ตำนานการแก้แค้นของ "สามวิญญาณอาฆาต" ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีตัวตนอยู่จริง

เพื่อนๆ รู้จักวิญญาณอาฆาต หรืออนเรียว (怨霊) ของญี่ปุ่นกันไหมคะ? ถ้าพูดถึงคำว่าวิญญาณอาฆาตแล้ว ก็คงนึกถึงวิญญาณของคนที่มีความแค้นหลงเหลืออยู่ ทำให้เมื่อตายไปจึงกลายเป็นวิญญาณเพื่อกลับมาแก้แค้นค่ะ ซึ่งในญี่ปุ่นมีวิญญาณอาฆาตสามตนด้วยกันที่เป็นสุดยอดของตำนานการแก้แค้นของญี่ปุ่นค่ะ โดยคนญี่ปุ่นเรียกวิญญาณสามตนนี้ว่า “สามวิญญาณอาฆาต (三大怨霊)” ค่ะ

ความพิเศษของสามวิญญาณอาฆาตที่ทำให้วิญญาณสามตนนี้แตกต่างจากตำนานวิญญาณอาฆาตอื่นๆ ก็คือวิญญาณอาฆาตเหล่านี้ต่างเป็นวิญญาณของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงค่ะ ดังนั้นเรื่องราวการแก้แค้นของวิญญาณทั้งสามตนนี้มีเค้าโครงเรื่องจริงอยู่ไม่มากก็น้อยค่ะ โดยสามวิญญาณอาฆาตนี้ได้แก่ สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะ (菅原道真) ไทระโนะ มาซาคาโดะ (平将門) และจักรพรรดิสุโตคุ (崇徳天皇) ค่ะ

จากซ้ายไปขวา: สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะ, ไทระโนะ มาซาคาโดะ, และจักรพรรดิสุโตคุ

ตำนานการแก้แค้นของ “สามวิญญาณอาฆาต” : สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะ

ถึงตอนนี้เพื่อนๆ ก็คงจะรู้จักสามวิญญาณอาฆาตไปคร่าวๆ แล้ว ต่อไปเราจะมารู้จักวิญญาณอาฆาตตนแรกกันค่ะ นั่นคือ สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะ หรือเทพเท็นจิน (天神) เทพเจ้าแห่งการเรียนรู้ของญี่ปุ่นค่ะ

 

ประวัติ

 

สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา (右大臣) และคนสนิทในจักรพรรดิอุดะ (宇多天皇) ซึ่งครองราชย์ในสมัยเฮอัน (平安時代) ค่ะ ด้วยความสามารถในหลายแขนงทำให้สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นขุนนางที่มีตำแหน่งคานอำนาจกับตระกูลฟุจิวาระ (藤原氏) ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางที่มีอำนาจมากที่สุดในสมัยนั้นค่ะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสึกาวาระได้ตำแหน่งเสนาบดีฝ่ายขวาไม่นานจักรพรรดิอุดะก็ได้ทรงลาผนวชทำให้เขาเสียผู้สนับสนุนในราชสำนักคนสำคัญไป ขุนนางตระกุลฟุจิวาระที่เห็นโอกาสนี้จึงได้วางแผนใส่ร้ายสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะจนทำให้เขาถูกเนรเทศไปยังเกาะคิวชู (九州) ค่ะ

กล่าวกันว่าเมื่อได้ยินข่าวการเนรเทศ จักรพรรดิอุดะที่ทรงลาผนวชแล้วได้ทรงวิ่งไปหาจักรพรรดิไดโกะ (醍醐天皇) เพื่อขอให้ละโทษเนรเทศแต่กลับถูกฟุจิวาระโนะ สุกาเนะ (藤原菅根) ขัดขวาง ทำให้คำร้องให้ละโทษเนรเทศไปไม่ถึงจักรพรรดิไดโกะ สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะจึงถูกเนรเทศในที่สุดค่ะ และภายหลังการถูกเนรเทศเพียง 2 ปี สึกาวาระโนะ มิจิซาเนะที่สุขภาพทรุดโทรมอยู่แล้วก็ได้เสียชีวิตลงด้วยอายุ 59 ปีในปีค.ศ. 903 ค่ะ

