โทษของการเล่นเกม

เด็กติดเกม…ปัญหาที่แก้ยาก?

 

   เด็กติดเกม…ปัญหาที่แก้ยาก?

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2548 12:19 น.


อมรรัตน์ ล้อถิรธร…รายงาน 

ปัญหาเด็กติดเกม ไม่เพียงเป็นเรื่องหนักอกของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ภาครัฐเองก็ผุดไอเดียออกมาป้องปรามปัญหาอยู่เป็นระยะ อย่างล่าสุด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ป้องกันและแก้ปัญหาเด็กติดเกมอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้(25 เม.ย.) ขณะที่รัฐบาลก็ได้เดินหน้าสกัดปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดย ครม.ได้เห็นชอบมาตรการตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ ผู้จัดการออนไลน์ ขอถือโอกาสนี้สะท้อนปัญหาเด็กติดเกม โดยผ่านมุมมองของทั้งนักจิตวิทยา - เด็กที่ติดเกม ไปจนถึงเจ้าของร้านเกม... 

หลังจากผู้บริหารกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเผยว่า มีผลวิจัยต่างประเทศพบว่า เด็กที่ติดเกมคอมพิวเตอร์มากๆ อาจถึงขั้นวิกลจริตได้ และเด็กที่เล่นเกมวันละ 3 ชั่วโมงติดต่อกัน 15 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีการหลั่งสารชนิดเดียวกับแอมเฟตามีนเหมือนที่ผู้ติดยาเสพติดหลั่งออกมา ทำให้เรื่องนี้ร้อนถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ต้องออกมาตรการแก้ปัญหา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 เห็นชอบตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ ได้แก่ จำกัดชั่วโมงการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้เล่นได้ไม่เกิน 3 โมงต่อวัน ,ห้ามเล่นการพนัน ชิงโชค หรือซื้อขายอุปกรณ์ในเกมออนไลน์ นอกจากนี้ยังจะมีการออกระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนร้านอินเตอร์เน็ต รวมทั้งรณรงค์ให้เยาวชนและผู้ปกครองทราบโทษของการเล่นเกมออนไลน์ติดต่อกันนานๆ ด้วย 

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งให้การรักษาเด็กติดเกมมามากมาย พูดถึงปัญหาเด็กติดเกมว่า จากการศึกษา พบว่า อายุของเด็กที่เริ่มติดเกมได้ลดลงจาก 12 ปี เหลือประมาณ 10 ปี และว่า ส่วนใหญ่เด็กที่ผู้ปกครองพามารักษา จะอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เล่นเกมไม่ไหวแล้ว เล่นจนตาช้ำ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางคนก็เส้นประสาทตึง ปวดหัวมาก บางคนเป็นมากอาจเส้นประสาทแตกและสลบอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ได้ อาจารย์วัลลภ เปรียบเด็กที่ติดเกมว่า เป็นเหมือน “ผีร่างเข้าทรง” ถึงเวลาก็ต้องเล่น ขาดไม่ได้ 

“ผมเรียกว่า “ผีร่างเข้าทรง” ที่คนไข้มาแต่ละรายมีเห็นบอกจะไม่เล่น จะไม่เล่น มีคนหนึ่งที่เพิ่งหายเมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่แล้ว ไม่ไปโรงเรียนตั้งเกือบเทอมหนึ่ง ตอนเช้าใจจะไปโรงเรียน อีกใจหนึ่งจะเล่นเกม สุดท้ายแพ้ทุกครั้ง ต้องเดินไปร้านตู้เกม อีกคนหนึ่งก็ ตอนเย็นกลับบ้าน ก็คืนนี้ไม่เล่น ไม่เล่น พอเล่นปุ๊บถึงเช้าอีกแล้ว แล้วก็มาเสียใจ รู้สึกผิด เหมือนกับติดยาเสพติด บอกจะไม่สูบ พอถึงเวลามันต้องไปร่างเข้าทรงเลย เหมือนเป็นผีแล้วเข้าทรง เหมือนศาลพระภูมิ ต้องไปกราบไปไหว้ คือต้องไปหามัน เหมือนถูกสิงเลย ผมเปรียบเหมือนร่างเข้าทรง” 

