น้ำท่วมนนทบุรี - น้ำท่วมกรุงเทพ เกาะติดน้ำท่วมจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์, @Phensasitorn , @kajeaw 


          ปลัด กทม. เผยพร้อมรับมือน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 6 -11 พ.ย. เฝ้าระวังจุดเสี่ยง 27 ชุมชนใน 13 เขต เชื่อรับมือไหว ด้านกรมชลฯ คาดหลัง 8 พ.ย. สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางจะดีขึ้น

          นาย เจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 6-11 พ.ย. 53 คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กทม. ได้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือไว้อย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำของ กทม. 27 ชุมชน ใน 13 เขต ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. ได้จัดเตรียมสถานที่พักพิงชั่วคราวรองรับการอพยพของประชาชน

          อย่างไรก็ตาม กทม.มีแผนเข้าฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขต กทม. ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. เป็นต้นไป โดยจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) และนักเรียนอาชีวะราว 300 คน ลงพื้นที่ใน 27 ชุมชน 13 เขต พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วง ที่ผ่านมา ใช้เวลาในการดำเนินการภายใน 1 เดือน ขณะนี้ได้สั่งการให้ ทั้ง 13 สำนักงานเขต ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทั้งหมด เพื่อส่งข้อมูลให้ สอศ. และนอกจากการซ่อมแซมบ้านเรือน นักเรียนอาชีวะยังจะเข้าไปช่วย ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ก็จะเข้าไปช่วยปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งแจกเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยหมักชีวภาพ ด้วย

          ขณะ ที่สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงสุดในช่วงเช้าของวันนี้ ( 6 พ.ย.) ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด ในเวลา 07.00 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.97 เมตร ส่งผลให้ท่าเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์ มีน้ำเอ่อล้นเข้ามาในบริเวณร้านค้า สูงถึง 15-20 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่ได้เตรียมความพร้อมรับมือมาก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยการยกสิ่งของให้สูงขึ้น พร้อมกับยกระดับทางเท้าที่ใช้สัญจรไปมา

          ขณะที่บริเวณลานกว้างก่อนถึงท่าเรือ ซึ่งเยื้องกับประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีน้ำเอ่อล้น ออกมาท่วมขัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร มีการใช้เครื่องสูบระบายน้ำเจาะพื้น เพื่อทำเป็นถังระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีน้ำเอ่อล้นแต่การให้บริการเรือข้ามฟากยังคงเป็นไปตามปกติ

          ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำช่วงน้ำทะเลหนุนสูง 6-11 พ.ย.นี้ว่า ได้กำหนดให้การระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาต้องต่ำกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้ระดับน้ำลดลง ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะผันน้ำเหลือเพียง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้อยลง

          ทั้งนี้ ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลบ่าได้ลดระดับลงแล้ว แต่จุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่พื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำเจ้า พระยา ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ซึ่งระบายน้ำออกได้น้อย ซ้ำยังมีน้ำจากจังหวัดอื่นไหลมาสมทบ ทำให้ระบายน้ำออกสู่ปากอ่าวไม่ได้ แต่คาดว่า หลังจาก 8 พ.ย. ระดับน้ำทะเลจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
 


 




ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมกรุงเทพ และจังหวัดใกล้เคียง 1 พ.ย.

          สถานการณ์ น้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน ผอ.การระบายน้ำ กทม.เผยสถานการณ์น้ำริมเจ้าพระยายังปกติ รับมือไหว เฝ้าระวังไปจนถึงกลางเดือนนี้

          นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เปิด เผยว่า จากการตรวจวัดปริมาณน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด ยังปกติ ไม่น่าเป็นห่วง โดยปริมาณน้ำอยู่ที่ 1.96 เมตร ซึ่งคันกั้นน้ำของ กทม.รับได้สูงถึง 2.50 เมตร ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 อยู่ที่ 4,500 ลบ.ม./วินาที

