เปิดสัญญา “สยามสปอร์ต” ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “วรวีร์” โผล่เป็นพยาน

 

มีเอกสารฉบับหนึ่ง ตรวจสอบแล้วว่าเป็น “ของจริง” และ “คนจริง” ทั้งนั้น ที่ร่วมลงชื่อกำกับว่าเป็น “เอกสารจริง” เอกสารที่บังเอิญตกมาถึงมือ ฉบับนี้ ต่อให้เอาปืนจี้หัว วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พันธมิตร คู่คิดธุรกิจ หุ้นส่วนชีวิตการค้า กับ ระวิ โหลทอง นายใหญ่สยามสปอร์ต ก็ไม่มีทางได้มา ก็คือ “สัญญาการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลดิวิชั่น 1” ระหว่างสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทเอพีทีสปอร์ตแอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มี วรวีร์ มะกูดี อุตส่าห์แบกตำแหน่งนายกสมาคมฯ ไปลงชื่อเป็นพยาน ว่า “ลิขสิทธิ์ที่สยามสปอร์ตได้ไปจากสมาคม” สามารถซื้อขายได้จริงๆ แต่ ความลับไม่มีในโลก สัญญาฉบับนี้ จึงตกมาถึงสายตาทุกท่าน


สัญญานี้ มูลค่า ไม่มาก ไม่น้อย แค่ 12,100,000.00 บาท (สิบสองล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) เท่านั้น แต่เนื้อหาในสัญญา ต่างหากที่น่าสนใจ และให้ความกระจ่าง ต่อเงื่อนงำที่แฟนบอลทั้งหลาย กำลังค้นหา “ความจริง” ได้เป็นอย่างดี เมื่อได้มาอยู่ในมือ จึงเห็นว่าควรจะเผยแพร่ให้แฟนบอลทุกท่านได้ร่วมพิจารณา และ ร่วมปุจฉา-วิสัชนา เพื่อจะได้เกิดปัญญาที่หลากหลายในการตรวจสอบขบวนการกันต่อไป


ทีนี้ จะมาว่ากันทีละข้อ ทีละบรรทัด ว่า สัญญาฉบับนี้ น่าสนใจอย่างไรบ้าง

1. สัญญานี้ บอกว่า สยามสปอร์ตเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกดิวิชั่น 1 ประจำปี 2554 โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด
แปลความได้ว่า สยามสปอร์ต ได้สิทธิ์มาจาก 1. สมาคมฟุตบอลฯ และ 2. บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก แล้วเหตุใด นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฯ กับ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานไทยพรีเมียร์ลีก จึงตอบอะไรไม่ได้เลย หรือ ตั้งใจที่จะไม่ตอบ ปล่อยให้สยามสปอร์ต โดน “ชำแหละ” อยู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ควรจะเฉลี่ยทุกข์ เหมือน เฉลี่ยสุข บ้าง

2. สัญญานี้ บอกว่า สยามสปอร์ต ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกดิวิชั่น 1 ให้ผู้ซื้อสิทธิ์ จำนวน 121 นัด นัดละ 100,000 บาท เป็นเงิน 12,100,000 บาท กำหนดวันเวลาชำระเงิน ด้วยเช็คกันชัดเจน วันไหนจ่ายเท่าไร บอกไว้หมด แล้วก็บอกด้วยว่า ผู้ซื้อสิทธิต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการถ่ายทอดสดเองทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ ค่าบุคคลากรทีมงาน แปลความได้ว่า สยามสปอร์ตมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีกดิวิชั่น 12,100,000 บาท ตัวเลขนี้ รวมอยู่ในรายได้ที่สยามสปอร์ต ชี้แจงมาก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะรายได้จำนวนนี้ เป็นรายรับล้วนๆ ไม่มีรายจ่ายแม้แต่บาทเดียว เนื่องจากค่าใช้จ่ายถ่ายทอดสด เป็นของผู้ซื้อลิขสิทธิ์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งน่าสงสัยว่า เหตุใดสัญญาถ่ายทอด สดดิวิชั่น 1 สยามสปอร์ต ไม่ต้องเข้าไปช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย แต่ สัญญาขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยพรีเมียร์ลีก ให้ ทรู วิชั่น สยามสปอร์ต ต้องเข้าไปช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย แบกรับค่ารถถ่ายทอดสด ไว้เอง ทั้งๆ ที่ ทรู วิชั่น น่าจะมีความพร้อมมากกว่า ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคคลบากรทีมงาน และเงินดำเนินการ

