"วรรณกรรม?มีจุดเริ่มต้น ณ ที่ตรงไหน... แลไปสิ้นสุด ณ ที่แห่งใด..?


 

 

มนุษย์ในสมัยบรรพกาลได้มีวิวัฒนาการของชนเผ่าจนถึงขั้นมี “ภาษา”เพื่อใช้สื่อสารกันเองแล้ว พวกเขาคงจะมีการเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการล่าสัตว์และการต่อสู้กับเหล่าสัตว์ร้าย(และการต่อสู้กับมนุษย์เผ่าอื่น)ให้แก่คนในเผ่านเองได้รับฟัง การเล่าเรื่องดังกล่าวก็ต้องมีการสร้างฉาก มีการแต่งเติมเรื่องราวเพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความน่าสนใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของผู้เล่า และเพื่อให้ผู้ฟังก็เกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้น ปลุกเร้าอารมณ์เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความฮึกเหิม เพื่อที่จะออกไปร่วมล่าสัตว์เพื่อประทังความหิว หรือเพื่อความอยู่รอดในการปกป้องเผ่าพันธุ์ตนเอง หรือบอกเล่าถึงความสำเร็จของตนเองในการออกไปต่อสู้เพื่อให้คนฟังชื่นชม(appreciate)ในความสำเร็จของตน จนเกิดเป็นลักษณะคล้ายกับ “สุนทรียสาธก”(appreciative inquiry)ในยุคบรรพกานั่นเอง

 

และเพียงเท่านี้.. การบอกเรื่องเล่าเรื่องราว (Narrative) ก็มีคุณสมบัติเกือบจะครบถ้วนของการเป็นบทประพันธ์ ยังขาดก็แต่เพียงตัวหนังสือเท่านั้นเอง

 

 

มนุษย์บรรพกาลได้มีความฉลาดเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้อย่างมีเหตุมีผล ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่มืดบอด การบอกเล่าหรือการตอบข้อซักถามในบางเรื่องก็ต้องโยนเรื่องที่ตนไม่รู้ข้อเท็จจริงนั้นให้เป็นเรื่องของ“ภูตผีปีศาจ”หรือ เป็นเพราะ “ฟ้าดิน”ดลบันดาลให้เกิดขึ้น และจะบรรเทาเบาบางความเดือดร้อนหรือสรรเสริญในความสำเร็จนั้นด้วยการวอนไหว้บวงสรวง

 

เพียงเท่านี้..การเล่าเรื่องก็มีจุดเริ่มต้นตรงที่มันได้เข้าไปสถิตย์ในใจมนุษย์แล้ว และเมื่อมนุษย์ได้มีการประดิษฐ์คิดเขียนตัวอักษรขึ้นมา การเล่าเรื่องเป็นภาษาเขียนของมนุษย์บรรพกาลก็ได้เริ่มเห็นสมควรว่า เรื่องราวความเชื่อ ศรัทธา บทสวดอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อธิบายไม่ได้เหล่านั้น ควรได้รับการบันทึกไว้เป็นลำดับแรก เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เคารพยำเกรงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพชนในการเอาชนะต่อความโหดร้ายเหล่านั้น

 

“วรรณกรรม”จึงเกิดจากตำนาน(Myth) เป็นเรื่องราวที่บอกถึงความเป็นมาในอดีตของสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน โดยเป็นคตินิยมของชนในยุคนั้นๆ เช่น ตำนานของท่านท้าวมหาพรหม ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาทสระบุรี เป็นต้น

 

 

ตำนานกรีก(Greek Myth) เต็มไปด้วยเรื่องเล่าเพื่อให้เกิดความสยบยอมทางสังคมระหว่างชนเผ่า ตำนานฮินดู(Hindu Myth)เป็นการเล่าเรื่องเพื่อการกลับมามีชีวิตใหม่ เหล่านี้ได้เป็นต้นกำเนิดความรู้ในเรื่องราวต่างๆ จนกลายเป็นตำนาน เรียกว่า ตำนานวิทยา(Mythology) เช่น ตำนานเทพนิยายกรีก  

 

เรื่องเล่าสั้นๆ ที่ได้บรรยากาศ ได้อารมณ์ ฯลฯ จึงเป็นต้นธารกำเนิดของวรรณกรรมหรือวรรณคดีทั้งปวงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีลักษณะที่เรียบง่าย ได้อารมณ์และอาจสอดแทรกคำสอน เป็นบทเรียนสอนใจคน บางทีก็อาจแต่งเป็นคำคล้องท่องจำสืบต่อกันมาเป็นบทสวดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือเทพยดาฟ้าดิน

 