          ขณะเดียวกัน ระบุว่า กทม.ไม่ได้ประมาท ยังคงเฝ้าระวังตลอดเวลา จนไปถึงกลางเดือน พฤศจิกายน เพราะยังไม่หมดฤดูฝน หากฝนตกมาก ๆ ผสมกับน้ำเหนือที่ไหลหลากและน้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาอีก เกรงว่าคันกั้นน้ำจะรองรับไม่ไหว สุมเสี่ยงให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้ หากปริมาณน้ำท้ายเขื่อนที่ปล่อยออกมาเกิน 4,500 ลบ.ม./วินาที

          อย่าง ไรก็ตาม สำหรับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกัน น้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เขตฝั่งตะวันออก ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซ้ำซากทุกปีมีทั้งหมด 21 เขต คือ เขต บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางพลัด บางกอกน้อย ธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ ทวีวัฒนา บางกอกใหญ่ ตลิ่งชัน สาทร บางนา ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และคลองสามวา

 

 

เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม 31 ตุลาคม

 



น้ำท่วม เกาะเกร็ด


ข่าวน้ำท่วม

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์, @Phensasitorn , @kajeaw 

          สถานการณ์ น้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดเช้าวันนี้ (31 ตุลาคม) กรมชลประทาน รายงานสถานการร์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำไหลผ่านจุดสำคัญ อาทิ จ.นครสวรรค์ 2642 ลบ.ม. ลดลงจากวานนี้ 50 ลบ.ม. เขื่อนเจ้าพระยา ปล่อยน้ำลดลง จากวานนี้ 59 ลบ.ม. เขื่อนพระราม 6 ลดลงจากวานนี้ 90 ลบ.ม. และที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3346 ลบ.ม. ลดลงจากวานนี้ 215 ลบ.ม. ส่งผลให้แนวโน้ม ปริมาณน้ำเหนือ บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จนถึงเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับในทุ่งเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง กรมชลประทานได้สูบและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก 1.08 ล้าน ลบ.ม./วัน และสูบลงสู่แม่น้ำบางปะกง 4.22 ล้าน ลบ.ม./วัน และสูบระบายน้ำลงอ่าวไทย ผ่านสถานีสูบน้ำคลองชายทะเล 13.30 ล้าน ลบ.ม./วัน เช่นกัน
          ซึ่ง จากการประมวลผล สถานการณ์ในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอยู่ในภาวะน้ำทะเลหนุนไม่สูงมาก เหมือนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น แต่ยังคงมีน้ำเหนือสมทบกับน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ ยังคงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อยู่ในเกณฑ์มากต่อไปอีกระยะ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับมือ และตรวจสอบ
ความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

          ทางด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หากเกิดภาวะน้ำท่วมบ้านเรือนฉับพลันในพื้นที่ 13 เขต ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักงานเขตได้จัดเตรียมสถานที่รองรับประชาชน ดังนี้...

          เขตบางซื่อ ได้แก่ ร.ร.วัดสร้อยทอง ร.ร.วัดบางโพ และ ร.ร.วัดมัชฌันติการาม

          เขตดุสิต ได้แก่ ร.ร.วัดเทวราชกุญชร ร.ร.วัดราชผาติการาม และ ร.ร.วัดจันทร์สโมสร

          เขตพระนคร ได้แก่ ร.ร.วัดมหาธาตุ และ ร.ร.วัดโพธิ์

          เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ วัดจักรวรรดิ วัดสัมพันธวงศ์

          เขตบางคอแหลม ได้แก่ ลานวัดบางโคล่นอก วัดอินทร์บรรจง วัดจันทร์ใน

          เขตยานนาวา ได้แก่ วัดใหม่ช่องลม

          เขตบางพลัด ได้แก่ ร.ร.วัดฉัตรแก้วจงกลนี

          เขตบางกอกน้อย ได้แก่ วัดสุวรรณาราม ร.ร.วัดสุวรรณาราม ร.ร.โฆษิตสโมสร ร.ร.สตรีวัดระฆัง และ ร.ร.วัดุสิตาราม

