"สีดา" ตำนานรัก "โลงคู่" วัดหัวลำโพง

 เรื่องราวของเธอ  "ปราโนต วิเศษแพทย์"

ได้รับการปรุงแต่ง ต่อเติม แม้จะมีเค้าโครงจากบางบุคคล ที่ถูกนำมากล่าวอ้างอยู่บ้างก็ตาม และนี่เป็นอีก “มุมหนึ่ง” ซึ่งแตกต่างจากเรื่องที่คัดลอกจากรายการ “ย้อนรอย”

       เมื่อหลายปีก่อน … โศกนาฏกรรมแห่งรักเรื่องนี้ดรามายิ่งกว่าชีวิตของบุญเติมกับสมหญิง ดาวราย ในภาพยนตร์ “เพลงสุดท้าย” เสียอีก ตำนานรัก "โลงคู่" ของ “สีดา - ชีพ” ปรากฏแก่สาธารณชนที่ "วัดหัวลำโพง" เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2510 ทั้งคู่ตายตามสัตย์สาบานที่ให้แก่กันไว้ที่วัดพระแก้ว - ศาลหลักเมือง
       
       ข้อมูลไม่ตรงความจริง

        พ.ศ. 2532 หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว 22 ปี เรื่องของ “เธอ” ปราโนต วิเศษแพทย์ หรือที่คนในยุคนั้นเรียกเธอว่า "สีดา" ได้รับการเล่าขานผ่านบทเพลงในชื่อเดียวกัน คำร้องโดย “อารี อุไร” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “ครูน้อย” สุรพล โทณะวณิก 
       
        นับถึงวันนี้ ... เธอจากโลกนี้ไปนานถึง 44 ปีแล้ว และถ้าเธอยังมีชีวิตอยู่ ปีนี้... เธอจะอายุ 73 ปี ปัจจุบันหลักฐานที่เกี่ยวกับ “ตัวเธอ” ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายหรือพยานบุคคลแทบจะไม่มีหลงเหลืออีกแล้ว
       
       โลก อินเทอร์เน็ตรู้จักเธอในชื่อ ประโนตย์ วิเศษแพทย์ “นางเอกกรมศิลป์” รักอยู่กับ “ชีพ” คนขับสามล้อและทั้งคู่ไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน สีดาพยายามกินยาฆ่าตัวตาย 3 ครั้งจึงสำเร็จ

       ความจริง … นักเรียนนาฏศิลปรุ่นพี่ "ป้าแอน" ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ เคยบันทึกเล่าเรื่องนี้ไว้ ทำให้รู้ว่า...
       1. ชื่อที่ถูกต้องของเธอ ตามที่เพื่อนรุ่นพี่รับรองคือ นายปราโนต วิเศษแพทย์ (ส่วนใหญ่เขียน ประโณต)
       2. ปราโนตเป็นแค่นักเรียนนาฏศิลปคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่นางเอกกรมศิลป์
       3. ชีพ ไม่ใช่ “คนขับสามล้อ” หากแต่เป็นคนขับรถแท็กซี่ และรถสองแถว (ในเวลาต่อมา)
       4. สีดาพยายามกินยาฆ่าตัวตายอยู่ 8 ครั้ง (ในระยะเวลาใกล้กัน) จึงสำเร็จ
       5. ชีพได้บวชอุทิศส่วนกุศลให้กับปราโนต ก่อนที่จะตายตามจนกลายเป็นตำนานรัก “โลงคู่” ที่วัดหัวลำโพง และเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2510…
       
       ภูมิหลังครอบครัว - ชีวิต "ปราโนต"

       ปราโนต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2481 เป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวของนายยงค์ และหม่อมหลวง บุญนาค วิเศษแพทย์ มีพี่สาว 4 คน ฐานะครอบครัวอยู่ในระดับเศรษฐี สมัยนั้น ที่ทางหลังตลาดสวนพลู (ในซอยสวนพลู) เป็นของตระกูลนี้ เนื่องจากเขามีพี่เป็นหญิงล้วน เขาจึงซึมซับเอาความอ่อนโยน อ่อนหวานและอ่อนไหวจากบรรดาพี่สาว ผู้เป็นแม่รักลูกชายคนนี้มาก ตามใจจัดให้ทุกสิ่งอย่างไม่เคยขัด
       
      "แอน" ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในนิตยสารเกย์เล่มหนึ่งว่า...
       