กำเนิดในอดีตกาล ก่อนจะมีวรรณคดีอังกฤษก็มีประวัติศาสตร์การสร้างชาติเข้ามาก่อน ด้วยว่าพวกบริต็อน(Briton) พวก โกล(Gaul)จากแผ่นดินฝรั่งเศสและพวกแองเกิล(Angle)เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกๆ ที่ข้ามช่องแคบเข้าไปอยู่ในเกาะอังกฤษ เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมภาษาจนกลายเป็น ภาษาแองโกล-แซ็กซอน (Anglo-Saxon) แล้วก็มีคำร้อยกรองที่บรรยายเหตุการณ์สงครามการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับยักษ์ และมังกร ตลอดจนสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ เป็น มหากาพย์บีโอวุลฟ์(Beowulf Epic) เขียนด้วยภาษาแซ็กซอนโบราณ

 

เกือบจะทุกชาติก็ว่าได้ มักมีเรื่องเล่าเป็นมหากาพย์สร้างชนชาติของตนเอง อยู่ในรูปแบบของนิทานกลอน (Ballard) ก็มี เรื่องเล่าก็มี

 

 

นิทานอีสป(Aesop's Fables)  ซึ่งเป็นนิทานที่เก่าแก่ที่สุดจนยากจะสืบเสาะหาข้อเท็จจริงได้ว่ามีต้นกำเนิดมาอย่างไร กระแสหนึ่งก็ว่า “อีสป”เป็นนามแฝงของคนที่เล่าเรื่องจึงกลายเป็นที่มาของ "นิทานอีสป" บ้างก็ว่าอีสปเป็นชื่อชายผู้เป็นทาสของชาวกรีก ถูกจับมาที่กรุงเอเธนส์ เขาถูกขายให้นายทาสหลายต่อหลายคน เพื่อจะได้เขามาเล่าเรื่องให้ฟังกัน ด้วยความสามารถในการผูกเรื่องเล่าจนเป็นที่ประทับใจ ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปไกล(และยาวนานมาถึงปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้มีการบันทึกเอาไว้ คงเพราะเห็นพ้องกันว่ามีคติสอนใจแก่อนุชนรุ่นหลัง โดยผู้รวบรวมที่ชื่อ ดิเมตรีอุส ปาเลอรีอุส

 

หนังสือเรื่อง “ปัญจะตันตระ” เป็นการรวบรวมบทเรียนจริยธรรมสอนใจแก่เจ้าชายองค์หนึ่ง รวบรวมโดย วิทยภาติ นักปราชญ์ประจำราชสำนักของกษัตริย์อินเดีย และยังนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของสามัญชนได้ด้วย ต้นฉบับนี้บันทึกไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 840  หรือก็คือหนังสือเรื่อง “หิโตปเทศ” * ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป

 

 

มนุษย์ได้รับสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อมมาจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจ เกิดการรับรู้(Perception)ด้วยผัสสะ แสดงออกมาด้วยมุมมอง(View) ทัศนคติ(Attitude) และเมื่อผสานเข้ากับการเรียนรู้(Learning) คุณธรรมจริยธรรม(Ethics) ปรัชญา(Philosophy) และพัฒนาจนกลายมาเป็นแนวคิด(Concept) และทฤษฎี(Theory) 

 

เมื่อมนุษย์เราจะสื่อความรู้และอารมณ์ความรู้สึกของตนเองไปให้ผู้อื่นรับรู้อย่างลึกซึ้ง ก็จะสร้างสรรค์เป็นงานวรรณศิลป์ตามความถนัดของตนเอง อาจบรรจงเรียงร้อยถ้อยคำให้งดงาม จะมากน้อยแตกต่างกันก็ขึ้นอยู่ที่การรับรู้และความสามารถในการถ่ายทอด

 

ผู้ที่มีพจนานุกรมในตัวเองมากและชำนาญการขีดเขียน ก็จะสร้างวรรณคดีได้มาก

 

ผู้ที่มีความซาบซึ้งในอารมณ์ตัวเองมากและชำนาญการขีดเขียน ก็จะสร้างวรรณศิลป์ได้ลึกซึ้งมาก

 

 

จิตร ภูมิศักดิ์ (ทีปกร) เขียนไว้ใน “ศิลปเพื่อชีวิต” โดยสรุปว่า ศิลปะเป็นผลิตกรรมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์อันมีพื้นฐานและที่มาอันแน่นอน ความจัดเจน(Experience)ในพื้นฐานนั้นมาจากการต่อสู้ของมนุษย์ เพื่อการเอาตัวรอดจากธรรมชาติอันโหดร้าย(1) และการต่อสู้เอาตัวรอดจากสังคม(2) เช่น การต่อสู้กับสัตว์เพื่อล่ามันมาเป็นอาหาร ต่อสู้กับความแห้งแล้งด้วยการขุดคลองปันน้ำ ส่วนในทางสังคมนั้น มนุษย์ต้องต่อสู้มนุษย์ด้วยกัน เช่น  ความทารุณโหดร้ายของนายทาส การถูกกดขี่ขูดรีดรังแก ต่อสู้กับการล่าอาณานิคมลัทธิจักรวรรดินิยม หรือแม้แต่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางในดวงใจ กระทั่งการต่อสู้ของมนุษย์ได้มีความขัดเจน ชาญฉลาดและเกิดความรู้ ถ่ายทอดกันเป็นการเรียนรู้โดยมนุษย์ไม่ต้องเสียเวลาหรือเสี่ยงชีวิตต่อสู้แบบเดิมๆ อีกต่อไป

