"แฟรงค์ เนติวิทย์"เด็ก ม.4 จุดไม้ขีดไฟ วิพากษ์ความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย



"...ปัญหาคือสังคมเราเน้นการแก่งแย่งชิงดีกันมากไป นักเรียนไม่มีอิสระภาพทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เพราะวัฒนธรรมของเราบางทีเป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอยู่กลายๆ.."

“แฟรงค์” นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร ผู้ริเริ่มกลุ่มต่างๆ อาทิ ชมรมปรีดีเสวทัศน์ จุลสารปรีดี กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และผู้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้อภิวัฒน์การศึกษาไทย เพื่อเป็นการเปิดมุมมองแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความตระหนักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่ตนเองพึงจะได้รับ นำไปสู่การกล้าตั้งคำถาม โต้แย้งต่ออำนาจที่ถูกกดทับ และเปลี่ยนแปลงในที่สุด. 

สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) สนทนากับ "เขา" เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2556

Q : หลังจากมีการเคลื่อนไหวจนนำไปสู่เรื่องการยกเลิกทรงผม(เกรียน) ตามที่ได้ผ่านสื่อต่างๆ มีกระแสตอบรับอย่างไรบ้าง ?
A : ถ้าเพื่อนในห้องเข้าใจ ไม่มีปัญหา ส่วนเพื่อนนอกห้องไม่รู้ แต่ก็มีสายตาแปลกๆ ด้านผู้ใหญ่ก็มีรองผู้อำนวยการเรียกไปคุยวันแรกที่ไปออกรายการ เขาบอกว่า “พูดน่ะดี แต่ต้องวางท่าทีให้ดีกว่านี้” หลักๆ มีเท่านี้ พูดประมาณ 1 ชั่วโมง ผมก็อัดเทปไว้แล้วเอามาฟังต่อ รวมๆ ถือว่าดีนะ ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านความคิดเห็นของเราเลย  ส่วนใหญ่อาจารย์ท่านอื่นจะไม่ค่อยพูดกับผมตรงๆ หรอก เขาคงไปคุยกันเงียบๆ อะไรแบบนี้

Q : อะไรคือจุดเริ่มต้นของการร่างจดหมายถึง รมต.กระทรวงศึกษาธิการ ?
A : ผมเห็นท่านเพิ่งรับตำแหน่งใหม่ๆ และท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างดีกว่าคนอื่นๆ ที่ผ่านมา เรื่องที่เขียนถึงท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ถือว่าโชคดีด้วย เพราะสื่อไปโหมกระแสเรื่องนี้ ที่จริงผมเคยเขียนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายข้อมาก ได้รับจดหมายกลับมาครับ แต่ก็ไม่มีสื่อเล่นอะไรครับ เหมือนไม่ได้อะไร

Q : ส่วนตัวมองว่าการศึกษาของไทยเรามีปัญหา ?
A : แน่นอน ปัญหาคือสังคมเราเน้นการแก่งแย่งชิงดีกันมากไป นักเรียนไม่มีอิสระภาพทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เพราะวัฒนธรรมของเราบางทีเป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอยู่กลายๆ ซึ่งมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาฯ 
A : เรายังเน้นทฤษฎีการท่องจำในห้องเรียนมากไป จริงๆ มันต้องกว้างกว่านี้ การเรียนรู้มันต้องครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติ ตอนนี้เราคิดว่าการเรียนหนังสือคือการนั่งในห้องเรียน และการเรียนในห้องเรียนสำคัญที่สุด ซึ่งผมคิดว่ามันไม่จริงเลย ยกตัวอย่างวิชาสังคมศึกษา ผมคิดว่าผมเรียนวิชาสังคมฯ แล้วผมได้ความตื้นมากกว่าลึก ผมทำนิตยสารปาจารยสาร ผมสนุก ผมไปสัมภาษณ์ลูกพระยาพหลฯ , ลูกอ.ปรีดีฯ ผมคิดว่ามันได้ความรู้มากกว่าที่คุณต้องไปท่องในตำราด้วยซ้ำ ที่ผมจะบอกคือเราควรเรียนรู้ให้กว้างๆ ของเรานี่เรียนกันมากถึง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ก็เข้ากับตำราโบราณที่ว่า “กว้างแต่ตื้น” รู้นิดเดียวเท่านั้นเอง ไม่มีความเป็นเลิศ