อาจารย์วัลลภ ยอมรับว่า เด็กที่ติดเกมมากๆ อาจถึงขั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้าได้ เพราะเมื่อติดมากๆ ก็จะไม่สังคมกับใคร จะอยู่แต่ในโลกส่วนตัว อยู่ในโลกของเกมอย่างเดียว สำหรับอาการของเด็กติดเกมนั้น ก็จะเริ่มตั้งแต่การหมกมุ่น ไปจนถึงขั้นไม่สนใจใครหรืออะไรทั้งสิ้น 

“ตั้งแต่เริ่มต้นเรียกว่า มันหมกมุ่น ไม่สนใจเรื่องกิจวัตรประจำวันที่สำคัญ คือไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ เช่น เรียนหนังสือ ก็จะไม่ทำการบ้าน ไม่เรียน จะผัดแล้ว อาการที่ 2 คือจะนอนดึก ถ้าอยู่ในบ้านเล่นเกม ถ้าพวกที่แอบไปเล่นตามร้ายเกม ก็จะไม่ไปโรงเรียนเลย อาการชัด คือ ตาช้ำ อาการต่อมาคือ เริ่มไม่คบเพื่อน ไม่คบแฟน ส่วนใหญ่ที่พบ คือ เล่นเกมแทบจะไม่สนใจเรื่องแฟนเลย ไม่สนใจเรื่องเพื่อนเลย พอตอนติดจะไม่สนใจครอบครัวรอบข้าง และแรงขึ้น คือไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานความต้องการของร่างกาย คือ นอน ถ่าย กิน ขนาดถ่ายยังรีบไปถ่ายอย่างรวดเร็ว กินก็กินไปด้วยเล่นไปด้วย และไม่พักผ่อน ไม่สนใจเรื่องความทรมาน แม้จะร้อนจะต้องอยู่ห้องเล็กๆ …พื้นฐานความต้องการของร่างกายจะถูกทำลายหมดเลย พื้นฐานความต้องการของร่างกายมี 4-5 อย่าง 1.จะต้องนอนพักผ่อน 2.จะต้องถ่าย 3.กิน 4.ต้องการความอบอุ่น คือนอนหลับพักผ่อน 5.ไม่เจ็บปวดทรมาน 6.คือเรื่องเพศ ความสนใจเรื่องเพื่อนกับเพศต่างๆ พวกนี้จะไม่เอาอะไร พอเกมเข้ามา อะไรก็ไม่เอา เหมือนกับติดยาเสพติด อาจจะเปรียบเหมือนแอมเฟตามีน พอเสพเข้าไปแล้ว พวกนี้จะไม่เอาหมดเลย นอนก็ไม่นอน กินก็ไม่กิน เพศเพื่อนก็ไม่เอา ใหม่ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าถึงขั้นติดแล้ว จะไม่เอาหมดเลย” 

อาจารย์วัลลภ ยังบอกด้วยว่า มีการศึกษาพบว่า เมื่อเด็กติดเกมแล้ว ก็จะติดการพนันเป็นของคู่กัน จากนั้นก็จะพัฒนาไปถึงขั้นติดยา ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ วนเวียนอยู่ในแวดวงเหล่านี้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมนั้น อาจารย์วัลลภ บอกว่า เด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายชอบความท้าทาย โดยเฉพาะการท้าทายทางความคิด และชอบแข่งขัน ซึ่งเกมตอบสนองสิ่งเหล่านี้ให้เด็กได้ ขณะที่ในชีวิตจริงอาจไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้เด็กเท่าที่ควร และที่มีข้อสังเกตว่า ทำไมเด็กผู้หญิงจึงไม่ชอบเล่นเกมเหมือนเด็กผู้ชาย อาจารย์วัลลภ บอกว่า อาจเป็นเพราะสมองของผู้ชายจะซีกซ้าย คือ ชอบความท้าทาย และชอบสิ่งที่เป็นสถิติตัวเลข เวลาเล่นเกมจึงต้องการทำแต้มให้ได้มากที่สุด เมื่อได้แล้ว ก็ต้องให้ได้มากขึ้น ขณะที่ผู้หญิงจะสนใจเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เรื่องของความมั่นคงมากกว่า นอกจากนี้ เด็กติดเกม มักจะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน จึงใช้เกมเป็นเพื่อนแก้เหงา 