 

การกลับมาของวิญญาณอาฆาต

ตามคำบอกเล่าในศาลเจ้าบางแห่งของเทพเท็นจินได้กล่าวว่าภายหลังการเสียชีวิตของสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะไปหลายปี ในค่ำคืนหนึ่งของฤดูร้อน วิญญาณของสึกาวาระได้มาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งบนเขาฮิเอ (比叡山) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเกียวโต (京都市) เพื่อขอให้เจ้าอาวาสไม่เข้ามาขัดขวางการแก้แค้นของตนค่ะ

หลังจากนั้นในปีค.ศ. 906 เป็นต้นไป ขุนนางตระกูลฟุจิวาระหลายคน รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการเนรเทศของสึกาวาระได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต เสียชีวิตด้วยโรคร้าย หรือบางคนก็หายสาบสูญไป แม้แต่มงกุฎราชกุมารของจักรพรรดิไดโกะเองก็ยังเสียชีวิตไปด้วย จนเริ่มมีข่าวลือในเกียวโตว่าการเสียชีวิตเหล่านี้เกิดจากคำสาปของสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะค่ะ โดยเมื่อยิ่งเวลาผ่านไปความรุนแรงก็ยิ่งทวีคูณ จนมีเหตุการณ์หนึ่งที่สายฟ้าได้ผ่าลงมาในเขตพระราชฐานชั้นในทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็มีขุนนางตระกูลฟุจิวาระอยู่ด้วย ทำให้ความเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นคำสาปของสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะยิ่งแพร่หลายมากขึ้นไปอีกค่ะ

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ฟ้าผ่าเขตพระราชฐานชั้นใน

ทางพระราชสำนักจึงได้ประกาศให้โทษเนรเทศของสึกาวาระเป็นโมฆะและสร้างศาลเจ้าเท็นมังงู (天満宮) ขึ้นและบูชาสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะในฐานะเทพแห่งความรู้และการศึกษาหรือเทพเท็นจินเพื่อให้วิญญาณของสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะสงบลงค่ะ

เรื่องราววิญญาณอาฆาตของสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะก็ได้จบลงเท่านี้ค่ะ ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันสึกาวาระโนะ มิจิซาเนะนับเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่มีผู้มาไหว้สักการะที่ศาลเจ้ามากที่สุดองค์หนึ่งเลยค่ะ

 

ตำนานการแก้แค้นของ “สามวิญญาณอาฆาต” : ไทระโนะ มาซาคาโดะ

 

เรามาทำความรู้จักวิญญาณอาฆาต (怨霊) ตนที่สองคือ “ไทระโนะ มาซาคาโดะ (平将門) ” กันต่อเลยค่ะ

ประวัติ

 

ไทระโนะ มาซาคาโดะเป็นซามูไรที่เก่งกาจและโด่งดังมากที่สุดในสมัยเฮอัน (平安時代) เลยก็ว่าได้ค่ะ นอกจากนี้ยังนับเป็นซามูไรรุ่นบุกเบิกอีกด้วยค่ะ ไทระโนะ มาซาคาโดะเกิดในตระกูลไทระ (平氏) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิคันมุ (桓武天皇) จึงนับได้ว่าเขาเกิดมาในตระกูลที่มีอำนาจพอสมควรเลยค่ะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากญี่ปุ่นในสมัยนั้นไม่มีกฎหมายด้านการรับมรดกที่ชัดเจน ทำให้ไทระโนะ มาซาคาโดะถูกญาติๆ ของเขาพยายามแย่งมรดกที่ดินของเขาภายหลังการเสียชีวิตของบิดา ปัญหานี้ได้มาถึงจุดแตกหักเมื่อไทระโนะ มาซาคาโดะถูกลอบโจมตีโดยกลุ่มนักรบของลุงของเขารวมถึงนักรบจากตระกูลมินาโมโตะ (源氏) แต่ไทระโนะ มาซาคาโดะสามารถเอาชนะได้อย่างรวดเร็วและแก้แค้นด้วยการบุกรุกพื้นที่ของศัตรูและเผาที่ดินทั้งหมด รวมถึงฆ่าคนอีกจำนวนมากในที่นั้นด้วย ทำให้เขาถูกเรียกตัวไปยังราชสำนักเพื่อรับการไต่สวน แต่ภายหลังเขาก็ได้รับการอภัยโทษค่ะ