3. สัญญานี้ ข้อ 5 บอกว่า ผู้ซื้อลิขสิทธิ์สามารถหารายได้มาสนับสนุนการถ่ายทอดสด จำนวน 121 แมตช์ ที่ซื้อสิทธิ์ ได้ ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง ก็แสดงว่าจำนวนแมตช์ที่เหลือ 185 แมตช์ ซึ่งสยามสปอร์ต ถ่ายทอด เอง ก็ย่อมจะมีสิทธิหารายได้ ได้เช่นกัน และหากนำสัญญานี้เป็นต้นแบบ เทียบเคียงกับสัญญาขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดไทยพรีเมียร์ลีก ให้แก่ ทรู วิชั่น ก็จะเห็นได้ว่า มีการหารายได้จากการขายสปอตโฆษณา ในระหว่างการถ่ายทอดสด ได้ด้วย ทั้งที่ถ่ายทางช่องทรู วิชั่น และ ถ่ายทางช่องโทรทัศน์ดาวเทียมของสยามสปอร์ต
แปลความได้ว่า สยามสปอร์ต น่าจะมีรายได้มากกว่าการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน เพราะเคยเห็นสปอตโฆษณาสินค้าหลายตัวในช่องโทรทัศน์ดาวเทียมของสยามสปอร์ต ทั้ง สองช่อง ระหว่างถ่ายทอดสดการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสปอตโฆษณา นี้ ควรจะเป็นรายได้ของสมาคมฯ และ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในฐานะเจ้าของสิทธิ หรือ จะตกเป็นรายได้ของสยามสปอร์ต ไปแบบฟรีๆ

4. สัญญาฉบับนี้ นอกเหนือจาก คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะลงนาม พร้อมด้วยพยานของสองฝ่ายแล้ว ยังปรากฎชื่อ วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ร่วมลงชื่อ ด้วย ในฐานะพยาน พร้อมกับข้อความ “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตกลงอนุญาตให้มีการมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ดิวิชั่น 1 ประจำปี 2554 ตามสัญญาฉบับนี้ได้”
แปลความได้ว่า การทำสัญญาฉบับนี้ รายได้ที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ และ สยามสปอร์ตฯ ได้รับไปนั้น วรวีร์ มะกูดี นายสมาคมฟุตบอล ได้รับรู้มาแต่ต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ วรวีร์ มะกูดี ในฐานะนายกสมาคมฯ ซึ่งร่วมลงชื่อในสัญญาด้วย ควรจะต้องตอบได้ และ ควรจะต้องตอบ ไม่ใช่ปัดให้สยามปสอร์ต ชี้แจงเพียงฝ่ายเดียว เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไม ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานไทยพรีเมียร์ลีก ในฐานะเจ้าของสิทธิอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่ได้ร่วมลงนามในสัญญานี้ด้วย หรือว่า วรวีร์ มะกูดี ลงนามได้ทั้งสองฐานะ คือ นายกสมาคมฟุตบอล และ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด

5. สัญญาฉบับนี้ ไม่ได้แนบมาพร้อมกับสัญญามอบสิทธิ ที่สยามสปอร์ต ได้จากสมาคมฟุตบอล แต่ได้รับการยืนยันทั้งจากสยามสปอร์ต และ นายกสมาคมฟุตบอล ว่า ข้อความที่นายกสมาคมฟุตบอล รับรองในฐานะพยาน มีผลเท่ากับสัญญามอบสิทธิให้แก่สยามสปอร์ต อยู่แล้ว

6. สัญญาฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ซื้อสิทธิ ให้ผลตอบแทนแก่สยามสปอร์ต เป็นเงิน 12,100,000 บาท จึงได้เป็นผู้มีสิทธิถ่ายทอดสดไทยลีกดิวิชั่น 1 ในขณะทีสยามสปอร์ต เคยชี้แจงว่า ขายลิขสิทธิ์ ให้ทรู วิชั่น 80,000,000 บาท แต่ยังไม่เคยเป็นที่เปิดเผยมาก่อนว่า สยามสปอร์ต ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยพรีเมียร์ลีก และ ไทยลีกดิวิชั่น 1 จากสมาคมฟุตบอลฯ และ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก มาด้วยวงเงินเท่าใด หรือ ได้มาฟรีๆ โดยไม่มีสัญญา เมื่อถึงบทไม่พอใจที่ถูกซักถามมากๆ จึงบอกเลิกได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกังวลกับผลที่จะติดตามมาจากการไม่รับผิดชอบต่อสัญญา

7. สัญญาฉบับนี้ ทำให้สงสัยมากขึ้นไปอีกว่าเหตุใด บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในฐานะเจ้าของสิทธิ ตามที่สยามสปอร์ต อ้างในสัญญา จึงไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ จากสยามสปอร์ต แม้แต่บาทเดียว และเหตุใดดร.วิชิต จึงไม่อยากรับรู้เรื่องเงิน เรื่องสิทธิประโยชน์ ไปจนถึงปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าของสิทธิโดยตรง พิจารณาคนเดียว ก็ได้ข้อสังเกตมาเพียงเท่านี้ หวังแต่ว่าเมื่อสัญญาฉบับนี้ สู่สายตาแฟนบอลทุกท่านแล้ว น่าจะมีการวิสัชนากันมากขึ้น และ แตกประเด็นคำถาม กันมากกว่านี้ ขอเชิญชมกันให้เต็มตา ครับ ใครมีฉบับอื่นๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยน เผื่อแผ่กันได้นะครับ ขอบคุณไว้ล่วงหน้า

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...