       สมัยนั้น นักเรียนโรงเรียนนาฏศิลปจะเรียกสถานการศึกษาของตนเองว่า “ในกรม” นอกจาก “แอน” จะเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่โรงเรียนนาฏศิลปแล้ว ยังไปมาหาสู่กับบ้านของ “โนต” อยู่เป็นประจำ เนื่องจากเธอมีบ้านอยู่ในบริเวณละแวกสวนพลูเหมือนกัน บ้านของโนตไม่ได้มีท่าทีรังเกียจหรือต่อต้านผู้ชายที่เบี่ยงเบนทางเพศเลยแม้ แต่น้อย เพื่อนฝูงทุกคนจึงใช้บ้านของเขาหลังนี้ เป็นที่พบปะสังสันทน์กันเป็นประจำ
       
       เพื่อนร่วมรุ่น เดียวกับ “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ อีกคนชื่อ “ดำรงค์ ชื่นสมทรง” คู่นี้เป็นรุ่นพี่ของปราโนต 2 ปี เมื่อรุ่นของ “โนต” ได้เข้ามาเป็นนักเรียนนาฏศิลป “แอน” ทวีศักดิ์ ในฐานะรุ่นพี่จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกร่วมก๊วนเดียวกันทั้งหมด 4 คน อันได้แก่ ทวีศักดิ์ ชวนานนท์, ดำรง ชื่นสมทรง, ปราโนต วิเศษแพทย์ และไพฑูรย์ ศราคนี ทั้ง 4 คนเมื่อแรกได้รับการคัดเลือกให้รับบท “ตัวประกอบ” อันได้แก่ นางกำนัล, นางระบำ, เทพบุตร - นางฟ้า อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จนในคราวหนึ่งจะมีการแสดงใหญ่ของ “โรงละครในกรม” (โรงละครแห่งชาติ - ปัจจุบัน) ซึ่งจะเปิดการแสดงด้วยโขนตอน “นางลอย”
       
       หลังม่าน "สีดา" พบรัก "พระราม"

       กรมศิลปากรว่างเว้นการฝึกศิลปินโขนในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 หลายปี ต่อมาทางราชการได้มีคำสั่งให้โรงเรียนนาฏศิลปเร่งฝึกหัดนักเรียนเป็น “ศิลปินโขน” การแสดงใหญ่ของ “โรงละครในกรม” เป็นการปูพรม เพื่อจะได้ออกงานแสดงในพระราชพิธีสำคัญๆ เพื่อนร่วมก๊วนเดียวกันทั้ง 4 คนที่เคยเป็นตัวประกอบได้รับการคัดเลือกให้เข้าเล่นเป็น “ตัวเอก” เป็นครั้งแรก “แอน” ทวีศักดิ์ แสดงเป็น “นางเบญจกาย” ซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องในรามเกียรติ์ ตอน “นางลอย” , ดำรงค์ รับบท “นางมณโฑ” , ไพฑูรย์ รับบท “นางตรีชฎา” (แม่นางเบญจกาย) และ ปราโนต แสดงเป็น “นางสีดา” (ทั้งตัวยืนและตัวแปลง) ขณะนั้น … นักเรียนนาฏศิลป์ในรุ่นนั้นอายุเพียง 12-14 ปีเท่านั้น       

       ความงามของ "นางสีดา" ทำให้พระรามและทศกัณฐ์มาหลงรัก จนเป็นชนวนแห่งสงครามอันยาวนาน…
       
       แม้ ว่าบท “สีดา” ที่ปราโนต วิเศษแพทย์ แสดงอยู่นั้น จะไม่ได้แสดงท่ารำอันงดงามอะไรมากนัก แต่ที่คนจดจำเธอและขานนาม “สีดา” ก็เพราะความสวยสดงดงามของปราโนตที่ถูกนำมาจับแต่งเป็น “ตัวนาง” จนเป็นที่สะดุดสายตาของใครต่อใคร เธอมีความสวยอย่างธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งหรืออาศัยศัลยกรรมเข้าช่วยอย่างเกย์ , กะเทยในวันนี้
       