Q : วิชาใดที่มีปัญหาบ้าง ?
A : แทบทุกวิชา ทุกอย่างไม่มีการตั้งคำถาม ยกตัวอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราเน้นไปในทางตำรา ทางทฤษฎี จนลืมจิตใจของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงคุณต้องมีการสังเกต ตั้งคำถาม และกล้าที่จะหักล้างวิทยาศาสตร์ด้วย บางทีเราเห่อวิทย์มากไป ไสยศาสตร์ก็คลั่งสุดโต่งไป

Q : ที่เคยพูดกันว่าเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แสดงว่าเขาโกหก ?

A : แน่นอนครับ ที่เขาบอกกัน “Child Center” ผมว่าเป็น “ควาย Center” มากกว่า

Q : “รัฐสวัสดิการ” มีความสำคัญมากน้อยขนาดไหนต่อเรื่องการศึกษา ?
A : สำคัญที่สุด เพราะพลเมืองต้องมีเวลา เห็นได้ว่าพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ก็ไม่ได้อยู่กับนักเรียน ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงิน นักเรียนมีปัญหาเพราะส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ รัฐต้องเอาใจใส่พวกนี้ รวมถึงคนทำงานกรรมกรทั้งหลาย เพราะการที่มีรัฐสวัสดิการทำให้คนไม่ต้องหมกมุ่นไปกับการหาเงินมากเกินไป มีความเสมอภาค สามารถมีเวลาหาความรู้ สันทนาการ มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ในส่วนของเรื่องการศึกษา ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีและมีคุณภาพ

Q : ในโรงเรียนเรามีการเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมอะไรบ้าง ?
A : ก็ทำบ้าง แต่ไม่ได้ทำแบบสุดขั้วนะ ผมทำกับอาจารย์อีกหลายคนที่มีความคิดดีๆ จริงๆ อาจารย์จำนวนมากมีความคิดดีๆ เยอะเลย แต่เสียดายไม่มีพวก อาจารย์บางคนเคยพูดกับผมว่า เขาโต้แย้งกับผู้บริหาร แต่เขาไม่มีพวก ก็ต้องถอยซิ เพราะคนอื่นเขาไม่เอาด้วย เพราะกลัว เห็นไหมว่าระบบมันสอน มันสอนให้ทุกคนกลัวหมด อาจารย์ก็เคยเป็นนักเรียน และก็ถูกสอนให้กลัว ให้จำนนแบบนี้ ฉะนั้นอำนาจนิยมมันยังกดทับให้เห็นอยู่
A : ผมคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งมาตั้งแต่ตอนอยู่ชั้น ม.2 พออยู่ ม.3 ผมเริ่มวิจารณ์มากเลย จนขึ้น ม.4 คิดว่าจะวิจารณ์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องลงมือทำอะไรซักอย่างให้มันเกิดขึ้นในโรงเรียน ตอนแรกก็ไปขอเป็นกรรมการนักเรียน แต่เขาไม่ให้(หัวเราะ) จริงๆ เขาต้องให้เราเป็น เพราะเราอยากทำงาน เราอาสาเข้าไปทำงาน ช่างมัน ผมไม่เป็นก็ได้เรื่องนี้มันไม่ใช่ปัญหา
A : ส่วนที่ทำอยู่ตอนนี้ก็มีกองทุนสะพรั่งพร้อมรัฐสมุด เพราะมีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังจะเกษียณ และท่านเคยเป็นที่ปรึกษาผม โดยกิจกรรมที่เราทำก็เน้นไปในการสร้างความงามผ่านศิลปะให้กับโรงเรียน ให้นักเรียนส่งภาพเข้าประกวด เพราะเดี๋ยวนี้โรงเรียนส่วนมากนักเรียนยังขาดสุนทรียภาพ อย่างโรงเรียนเรามีห้องดูหนัง-ฟังเพลง แต่เสียดายว่ามันไม่เคยมีการจัดเสวนา ซึ่งผมเห็นว่ามันควรจะมี เราก็ทำและจัดโครงการนี้กันมา 4-5 ครั้งแล้ว โดยเป็นการเสวนาเกี่ยวกับหนัง วิจารณ์วรรณกรรมอะไรแบบนี้