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่างไทระโนะ มาซาคาโดะกับคนในตระกูลยังคงเกิดขึ้นต่อมาเรื่อยๆ ทำให้เขาต้องคอยไปให้การในราชสำนัก จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาขัดหมายเรียกจากราชสำนักและซ่องสุมกำลังเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ แทนค่ะ ถึงจะเรียกว่ายึดครอง แต่ไทระโนะ มาซาคาโดะกลับปฏิบัติต่อชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี ต่างกับทางราชการที่มักเอาเปรียบชาวบ้านตลอดมา ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่มองเขาว่าเป็นผู้ที่มาช่วยเหลือและยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีค่ะ ด้วยเหตุนี้ทำให้ทางเมืองหลวงกลัวว่าไทระโนะ มาซาคาโดะจะเตรียมการโค่นล้มอำนาจจักรพรรดิ จึงได้ประกาศให้เขาเป็นกบฏและได้ออกคำสั่งให้นักรบกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยทหารของฟูจิวาระโนะ ฮิเดซาโตะ (藤原秀郷) เพื่อนของไทระโนะ มาซาคาโดะ รวมถึงทหารของญาติๆ ของเขา ให้นำศีรษะของไทระโนะ มาซาคาโดะกลับมา

และในคืนวันที่ 14 เดือนยี่ ปีค.ศ. 940 กองทัพของไทระโนะ มาซาคาโดะถูกลอบโจมตีกลางดึกที่จังหวัดชิโมอุสะ (下総国) และตัวไทระโนะ มาซาคาโดะเองก็ถูกตัดศีรษะนำกลับไปยังเมืองหลวงที่เกียวโต (京都市)แล้วเสียบประจานไว้ที่ตลาดทางตะวันออกของเมืองเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้กับคนที่คิดจะก่อกบฏค่ะ

 

การกลับมาของวิญญาณอาฆาต

 

มีเรื่องเล่าว่าแม้ว่าศีรษะของไทระโนะ มาซาคาโดะจะถูกเสียบประจานอยู่เป็นเดือนแล้ว แต่น่าแปลกที่ศีรษะนั้นไม่เน่าเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ดวงตาของศีรษะนั้นยังดูดุดันขึ้นและริมฝีปากก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นรอยแสยะยิ้ม และทุกคืนจะมีคนได้ยินเสียงศีรษะตะโกนว่า “ร่างของข้าอยู่ไหน!? มานี่สิ! มาต่อกับหัวของข้าให้ข้าได้สู้อีกครั้ง!” จนกระทั่งคืนหนึ่งศีรษะของไทระโนะ มาซาคาโดะเรืองแสงขึ้นและลอยไปยังทางจังหวัดชิโมอุสะที่เขาถูกฆ่า แต่ระหว่างทางศีรษะกลับตกลงที่หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเมืองเอโดะ (江戸) ค่ะ

ชาวบ้านที่พบศีรษะได้ทำความสะอาดศีรษะและทำพืธีฝังให้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นบนหลุมศพ ซึ่งก็คือศาลเจ้า “คุบิสุกะ (首塚) ” ที่แปลว่า “เนินศีรษะ”ค่ะ โดยไทระโนะ มาซาคาโดะได้รับการเคารพบูชาในฐานะนักรบที่แท้จริงและเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านความอยุติธรรมจากราชสำนักและชนชั้นสูงค่ะ อย่างไรก็ตามก็ดูเหมือนว่าวิญญาณของเขายังไม่พอใจเนื่องจากมีชาวบ้านพบเห็นวิญญาณของซามูไรบริเวณศาลเจ้าของเขาค่ะ

