สัมผัสที่ 6 "สัตว์" เตือนภัยสึนามิ!!

สัมผัสที่ 6 "สัตว์" เตือนภัยสึนามิ!!

 

รุ่งอรุณวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ตึกสูงมากมายถล่มลงมา ประชาชนนับร้อยคนถูกฝังทั้งเป็นใต้ซากอิฐปูนที่ปรักหักพัง

            เวลาบ่ายโมงของที่นั่นคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในตึกที่ทำงาน เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 300 คน ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 3.6 แสนล้านบาท

           ห่างกันไม่กี่ชั่วโมงเวลาประมาณ 10.10 น. (เวลาในไทย) อีกด้านหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดแผ่นดินไหวในประเทศฟิลิปปินส์ขนาด 5.3 ริกเตอร์ ห่างจากกรุงมะนิลาเพียง 66 กม.
 อาคารสูงสั่นสะเทือนแต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

            ผ่านไปเพียง 1 คืน เวลา 22.53 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยประกาศเตือนแผ่นดินไหว ที่สปป.ลาว ขนาด 4.7 ริกเตอร์ ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคอีสานรับรู้ถึงแรงสั่นไหวโดยเฉพาะ จ.แพร่ น่าน เลย อุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู



             แม้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ส่วนนั้นเกี่ยวพันกันแต่ "วิริยะ มงคลวีราพันธ์" อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) วิเคราะห์ว่า ในแต่ละครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ จะเกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังจุดอื่น โดยเฉพาะประเทศที่อยู่บนแผ่นเปลือกโลกเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แม้ว่าระยะทางจะห่างกันหลายพันกิโลเมตรก็ตาม ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ชิลีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ขนาด 8.8 ริกเตอร์ ทำให้บ้านเรือนพังทลาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 คน และไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านคน ผ่านไป 12 ชั่วโมง ก็เกิดแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นขนาด 6.9 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 คน

             ศูนย์เตือนภัยสึนามิภูมิภาคแปซิฟิกของสหรัฐได้ออกประกาศเตือนภัยไปยังหลายประเทศทันที เนื่องจากความแรงขนาด 8.8 ริกเตอร์ อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิเป็นบริเวณกว้างได้

             "หลังจากแผ่นดินไหวที่ชิลี ผมก็นั่งเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันว่า จะมีคลื่นสึนามิ เข้ามาฝั่งไทยหรือเปล่า ปรากฏว่าคลื่นสึนามิ มาจริงที่ญี่ปุ่นแต่สูงไม่ถึง 1 เมตร แล้วก็เข้ามาฝั่งอ่าวไทยเลยไม่น่าเป็นห่วงเพราะฝั่งอ่าวไทยน้ำทะเลตื้น จึงไม่มีสึนามิลูกใหญ่ อย่างมากก็สูงแค่ 15 ซม. ส่วนแผ่นดินไหวที่เกิดในนิวซีแลนด์แล้วส่งผลถึงสปป.ลาวหรือไม่นั้น คงต้องใช้เวลาตรวจสอบทางธรณีวิทยาว่าเชื่อมโยงกันหรือเปล่า แต่ที่ต้องระวังคือสึนามิเพราะนิวซีแลนด์เป็นเกาะ แรงสั่นสะเทือนต้องดันไปยังพื้นใต้น้ำ ซึ่งอาจเกิดคลื่นยักษ์ได้ ผ่านไป 2 วันก็โล่งใจว่าไม่มี" วิริยะกล่าว

            แม้ว่า "มหันตภัยสึนามิ" จะเป็นภัยธรรมชาติที่คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มพยายามเชื่อมโยงกับความรู้ในอดีตว่า สัตว์ใหญ่จะมีสัมผัสที่ 6 เป็นสัญชาตญาณเตือนภัยสึนามิ ดังเช่น กรณีแผ่นดินไหวเขย่าโลกขนาด 9.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.3 แสนคนนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลพบว่าก่อนหน้านั้นมีสัตว์หลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่บนบกและในน้ำ มีพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวผิดธรรมชาติ เช่น ฝูงนกขนาดใหญ่ที่บินหนีทั่วท้องฟ้า หรือฝูงช้างป่าที่เคลื่อนขบวนสู่ภูเขาสูง 

