ชาวโรมันเป็นผู้นำเทคโนโลยีนาโน

 

 

 

 

ทุกวันนี้เราๆ ท่านๆ คงได้ยินคำว่า "นาโน" กันจนชินหู คำคำนี้ที่ใช้กันส่วนใหญ่ย่อมาจากคำว่า "นาโนเทคโนโลยี" ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่สามารถปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติต่างๆ นานาด้วยการเปลี่ยนคุณสมบัติของโมเลกุลวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยอาศัยนาโนเทคโนโลยี

ทั้งนี้ คำว่านาโน คือหน่วยมิติในระดับ 1 ใน 1,000 ล้าน หรือถ้าคิดเป็นหน่วยความยาว ก็เท่ากับ 1 ใน 1,000 ล้านเมตร ซึ่งเท่ากับขนาดของโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสสารทุกชนิดในจักรวาล

เทคโนโลยีปัจจุบันก้าวหน้าถึงขั้นการควบคุมโมเลกุลและเป็นความภาคภูมิใจของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์นี้มาเป็นประโยชน์แก่คนในยุคปัจจุบันและอนาคต

แต่เชื่อหรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว นาโนเทคโนโลยี นั้นเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ตั้งแต่ยุคอาณาจักรโรมัน เมื่อกว่า 1,700 ปีที่แล้ว และนักวิทยาศาสตร์เพิ่งยอมรับว่ามีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าชาวโรมันเป็นผู้รู้ และใช้งานนาโนเทคโนโลยีมาก่อนคนรุ่นปัจจุบันเป็นพันปี

สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนก็คือผลงานการสร้างสรรค์ ถ้วยไลเคอร์กุส (Lycurgus cup) ที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 1,600 ปีที่แล้ว โดยใช้แก้วชนิดพิเศษที่สามารถเปลี่ยนแปลงสีจากสีเขียวคล้ายหยกมาเป็นสีแดงและเหลืองได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแหล่งที่มาของแสง เพราะหากนำแหล่งกำเนิดแสงมาอยู่ภายในถ้วยจะปรากฏสีแดง และเหลืองบริเวณลวดลายนูนต่ำที่ประดับอยู่บนตัวถ้วย แต่หากอยู่ในภาวะปกติลวดลายดังกล่าวจะเป็นสีเขียนขุ่นๆ คล้ายหยก

ถ้วยใบนี้กำความลับไว้กว่า 1,600 ปี จนเมื่อปี 2543 นักวิทยาศาสตร์ได้นำเอาเศษที่แตกจากถ้วยใบนี้มาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้ได้คำตอบถึงสาเหตุของการเปล่งแสงที่แตกต่างเมื่อมีการเปลี่ยนทิศทางของแหล่งกำเนิดแสงไปยังถ้วยใบนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าชาวโรมันได้ผสมอนุภาคทองคำและเงินที่มีขนาดโมเลกุลระดับ 50 นาโนเมตร ลงไปในเนื้อแก้ว ทำให้เมื่อมีแสงที่ถือเป็นพลังงานชนิดหนึ่งส่องผ่านไปในเนื้อแก้วจะทำให้โมเลกุลของทองและเงินเกิดการสั่น และสร้างคลื่นความถี่ในระดับสีแดงและเหลืองออกมา

ปัจจุบันถ้วยไลเคอร์กุส สถิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และถือเป็นตัวอย่างล้ำค่าที่แสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาของคนโบราณนั้นไม่ด้อยไปกว่าวิทยาศาสตร์ในยุคใหม่แม้แต่น้อย

1 ก.ย. 56 เวลา 17:13 1,051 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...