?ดอกไม้แดง? ภาพแห่งพลังศิลป์ 100 ปี ประกิต (จิตร) บัวบุศย์

       บทความโดย : กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2540
       
       ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2553 ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติ และราชบัณฑิตไทย จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี ตามการนับแบบธรรมเนียมจีน (ซึ่งจะรวมช่วงขณะที่มีชีวิตอยู่ในครรภ์มารดาด้วย) หรือ อายุครบ 99 ปี ตามแบบสากล ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีศิลปินท่านใดในโลกที่มีอายุยืนยาวและยังสามารถสร้าง สรรค์ผลงานศิลปะได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น ลีโอนาโด ดาวินชี (Leonardo da Vinci), ไมเคิล แองเจลโล (Michelangelo), โมเนท์ (Claude Monet), โรแดง (Auguste Rodin), หรือแม้นแต่ ปิกัสโซ (Pablo Picasso)
       
       ศิลปินเหล่านั้นไม่สามารถทำงานศิลปะได้ในขณะที่มีอายุยืนถึงร้อยปี เพราะแต่ละท่านได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น ศิลปินแห่งชาติถวัลย์ ดัชนี ได้กล่าวว่า “สามารถบันทึกเป็นสถิติโลกลงในกินเนสบุ๊ค เกี่ยวกับศิลปินที่มีอายุยืนของโลกผู้ที่ยังคงสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่าง ต่อเนื่อง”
       
       ถึงแม้นว่าในอดีตจะเคยมีศิลปินแห่งชาติของไทยท่านหนึ่ง ที่มีอายุยืนยาวถึง 103 ปี คือ ครูโมท ว่องสวัสดิ์ ก็ตาม แต่ในช่วงท้ายๆ ของอายุท่าน คือตั้งแต่อายุ 90 ปีกว่าขึ้นไป ท่านก็ไม่สามารถทำงานสร้างสรรค์ศิลปะได้เหมือนเช่นศาสตราจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์
       
       อาจารย์ประกิตยังคงเขียนรูปได้ แม้ในวัยที่ล่วงเลย และสังขารเริ่มเปลี่ยนไป มือที่สั่นไหวไปตามวัยของท่าน แต่กลับทำให้การเขียนรูปในแนวอิมเพรชชั่นนิสซึ่ม (Impressionism) และเอ็กเพรสชั่นนิสซึ่ม (Expressionism) ของท่านมีพลังได้อย่างไม่สั่นคลอน ทั้งนี้เป็นเพราะพลังอันถูกขับเคลื่อนออกมาจากภายในตัว และประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของท่าน ทำให้ได้ผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และดูมีอารมณ์ไหวพลิ้วไปตามมือที่สั่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ยุคสั่นสู้” ของท่าน ที่ไม่ได้เป็นผลเสียหรืออุปสรรคแต่อย่างใดกับการทำงานศิลปะในแนวนี้
       
       ผิดกับการทำงานศิลปะที่ต้องใช้การตัดเส้นอย่างละเอียดอ่อน เช่น งานภาพเขียนไทย หรืองานจิตรกรรมฝาผนัง และสำหรับงานในแนวเอ็กเพรชชั่นนิสซึ่ม ซึ่งเป็นผลงานเขียนสีน้ำมันในช่วงหลังของศาสตราจารย์ประกิตนั้น ท่านบอกว่า
       
       “มันคั้นออกมาจากข้างในตัวเราเหนือกว่าอิมเพรชชั่นนิสซึ่มเสียอีก”
       
       โดยล่าสุด ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานชื่อภาพ “ดอกไม้แดง” ขึ้น เพื่อมอบให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำหรับนำไปจัดแสดงภายในนิทรรศการถาวรศิลปินแห่งชาติ ณ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี
       
       อาจารย์ประกิต หรือ จิตร บัวบุศย์ เป็นครูใหญ่ของผมเมื่อสมัยปี 2503 ท่านได้ไปเรียนการเขียนรูปแนวอิมเพรชชั่นนิสซึ่มจากประเทศญี่ปุ่น กับครูชาวญี่ปุ่นผู้เป็นลูกศิษย์ของโมเนท์ เมื่อครั้งก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และติดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 4 ปี ครั้นเมื่อมีโอกาสไปประเทศฝรั่งเศส จึงได้ไปเยี่ยมชมบ้านและห้องทำงานศิลปะของศิลปินดังอย่าง โมเนท์ และ โรแดง ผู้เป็นศิลปินในดวงใจของท่าน ในขณะเมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เฝ้าห้องเผลอ ครูของผมจึงแอบไปนั่งเก้าอี้ของโรแดง พร้อมกับทำท่าหลับตาและก้นสั่น เป็นการขอพลังทำงานจากศิลปินใหญ่ และพลังนั้นก็ได้ติดตัวท่านมาจนถึงทุกวันนี้
       
