เงินฝากกับโทษลักทรัพย์

 

   หลายท่านอาจเคยได้ยินข่าวพนักงานธนาคารใช้อุบายวิธีต่างๆในการเอาเงินฝากของลูกค้าไป นายจ้างจักทราบพฤติกรรมไม่ดีนี้ต่อเมื่อผู้ฝากร้องเรียนหรือผู้ตรวจสอบภายในองค์กรทำรายงานให้ทราบเท่านั้น จึงมีคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ คือ ใครเป็นผู้เสียหายสำหรับพฤติกรรมเอาเงินฝากนี้ไป

               ปัญหาเรื่องการแอบนำเงินฝากในธนาคารไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของพนักงานธนาคารเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการฟ้องคดีสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงขอนำคำตัดสินที่จักตอบคำถามคาใจข้างต้นได้ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 1104/2545 นายกอง เป็นพนักงานธนาคารแผนกรับฝากเงินของธนาคารไทย ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เพราะเมื่อลูกค้านำเงินมาฝากที่ธนาคารไทย จึงถือเป็นเงินของผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของธนาคารไทยแล้ว มิใช่อยู่ในครอบครองของนายกอง จำเลยในคดีนี้ การที่นายกองใช้ใบถอนเงินของลูกค้าหรือแก้ไขบัญชีลูกค้า ถือเป็นกลวิธีในการถอนเงินของธนาคารไทยจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และ ปรับไม่เกิน หกพันบาท” มิใช่ความผิดฐานยักยอก

               ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เงินฝากในธนาคารถือเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารที่มีเงื่อนไขว่า จะต้องคืนเงินจำนวนเดียวกันแก่ลูกค้าตามเวลาที่ตกลงกันหรือเมื่อลูกค้าเรียกร้องเท่านั้น ลูกค้าจึงมิใช่ผู้เสียหายแท้จริงที่มีอำนาจแจ้งความหรือฟ้องคดีต่อศาลสำหรับกรณีนี้ อีกสิ่งที่ผู้คิดก่อคดีประเภทนี้พึงระลึกไว้ คือ การตัดสินโทษประเภทนี้จะคำนึงถึงจำนวนครั้งที่จำเลยได้เอาเงินฝากของธนาคารไปเป็นหลักด้วย เช่น ถอนเงินในบัญชีของลูกค้าไป 50 ครั้ง และได้เงินไปหลายแสนบาท หรือ ไม่กี่พันบาท เป็นต้น การตัดสินโทษนั้นจะกำหนดเป็นรายครั้งที่ได้กระทำผิดนั้น หากศาลลงโทษคดีลักทรัพย์เงินฝากนี้ให้จำคุก 2 ปีจึงต้องลงโทษทุกกรรมที่ทำ ดังนั้น มีการถอนเงินไป 50 ครั้ง ทำให้จำเลยในคดีต้องรับโทษรวมกันเป็นจำนวน 100 ปี และต้องชดใช้เงินที่ลักทรัพย์ไปอีกด้วย แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้รับโทษสูงสุดเพียง 50 ปีก็ตาม มันคงไม่คุ้มค่ามากพอกับเวลาที่สูญเสียไปในการจำคุกด้วยเวลาที่นานเพียงนั้น และความน่าเชื่อถือที่หมดไปด้วยพฤติกรรมของตัวเอง ก่อนที่จะคิดทำผิดกฎหมาย ขอให้ตระหนักด้วยว่า การสร้างเครดิตให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลอื่นต้องอาศัยเวลายาวนาน แต่การทำลายเครดิตทำได้เพียงชั่ววินาทีเท่านั้น โอกาสพลิกฟื้นเครดิตขึ้นมาอีกครั้งทำได้ยากยิ่ง เพราะอดีตเป็นภาพที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้และต้องติดตัวไปตลอดชีวิต นั่นหมายความว่า ท่านต้องสร้างเครดิตขึ้นใหม่ท่ามกลางอดีตมัวหมองที่เป็นประกาศเตือนบุคคลอื่นไว้อยู่ มันย่อมเป็นความลำบากในอนาคตที่ทุกท่านสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ จึงพึงรักษาเครดิตของท่านไว้ให้ดีที่สุด

 

 

************************


#กฎหมาย
HOBOMAN
นักแสดงนำ
สมาชิก VIP
29 ก.ย. 55 เวลา 15:17 2,758 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...