          เขตธนบุรี ได้แก่ ร.ร.วัดกัลยาณมิตร ร.ร.วัดดาวคะนอง

          เขตคลองสาน ได้แก่ ร.ร.วัดเศวตฉัตร

          เขตทวีวัฒนา ได้แก่ วัดปุรณาวาส

          เขตคลองเตย ได้แก่ วัดคลองเตยนอก และเขตราษฎร์บูรณะ ได้แก่ วัดราษฎร์บูรณะ

          ขณะที่ นายวิช เยนทร์ มุตตามระ รอง ผอ.ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย แถลงว่า จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 22 จังหวัด 222 อำเภอ 1,682 ตำบล มีครัวเรือนเดือดร้อน 1,139,280 ครัวเรือน ประชาชน 3,614,873 คน มีผู้เสียชีวิต 100 คน โดยใน กทม.มีพื้นที่น้ำท่วม 13 เขต 27 ชุมชน มีบ้านเรือน 1,200 หลังได้รับความเดือดร้อน แต่ยังรับมือได้อยู่ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น คาดว่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน น้ำจากแม่น้ำมูลจะไหลถึง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี คาดว่าจะมีระดับน้ำสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร โดยจะทรงตัวในระดับนี้ประมาณ 1 สัปดาห์จึงค่อย ๆ ลดลง มั่นใจว่าสามารถรับมือน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ได้ดีกว่าทุกปี เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์อพยพที่สำนักงานเขตที่ดินวารินชำราบ เพื่อรับมือกับภาวะน้ำท่วมในวันที่ 2-9 พฤศจิกายนแล้ว

          นายวิชเยนทร์ กล่าวว่า สิ่ง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงคือสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 5 จังหวัดคือ สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี เนื่องจากยังมีน้ำท่วมขังสูงและจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีก 2 สัปดาห์ ส่วนภาคใต้ก็จะมีปริมาณฝนตกหนักระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน ซึ่งจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ที่ จ.ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง

ข่าวน้ำท่วมอยุธยา

          ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ทรงตัว เพิ่มสูงขึ้นอีก 5-6 เซนติเมตร ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ท้ายน้ำของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง นอกเหนือจากบ้านเรือนประชาชนจะจมน้ำได้รับความเสียหาย เดือดร้อนไม่ต่างไปจากอำเภออื่น ๆ ล่าสุดน้ำได้ไหลเข้าท่วมย่านธุรกิจ การค้า ของอำเภอบางปะอิน รวมไปถึงที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปะอิน โดย นายนที บ่อสุวรรณ นายอำเภอ ได้ตั้งแนวกระสอบทรายกั้นพื้นที่ส่วนราชการไว้ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่า 10 ตัว คอยระวังสูบน้ำออกตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือน้ำท่วมของอำเภอ เพื่อสะดวกต่อการเดินทางมาติดต่อของประชาชน

          ในส่วนเกาะวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่อยู่ตรงข้ามพระราชวังบางปะอิน พบว่าน้ำได้เข้าท่วมในส่วนของกุฏิเก่าแก่ ด้านติดริมน้ำแม่น้ำตลอดแนวรอบเกาะ แต่ในส่วนของโบสถ์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ยังน่าเป็นห่วงอยู่หากระดับน้ำ ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ ประภาคารเก่าแก่ ที่สร้างไว้หัวเกาะวัดนิเวศน์ ฯ ถูกน้ำท่วมแล้ว ซึ่งการเดินทางข้ามไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ ต้องใช้กระเช้าลอยน้ำเพียงอย่างเดียว ทางวัดต้องยกระดับกระเช้า ให้สูงพ้นน้ำ แต่ก็ทานระดับน้ำที่สูงขึ้นทุกวันไม่ไหวจากกระเช้าลอยฟ้า เป็นกระเช้าจมน้ำ บรรทุกผู้โดยสารลากฝ่ากระแสน้ำที่ไหลแรง ซึ่งทางวัดได้แก้ปัญหาโดยบรรทุกน้ำหนัก ไม่ให้มากนัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งพระและชาวบ้าน