       โขน ตอน “นางลอย” นี้ฝึกซ้อมกันอยู่ 2 เดือนเต็ม โดยจะมีการแสดงติดต่อกันไปราว 3-4 เดือนจนกว่าจะเข้าสู่หน้าฝน … การฝึกซ้อมในครั้งนั้นได้ก่อให้ “โนต” (ตัวนาง) พบรักครั้งแรกกับตัวพระ ซึ่งมารับบท “พระราม” ทว่ารักครั้งแรกในครั้งนั้นก็อยู่แต่ในรั้วของโรงเรียนนาฏศิลปเพียงช่วงระยะ เวลาสั้นๆ เท่านั้น หลังจากที่ “ตัวพระ” สำเร็จการศึกษาก็ไม่ได้ติดต่อไปมาหาสู่กับ “ตัวนาง” อีกเลย รักครั้งนั้น เป็นเพียงความรู้สึกดีๆ ที่เธอให้แ่ก่เพื่อนร่วมสถาบันฯ ที่หน้าตาดีคนหนึ่งเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกพิเศษทางเพศแต่อย่างใด
       
       ไพฑูรย์ ศราคนี เพื่อน ร่วมรุ่นยืนยันว่า เมื่อตอนที่เรียนอยู่ปี 3 ปราโนตได้ละเมิดกฎระเบียบของโรงเรียนด้วยการไปแสดงโขนกับบุคคลภายนอก และคบหาเพื่อนกะเทยต่างสถาบัน และนั่นทำให้ “โนต” ต้องออกจากโรงเรียนนาฏศิลป์กลางคันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ขณะที่อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่มิตรภาพระหว่างเพื่อนกลุ่มนี้ก็ยังคงอยู่และไปมาหาสู่กันเสมอ โดยมีบ้านของโนตเป็นศูนย์กลางการพบปะ
       
       ฉายา "นางงาม 50 มงกุฎ" กับรักครั้งที่ 2

       ความงาม ของ ปราโนต วิเศษแพทย์นี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่กะเทยในยุคนั้น หลังออกจากการเป็นนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป เธอเริ่มเดินสายประกวด … นับครั้งไม่ถ้วน ลงเวทีไหนเป็นต้องชนะเวทีนั้น เรียกว่า "สวยไร้คู่แข่ง - สวยไม่ปรานีปราศรัย" จนบรรดากะเทยร่วมรุ่นถึงกับข่มขู่เวทีประกวดสาวงามประเภทสอง ในยุคนั้นว่า
       
      "ถ้าเวทีไหนมีปราโนต นางโนต อีโนต (แล้วแต่จะเรียก) เข้าประกวด คนอื่นจะไม่ยอมลงประกวดด้วย"
       
       ในแวดวงสาวงามประเภทสอง มีการตั้งฉายาให้ ปราโนต วิเศษแพทย์ หรือ “สีดา” ว่า "นางงาม 50 มงกุฎ" การสวยแบบไร้คู่แข่ง ลึกๆ แล้วสำหรับเธอเริ่มไม่สนุกกับการประกวดสักเท่าใด ประกอบกับข่าวที่เพื่อนนางงามไปเที่ยวข่มขู่ตามเวทีต่างๆ ทำให้เธอตัดสินใจ “แขวน” ตำแหน่งสาวงามประเภทสอง ตั้งแต่บัดนั้น … เธอร้างเวทีไปหลายปี จนในปีหนึ่งมีงานใหญ่ ที่สำคัญการประกวดในเวทีนั้นมีเงินสดเป็นรางวัลถึง 500 บาท นอกเหนือจากมงกุฎ ขันน้ำ พานรอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการประกวดนางงาม “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ คนนี้แหละที่เป็นคนคะยั้นคะยอเพื่อนรุ่นน้องให้ลงประกวดอีก (สัก) ครั้ง ทั้งๆ ที่ “โนต” ยืนยันว่า เธออายุมากแล้ว !!
        