            ดร.เฮอร์เว ฟริตซ์ (Herve Fritz) นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์แห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส  (France's National Centre for Scientific Research) ยืนยันว่า สัตว์โดยเฉพาะที่เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีความสามารถในการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนหรือคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำจากระยะไกล หรือที่เรียกว่า อัลฟราซาวนด์ คลื่นความถี่ต่ำกว่า 20 เฮิรตซ์ ทำให้สัตว์พวกนี้หนีเอาตัวรอดได้ในเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ ส่วนพวกนกจะอ่อนไหวมากหากความกดอากาศเปลี่ยนแปลงไป  เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "รหัสเตือนภัย" (alarm codes)           
     
            มีสิ่งบอกเหตุบางอย่างเชื่อมโยงกับการตายของ "วาฬบรูด้า" หลายตัวที่ลอยขึ้นอืดที่ฝั่งอ่าวไทย ช่วงเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวหลายจุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่าแผ่นดินไหวอาจทำให้วาฬสูญเสียเรดาร์จึงหลงทางกลับเข้าหาฝูงไม่ได้ หรือมันอาจพยายามเข้ามาเตือนภัยธรรมชาติให้มนุษย์ หรือหนีคลื่นสึนามิใต้น้ำจนตาย

            เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ชเพียง 1 วัน  มีรายงานการพบซากวาฬบรูด้า เพศเมีย น้ำหนัก 2 ตัน ยาวกว่า 10 เมตร ลอยมาเกยตื้นที่เกาะแสมสาร สัตหีบ จากนั้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ สปป.ลาว 1 วันเช่นกัน มีรายงานจากอ่าวละแม จ.ชุมพร ว่า พบซากวาฬบรูด้า น้ำหนัก 4 ตัน ตายอยู่ชายฝั่งทะเล

            ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ให้ข้อมูลว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานวาฬบรูด้าตายแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ตัว ถือเป็นเรื่องผิดปกติเป็นอย่างมาก เพราะตามธรรมชาติแล้วจะมีวาฬบรูด้าตายแค่ปีละ 1-2 ตัวเท่านั้น คราวนี้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นวาฬกลุ่มเดียวกัน แต่ไม่สามารถผ่าพิสูจน์ได้ เพราะสภาพเน่าและขึ้นอืดมาหลายวันแล้ว คาดว่าตายแบบเฉียบพลันเพราะอายุยังน้อย โดยธรรมชาติแล้ววาฬบรูด้ากลุ่มนี้อาศัยอยู่รวมกันหลายสิบตัว พบแถวอ่าวไทย จ.สมุทรสาคร มักเคลื่อนย้ายไปมาตามฝูงปลากระตักซึ่งเป็นอาหารสำคัญ ส่วนฝั่งอันดามันจะพบแถวเกาะราชา จ.ภูเก็ต

             "ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แน่ชัดว่าพฤติกรรมการหนีตายของสัตว์ใหญ่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับแผ่นดินไหวหรือสึนามิ แต่มีการบันทึกความผิดปกติของสัตว์ไว้ได้ช่วงก่อนเกิดสึนามิ หากอยากรู้ความเชื่อมโยงตรงนี้คงต้องศึกษาอย่างละเอียด รวมถึงการโยกย้ายถิ่นฐานของสัตว์พวกนี้ด้วยว่า มีการว่ายไปมาระหว่างชายฝั่งทะเลของประเทศใดบ้าง แต่จะเอาเครื่องจีพีเอสหรือเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมไปติดบนตัววาฬบรูด้า เพื่อบันทึกข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย ในต่างประเทศเคยมีการยิงเครื่องส่งจีพีเอสใส่เข้าไปในปลาตัวใหญ่จากระยะไกล แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักเพราะถือเป็นการทรมานสัตว์" ดร.ก้องเกียรติแสดงความเห็นทิ้งท้าย   

15 มี.ค. 54 เวลา 17:24 20,351 35 410
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...