 

 

 


          กทม.เตรียมลงพื้นที่ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม 8 พ.ย.นี้ ด้านนนทบุรี-ปทุมธานี ยังอ่วม น้ำเข้าท่วมหมู่บ้านหลายแห่ง

          สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันนี้ (30 ตุลาคม) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมแผนฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตกรุงเทพมหานคร ภายหลังระดับน้ำในพื้นที่ลดลงเพื่อเร่งเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นได้กำหนดแผนจะเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนผู้ประสบภัยน้ำ ท่วมใน 27 ชุมชน จากพื้นที่ 13 เขต รวม 13,000 ครัวเรือน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอก และลาดกระบัง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

          นอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดเตรียมงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือ กับ สถาบันการอาชีวะศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยจะเริ่มลงพื้นที่เข้าไปปรับปรุง และฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือน หลังจากวันที่ 8 พ.ย.และกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

          ด้าน พ.ญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ได้มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ชุมชนหลังวัดสร้อยทอง ชุมชนราชทรัพย์ ชุมชนจ่าวี ชุมชนวัดบางโพ ชุมชนวัดญวน และชุมชนประชาราษฎร์ เขตบางซื่อ พร้อมกล่าวให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดย พ.ญ.มาลินี ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน กทม. ขณะนี้ เริ่มดีขึ้น และคาดว่า จากนี้จะควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจาก กทม. ได้วางมาตรการป้องกันไว้เป็นอย่างดีแล้ว โดยได้จัดเรียงกระสอบทรายมาเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวในพื้นที่ฟันหลอ ซึ่งยังไม่มีแนวป้องกัน

          อย่าง ไรก็ตาม ยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำ ซึ่ง กทม. จะเร่งแจกยาเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับคณะ ยังได้เดินทางไปตรวจแนวป้องกันน้ำท่วม ชุมชนหลังวัดสร้อยทอง ซึ่งได้รับความเดือดร้อน จากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นท่วมบ้านเรือนด้วย

          ขณะที่กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำเหนือที่ยังไหลหลากจากทางตอนบน จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง หมั่นตรวจสอบคันกั้นน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่ตลอดเวลาด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้ง ขอให้ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทาน จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป


ข่าวน้ำท่วมนนทบุรี

          นายโกวิทย์ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง กล่าวถึงกรณี สถานการณ์น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ว่า น้ำจากคลองบางบัวทอง ไหลเข้าท่วม หมู่บ้านนารีนคร หมู่บ้านนนนที หมู่บ้าน ชลดา ไปจนถึง ซอยจามจุรี ปริมาณสูงกว่า 1 ฟุต รวมระยะทางที่น้ำท่วมประมาณ 5-6 กม. โดยก่อนหน้านี้ ทางเทศบาลเมืองบางบัวทอง ได้ทำการได้เตรียมการป้องกันน้ำท่วมมาประมาณ 1เดือน โดยการนำกระสอบทรายมากั้นถนนไว้ แต่น้ำเซาะกระสอบทรายไหลเข้าท่วมถนนจนท่วมขังดังกล่าว ซึ่งมีระดับน้ำ ที่สูงกว่าน้ำท่วมเมื่อปี 2538 แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมขังได้ จึงเกิดน้ำเข้าท่วมในหมู่บ้านดังกล่าว

ข่าวน้ำท่วมปทุมธานี

          นายผล ดำธรรม นายอำเภอลาดหลุมแก้ว เผยว่า มีชาวบ้านที่ ต.ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ซึ่งมีบ้านพักอยู่ติดกับริมคลองโซนหก ถูกน้ำซึ่งไหลมาจากคลองพระยาบันลือ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนทำให้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งชาวบ้านได้ช่วยกันกั้นกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจาก อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ไหลลงสู่คลองพระยาบันลือ ไหลเข้ามาภายในคลองโซนหกได้ เนื่องจากบริเวณท้ายคลองโซนหกนั้น เป็นพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านจำนวนมาก

