ปริศนาการล่มสลายของอาณาจักรมายัน

 

 

 


โบราณสถานที่เมืองเพเตนของชาวมายา หลายศตวรรษก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา มีอารยธรรมศิวิไลซ์ในดินแดนเมโสอเมริกาคือ อารยธรรมมายัน (Mayan civilization) อารยธรรมที่รุ่งเรืองนี้กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณคาบสมุทรยูคาตัน ภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก ในประเทศกัวเตมาลา ประเทศเบลิซ และประเทศฮอนดูรัสในปัจจุบัน


ชาวมายามีความปราดเปรื่องในศาสตร์หลายแขนง ได้แก่คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรม ชลประทาน การทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา และมีระบบปฏิทินและภาษาเขียนของตนเอง นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมอีกด้วย

อาณาจักรมายันมีเมืองสำคัญหลายเมือง คือ เมืองติกัล (Tikal) เพเตน (Peten) ในประเทศกัวเตมาลา ปาเลงกอ (Palenque) ในภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก เมืองโคปัน (Copan) ในประเทศฮอนดูรัส เมือง อิทซา (Itzar) อักซ์มัล (Uxmal) และมายาปัน (mayapan) ในบริเวณคาบสมุทรยูคาตัน เมืองของชาวมายาประกอบด้วยชุมชนเกษตรอยู่ชั้นนอก ชุมชนเมืองอยู่ชั้นในล้อมรอบจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นบริเวณสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ


อาณาจักรมายันรุ่งเรืองมาตั้งแต่คริสต์ศักราช 250 และรุ่งเรืองสูงสุดเมื่อคริสต์ศักราช 900 หลังจากนั้นก็เสื่อมสลายลง เหลือไว้เพียงซากสิ่งก่อสร้างอันอลังการไว้เป็นมรดกโลก และฝากปริศนาให้คนรุ่นหลังขบคิดกันว่าเกิดจากสาเหตุใด


Mask of Death and Rebirth นักโบราณคดียุคปัจจุบันตื่นตะลึงกับสิ่งก่อสร้างอันมหัศจรรย์มากมายของชาวมายาซึ่งไม่ใช้เครื่องมือโลหะในการก่อสร้างเลย เช่น วิหารรูปทรงพีระมิด ราชวังและหอดูดาว เป็นต้น ยอดพีระมิดของชาวมายาจะแบนราบต่างจากพีระมิดของชาวอียิปต์ พีระมิดที่เมืองติกัลสูงถึง 212 ฟุต บนส่วนยอดมีห้องมากมาย และแท่นบูชากับหินแกะสลักอักษรภาพ ราชวังของเมืองติกัลเป็นอาคาร 4 ชั้น มีห้องมากถึง 42 ห้อง และเมืองอักซ์มัลมีโรงละครขนาดใหญ่


ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การลดลงของประชากรมีทั้งค่อยๆ ลดลงโดยใช้เวลานานกว่าศตวรรษหรือลดลงอย่างรวดเร็วจนล่มสลายภายในเวลาไม่กี่ปีจากสาเหตุสงคราม ความแห้งแล้ง ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ หรือหลายสาเหตุรวมกัน

สำหรับอาณาจักรมายัน การล่มสลายเป็นปริศนามานานหลายศตวรรษแล้ว จนกระทั่งถึงปัจจุบันนักโบราณคดีก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายถึงสาเหตุของการล่มสลาย มันจึงยังคงเป็นปริศนาอันยิ่งใหญ่ของโลกอยู่ต่อไป

 


Maya Temple Building ทุกวันนี้นักโบราณคดียังคงศึกษาอาณาจักรมายันเพื่อไขปริศนากันต่อไป ทอม เชฟเวอร์ นักโบราณคดีหนึ่งเดียวขององค์การนาซาจากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล ก็เป็นคนหนึ่ง

เชฟเวอร์และทีมงานทำการศึกษาซากเมืองเพเตนในประเทศกัวเตมาลาซึ่งติดกับพรมแดนเม็กซิโก โดยการขุดค้นหาหลักฐานใต้พื้นดินและใช้รีโมตเซนซิ่งหาหลักฐานที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น

สิ่งที่เชฟเวอร์ค้นพบใต้พื้นดินทั่วทั้งบริเวณของเมืองร้างแห่งนี้คือเรณูของต้นหญ้าแทนที่จะเป็นเรณูของต้นไม้ใหญ่ หลักฐานนี้แสดงว่าป่าไม้ของเมืองเพเตนลดลงกินบริเวณกว้างเมื่อประมาณ 1,200 ที่ผ่านมา

ทีมงานบอกว่าเมื่อไม่มีป่าฝนก็จะเกิดการกัดเซาะและการระเหยของน้ำ และการกัดเซาะจะรุนแรงจนกวาดเอาปุ๋ยที่หน้าดินไปจนหมดสิ้น หลักฐานการกัดเซาะได้ถูกค้นพบในชั้นดินตะกอนในทะเลสาบ



การบูชายัน แด่พระเจ้า ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ปกคลุมพื้นดินคือป่าไม้จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น บ๊อบ โอเกิลส์บี นักวิทยาศาสตร์ด้านอากาศของศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลหนึ่งทีมงานใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณผลแล้วปรากฏว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 5-6 องศาเซลเซียส การที่อุณหภูมิสูงขึ้นมีผลทำให้ผืนแผ่นดินแห้งแล้งซึ่งไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช

นอกจากนั้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการมีฝนด้วย ดังนั้นในฤดูแล้งเมืองเพเตนจะตกอยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำ ขณะที่น้ำใต้พื้นดินก็ลึกถึง 500 ฟุต จนไม่สามารถจะขุดนำมาใช้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวมายาจะต้องอาศัยการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่มันก็คงจะระเหยไปจนไม่ทันได้ใช้



ขณะที่อาณาจักรมายันมีประชากรจำนวนมากซึ่งจำเป็นจะต้องใช้อาหารและน้ำเป็นจำนวนมากด้วย การศึกษาพบว่าประมาณคริสต์ศักราช 800 เมืองของชาวมายามีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก ในพื้นที่ชนบทมีประชากร 500-700 คนต่อหนึ่งตารางไมล์ และ 1,800-2,600 คนต่อหนึ่งตารางไมล์ในบริเวณศูนย์กลางของอาณาจักรทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา พอๆ กับนครลอสแองเจลิสในปี 2000 ซึ่งมีประชากร 2,345 คนต่อหนึ่งตารางไมล์ จนกระทั่งถึงคริสต์ศักราช 950 ก็เกิดความหายนะ " บางทีราว 90-95% ของชาวมายาต้องตายไป" เชฟเวอร์กล่าว

หลักฐานที่สนับสนุนความเป็นไปได้ก็คือ การพบว่ากระดูกของชาวมายาซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวสองสามทศวรรษก่อนอาณาจักรมายันจะล่มสลายซึ่งแสดงว่าเป็นโรคขาดอาหารอย่างรุนแรง



เชฟเวอร์สรุปการศึกษาในครั้งนี้ว่า นักโบราณคดีเคยโต้เถียงกันมานานว่า สาเหตุของการล่มสลายว่าเป็นเพราะความแห้งแล้ง หรือสงคราม หรือโรคระบาดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ทีมงานของเขาคิดว่าทั้งหมดล้วนมีบทบาท ทว่าสาเหตุหลักก็คือ การขาดอาหารและน้ำอย่างยาวนาน ซึ่งเกิดจากความแห้งแล้งทางธรรมชาติผสมผสานกับการทำลายป่าไม้ของมนุษย์

และเขาคิดว่าการเรียนรู้ว่าชาวมายาทำอะไรถูกต้องและทำอะไรผิดพลาดจะช่วยให้ประชาชนพบวิถีทางที่ยั่งยืนในการทำการเกษตร โดยจะหยุดยั้งการทำสิ่งที่เลยเถิดในช่วงเวลาอันสั้นซึ่งเคยทำลายชาวมายามาแล้ว



ปฎิทินของชาวมายา ปัจจุบันพื้นที่ของเมืองเพเตนได้ฟื้นคืนสภาพเป็นป่าฝนอีกครั้งหนึ่ง แต่กว่าสามทศวรรษแล้วที่การตัดไม้ทำลายป่าได้เกิดขึ้นเหมือนในสมัยของชาวมายา องค์การอาหารและเกษตรโลกพบว่าประเทศกัวเตมาลามีอัตราป่าไม้ลดลง 1.7% ต่อปี ในระหว่างปี 1990-2000

ประชาชนในเขตป่าฝนของเมโสอเมริกามักจะใช้พื้นที่เพาะปลูกโดยการตัดและเผาไม้ เหมือนกับที่ชาวมายาเคยใช้ จนครึ่งหนึ่งของป่าฝนได้ถูกทำลายไปแล้วในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เถ้าถ่านจะให้ปุ๋ยที่อุดมสมบูรณ์ภายใน 3-5 ปี แต่หลังจากนั้นดินจะเสื่อมสภาพ ทำให้เกษตรกรต้องหาที่ใหม่และจะตัดและเผาไม้เพื่อการเพาะปลูกแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ประมาณว่าถึงปี 2020 ป่าฝนจะเหลือเพียง 2-16% ถ้าหากการทำลายป่ายังดำเนินต่อไปในอัตรานี้



ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย เกษตรกรในปัจจุบันกำลังทำในสิ่งที่ชาวมายาผิดพลาดมาแล้ว ทีมศึกษากำลังพยายามจะจูงใจให้เกษตรกรทำในสิ่งที่ชาวมายาทำถูกต้อง นั่นคือการใช้ประโยชน์จากที่ราบต่ำ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเห็นว่าไม่ได้มีค่าอะไรและไม่สนใจมันเลย

ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เมืองเพเตนแสดงให้เห็นร่องรอยของคลองชลประทานในพื้นที่คล้ายหนองน้ำหรือที่ราบต่ำที่เรียกกันตามภาษาสเปนว่าบาโจส (bajos) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 40% นักโบราณคดีเชื่อกันมานานแล้วว่าชาวมายาไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ราบต่ำนี้


แต่หลักฐานภาพถ่ายจากดาวเทียมบ่งชี้ว่าพวกเขาใช้มัน นี่คือระบบการจัดการน้ำในที่ราบต่ำของชาวมายาซึ่งสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างกว้างขวาง ในฤดูฝนพวกเขาจะเพาะปลูกในที่ราบสูง แต่ในฤดูร้อนจะเพาะปลูกในที่ราบต่ำ แทนที่จะตัดและเผาป่าเพื่อใช้เป็นที่เพาะปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ

วันนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังไม่สายจนเกินไปที่จะเรียนรู้จากชาวมายา

 

 

20 มี.ค. 53 เวลา 10:55 3,114 3 760
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...