       ครั้งนั้น … นับเป็นการประกวดครั้งสุดท้ายสำหรับปราโนต วิเศษแพทย์ การจัดงานในคราวนั้นได้สร้างเวทีปิดทางลงท่าน้ำที่จะข้ามไปยังวัดระฆังโฆสิ ตาราม ครั้งนั้นเธอคว้าตำแหน่ง “ชนะเลิศ” มาอีกจนได้
       
       คืนนั้น … ชายหนุ่มรูปงาม ผิวคล้ำ คมเข้มคนหนึ่งได้ปรากฏขึ้น เขาชื่อ "สมบูรณ์" เรียกกันในกลุ่มว่า "บูรณ์" เขาเข้ามาขอทำความรู้จักกับ “สีดา” โดยผ่านมาทาง “แอน” ทวีศักดิ์ เมื่อเธอนำความไปแจ้งแก่นางงาม “สีดา” เธอไม่ได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใด หลังจากที่ทำความรู้จักอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งคู่คบหาและอยู่กินกันนานถึง 8 ปี
       
       ปีแรก ปราโนตไปที่บ้านของสมบูรณ์บ้าง บูรณ์มาค้างที่บ้านสีดาบ้าง และในปีที่ 2 สมบูรณ์ก็ย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ที่บ้านในซอยสวนพลูของปราโนต ความรักของทั้งคู่ในหลายปีแรกก็ดูจะราบรื่นและดูดดื่มกันดี มีเพียงประการเดียวคือ ต่างฝ่ายต่างแสดงอาการหึงหวงซึ่งกันและกัน ในระยะหลังความหอมหวานในชีวิตก็เริ่มจืดจางและหมดลงในที่สุด ความหึงหวงถูกแปรเปลี่ยนเป็นการกระแหนะกระแหน ด่าทอ ตบตี ลงไม้ลงมือกัน บ่อยครั้งที่สมบูรณ์ต้องออกจากบ้านสวนพลูกลางดึกเพื่อกลับไปนอนที่บ้านตัว เอง ในปลายปีสุดท้าย ฝ่ายชายเริ่มมีผู้หญิงคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ๆ ไม่ใช่ผู้หญิงในร่างชายอย่างปราโนต
       

        ที่สุดแห่งรักคือการจากพราก … ไม่ว่า "จากเป็น" หรือ "จากตาย" !!
       
        "จากเป็น" หนนี้ บูรณ์ตัดสินใจออกจากบ้านของปราโนตที่ซอยสวนพลูโดยที่ไม่ได้บอกใคร ปราโนตใช้เวลาหลายเดือนในการตามหาคนรัก ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น ทุกหนแห่งที่คิดว่าจะเจอเขา แต่ก็คว้าน้ำเหลวทุกครั้ง... ถึงแม้ว่าปราโนตจะพาสมบูรณ์มาอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่พี่สาวและคนในครอบครัวของเขากลับไม่ค่อยรู้เรื่องราวและที่มาที่ไปของ ผู้ชายคนนี้มากนัก ทั้งๆ ที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันมานานถึง 8 ปี
       ความชอกช้ำ สะเทือนใจของ "รักจำพราก" ในครั้งนั้น ปรา โนตมีเพียง บุหรี่ และเหล้าเป็นเพื่อน สูบ และดื่มตลอดเวลา ตกกลางคืนก็ออกเที่ยวเตร่ (ชนิดหามรุ่งหามค่ำอย่างไร้จุดหมาย) เพื่อให้ผ่านพ้นค่ำคืนแห่งความเหงาและปวดร้าว เธอใช้เวลาอยู่กับภาวะโศกเศร้าเสียใจนี้นานถึง 2 ปีเต็ม จนพบผู้ชายคนใหม่ที่เข้ามาเยียวยาหัวใจเธออีกครั้ง...
        
       "ชีพ" ความรักครั้งสุดท้าย

       ในคืนหนึ่งขณะที่ “แอน” ทวีศักดิ์ และปราโนตกลับจากงานเลี้ยง แอนตั้งใจโบกรถแท็กซี่เพื่อไปส่งสีดาที่บ้านก่อนจะเลยไปยังบ้านแอนซึ่งอยู่ ในซอยสวนพลูเช่นเดียวกัน ช่างบังเอิญว่ามีรถแท็กซี่คันหนึ่งจอดอยู่บริเวณนั้นพอดี แอนจึงเข้าไปหมายจะต่อรองราคา และทันทีที่เธอเห็นหน้าโชเฟอร์เท่านั้นแหละ ราคาไม่ต้องต่อกันแล้ว !! เท่าไหร่เท่ากัน เพราะหน้าตาของคนขับแท็กซี่คันนั้น หล่อราวกับ “พระเอกหนัง” เลยทีเดียว แอนนั่งหน้าข้างคนขับ ส่วนสีดาเมามายไม่ได้สติกึ่งนอนกึ่งนั่งอยู่ทางเบาะหลัง ตลอดเส้นทางสู่ซอยสวนพลู โชเฟอร์หนุ่มถูก “แอน” ทวีศักดิ์ เกี้ยวพาราสี แทะโลมอยู่เป็นระยะ … หลังจากส่งโนตที่บ้านแล้ว คืนนั้น … โชเฟอร์หนุ่มกับแอนได้มุ่งสู่ปลายทางฉิมพลีด้วยกัน … หลังเสร็จกามกิจ เขาให้สัญญาว่า จะมาหาใหม่ในวันรุ่งขึ้น !!
       