          ด้าน กทม.ได้จัดตั้งโรงเลี้ยงอาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัด ปทุมธานี  2 แห่ง คือที่วัดบางเตยกลาง และวัดโบสถ์บ้านกลาง อำเภอเมือง ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.- 4 พ.ย.นี้ โดยเลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

 

 


ข่าวน้ำท่วม


          สถานการณ์น้ำท่วมใน กทม. และปริมณฑล วันที่ 29 ตุลาคม หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง โดยที่เกาะเกร็ดยังวิกฤต แม้น้ำจะลดลงบ้าง โดย10.00 น. วันนี้นำจะขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ถนนสิงห์บุรี ชัยนาท กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากและท่วมหลายจุด เตือนผู้สัญจรระวังอันตราย

          ทั้ง นี้ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังระดับน้ำในพื้นที่ลดลง กทม.จะเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นได้กำหนดแผนจะเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนผู้ประสบภัยน้ำ ท่วมใน 27 ชุมชน จากพื้นที่ 13 เขต รวม 13,000 ครัวเรือน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอก และลาดกระบัง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

          นอก จากนี้ กทม.ยังได้จัดเตรียมงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือ กับ สถาบันการอาชีวะศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยจะเริ่มลงพื้นที่เข้าไปปรับปรุง และฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือน หลังจากวันที่ 8 พ.ย.และกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน



 น้ำท่วมสิงห์บุรี ชัยนาท

          ระดับ น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ล้นตลิ่งเพิ่มมากขึ้นสร้างความวิตก ให้กับชาวชุมชนบ้านดงมะขามเทศ เขตเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ชาวบ้านจึงช่วยผลัดเปลี่ยนเวรยาม ช่วยกันกรอกทรายลงกระสอบ เพื่อเสริมแนวป้องกันน้ำให้สูงขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่า เขื่อนเจ้าพระยาจะระบายน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ ชาวบ้านเกรงว่า น้ำท่วมจะท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองสิงห์บุรี อีกกว่าร้อยหลังคาเรือน โดยขณะนี้ระดับน้ำได้ล้นเข้ามาที่คลองชลประทาน ท่วมผิวจราจรถนนสิงห์บุรี สุพรรณบุรี ระดับน้ำสูง 1 เมตร ล่า สุด ถนนสิงห์บุรี ชัยนาท มีน้ำท่วมสูงอันตรายหลายจุด โดยเฉพาะ บริเวณวัดกระดังงา สิงห์บุรี หลักกิโลเมตรที่ 6-7 มีน้ำไหลเชี่ยวกราก สำนักงานบำรุงทางสิงห์บุรี ได้ติดประกาศให้ผู้เดินทางให้ใช้เส้นทางอ้อมไปทาง อำเภอบางระจัน และเข้าสู่ถนน 311 สิงห์บุรี ชัยนาท

 น้ำท่วมปทุมธานี

         เตือน ช่วงวันที่ 6-11 พ.ย. นี้ น้ำทะเลจะเริ่มหนุนสูงอีกระลอก ใน อ.สามโคก อ.เมือง ขณะที่ขณะนี้ประชาชน อ.สามโคก อ.เมือง ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอุทกภัยได้อพยพไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ ที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งทางจังหวัด ยังคงเข้าให้ความช่วยเหลือนำถุงยังชีพแจกจ่ายแก่ประชาชนที่เดือดร้อนอย่าง ต่อเนื่อง

