ประชาธิปไตย

 

ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy) คือ ระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ หรืออาจถือตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นับเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ นครรัฐกรีกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเอเธนส์ภายหลังการก่อจลาจลเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล

ในทฤษฎีทางการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตามแต่ก็ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว คือ ความเสมอภาคและอิสรภาพ หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนให้เห็นผ่านทางความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงอำนาจโดยเท่าเทียมกัน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองเสมอกันโดยรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีจุดเริ่มต้นจากกรีซโบราณก็ตาม ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในวัฒนธรรมต่างชาติ อาทิ ในอินเดียโบราณ สาธารณรัฐโรมันทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ มาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมักจะได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็น "การปกครองระบอบสุดท้าย" และได้แผ่ขยายไปทั่วโลก พร้อม ๆ กับมโนทัศน์เรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: suffrage) อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล

 

ถึงแม้ว่าในทฤษฎีการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"

ประการแรก เห็นว่าบรรดาพลเมืองหรือสมาชิกในสังคมย่อมมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงอำนาจ ประการที่สอง เห็นว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยเสมอกัน

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต" และจากหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงสามารถประมวลลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้

ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐ ประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน การดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่เสียงส่วนน้อยในรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นธรรมตามกฎหมายด้วยเช่นกัน การปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมิได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบโดยกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายอำนาจทางการเมืองด้วยการถ่วงดุลอำนาจ อย่างเช่น การแบ่งแยกอำนาจการปกครอง แล้ว อาจส่งผลให้ฝ่ายบริหารอำนาจสามารถสะสมอำนาจจนอาจเป็นอันตรายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ลักษณะเด่นของการปกครองในระบอบนี้คือ "การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" แต่ถ้าหากรัฐบาลปราศจากความรับผิดชอบแล้ว เสียงข้างมากก็อาจไม่แยแสสิทธิของเสียงข้างน้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็น "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เลยทีเดียว ดังนั้น กระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงได้แก่การเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ประกอบกับการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน อันจะยังให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อประโยชน์ของตนได้

ถึงแม้ว่า มโนทัศน์ในเรื่อง "อำนาจอธิปไตยของปวงชน" (อังกฤษ: popular sovereignty) จะสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่นำหลักการประชาธิปไตยไปใช้ก็ตาม แต่แนวคิดดังกล่าวก็มิใช่หลักปรัชญาสำคัญระดับสากลอันส่งผลกระตุ้นให้เกิดการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ เพราะในบางประเทศมองว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคกันในการมีสิทธิ โดยคนจำนวนมากเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีได้แก่ "เสรีประชาธิปไตย" และอาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การพหุนิยมทางการเมือง หลักนิติธรรม (อังกฤษ: rule of law) และสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (อังกฤษ: right of petition) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดมีวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (อังกฤษ: due process of law) เสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคประชาสังคม (อังกฤษ: civil society) เป็นอาทิ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหมายเอาการแบ่งแย่งอำนาจการปกครอง เป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย และในประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร นั้นหมายเอาการบริหารอำนาจอธิปไตยโดยกระบวนการของรัฐสภาและองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในบางกรณียังมีการใช้คำ "ประชาธิปไตย" สื่อถึงประชาธิปไตยทางตรง ด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ถึงแม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะนิยมใช้ในบริบาทของรัฐทางการเมืองเป็นหลัก แต่ว่ามโนทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถใช้แก่ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นเช่นกัน

1 ก.พ. 54 เวลา 19:43 10,852
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...