       บ่าย วันรุ่งขึ้นเขามาหาแอนที่บ้านตามที่สัญญาไว้ และบอกว่า วันนี้ … ไม่ขับรถ 1 วัน ดังนั้น “นางกอ” ทั้งหลายจึงมารวมพลชุมนุมกันที่บ้าน ทำอาหารกินกันและดื่มกันบ้างตามสมควร และในช่วงหนึ่ง โชเฟอร์หนุ่มคนนั้นขอคุยกับ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นการส่วนตัว !!
       
       "พี่อย่าโกรธผมนะครับ … ผมอยากจะบอกพี่ว่า ผมชอบสีดา ชอบมาตั้งแต่แรกเห็นที่เธอนอนฟุบอยู่ที่เบาะหลัง"…
       
       นั่นทำให้ “แอน” ทวีศักดิ์ นึกถึงบางประโยคของเขาบนแท็กซี่เมื่อคืน …
       
       "เพื่อนพี่สวยนะครับ ขนาดเมาไม่ได้สติยังสวยขนาดนี้ ถ้าไม่เมาจะสวยขนาดไหนน้อ"…
       
       เขา ยอมรับว่า เหตุผลที่เขามาในวันนี้เพื่อจะบอก “บางอย่างในใจ” ที่เขารู้สึกกับสีดาตั้งแต่แรกเห็น “แอน” ทวีศักดิ์ไม่ได้โกรธ แต่พร้อมจะสนับสนุน ถ้าเขาจะรู้สึกดีกับ “โนต” เพื่อนรุ่นน้องของเธอ … บางทีผู้ชายคนนี้อาจจะเป็นความหวังใหม่ที่พา “โนต” ให้เป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง
       
       โชเฟอร์หนุ่มคนนี้ชื่อ "ชีพ" สมชาติ แก้วจินดา ไฟปรารถนาของเขาและปราโนต วิเศษแพทย์ เริ่มต้นตั้งแต่คืนนั้น … และชีพย้ายตัวเองมาอยู่ที่บ้านของโนตในซอยสวนพลูในเวลาต่อมา โดยยึดอาชีพขับรถแท็กซี่เหมือนเดิมและรายได้ทั้งหมด เขาให้โนตเป็นคนเก็บ เพื่อเลี่ยงคำครหาว่า เขามาเกาะกะเทยกิน !! เนื่องจากครอบครัวของโนตเป็นผู้มีฐานะ ทั้งคู่อยู่กันนานหลายปี เรื่องเดิมๆ ก็เกิดขึ้นมาอีก

       ลึกลงไปในความสวย … เยี่ยง "นางสีดา" นางในวรรณคดี …
        
       ปรา โนตได้ซุกซ่อนความเจ้าอารมณ์ , ปากคอจัดจ้าน ขี้งอน และมองโลกในแง่ลบกับตัวเองและคนรักอย่างสุดๆ อยู่ทุกอณูของลมหายใจ … คิดตลอดเวลาว่า เธอไม่ใช่ "หญิงแท้" เพราะ สรีระของร่างกายในยุคนั้นยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เธอกังวลว่าความสุขที่เธอมอบแก่ชีพนั้นจะไม่เต็มที่อย่างที่เขาต้องการและ พึงใจ เหตุนี้ … ทุกครั้งที่ชีพกลับบ้านช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ แม้ชีพจะแจงให้ฟังว่าไปส่งผู้โดยสารไกล แต่โนตก็หารับฟังแต่ประการใดไม่
        
