In London เที่ยวมหานครลอนดอน ตอนที่ 1: Zero Mile

In London: Zero Mile  

 

 

 

 

 

 

United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland มาจากการรวมกันของสามประเทศคือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลสซ์ กับอีกส่วนของนอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์ แต่ความเคยชินของผู้คน (นอกเกาะ) ทำให้มักจะเอ่ยถึง UK หรือ Britain แค่ ‘อังกฤษ’ และคุ้นหูกับชื่อ London กว่าเมืองอื่น

 

 

 

 

ที่จริงแล้วก็เหมาะ เพราะลอนดอน มหานครใหญ่แห่งนี้ควบตำแหน่งเมืองหลวงของทั้งประเทศอังกฤษและเกรทบริเทน และเมืองที่มีคนมาเยือนอันดับหนึ่งของโลก

 

‘In London…’ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีในการเที่ยว England, UK

 

 

 

 

อังกฤษ เป็นประเทศเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ซับซ้อนกลับไปหลายทบ ทิ้งหลักฐานความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมให้เห็นหลายแขนง...ที่หลายเมือง เฉพาะลอนดอนแห่งเดียวมีสถานที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ถึง 4 แห่ง คือ Tower of London, The historic settlement of Greenwich, The Royal Botanic Gardens, Kew และ The Palace of Westminster, Westminster Abbey and St. Margaret's Church

 

 

 

 

อังกฤษก็เหมือนกับชาติในยุโรปส่วนใหญ่ที่เคารพประวัติศาสตร์ ชาติเก่าแก่ที่มีทั้ง History & Culture จะเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังดูได้จากสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่บ่งยุคสมัยชัดเจน ความเจริญทางปัญญาของคนโบราณบางส่วนปรากฏเป็นบันทึกในรูปของงานศิลปะและวรรณกรรม การเข้าใจในประวัติศาสตร์จึงน่าจะช่วยให้การตีความจังหวะลีลาของสังคม อารยธรรม และวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ สะดวกขึ้น

 

 

 

 

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเหล่านี้คงอยู่และเป็นปัจจัยให้อังกฤษก้าวไปต่อจนเป็น Global City ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของโลก ก่อกระแสล้ำกาลเวลาไปถึงด้านอื่นอย่างมีเดีย บันเทิง แฟชั่น หรือแม้แต่การศึกษา  ให้ลอนดอนมีคำตอบกับทุกความสนใจของคน บนเสน่ห์พื้นๆ  จากฉากหลังของตึกเก่าในเมืองเก่า ที่แม้ผังเมืองยังวกวนหาความเป็นระเบียบสู้เมืองใหม่อย่าง New York ไม่ได้                 ใน Soho กลางเมืองถนนยังแคบเพียงขนาดรถม้าวิ่ง ลานกว้างที่คงอยู่เพียงเปลี่ยนรูปมาจากที่จอดรถม้าเดิม รถแท็กซี่สีดำ (ดั้งเดิมสีเดียว) สัญลักษณ์ของลอนดอน ที่เรียกติดปากว่า Black Cab หรือ ‘แค้บ’ ก็มาจาก Hansom Cab ที่ Hansom เป็นคนออกแบบพร้อมจดลิขสิทธิ์รถม้าสองล้อที่วิ่งกันเกลื่อนกรุงไม่ถึงสองร้อยปีก่อน  ส่วน Cab มาจาก Cabriolet แคบริโอเลท์ หมายถึงรถม้านั่นเอง    

 

 

 

 

‘In London’ ฉบับนี้ จึงอิงทั้งของเก่าปนใหม่ และไม่เห็นจุดใดเหมาะกว่าการไปตั้งต้นทำความรู้จักกับลอนดอน ที่ Trafalgar Square

 

 

 

 

 

 

 

 

ลานน้ำพุและสิงโตหมอบสี่ตัวที่รายล้อมระวัง Nelson’s Column อนุสาวรีย์สูงลิบรูปปั้นของ Lord Nelson กลางทราฟัลการ์แสควร์ นอกจากจะเป็นแบคกราวนด์บนรูปถ่ายของผู้คนทั่วโลกเพื่อยืนยันถึงการมาเยือนมหานครแห่งนี้แล้ว ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชื่อของจตุรัสนี้

 

 

 

 

Battle of Trafalgar เป็นส่วนหนึ่งของ Napoleonic Wars ที่ฝรั่งเศสไปรวมกับสเปน มารบกับอังกฤษ ที่ Cape Trafalgar ในน่านน้ำของสเปนเมื่อ พ.ศ. 2348 อังกฤษมีลอร์ดเนลสันเป็นผู้บัญชาการเรือรบหลวงวิคทอรี่ ผู้นำมาซึ่งชัยชนะครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ เพราะการพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ฝรั่งเศสละความพยายามที่จะยุ่งกับอังกฤษในการรบทางทะเลโดยสิ้นเชิง

