรลงในลักษณะข่มขู่ว่ามีการดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งหากรัฐเป็นผู้ออกแบบฟอร์มนี้ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นคดีทางแพ่งและทางอาญาเพราะรัฐสามารถนำเอกสารนี้ไปบังคับใช้ทางกฏหมายได้โดยตรง ถือเป็นความไม่ชัดเจนและไม่จริงใจในการแก้ปัญหา อีกทั้งยังบังคับว่าจะต้องใช้แบบฟอร์มนี้เท่านั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมเลยกับผู้ที่ต้องรับผลกระทบโดยที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น” นายจัตุรัส  เอี่ยมวรนิรันดร์  นายกสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้านระยอง กล่าว

ในที่สุดทางเครือข่ายประมงและกรีนพีซพร้อมชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกว่า 600 คน ร่วมทำแบบฟอร์มขึ้นมาใหม่ 3 แบบฟอร์มที่เป็นการประเมินรายได้และค่าเยียวยาเบื้องต้นอย่างความเหมาะสม โดยแบ่งเป็นประเภทของประมงจับสัตว์น้ำ ประมงเพาะเลี้ยง และผู้ค้าชายหาด และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง หน่วยราชการจังหวัดระยองก็ร่วมกับบริษัท พีทีที.จีซี. ได้ดำเนินการทำแบบฟอร์มชดเชยค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาทต่อคน โดยไม่ให้เรียกร้องใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งได้มีกลุ่มชาวประมงจำนวนประมาณ 400 คน เซ็นชื่อรับเงินชดเชยนี้ไปแล้ว โดยให้ชาวบ้านไปลงชื่อเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ และชาวบ้านไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิอุทธรณ์ได้ จึงเลยกำหนดการอุทธรณ์ไป แน่นอนว่าค่าเสียหายจำนวนเท่านี้เมื่อเทียบกับทะเลอันเป็นชีวิตของชาวประมงที่เสียหายอย่างย่อยยับนั้นคงไม่มีทางทดแทนกันได้ด้วยเศษเงินเพียงแค่ 30,000 บาทจาก ปตท

 

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลในทะเล จ.ระยอง ได้รวมตัวกันกว่า 800 คน เข้าเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นกับบริษัท พีทีที.จีซี. ให้ดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นมูลค่า 120,000 บาทต่อคน โดยมีที่มาจากการประเมินผลความเสียหายจากแบบฟอร์มทั้ง 3 แบบ ที่ผ่านความเห็นชอบจากจากชาวประมงผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นายจตุรัสยังเผยอีกว่า สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมของปตท.และภาครัฐคือ คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมีแต่บุคคลจากหน่วยงานราชการ และมีเพียงประชาชนเพียงแค่หนึ่งหรือสองคน ที่ไม่มีทางชนะเสียงโหวตได้“สิ่งที่ควรแก้ไขคือควรมีภาคประชาชนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง มีตัวแทนจากปตท. และมีส่วนกลางที่ไม่ขึ้นตรงกับใครมาร่วมกันวิจัยพัฒนาวางแผนร่วมกันกับชาวบ้านในการพัฒนาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ควรมีแผนและหลักประกันในการป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกอย่างเป็นรูปธรรม” นายจตุรัส ผู้เป็นตัวแทนชาวประมงของระยองเสริม

ปตท.ล้างออกแต่คราบน้ำมัน แต่ผลกระทบตกอยู่กับชาวประมงและท้องทะเล

“ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมที่เราเห็นคือมีสัตว์น้ำลอยขึ้นมาตายที่ชายหาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นดาวทะเล โลมา หอยเสียบ หมึกกระดอง สาหร่าย แพลงตอน มีฟองสารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่กล้าให้คนอื่นกิน เป็นความรับผิดชอบของชาวประมง ขณะนี้แทบทำประมงไม่ได้เลย ไม่มีอาชีพเสริม เป็นปัญหามากๆ จำเป็นต้องออกเรือถึงไม่คุ้มที่จะออกไปก็ตาม ขายของไม่ได้ นักท่องเที่ยวไม่มาเพราะไม่แน่ใจในอาหารทะเล ผลกระทบเยอะนับไม่ถ้วน” อีกหนึ่งเสียงจากชาวประมงพื้นบ้านระยองกล่าว