Q : มีใครที่มีความคิดไปในแนวทางเดียวกับเราบ้างไหม ? 
A : ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับการพัฒนา รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้บางทีทัศนะของเขาก็จะตกหล่นไปเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะสังคมแวดล้อมด้วย สังคมเดี๋ยวนี้มันไม่เอื้อกับการเรียนรู้

Q : มองสังคมอย่างไรในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ?
A : สังคมเราไปเน้นบังคับคนที่ตัวหน้าที่มากเกินไป คือเป็นสังคมแบบที่เรียกว่าเป็นแนวดิ่ง คือผู้มีอำนาจก็สั่งมา คุณก็ทำตามหน้าที่ไป สิทธิของคุณก็ไม่เสมอเท่ากัน สังคมแนวดิ่งจะเป็นแบบนี้ ส่วนสังคมอื่นๆ ที่ดีแล้ว เช่นสังคมในยุโรป ซึ่งไม่ได้ดีจริงๆหรอก ก็เป็นแนวราบ คือคุณต้องมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คุณมีหน้าที่ของคุณก็จริง แต่สิทธิ เสรีภาพก็สำคัญด้วย แต่ของเรามันเป็นลำดับชั้นเลยไม่พัฒนาเสียที

Q : Freedom of speech สำคัญไหม ?
A : สำคัญนะ แต่บางทีผมก็มีการตั้งคำถามต่อแนวคิดนี้เหมือนกัน คือการที่เราพูดได้อย่างเดียวเขาเรียกว่าเรามีสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองอย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องทางเศรษฐกิจ ทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันในทางเศรษฐกิจ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า เหมือนที่ อ.ปรีดีฯ เคยกล่าวไว้ ตอนนี้เราพูดอย่างเดียวคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง แต่เราลืมพูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในมุมเศรษฐกิจ

Q : ส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ?
A : ช่วงหลังมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับสายนี้เยอะมาก ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด มากกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด การศึกษายังต้องหันมามองเรื่องนี้ สิ่งแวดล้อมที่ดีคุณจะต้องเลิกแข่งขัน คุณแข่งขันกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกฝังให้นักเรียนมีทัศนคติทางความรุนแรง เป็นการเบียดเบียนกัน ซึ่งในทางศาสนาพุทธหรือทุกศาสนาแทบไม่มีในเรื่องนี้เลย หรือแม้กระทั่งพวกไม่มีศาสนาก็เช่นเดียวกัน การทำลายสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อทุกคนในโลก

Q : เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้มีแผนทำอะไรบ้าง ?
A : ตอนนี้ผมคิดจะทำสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน เพราะมันยังไม่มี บางทีเราต้องเปลี่ยนให้มันเป็นรูปธรรม กำลังจะนัดประชุมกับอาจารย์ในเครือข่าย

Q : คิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเขาตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน ?
A : ส่วนใหญ่ทำเป็นเล่นมากกว่า คือคุณไปอ่านหนังสืออะไรเนี่ย ถุงผ้าลดโลก...มันไม่จริง คุณต้องไปเปลี่ยนตัวโครงสร้างตัวระบบ ไปเปลี่ยนตัวสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ พวกบริษัท โรงงานต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษ นี่! เราต้องไปเน้นกันเรื่องนี้ ไม่ใช่เราเป็นคนดี เป็นปัจเจกบุคคล แล้วช่วยโลกได้ มันพินาศไปก่อน

Q : เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดด้วยไหม ?
A : ผมไม่ค่อยได้ไปทำกับพวก กรีน พีซ (Green Peace) เท่าไหร่ แต่เคยไปร่วมกับองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กรณีที่บริษัทเชลล์ไปทำน้ำเสียในแม่น้ำไนเจอร์ ก็ไปหนเดียวเท่านั้น

