คุณคิดอย่างไรกับเหล้าปั้น...เครื่องดื่มหัวเกรียน โทษร้าย!

 

         อาจไม่ต้องทำสถิตินักดื่มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น เพราะเพียงแค่ เดินเฉียดบรรดาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย ก็พอคะเนได้ถึงปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่นั่งกระดกแก้วเป็นว่าเล่นอย่างน่าตกใจ แต่หากสังเกตย้อนหลังไป เครื่องดื่มมึนเมาเริ่มหันมาทำการตลาดกับผู้หญิงและจูงใจนักดื่มวัยละอ่อน ก็ด้วยการออกสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ

 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็คิดค้นเครื่องดื่มที่มีสี สันสดใส ราคาถูก ยามดื่มเหมือนกินน้ำหวาน ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกิด นิยาม “เครื่องดื่มหัวเกรียน”ซึ่งเรียกขาน “เหล้าปั่น” ที่ปัจจุบันบรรดาเด็กนักเรียนมัธยมเริ่มหันมาดื่มกันอย่างแพร่หลาย

สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขยายความหมาย “เครื่องดื่มหัวเกรียน” จากการสำรวจว่า เด็กเริ่มดื่มเหล้าปั่นตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ขณะที่เยาวชนอายุ 15-19 ปี ดื่มติดต่อกันร้อยละ 70 จากอายุของคนดื่ม ที่ต่ำลงทำให้ในบางพื้นที่ซึ่งทำการสำรวจให้ฉายาเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า เครื่องดื่มหัวเกรียน เนื่องจากตอนนี้ร้านเหล้าปั่นเริ่มแพร่กระจายโดยรอบโรงเรียนมัธยม จากเดิมที่มีร้านเหล้าปั่นหนาแน่นละแวก มหาวิทยาลัย

จากการแพร่กระจายของร้านเหล้าปั่นทำให้นักเรียนสามารถหาซื้อได้ง่าย บวกกับรสชาติหวานที่นักดื่มหน้าใหม่สามารถบริโภคได้โดยไม่รู้ตัวว่ามีแอลกอฮอล์ ผสมอยู่ ขณะเดียวกันก็แต่งสีสันสดใส ทำให้ไม่เป็นที่ผิดสังเกต กลุ่มนักเรียนเหล่านี้จึงนำเหล้าปั่นใส่ถุงพลาสติกถือเข้าไปดื่มในโรงเรียนได้อย่างสบาย โดยครูไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นเหล้าปั่นเพราะมีสีสันเหมือนน้ำผลไม้ปั่นธรรมดา

 



และด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงนิยมเหล้าปั่นอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันร้านขายเหล้าปั่นจะมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เช่น หากนักท่องเที่ยวชายสองคนมากับผู้หญิงหนึ่งคนจะได้เหล้าปั่นฟรีหนึ่งเหยือก ซึ่งตรงกับผลสำรวจที่พบว่า หญิงสาวมักเริ่มดื่มครั้งแรกเพราะฝ่ายชายสั่งให้ดื่ม

“การเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่เด็กไม่ว่าจะมีแอลกอฮอล์ต่ำหรือสูงย่อมทำให้เด็กมีโอกาสติดเหล้าได้ง่ายในอนาคต ซึ่งหากดื่มเหล้าตั้งแต่เด็กจะมีผลทำร้ายสมองส่วนความจำและการตัดสินใจ และจากการสำรวจผู้ติดเชื้อเอดส์ในวัดพระบาทนํ้าพุ ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ติดเชื้อเพราะเมาสุราทำให้ไม่ได้ป้องกันตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์”

ส่วนเหล้าปั่นเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม สงกรานต์ ให้ความเห็นว่า แม้จะมีแอล กอฮอล์ผสมไม่มากนัก แต่ด้วยรสชาติที่หวานทำให้สามารถ ดื่มได้ทีละมาก ๆ ซึ่งความหวานจะทำให้แอลกอฮอล์ดูดซับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เร็วขึ้นทำให้เมาง่าย โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่ดื่มไปแล้วเมาไม่รู้ตัว ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่นักศึกษาสาวไปเที่ยวกับเพื่อน หนุ่มแล้วฝ่ายชายสั่งเหล้าปั่นให้ดื่ม ด้วยความที่ดื่มง่ายไม่มีรสชาติขม หญิงสาวจึงดื่มจนเมามาย มารู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ในโรงแรมกับฝ่ายชายที่หลอกเธอมาเพื่อมอมเหล้า

และด้วยความที่สังคมตื่นตัวมากขึ้น ทำให้ภาครัฐเริ่มเข้าไปดูแลร้านเหล้ารอบสถานศึกษา และพบว่าบางร้านตกแต่งหน้าร้านเพื่ออำพรางไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าขายเหล้าปั่น แต่พอเข้าไปในร้านลูกค้าสามารถสั่งเหล้าปั่นประเภทต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