“ชาวประมงกลุ่มนี้มีความเป็นห่วงผู้บริโภค ช่วงที่ผ่านมาการลากเคยพบว่าเป็น ”เคยสีดำ” ซึ่งแม้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นน้ำมันหรือเปล่า แต่คนที่ลากเคย เป็นประจำรู้ว่าไม่ปกติ และไม่มีใครกล้ารับซื้อไปทำกะปิ แต่เมื่อตรวจสอบทางเดินอาหารของสัตว์กลุ่มดอกไม้ทะเลจะพบว่ามีจุดสีดำซึ่งต่างจากดอกไม้ทะเลตัวอื่น เมื่อแช่แอลกอฮอล์ทิ้งไว้ก็ปรากฏสีดำละลายออกมา ซึ่งแอลกออฮอล์สามารถละลายน้ำมันออกมาได้ มีการพบลูกปูสีดำในกระเพาะปลา  เมื่อแล่ปลาจะพบว่าตับของปลามีสีดำ ตับเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษ” รศ.ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงสภาพของสัตว์น้ำที่ชาวประมงพบเจอหลังหายนะน้ำมันถึงแม้จะไม่พบเห็นคราบน้ำมันบนหาด

“ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าชายหาดแห่งนี้เคยมีน้ำมันดิบเข้ามาก่อน ซึ่งนั่นเป็นทางกายภาพที่มองได้ด้วยตา แต่เมื่อเราลองขุดทรายลึกลงไปเพียงระดับฝ่ามือก็จะพบว่าทรายและน้ำที่ซึมอยู่ในทรายนั้นมีสีดำของน้ำมัน เมื่อนำน้ำสีเหลืองที่มีคราบน้ำมันลอยอยู่ไปตรวจสอบก็พบทั้งสารปรอทและสารหนู” รศ.ดร. เรณู กล่าวเสริมถึงการดำเนินการแก้ไขที่ควรจะโปร่งใสของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ “ปตท.ไม่ควรดำเนินการแค่เพียงทางกายภาพเท่านั้น แต่ต้องมีการเปิดเผยรายงาน EIA และ EHIA ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบนเว็บไซท์ เพราะการรั่วของน้ำมันส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง ให้สมกับความเป็นบริษัทที่ทำงานรับผิดชอบต่อสังคมตามที่ตนอ้างไว้”

แน่นอนว่าหายนะน้ำมันรั่วนี้ไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่คราบน้ำมันเลือนหายไปจากสายตา หลังจากการกดดันของกลุ่มชาวประมงที่ผ่านมาทำให้ทางบริษัท พีทีที.จีซี. ขอนัดไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจของบริษัท พีทีที.จีซี.ไม่มาร่วมประชุมจึงไม่สามารถตกลงกันได้ลงตัว สิ่งที่คนไทยกำลังรอคำตอบจากบริษัท พีทีที.จีซี. ไม่ใช่เพียงแค่การชะล้างคราบน้ำมัน แต่คือการเข้ามารับผิดชอบชดเชยและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นสายเลือดของชาวประมง และท้องทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน

ไม่ใช่เพียงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อม หรือเพียงประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถยุติความละโมบโลภมากในผลประโยชน์ที่ได้มาจากน้ำมันของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างปตท.ได้ แต่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากพลังของประชาชนทุกคน ร่วมเป็นอีกพลังในการยุติการใช้พลังงานสกปรก ติดตามว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อยื่น 32,000 รายชื่อที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องและเร่งให้นายกฯ ตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบน้ำมันรั่ว ปตท. และสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนจะสามารถผลักดันให้ปตท. แก้ไขและฟื้นฟูปัญหาที่ตนก่อไว้กับคนไทยได้อย่างไร

#ปตท #คราบน้ำมัน
xvoa
เด็กกองถ่าย
11 ก.ย. 56 เวลา 17:36 1,710 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...