ดังนั้นการแก้ปัญหาเด็กติดเกม อาจารย์วัลลภ แนะนำว่า การห้ามเด็กไม่ให้เล่นอาจไม่แก้ปัญหา ต้องพัฒนาเรื่องอารมณ์ เป้าหมาย และจินตนาการของเด็กจะได้ผลกว่า 

“ต้องฝึกจิตตัวเขา ให้แข็งแกร่งไม่ใช่มัวแต่กลัวสิ่งแวดล้อม เพราะตอนนี้เกมมันอยู่รอบตัว รอบบ้าน เพราะฉะนั้นการฝึกของผม คือ ทั้ง 3 ตัว อีคิว เอคิว คือมีเป้าหมาย เด็ดขาดมากเลย ไม่ก็ไม่ มียูคิว คือ จินตนาการ คือเด็กเหล่านี้มันมีจินตนาการอยู่ในใจ …เพราะฉะนั้นปรัชญาผมคือ พัฒนาให้เขามีอารมณ์ดี มีอารมณ์หนักแน่น มีความเชื่อมั่น มีมนุษยสัมพันธ์ มีเป้าหมาย ตัวเอคิว และมีพลังจินตนาการสูงว่าตัวเขาอยากเป็นอะไร มีความสุขในด้านที่เขาสามารถลิขิตชีวิตตัวเขาได้ อันนี้คือมันหายขาด ไม่ใช่มัวแต่แก้เกมนี้ หรือดุเกมนี้ แล้วก็ไปเล่นเกมโน้น หรือดุเกมนี้ ขู่จะไปเล่นติดยา มันวกวนอยู่อย่างนี้ ไม่ค่อยได้ผล” 

อาจารย์วัลลภ ฝากถึงเยาวชนในวันนี้ด้วยว่า จะทำอะไรอย่าให้มี 5 ส. คือ เสียเวลา ,เสียสุขภาพ ,เสียความรู้สึก ,เสียความสัมพันธ์ และเสียความตั้งใจ ซึ่งการติดเกมล้วนแล้วแต่นำมาซึ่ง 5 ส.นี้ทั้งสิ้น หากไม่อยากเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียความรู้สึก เสียความสัมพันธ์ และเสียความตั้งใจ ก็ควรห่างไกลจากเกมออนไลน์ให้มากที่สุด 

ด้าน”แบงก์” ซึ่งเล่นเกมออนไลน์เป็นประจำ บอกถึงเหตุผลที่เล่นเกมว่า เล่นแล้วเพลินดี วันธรรมดาจะเล่นประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเสาร์-อาทิตย์ อาจถึง 6 ชั่วโมง เงินที่หมดไปกับการเล่นเกมแต่ละเดือนน่าจะอยู่หลักพัน สำหรับเกมที่น้องแบงก์ชอบเล่น ก็คือ Ts Online 

“Ts Online ..มันเกี่ยวกับสามก๊กด้วย เรารู้ประวัติศาสตร์อะไรนิดๆ หน่อยๆ ในเกมนี้ ..แร็คน่าร็อกไม่ค่อยได้เล่นแบบนั้น ไม่ค่อยได้มีความรู้อะไรเท่าไหร่สำหรับแร็กน่าร็อก มันไม่ค่อยเกี่ยวกับพวกประวัติศาสตร์ ส่วนมากเล่นแบบนี้ จะรู้ จะมีความจริงอยู่ในนี้ด้วย ..มันจะมีพวกประวัติว่า แต่ก่อนพวกโจโฉ เล่าปี่มาเจอกันได้ยังไง มันเกี่ยวอะไรกับโจโฉเล่าปี่มาอยู่ด้วยกันได้ยังไง และมีเมืองอะไรมั่งที่ในสามก๊กที่ประวัติศาสตร์มีไว้ฝึกทำอะไรพวกนี้ ตัวละครสามก๊กมีบอกว่าอยู่เมืองไหนๆ ในเรื่องสามก๊ก” 