 

 

 

 

สิ่งที่น่าเศร้า คือชัยชนะครั้งนี้แลกด้วยการสูญเสียลอร์ดเนลสัน พลเรือเอกผู้กล้าแห่งราชนาวีอังกฤษ ซึ่งมีแขนเดียวและตาเดียว ไปบนเรือ HMS Victory นั่นเอง ชีวิตของลอร์ดเนลสัน ทั้งความฉลาดเฉียบคมในการรบ สีสันของชีวิตรัก และเรื่องของเรือวิคทอรี่ น่าสนใจและควรจะกล่าวถึงต่างหากเมื่อไป Portsmouth

 

 

 

 

อังกฤษรำลึกถึงประวัติศาสตร์สำคัญนี้ ด้วยการเอาชื่อสมรภูมิรบทางทะเลนั้นมาใช้เสียตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่นี้เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2388

 

 

 

 

 

 

 

 

เหมาะสมกับองค์ประกอบของบริเวณนี้ที่เต็มไปด้วยอนุสรณ์จากการศึกสงครามและเหตุการณ์ที่ชาติผ่านมาในอดีตหลายร้อยปี ลงตัวกับ Naval Theme ที่กองบัญชาการราชนาวี (Admiralty) มีที่ตั้งอยู่ใกล้กัน และจังหวะเวลาที่ความสามารถ ‘ทางทะเล’ของอังกฤษเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น  

 

 

 

 

 

 

 

 

ถ้ายืนอยู่ตำแหน่งเดียวกับลอร์ดเนลสัน คือตัวหันลงไปทางทิศใต้จะเจอ Big Ben คำถามซ่อนเงื่อนที่ตามมาคือ    ‘หน้า’ ลอร์ดเนลสันหันไปทางไหน 

 

คนลอนดอนยังต้องหยุดนึก ...เอาเป็นว่าไม่ได้มองนาฬิกาแน่นอน  

 

 

 

 

องค์ประกอบอื่นที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของทราฟัลการ์สแควร์มีหลายอย่าง เริ่มจาก ฐานสำหรับตั้งรูปปั้น ที่เรียกว่า Plinth

 

พลิ้นท์ มีอยู่แค่ 4 จุด ขณะที่บุคคลสำคัญทั้งราชวงศ์และนักรบมีจำนวนมหาศาล คนที่จะมาปรากฏร่าง (ปั้น) ได้ จึงต้องไม่ธรรมดานัก

 

 

 

 

 

 

 

 

พลิ้นท์หนึ่งคือ George IV เหมาะสมยิ่งที่จะถวายที่ประทับให้คิงจอร์ชเดอะฟอร์ธ เพราะทรงเป็นผู้โปรดให้สร้าง National Gallery ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังนั่นเอง อีกสองพลิ้นท์เป็นของนายทหาร คือ Sir Henry Havelock และ Sir Charles James Napier ทั้งสองท่านมีบทบาทสำคัญกับความสัมพันธ์ของ British Empire กับอินเดียและปากีสถาน ซึ่งทั้งสองเชื้อสายในตะวันออกไกลที่ว่านั้น กลายเป็นประเทศขึ้นมาก็เพราะอังกฤษ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พลิ้นท์ที่น่าสนใจเรียกว่า The Forth Plinth เดิมทีตั้งใจจะให้เป็นที่ตั้งพระรูปทรงม้าของ King William IV   ทำไปทำมางบหมด เอาคนอื่นมาลงก็ไม่ใช่ ยิ่งพลิ้นท์นี้เป็นหนึ่งในสองที่ตั้งใจให้มีขนาดใหญ่เผื่อไว้สำหรับรูปที่อยู่บนหลังม้า จึงโล่งอยู่นานกว่าจะเริ่มลงตัวเมื่อ พ.ศ. 2542 ด้วยการแสดงงานแนวศิลปะและสิ่งร่วมสมัยกับความสนใจของผู้คน พอกลางปี พ.ศ. 2552 ก็เปิดเป็น Living Monument ให้คนสมัครเข้าไปผลัดกันแสดงออกบนฐานอยู่ 100 วันเต็ม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทุกวันนี้ วัตถุบนฟอร์ธพลิ้นท์จะไม่คงอยู่ตายตัว ทำให้มีเหตุต้องแวะมาดูอยู่เสมอว่ารายต่อไปจะเป็นอะไร หรือใครกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนบ่อน้ำตรงกลางลานนั้น ปรากฏขึ้นมาได้เพื่อเป็นการลดพื้นที่ว่างออกไปเสียบ้าง เพราะทราฟัลการ์สแควร์เป็นจุดนัดพบสำหรับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ ดีใจที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกก็เฮกันตรงนี้ รวมตัวกันประท้วงก็ตรงนี้  ที่หายไปเป็นบ่อน้ำจะได้จำกัดความเสี่ยงจากความรุนแรงของคนที่มารวมกันมากเกินไปลงหน่อย และยามร้อนจัดๆ ในเดือนสิงหาคม ยังเคยเป็นประโยชน์สำหรับเด็กกระโจนลงไปแช่กันมาหลายยุค ผู้ใหญ่ก็เอาด้วยโดยเฉพาะเวลาชนะเกมอะไรก็ตามที่แข่งกับอังกฤษ แต่เดี๋ยวนี้ห้ามลงเสียแล้ว จึงเหลือแต่สิงโตบร็อนซ์เอาไว้ให้คนปีนป่ายอยู่ทุกวัน...จัดว่าคุ้มค่า เนื่องจากอนุสาวรีย์ลอร์ดเนลสันขึ้นไปคอยก่อนหน้าตั้ง 25 ปี สิงโตถึงได้ปั้นเสร็จเอาเมื่อ พ.ศ. 2410 เพราะเพิ่งเกิดมีสิงโตตายที่ London Zoo คนปั้นคือ Sir Edwin Landseer ถึงได้มีโอกาสศึกษาสัดส่วนจากตัวต้นแบบจริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างคอย... ประสาคนอังกฤษก็ฆ่าเวลาด้วยการพนันไปเรื่อยว่าสิงโตจะเสร็จเมื่อไหร่