 

“สิ่งแวดล้อม(ทางธรรมชาติ)” ยังเป็นสิงที่ดลใจหรือมีอิทธิพลต่อจิตใตของมนุษย์ที่ทำให้เกิดเป็นวรรณกรรม   “สิ่งแวดล้อม”ดูจะเป็นสิ่งเร้าให้เกิดเป็นวรรณกรรมได้มากที่สุดอีกประการหนึ่ง สิ่งที่ว่านี้ก็คือ ฤดูกาล (seasons) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็เป็นสิ่งที่ดลใจให้เกิดจินตนาการได้มากยิ่ง ฤดูกาล และ อุณหภูมิ มีอิทธิพลต่อการผลิตงานศิลปะทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ หากสิ่งแวดล้อมไม่มีองค์ประกอบเชิงจรรโลงใจที่ทำให้เกิดมโนภาพทางอารมณ์แล้วก็ยากนักที่จะเกิดงานศิลปะหรือเกิดได้ยาก เว้นเสียก็แต่ผู้ที่มีจิตใจเป็นศิลปินอยู่แล้ว แต่ถ้าหากสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็นเชิงศิลปะ การจรรโลงใจในศิลปะก็เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ดังเช่น ในแคว้นนอร์มังดี ฝรั่งเศสเคยเป็นแหล่งผลิตและรวมพลของบรรดาศิลปินทั้งงานวาดและงานเขียน

 

 

อากาศที่ดี เย็นสบายมีอิทธิพลต่อการดลใจให้เกิดอารมณ์เชิงศิลปะมากกว่าอากาศที่ร้อนระอุ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีจำนวนวรรณคดีจำนวนน้อยชิ้นงานกว่าประเทศจีนและญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีสิ่งแวดล้อมได้แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลได้ถึง 4 ฤดูกาลต่อปี ฤดูหนาวมีอากาศที่หนาวเย็นจับใจ หิมะโปรยปรายจนขาวโพลนไปสุดลูกหูลูกตา มีแสงแดดอ่อนรำไรๆ ฤดูใบไม้ผลิ  พฤกษชาตินานพันธุ์ต่างก็ผลิยอดแตกใบอ่อนและเติบโตก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่อย่างสวยสดงดงาม ดอกไม้หลากหลายสีสันต่างชูช่อ อวดมวลหมู่แมลงอย่างตระการตา ไม่เคอะเขินแคระแกร็น ผู้คนก็รู้สึกมีจิตใจที่เบิกบาน สดใสไปกับธรรมชาตินั้นด้วย  อารมณ์ที่เบิกบานจะแตกยอดต่อกิ่งก้านไปเป็นอารมณ์ศิลปินอย่างไรก็แล้วแต่พื้นฐานการรับรู้ของคนๆ นั้นเอง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน แม้แสงแดดจะแผดเผาสักปานใด แต่มวลพฤกษชาติพรรณไม้ก็ยังคงงดงามสร้างความประทับใจอยู่เช่นเดิม และเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม่ร่วง  ไม้ยืนต้นที่เคยเป็นสีเขียวขจีก็พร้อมใจกันเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง ฯลฯ แต่งแต้มพื้นโลกให้แซมไปด้วยสีสันกันออกครั้ง ก่อนที่มันจะสละใบทิ้งลงไปสู่พื้นดินให้กลายเป็นปุ๋ยต้นและดอกใบต่อไป  กระแสลมที่พัดแรงก็ช่วยให้ใบไม้ร่วงหล่น ปลิวว่อนไปไกลและต้นไม้เหล่านั้นก็ได้ผลิใบใหม่ขึ้นมาอีกหน

 

 

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทำให้จิตใจของผู้คนแปรผันตามไปด้วย ประกอบกับผู้คนมีความซาบซึ้งจากการเรียนรู้ในศิลปะเป็นอย่างดีด้วยแล้ว  ก็เลยมีโอกาสแตกหน่อเป็นศิลปะและความงดงามเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ได้มากกว่าอยู่เรื่อยๆ

 