หากถามว่า อะไรทำให้เด็กและเยาวชนติดเกมกันมาก แบงก์ กับวัย 22 ที่คลุกคลีอยู่กับเกมแทบทุกวัน ก็บอกว่า 

“เกมส่วนมาก ถ้าเป็นเด็กในช่วงวัย 17 ปี เขาจะชิงดีชิงเด่นกัน มันจะมีระดับความเก่งในตัวของเกมอยู่ในนั้นว่า ตัวละครรหัสของเราเก่งกว่ารหัสตัวอื่นของคนอื่นยังไง จะมีตัวเลขบอกในเลเวลของในเกมตัวนั้น ทำให้เกิดอาการแบบอยากจะเล่นตลอดเวลา อยากจะเก่งกว่าเขาประมาณนี้ แต่ถ้าระดับพวกอายุเยอะๆ ขึ้นไป ก็เล่นเรื่อยๆ ไม่เครียดอะไรมาก แต่ถ้าเด็กๆ เขาจะเครียดกันมาก ตัวเลเวลตัวนี้ …การติดเกม ถ้าเป็นเด็ก ถ้าติดเกมมาก ก็จะมีปัญหาคือ ถ้าไม่มีเน็ตอยู่ในบ้านตัวเอง ไปเล่นตามร้านเกมก็มีปัญหา การลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้น เพราะว่าอาจจะขโมยตังค์พ่อแม่มาเล่นเกม อาจจะโดดเรียนมา ถ้าวันธรรมดา แต่ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าวันธรรมดา คงจะมีปัญหาในช่วงการเปิดเรียน” 

สำหรับการแก้ปัญหาเด็กติดเกมของภาครัฐที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 เล่นเกมออนไลน์เกิน 3 ชั่วโมงต่อวันนั้น น้องแบงก์ มองว่า ถ้าเป็นวันธรรมดาก็น่าจะเหมาะสม แต่ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่น่าห้าม เพราะเป็นวันหยุด ไม่ได้เรียนหนังสืออยู่แล้ว 
ขณะที่ “หนึ่ง” ในฐานะเจ้าของร้านเกม ที่เปิดบริการตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 เล่นเกมได้แค่ 3 ชั่วโมงต่อวัน เพราะร้านจะได้รับผลกระทบมาก 

“3 ชั่วโมงต่อวัน เจ้าของร้านก็จะลำบาก กระทบมากเลย เพราะภายใน 1 ชม.สมมติมีอยู่แค่ 10 เครื่อง คนก็จะมารอกันตรึมเลยเพื่อจะมาเล่น ก็ไม่ทัน ผลกระทบก็เยอะแยะไปหมด” 

หนึ่ง บอกว่า ลูกค้าที่ร้านส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ เด็กที่มาเล่นมีตั้งแต่ 7-8 ขวบ ไปจนถึง 22-23 และว่า แม้ร้านของตนจะเปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้า แต่กว่าเด็กจะมาเล่น ก็หลังเลิกเรียน คือ 4-5 โมงเย็นไปแล้ว นอกจากวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กจะมากันตั้งแต่ร้านเปิด อย่างไรก็ตาม หนึ่ง ยืนยันว่า ร้านเกมของตนปฏิบัติตามกฎทุกอย่าง และตนก็เคร่งครัดมาก ไม่ให้เด็กโดดเรียนมาเล่นอย่างแน่นอน 