Q : เรื่องศาสนามีมุมมองอย่างไร ?
A : บางทีผมก็เบื่อนะ อย่างการสวดมนต์ที่โรงเรียนผมก็ปฏิเสธแล้วเดี๋ยวนี้ ผมก็ไม่สวดมนต์ ไม่ไหว้พระ แต่ถามว่าผมมีความนับถือไหม ส่วนลึกก็มีความนับถือในศาสนา แต่ผมเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องศาสนาเลย ผมแค่ปฏิเสธศาสนาก็โดนกล่าวหาว่าผมเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมก็มี แต่ผมก็ชอบนะ ชอบเวลาที่มีคนแสดงความเขลาออกมา
A : อย่างล่าสุดที่โรงเรียนเขาก็มีไป V-Star ไปอะไรเนี่ย แต่ผมยังไม่เคยโดนบังคับไปไง พวกกิจกรรมทางศาสนาแบบนี้ แต่ถ้าผมโดนก็คงปฏิเสธ เพราะผมไม่นับถือวัดธรรมกาย ผมไม่นับถือพวกนี้เลย พวกคณะวัดธรรมกายที่เป็นสัทธรรมปฏิรูป เน้นไปทางวัตถุนิยม ทางจิตวิญญาณ แล้วทำไมคุณไม่มีสมองคิดกันล่ะเรื่องแบบนี้ ผมเคยคุยกับอาจารย์เรื่องนี้ อาจารย์บอกเห็นด้วย แต่ให้ทำยังไง ภาครัฐเขาสั่งมา

Q : อยากฝากอะไรถึงการศึกษา ?
A : ความหวังมันอยู่ที่นักเรียนและครู ปัญหาพวกนี้ต้องกลับมาทบทวน ทั้งเรื่องความคิด การตั้งคำถาม มากกว่าจะไปเชื่อตามผู้นำอย่างเดียว ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยแล้ว นี่คือยุคที่พวกเราทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียงเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราต้องมีความกล้าหาญในทางคุณธรรม ต้องกล้าออกมาพูด และพร้อมที่จะรับฟังเสียงด่าอย่างมีขันติธรรม เพราะตอนนี้สังคมเราไม่ค่อยมีขันติธรรม อย่างที่ผมออกมาพูดอะไรนิดหนึ่งเนี่ย ก็มีเสียงสะท้อนถึงความบัดซบของสังคมไทยได้เลย ที่ไปออกรายการพูดไม่ถึง 20 นาที โดยที่ไม่ได้โจมตีใครเลย เขาก็กลัวกันมาก มีการตั้งแฟนเพจออกมาโจมตีผมเยอะแยะ 
แต่ผมก็ถือคติ No Hate No Enemy ไม่เกลียดใครไม่มีศัตรู ดังนั้นเราจะไม่มองคนอื่นเป็นศัตรู แต่ถ้าเขาอยากมองเราเป็นศัตรูก็ไม่เป็นไร

Q :ต่อมุมมองคนยุคใหม่ ตระหนักในปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยไหม ?
A : แน่นอน เรื่องคอร์รัปชั่นมันไม่ดีแน่ แต่ปัญหาของเราคือโครงสร้างสังคมเรามันรุนแรง มันเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น มันเป็นการกดขี่กัน ดังนั้นพวกที่มันมีอำนาจก็จะกดขี่ผู้อื่นด้วยการคอร์รัปชั่น ไม่มีสัจจะ เพราะมันเริ่มจากความกลัว ไม่กล้าหาญที่จะพูดความจริง ดังนั้นก็เลยต้องกะล่อน แล้วก็รับเงินรับทอง โกงไปเรื่อย

Q :เรียกได้เต็มปากไหมว่าเราเป็น “ขบถ” ?
A : ก็อาจจะเรียกได้ แต่ก็คงไม่ทั้งหมด เพราะผมยังเรียนหนังสืออยู่ ถ้าสุดโต่งก็คงลาออกไปแล้ว(หัวเราะ)

---------

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากรายการ  "คนกล้าฝัน" 

 

21 ม.ค. 56 เวลา 20:57 10,193 15 130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...