       ต่อ มาปราโนตได้แก้ปัญหานี้ด้วยการให้ชีพเลิกขับรถแท๊กซี่รับจ้าง โดยซื้อรถสองแถว (มือสอง) ให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในละแวกใกล้ๆ กับซอยสวนพลู เพื่อจะไม่เป็นข้ออ้างอีก โดย “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นคนที่ไปติดต่อเสียเงินค่าหัวคิวรถให้ เส้นทางเดินรถจะวิ่งจาก ตลาดบางรัก (ฝั่งตรงข้าม) เข้าซอยเซนต์หลุยส์ และไปสิ้นสุดที่ตรอกจันทร์ สะพาน 3
       
       คนขับ รถหน้าใหม่ รูปหล่อคนนี้ สุภาพ เรียบร้อย พูดจาดีกลายเป็นที่หมายปองของสาวแท้ - สาวเทียมที่ต้องเดินทางโดยสารไปบนถนนเส้นนี้ ในแต่ละวันมีทั้งแม่ค้าและสาวๆ ซื้อมาลัยมาคล้องกระจกหน้ารถและแย่งกันนั่งข้างคนขับอยู่เป็นประจำ พอข่าวทำนองนี้ถึงหูของโนตเท่านั้นแหละ เธอก็เดินสายออกอาละวาดทุกคนที่มายุ่งกับชีพ ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม จนมีเหตุต้องขึ้นโรงพักหลายครั้ง คนในละแวกนั้นต่างทราบถึงชื่อเสียงในทางหึงหวงของกะเทยนางนี้เป็นอย่างดี เธอแก้ปัญหาเรื่อง “ผู้หญิงอื่น” ที่มาติดพันชีพด้วยการนั่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถ ออกและกลับบ้านพร้อมกัน นั่งอยู่หลายเดือนจนชีพเริ่มอึดอัด โดยชีพได้มาขอร้องให้ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นหนังหน้าในการคอยไกล่เกลี่ยเรื่องทั้งหมด และยอมกลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม
       
       ถ้าเราไม่ซื่อให้ตายด้วยกัน !!

       ปราโนตยอมรับที่จะให้ชีพออกไปขับรถส่งผู้โดยสารเพียงลำพังอีกครั้ง แต่ต้องแลกด้วยคำสาบาน...
       "ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป" นี่ คือถ้อยความที่ทั้งคู่ให้กันไว้ที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมือง โดยมี “แอน” เป็นพยานที่ได้ยินกับหูในคราวนั้น หลังสัตย์สาบานในครั้งนั้น ทั้งคู่ก็ยังทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนเดิม โดยชีพขอแยกตัวไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยเซนต์หลุยส์ จนเมื่อปราโนตระแคะระคายว่ามีผู้หญิงมาติดพันจึงชวนญาติชื่อ วรสิทธิ์ คชสุนทรไปบ้านเช่าของชีพ เธอไปด้วยอาการเมามายจึงคุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้เองที่ตอกย้ำความเชื่อของเธอจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น ...โนตจึงทำเรื่องให้ ชีพ ครอบครัว และเพื่อนฝูง ตกใจเป็นระยะๆ ด้วยการกินยาตายอยู่หลายครั้ง ในวาระที่ใกล้ๆ กัน เธอผ่านการล้างท้องมาถึง 7 ครั้ง ร่างกายผ่ายผอม ทรุดโทรม จนไม่หลงเหลือเค้าความสวยของ “สีดา” และนักล่ารางวัลบนเวทีนางงามสาวประเภทสอง อีกเลย
       