“ด้วยความที่วัยรุ่นอยากรู้อยากลองทำให้ผู้ประกอบการพยายามแต่งหน้าร้านให้มีสีสันสดใส ดึงดูดกลุ่มเยาวชนให้เข้าไปใช้บริการ ขณะเดียวกันชื่อเหล้าปั่นและชื่อร้านก็ตั้งเพื่อดึงดูดใจกลุ่มเยาวชนให้อยากรู้อยากลอง ซึ่งเมื่อเข้าไปใช้บริการหลายคนติดใจและใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนมั่วสุมในร้าน”

 



สงกรานต์ กล่าวถึงการป้องกันไม่ให้มีจำนวน นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นว่า ต้องเริ่มจากครอบครัวโดยผู้ ปกครองไม่ควรดื่มเหล้าเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เพราะเด็กจะรู้สึกว่า การดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดาและเลียนแบบพฤติกรรม ขณะเดียวกันผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กลิ้มลองอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากขณะนี้มีขนม เช่น ช็อกโกแลตที่มีส่วนผสมของเหล้าจะทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับรสชาติของสุรา และนำไปสู่การดื่มเหล้า ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของสุรา ตั้งแต่เด็กเพื่อให้เขารู้เท่าทันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ส่วนครอบครัวที่มีลูกติดสุราอยู่แล้ว ควรให้กำลังใจเด็กในการเลิกเหล้า ขณะเดียวกันควรให้เวลาในการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ระยะแรกของการเลิกจะรู้สึกหงุดหงิด ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพาเขาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้จัดการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึงวงจรเหล้าปั่นในประเทศว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่คิดค้นเหล้าปั่น โดยขายในราคาถูกใส่เหยือกอันแสดง ออกถึงความเป็นเพื่อน ขายได้อย่างเสรีตามริมถนนหรือรอบสถานศึกษา ต่างจากประเทศทั่วโลกที่มีเครื่องดื่มค็อกเทลรสชาติหวานคล้ายคลึงกัน แต่ต้องผ่านการชงของบาร์เทนเดอร์ในสถานที่ให้บริการ ซึ่งมีราคาแพง ทำให้กลุ่มเยาวชนในต่างประเทศ ยากที่จะดื่มเหล้าประเภทนี้ ได้ง่าย

เหล้าที่นำมาผสมเพื่อเป็นเหล้าปั่นส่วนใหญ่มีราคาถูกเพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้ถึงคุณภาพของเหล้าที่นำมาผสมเพราะรสชาติความหวานได้กลบไว้หมด ซึ่งในบางกรณีคนขายอาจนำเหล้าที่ต้มเอง มาเป็นส่วนประกอบได้ บางครั้งผู้ต้มไม่มีความชำนาญทำให้มีสารเมทานอลตกค้างในเหล้าที่ผลิตขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคตาบอดได้


ปัจจุบันเด็กกำลังตกเป็นเหยื่อจากเหล้าปั่นมากมาย ดังนั้นภาครัฐต้องมีความกล้าหาญในการออกแนวทางป้องกัน เช่น ห้ามโฆษณาขายเหล้าให้กับกลุ่มเยาวชนอย่างจริงจัง กำหนดอายุผู้ซื้อและผู้ดื่มอย่างเป็นระบบ จำกัดการขายไม่ให้เด็กสามารถซื้อเหล้าในร้านที่อยู่ใกล้สถานศึกษา

ขณะที่การทำงานของภาครัฐที่ผ่านมายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น การรณรงค์ไม่ให้เยาวชนดื่มเหล้า เพราะพวกเขาเหล่านั้นรู้ดีอยู่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมเป็นตัวบีบบังคับให้เด็กหันมาดื่มเหล้ามากขึ้น ตลอดจนออกข้อกำหนดให้ดื่มไม่เกินวันละกี่แก้ว ซึ่งการรณรงค์แบบนี้ยิ่งกระตุ้นให้เด็กไม่เลิกเหล้า แต่ยังดื่มในปริมาณที่กำหนด

ปัญหาของเหล้าปั่นกับเยาวชนในอนาคต ทุกคนควรมองภาพรวมเพราะตอนนี้เหล้าปั่นอาจเป็นแฟชั่นหนึ่งของวัยรุ่น ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีเหล้าประเภทอื่นมาแทนที่ ดังนั้นจึงควรมองถึงการแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่าการมองเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น ๆ เพราะพวกเขาคือ อนาคตของชาติที่จะมาทดแทนผู้ใหญ่ในวันนี้ ซึ่งชาติ จะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเด็กเหล่านี้

จริงอยู่ที่สภาวะปัจจุบันถูกกำหนดด้วยการตลาดเป็นใหญ่ ซึ่งอาจทำให้กระอักกระอ่วนใจเลือกระหว่าง “เงินกับจริยธรรม” แต่สุดท้ายการกระทำจะเป็นผู้กำหนด!

ขบคุณ : ศราวุธ ดีหมื่นไวย์

 

 

 

18 พ.ย. 52 เวลา 16:48 3,251 22 56
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...