 

 

 

 

 

 

 

 

พอถึงวันพฤหัสบดีแรกของเดือนธันวาคม จะมีพิธีการเปิดไฟ Christmas tree ที่ปฏิบัติกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490           ทุกปีต้นคริสต์มัส (ต้นสนจริง) สูงราว 20 เมตร จะถูกส่งมาจากนอร์เวย์เพื่อเป็นของขวัญจากกรุงออสโลแก่ชาวลอนดอน ด้วยความซาบซึ้งในความช่วยเหลือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของบริเทน ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงด้านสงคราม แต่ลอนดอนยังเป็นที่พำนักของพริ้นซโอลาฟ (Prince Olav) และรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ตลอดช่วงสงคราม

 

 

 

 

 

 

 

 

สิ่งเล็กน้อยที่มีความสำคัญอีกอย่าง คือ ระยะมาตรฐานของการวัดในระบบอิมพีเรียล (Imperial measures) อันได้แก่ ความยาวเป็นนิ้ว, ฟุต และหลา ปรากฏเป็นแผ่นทองเหลืองอยู่บนกำแพงใกล้บันไดกลาง

 

 

 

 

 

 

 

 

Charles I เป็นอีกจุดสำคัญที่ควรมองหา เพราะรูปปั้นบร็อนซ์ของคิงชาร์ลสเดอะเฟิร์สท์ เป็นทั้งรูปปั้นที่เก่าแก่ที่สุดในบริเทน และรูปแรกบนหลังม้าของกษัตริย์ ซึ่งเกือบจะถูกหลอมทำลายไปหลังจากการสิ้นพระชนม์ พระราชโอรสซึ่งขึ้นมาเป็น King Charles II เป็นผู้นำกลับมาไว้ ณ ตำแหน่งปัจจุบันนี้ ที่ด้านหน้าของ Nelson’s Column หันไปทาง Whitehall

 

 

 

 

 

 

 

 

ณ ตำแหน่งนี้ เอาหางม้าของรูปปั้น King Charles I เป็นที่สังเกต คือ จุดศูนย์ไมล์ (Zero Mile) ที่ตั้งต้นการวัดระยะทางออกไปจากกรุงลอนดอน เห็นป้ายบอกว่ากี่ไมล์ถึงลอนดอน ก็ขอให้รู้ว่านั่นคือการวัดระยะมาถึงจุดนี้

 

 

 

 

และนั่นคือประเด็นสำคัญที่ ‘In London’ เลือกมาตั้งต้นที่ทราฟัลการ์สแควร์

 

และจากนี้ไป ‘In London’ จะเป็นเรื่องราวออกไปจากจุดนี้ไม่จำกัดทิศทาง 360 องศา...

 

 

 

 

 

 

7 ม.ค. 54 เวลา 12:29 1,867 2 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...