       หัวค่ำของคืนวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 ฝนตกหนัก!! บรรดาพี่สาวทั้งหลายของโนตยังไม่กลับบ้าน พี่สาวคนหนึ่งไปบ้านน้องสาวในละแวกนั้นและติดฝนอยู่ ขณะที่น้องสาวอีกคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลศิริราชติดเวรอยู่ที่โรงพยาบาล ชีพยังติดคิวรถอยู่ที่ตลาดบางรัก ... ใครจะคิดว่า คืนนั้นโนตจะกินยาหมายจะปลิดชีวิตตนเองเป็นครั้งที่ 8 หลังจากฝนเริ่มซา พี่ๆ น้องๆ เริ่มกลับบ้าน น้องสาวคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลต้องเดินผ่านห้องของโนตก่อนจะถึงห้องตัวเอง ... เธอเห็นห้องนอนของโนตแง้มบานประตูไว้ เธอมองลอดเข้าไปในห้อง ภาพที่เห็นนั้นทำให้เธอถึงกับผงะ ... โนตนอนน้ำลายฟูมปากอยู่บนเตียง ลมหายใจระทวยเต็มที ... เธอวิ่งออกจากบ้านไปเรียกให้เพื่อนบ้านมาช่วยอุ้มโนตไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน และส่งคนไปบอกชีพที่คิวรถ ... “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์มาทราบความจากชีพเมื่อตอน 6 โมงเช้าและเริ่มกระจายข่าวสู่เพื่อนฝูง ... บางส่วนไปรับศพที่โรงพยาบาลตอน 5 โมงเช้า บางคนที่ไม่ว่างก็ตรงไปรดน้ำศพที่วัดหัวลำโพงในตอนเย็น
       
       พระช้อนเกศขึ้นวางตัก พิศพักตร์แล้วรับขวัญ
       ยิ่งคิดยิ่งกระสัน ยิ่งโศกเศร้าในวิญญา
       พิศพื้นศิโรโรตน์ พระองค์โอษฐ์และนัยนา
       กรแก้มพระกัณฐา ก็แม้นเหมือนสีดาเดียว
       (บทโขน “นางลอย” - รามเกียรติ์)
       
       "ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย" ... ชีพพร่ำพูดแต่ประโยคนี้พลางร้องไห้กอดศพของโนตแน่น ประหนึ่งความเสียใจที่พระรามพร่ำพรรณนาเมื่อเห็นศพนางสีดาที่นางเบญจกายแปลง ลอยทวนน้ำในบทโขน “นางลอย” ไม่มีผิด ... ชีพไม่ยอมแม้จะให้เอาศพโนตใส่โลงจนเพื่อนๆ ต้องปลอบและยกเหตุผลนานัปการมาแจกแจงจนยอม
       
       เย็น วันเดียวกันนั้นเอง ... ชีพได้แสดงเจตจำนงที่จะบวชอุทิศส่วนกุศลให้กับโนต หลังบวช ชีพมานั่งฟังสวดศพทุกคืน ตามกำหนด ศพของสีดาจะตั้งบำเพ็ญกุศลเพียง 3 คืน แล้วเก็บศพไว้ 100 วันจึงเผา ไม่มีใครทราบว่าชีพคิดอะไรอยู่ในใจ
       
       หลังสวดศพครบ 3 คืน วันรุ่งขึ้นหลังเลี้ยงพระเพลก็เก็บศพไว้ เพื่อนๆ มาส่งเณรชีพที่กุฎิ และบอกว่า ถ้าเณรสบายใจก็บวชต่อไปเรื่อยๆ เขาไม่ได้ตอบความนี้ว่ากระไร จนเมื่อเพื่อนฝูงลากลับ 6 โมงเย็นวันนั้น เณรชีพก็ไปพบหลวงตาเจ้าอาวาสและบอกว่าอยากสึก!! หลวงตาได้ตรวจดูดวงชะตาแล้ว พบว่า "ดวงขาด ชะตาถึงฆาต" จึงพยายามจะทัดทานเพื่อให้ชีพผ่านพ้นชะตาในระยะนี้ไปก่อน แต่สุดท้ายเมื่อ ชีพยืนยันหนักแน่น ... หลวงตาจึงต้องดำเนินตามประสงค์ และได้ให้โอวาทเพื่อเตือนสติไป... 
        
       ใคร จะคิดว่า ชีพได้ตัดสินใจเตรียมการทุกอย่างให้กับชีวิตในเวลาต่อมา!! เริ่มต้นจากการกลับไปที่ห้องของโนตที่บ้านสวนพลู เพื่อจับต้องและมองข้าวของทุกชิ้นเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นได้นำพัดลม โทรทัศน์ที่เป็นสมบัติร่วมกันของเขากับโนตไปจำนำ ได้เงินมาหลายพันบาท และนำเงินจำนวนนี้ไปให้แก่คนในบ้าน จากนั้นได้เขียนจดหมายสั่งเสียว่า "ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อทำศพของเขา ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต" ชีพกินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 15 ในเดือน - ปีเดียวกัน.

1 มิ.ย. 54 เวลา 20:14 7,120 5 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...