          ขณะ ที่ บริเวณสะพานข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ หมู่ที่5 ต.หลักหก อ.เมือง ได้มีกำลังเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลหลักหก นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตทั้งชายและหญิง กว่า 200 คน และเจ้าหน้าที่สนามกอล์ฟเมืองเอก และสนามกอล์ฟวินต้า กว่า 100 คน พร้อมเครื่องจักรกลหนัก และรถแบคโฮกำลังช่วยกันสร้างคันดินและเสริมแนวกระสอบทราย หลังมือดีดึงกระสอบทรายที่ทางเทศบาลตำบลหลักหกสร้างเอาไว้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้านเมืองเอกชั้นใน ออกได้รับความเสียหายเป็นทางยาวประมาณ10 เมตร ทำให้น้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไหลเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของหมู่บ้านเมือง เอก

 น้ำท่วมนนทบุรี

          สถานการณ์ น้ำท่วมบริเวณชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ลดลงบ้างแล้วบ้านส่วน แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย ในชุมชนจำนวนมาก ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมภายในชุมชนเกาะเกร็ดนั้น ระดับน้ำได้ลดลงจากเมื่อคืนที่ผ่านมา กว่า 1 เมตร แล้ว แต่ระดับน้ำก็ยังคงไหลท่วม โดยรอบของบริเวณชุมชนอยู่ และในช่วงเวลา 10.00 น. ของวันนี้ ปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยในชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายคนต้องเดินทางออกไปทำงาน ส่วนประชาชนที่ประกอบอาชีพอยู่ภายในชุมชน ต่างได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก 

          และ จากการพูดคุยกับ นางรักขณา ใจสว่าง อายุ 56 ปี พนักงานเก็บเงินค่าเรือโดยสารข้ามฟากบริเวณวัดปรมัยยิกาวาส เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว ส่งผลกระทบกับรายได้เป็นอย่างมาก ซึ่งปกติแล้ว ในวันธรรมดานั้น ท่าเรือจะเก็บเงินค่าใช้บริการได้วันละ ประมาณ 2,000 บาท ส่วนในวันหยุด จะตกอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม รายได้ลดลงอย่างมาก ตกอยู่ที่วันละ 400-500 บาท 

          อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนเกาะเกร็ด ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

 น้ำท่วมอ่างทอง

          จ.อ่างทอง ได้ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 อำเภอแล้ว เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น เอ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.เมือง อ.ป่าโมก บ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก เนื่องจากน้ำเหนือจากพิษณุโลก และพิจิตร ไหลมาสมทบอย่างต่อเนื่อง และทางชลประทาน ได้ระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่แม่น้ำน้อย ทำให้ในช่วง 2 - 3 วันนี้ น้ำในแม่น้ำน้อย เพิ่มระดับสูงขึ้น จนทำให้น้ำเกือบล้นตลิ่ง

          โดย ทางจังหวัด ได้เร่งสร้างคันกั้นน้ำเพิ่ม และเสริมพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก 40 ซม. และได้เตรียมอพยพประชาชนไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัย และนำสิ่งของอุปโภค บริโภค แจกจ่ายแก่ประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว โดยคาดว่า หากผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ สถานการณ์อาจจะเริ่มดีขึ้น







 

 

 สถานการณ์น้ำท่วม 28 ตุลาคม

 




ข่าวน้ำท่วมกรุงเทพ

 

 

ภาพจากเกาะเกร็ด บ้านล่าง หมู่6 จมน้ำมาตั้งแต่วันที่18 ต.ค. : เครดิตโดย @Phensasitorn


 

 

ด่วน ไฟฟ้านนทบุรี แจ้งไป3ครั้ง น้ำจะท่วมมิเตอร์แล้ว--หมู่6บ้านล่าง เกาะเกร็ด : เครดิตโดย @Phensasitorn


 

 

ชาวบ้านใช้เรือสัญจรถนนในชุมชนบ้านล่าง หมู่6 เกาะเกร็ด : เครดิตโดย @Phensasitorn

 

#ข่าว
wansopa
Screenwriter
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
6 พ.ย. 53 เวลา 19:50 3,233 4 32
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...