พิมพ์เขียว ไม่เห็นมีสีเขียวสักหน่อย แล้วทำไมเรียกอย่างนั้น

 

 

 

 

 

สวัสดีครับ  เคยสงสัยหรือไม่ครับว่า พิมพ์เขียว ที่ใช้ทำสำเนาแบบแปลนต่างๆ เป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ด้วยสีฟ้า หรือพื้นกระดาษสีฟ้าอ่อนลายเส้นสีฟ้าเข้ม ไม่เห็นมีสีเขียวสักหน่อย แล้วทำไมเราจึงเรียกเช่นนั้นครับ

พิมพ์เขียวที่คนไทยเราเรียกกัน มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Blueprint 

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความหมายว่า การพิมพ์สําเนาโดยการฉายแสงผ่านต้นฉบับที่เป็นกระดาษบางๆ ลงบนกระดาษที่เคลือบสารเคมีไวต่อแสง ปรากฏเป็นลวดลายสีขาวบนพื้นสีนํ้าเงิน หรือลวดลายสีนํ้าเงินบนพื้นขาว

พิมพ์เขียว ยังใช้เรียกแทนต้นแบบ หรือต้นร่าง อาทิ พิมพ์เขียวกฎหมาย พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ ฯลฯ  อันหมายถึงสิ่งที่ได้ตระเตรียม ร่างไว้คร่าวๆ ล่วงหน้า เพื่อให้เห็นโครงร่าง เป็นทิศทางดำเนินการ

จริงๆ แล้ว พิมพ์เขียว ก็ไม่ได้มีสีเขียวหรอกครับ แต่ด้วยการเรียกสีของคนไทยสมัยก่อนไม่ได้มีการเรียกหลายสีเหมือนในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น สีชาด, สีคราม หรือสีหมอก

สีชาด : ชาด เป็นผงสีชนิดหนึ่งมีสีแดงสด ได้มาจากการถลุงแร่ซินนาบาร์ ในเมืองไทย ชาดได้นำมาใช้ในการทำยาไทย หรือผสมน้ำมันสำหรับประทับตาสิ่งของ สีคราม : ผงคราม ผงสีน้ำเงินที่ได้จากต้นคราม สีหมอก : เป็นสีฟ้าอมเทาของหมอกยามเช้า

จะเห็นว่าคนไทยในอดีตไม่ได้เรียกสีตามที่กำหนดมาเช่นในปัจจุบัน  แต่เรียกสีจากวัตถุดิบที่นำมาทำสีครับ

แร่ซินนาบาร์

ต้นคราม

ส่วนสีฟ้า เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ คนโบราณใช้คำว่า สีเขียว แทน สีฟ้า  ตัวอย่างเช่น สำนวนไทยโบราณที่ใช้คำว่า "สุดล่าฟ้าเขียว" เป็นต้น ซึ่งคนรุ่นต่อมาเริ่มใช้คำว่าสีเขียว และสีแดงบ้าง แต่ก็ยังใช้คำว่าสีชาดสีครามอยู่  และอะไรที่มีสีออกโทนร้อนก็จะเรียกว่าสีแดง และอะไรที่มีสีโทนเย็นก็จะเรียกว่าสีเขียว ดั้งนั้นที่ผู้ใหญ่บางท่านเรียกของสีส้มว่าสีแดง เรียกสีฟ้าว่าสีเขียวด้วยเหตุผลเดียวกัน

ดังนั้นพิมพ์เขียวที่ฝรั่งนำเข้ามาใช้ในบ้านเรา พิมพ์ด้วยสีฟ้า คนไทยในอดีตจึงเรียกแผ่นพิมพ์ลักษณะนี้ว่าแบบพิมพ์เขียว ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นครับ

ก็หวังว่าวันนี้คงทำให้หลายคนหายสงสัย และยังได้ความรู้เพิ่มจากเรื่องสีชาด, สีคราม และสีหมอก แถมไปอีกหน่อย ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาฝากกันครับ...mata

31 ส.ค. 56 เวลา 11:42 6,887 2 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...