“มีกฎอยู่แล้ว ผมจำได้คร่าวๆ มี 8 ข้อ ที่นี่นะ ที่อื่นผมไม่รู้ ก่อนจะขออนุญาต เจ้าหน้าที่เขาจะต้องมาดูสถานที่ก่อน ว่าอยู่ใกล้โรงเรียนมั้ย อยู่ใกล้วัดมั้ย สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเรือนละแวกนั้นมั้ย อันที่ 2 คือไม่ให้เปิดในเวลาที่กำลังสอน หมายถึงน่าจะเรียน อันที่ 3 คือ ถ้าเด็กแต่งชุดนักเรียน แม้จะเลิกเรียนแล้ว ก็ห้ามเข้า จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้น ก็ให้ไปเปลี่ยนชุดก่อน ถึงจะมาเล่นได้ ..ผมเขี้ยวมาก เด็กที่จะเข้ามาเล่นได้ คือไม่มีชุดนักเรียน จะเปิดตอนช่วงโรงเรียนเลิกแล้ว 4-5 โมง ..เขาบอกให้ปิด 4 ทุ่ม บางทีทุ่มหนึ่งผมก็ปิดแล้ว ก็คือเรื่อยๆ ไม่ได้ฟิกซ์ว่า จะต้องหารายได้เข้ามา เพราะยังไงก็อยู่ได้” 

หนึ่ง กับร้านเกมที่ลงทุนไป 5 แสนบาท และเพิ่งเปิดมาได้ปีเดียว ยังเชื่อด้วยว่า 2 ปีน่าจะคืนทุนที่ลงไป เพราะรายได้ที่เข้ามาตกประมาณวันละพันกว่าบาท ซึ่งหนึ่ง ยอมรับว่า การติดเกมส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว ดังนั้นทางแก้ ก็คือ “เด็กเล่นได้ แต่ต้องเล่นให้เป็นเวลา” 

“ผลกระทบ บางครั้งเด็กเล่นทั้งวันทั้งคืนก็มี บางครั้งนอนอยู่นั่นเลยก็มี นอนอยู่ในร้านเลยก็มี เท่าที่รู้นะ …ทางพ่อแม่เด็กจะดูแลยังไง ..ผมว่าเขาก็ห้ามแล้วนะ ไม่ใช่ว่าไม่ห้าม แต่เราจะห้ามใจเด็กไม่ได้ บังคับอย่าไปเล่นนะ ยิ่งตีก็ยิ่งมา ที่ผมเคยรู้ สมัยตอนที่ผมยังไม่เปิดร้านก็มีเด็กแถวๆ บ้าน บางทีก็ไปเล่น ยิ่งตีก็ยิ่งไปใหญ่เลย …ในฐานะเจ้าของร้านเกม ก็คือ เล่นก็เล่นได้แต่ต้องเล่นเป็นเวลา คือเราไม่ได้บังคับว่าจะต้องมาเล่น หรือต้องเล่นยาวๆ คือเล่นให้เป็นเวลา คือรู้ว่าติด แต่อยากให้เล่นให้เป็นเวลา ไม่ใช่เล่นจนไม่เรียนเลย ไม่กลับบ้านกลับช่องเลย เพราะบางครั้งเล่น บางทีก็จะติด ติดแล้วก็จะลืมเวลาไปเลย คือเล่นไปเท่าไหร่แล้ว กี่ชั่วโมงแล้ว” 

หนึ่ง ยังออกตัวด้วยว่า อย่าว่าแต่เด็กจะติดเกมเลย แม้แต่ตนก็ติด แต่เป็นการติดที่ต่างกับเด็ก ตนติดเกม เพราะต้องรู้จักและเล่นเกมทุกเกมที่นำมาลงให้เด็กเล่น เพื่อจะได้แนะนำหรือตอบคำถามเด็กที่ต้องการเล่นว่า เกมๆ นั้นน่าสนใจ น่าเล่นอย่างไร นอกจากนี้บทบาทของเจ้าของร้านเกม เมื่อเกมไหนเริ่มเก็บตังค์ ไม่ให้เล่นฟรีแล้ว เจ้าของร้านก็ต้องพยายามหาเกมใหม่ๆ ที่ไม่ต้องเติมบัตร มารองรับความต้องการของเด็กต่อไป!!
 

17 ก.พ. 54 เวลา 21:06 5,382 5 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...