หวนกลับมามองถึงวรรณคดีไทยศซึ่งมีอยู่ไม่มากชิ้นงานนักเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น แต่หากมองเทียบไปยังประเทศเพื่อนบ้านในละแวกที่มีลักษณะภูมิอากาศคล้ายๆ กัน ก็ไม่น่าสงสัยมากนักหากวรรณกรรมของชนเผ่าละแวกใกล้เคียงกับเรานั้นมีน้อยพอๆ กับบ้านเราเอง หรืออาจจะน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ

 

การที่มนุษย์ต้องต่อสู้มนุษย์ด้วยกันเอง เหตุการณ์เหล่านั้นได้ทำให้เกิดบรรยากาศของการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมแตกต่างกันเช่นเดียวกัน หากจะเรียกว่าเป็น “สิ่งแวดล้อมทางสังคม”ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก เช่น ในคราวที่บ้านเมืองของชนเผ่าใด หรือประเทศใดที่มีความสงบเรียบร้อย งานศิลปะที่ผลิตออกมาก็ดูงดงามวิจิตรประณีตบรรจง เช่น ในสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเป็น “ยุคทองแห่งวรรณคดีของอังกฤษ” ดูได้จากมีกวีที่โด่งดังมากที่สุดก็ในสมัยนี้ ได้แก่ เช็คสเปียร์, ฟรานซิส เบคอน, สเปนเซอร์ และ บันยาน เช่นเดียวกับจีนก็อยู่ในสมัยของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 960)

 

ส่วนไทยนั้นหากพิจารณาถึงคุณลักษณะของงานวรรณกรรมไทยก็น่าจะเป็นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้รับยกย่องให้เป็น ยุคทองแห่งวรรณกรรม  ซึ่งได้กำเนิดวรรณคดีที่มีชื่อเสียงได้แก่  กาพย์มหาชาติ โคลงพาลีสอนน้อง  โคลงทศรถสอนพระราม จินดามณี  แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกของไทย พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  และ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง  ยุคของการเสร้างสรรค์งานวรรณคดีไทย ก็เริ่มในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่วรรณคดีเฟื่องฟูที่สุด

 

 

เมื่อใดที่บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะซับซ้อน ประชาชนมีความเคร่งเครียดในจิตใจ งานวรรณกรรมก็จะเปลี่ยนแปลงหรือสะท้อนงานออกมาตามสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น หรือเกิดมีวรรณกรรมประเภทปลุกใจให้รักชาติ เช่น วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกาในคริสตวรรษที่ 18  

 

หรือในยุคที่สมัยใดบ้านเมืองมีความเสื่อมถอยด้านศีลธรรม ก็มักจะมีวรรณกรรมที่สะท้อนเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อเรียกร้องหรือสนองตอบความต้องการของจิตใจมนุษย์  แม้แต่ในคราวที่บ้านเมืองพละหลวมในเรื่องทางเพศ หรือระเบียบวินัย การต้องการที่สุดแห่งเสรีภาพมุนษย์ ทั้งลีลารูปแบบและถ้อยคำก็มักจะไปมุ่งเกี่ยวข้องอยู่กับเสรีภาพ รสสวาททางเพศ เช่น วรรณกรรมในบางยุคสมัยของสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

 

ตัวอย่างสนับสนุนที่มากมายนั้น ทำให้เห็นถึงมูลเหตุของการกำเนิดขึ้นของวรรณกรรมหรือวรรณคดี ก็เนื่องจากว่าวรรณกรรมเป็นสิ่งเร้าที่เกิดจากจินตภาพหรือจินตนาการของคนเขียน(กวี)เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้เห็นภาพและอารมณ์คล้อยตาม นั่นคือหน้าที่และความนิยมของวรรณกรรมที่รับใช้ความต้องการของมนุษย์อย่างซื่อสัตย์

 

และวรรณกรรมก็จบลงเมื่อมันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ ที่ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้เสพอารมณ์นั้นอย่างสมความมุ่งหมายของผู้เขียน(กวี)นั้นแล้ว

 

ถึงบรรทัดนี้ จึงได้รู้ว่า “วรรณกรรม”มีจุดเริ่มต้น ณ ที่ตรงไหน แล้วไปสิ้นสุด  ณ ที่แห่งใด

 

 

…………………………………………………………………….

 

อ้างอิง

 

ทีปกร(จิตร ภูมิศักดิ์), ศิลปเพื่อชีวิต, สำนักพิมพ์แม่คำผาง ,2552

 

วิทย์ ศิวะศริยานนท์, วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์, สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, 2544

 

เปลื้อง ณ นคร , ปริทรรศน์แห่งวรรณคดีอังกฤษ, สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น, 2529

 

ตุ้ย ชุมสาย, วรรณกรรมพินิจเชิงจิตวิทยา, สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524

 

ภาพประกอบเรื่องจากอินเทอร์เน็ต

 

 

7 ม.ค. 54 เวลา 12:18 3,202 3 68
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...