       ท่านมีผลงานทางศิลปะอันโด่งดังที่คนไทยทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าเป็นผลงานของท่าน นั่นก็คือ “พานรัฐธรรมนูญ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบ และปั้นหล่อของท่าน เมื่อครั้งฉลองรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2475 พานรัฐธรรมนูญนี้มีขนาด ๓ เมตร และน้ำหนัก 3 ตันครึ่ง อาจารย์ประกิตใช้เวลาในการทำงานเกือบ 3 เดือน เพื่อให้ทันงานเฉลิมฉลอง ระหว่างปั้นดินหล่อพานรัฐธรรมนูญ ได้สั่งอุปกรณ์สิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทำงาน แต่ด้วยความเร่งรีบ และตั้งใจทำงาน จึงมิได้เก็บใบเสร็จรับเงินต่างๆ ให้เป็นที่เป็นทาง เกิดปลิวหายตกหล่นไปบ้าง ครั้นเมื่องานแล้วเสร็จ ได้ลาป่วยต่อไปอีกกว่า 10 วัน เนื่องเพราะการเร่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ แบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน นอกจากจะส่งผลให้ท่านต้องป่วยแล้ว ยังต้องถูกหักเงินเดือนอีกหนึ่งปีครึ่งอีกด้วย เพราะเหตุที่หาใบเสร็จสั่งของได้ไม่ครบถ้วน ตามแบบศิลปินที่จิตใจมุ่งมั่นแต่การทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว มิได้สนใจเรื่องอื่นใด ประสบการณ์ในครั้งนั้น จึงเป็นบทเรียนอันมีค่ายิ่งบทหนึ่งสำหรับท่าน
       
       นอกจากนั้นท่านอาจารย์ประกิต ยังมีผลงานการปั้นพระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคล ที่ภาคใต้ และที่จังหวัดอำนาจเจริญ, ผลงานการปั้นพระพุทธรูปใหญ่ๆ อีกมากมาย, และรวมถึงบูรณะภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร และพระตำหนักดอยตุง ส่วนผลงานด้านสถาปัตยกรรม ท่านได้ออกแบบสร้างอาคารในวิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งเป็นอาคารไทยร่วมสมัยที่เป็นต้นแบบของอาคารราชการไทยเช่นทุกวันนี้ สำหรับงานด้านวิชาการนั้น ท่านทำงานด้านการค้นคว้าโบราณคดี และอารยธรรมสยามและสุวรรณภูมิ มีการเขียนตำราทางวิชาการ รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับวิทยาลัยเพาะช่างด้วย กล่าวได้ว่า นอกจากท่านจะเป็นศิลปินผู้มีผลงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศิลป์แล้ว ท่านยังเป็นทั้งนักวิชาการ, สถาปนิก, และนักประวัติศาสตร์ คนสำคัญคนหนึ่งของไทยอีกด้วย
       
       อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติไทย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ กล่าวว่า “ประกิต เขียนรูปได้ดีกว่าจิตร” ผมได้ถามอาจารย์ประกิต เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 และท่านได้ตอบอย่างหนักแน่นว่า “จริง!” พร้อมกับเสียงหัวเราะ... และพยักหน้ารับอย่างอารมณ์ดี อาจารย์ประกิตยังได้กล่าวชมเชยว่า “ถวัลย์เป็นศิษย์ที่ดี มีความจริงใจ รู้จักเคารพในระบบอาวุโส (senior & junior) แบบไม่มีใครเสมอเหมือนเลย”
       
       ศาสตราจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ในวันนี้ วันที่ท่านมีอายุเกือบร้อยปี ยังมีความทรงจำอันดีเยี่ยม และได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า การทำงานศิลปะนั้นมิอาจมีสิ่งใดที่จะเป็นอุปสรรคได้ทั้งสิ้น ถึงแม้นร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป มือจะสั่นไหว แต่กลับกลายเป็นการสั่นสู้ ที่สามารถสร้างผลงานให้มีอารมณ์ ความรู้สึกที่เคลื่อนไหว ได้ดีกว่าเมื่อครั้งมือนิ่งๆ เสียอีก
        ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.38                         ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ผลงาน กมล ทัศนาญชลี        
14 มี.ค. 53 เวลา 19:50 4,452 9 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...