ช่วงต้นศตวรรษที่ 14 (ช่วงปี 1300) ได้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นคำสาปของไทระโนะ มาซาคาโดะจึงได้ย้ายศีรษะของเขาไปยังศาลเจ้าคันดะ (神田神社) และบูชาเขาในฐานะเทพเจ้าองค์หนึ่งค่ะ ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผลเมื่อทุกอย่างสงบลง จนกระทั่งจักรพรรดิเมจิ (明治天皇) ได้ทรงเสด็จมาเยือนบริเวณแห่งนี้ค่ะ เนื่องจากการที่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของราชวงศ์อย่างไทระโนะ มาซาคาโดะได้รับการบูชาในขณะที่จักรพรรดิเสด็จมาเยือนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม ไทระโนะ มาซาคาโดะจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งเทพเจ้า และศาลเจ้าของเขาก็ถูกย้ายออกไปยังศาลเจ้าเล็กๆ อีกแห่งค่ะ

เรื่องราวไทระโนะ มาซาคาโดะยังไม่จบลงค่ะ เมื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบคันโต (関東大震災) ในปีค.ศ. 1928 ได้ทำลายเมืองโอเทมาจิ (大手町) ไปเสียส่วนมาก บริเวณศาลเจ้าคุบิสุกะของไทระโนะ มาซาคาโดะได้ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งชั่วคราวของกระทรวงการคลังค่ะ แต่ไม่นานหลังจากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลง รวมถึงพนักงานอีกหลายคนที่เสียชีวิต ล้มป่วย หรือประสบอุบัติเหตุภายในอาคารของกระทรวงค่ะ ทำให้เกิดข่าวลือว่าอาจจะเป็นคำสาป อาคารของกระทรวงจึงถูกทุบทิ้งและได้มีการจัดพิธีรำลึกแด่ไทระโนะ มาซาคาโดะที่ศาลเจ้าคันดะค่ะ

ศาลเจ้าของไทระโนะ มาซาคาโดะในโตเกียว

ช่วงศตวรรษที่ 20 ได้มีอุบัติเหตุ ไฟไหม้ อาการเจ็บป่วย และรายงานการพบเห็นสิ่งแปลกประหลาดขึ้นบริเวณศาลเจ้าค่ะ แต่ทุกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์เหล่านี้จะมีการทำพิธีปัดเป่าค่ะ จนสุดท้ายในปีค.ศ. 1984 ไทระโนะ มาซาคาโดะก็ได้ถูกบูชาในฐานะเทพเจ้าอีกครั้งค่ะ จนปัจจุบันนี้ก็ยังมีความพยายามในการบรรเทาความโกรธแค้นของไทระโนะ มาซาคาโดะอยู่ค่ะ เช่นรายการโทรทัศน์จะต้องเดินทางไปเคารพหลุมศพที่ฝังศีรษะของเขาในเมืองโอเทมาจิ จังหวัดโตเกียว (東京都) ก่อนที่จะถ่ายทำรายการเกี่ยวกับเขาค่ะ และศาลเจ้าคุบิซุกะเองก็ได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยทางท้องถิ่นและอาสาสมัครค่ะ

บริเวณทางเข้าของศาลเจ้า

กว่าเรื่องราวของไทระโนะ มาซาคาโดะจะจบลงก็ใช้เวลานานเป็นพันปีทีเดียวค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าที่ญี่ปุ่นจะมีเรื่องราวแบบนี้อยู่ด้วยใช่ไหมคะ? ต่อไปเราจะมารู้จักกับวิญญาณอาฆาตตนสุดท้ายกันค่ะ นั่นคือจักรพรรดิสุโตคุ (崇徳天皇) ค่ะ

 

ตำนานการแก้แค้นของ “สามวิญญาณอาฆาต” : จักรพรรดิสุโตคุ

 

ในที่สุดเราก็มาถึงวิญญาณอาฆาต (怨霊) ตนสุดท้ายในสามวิญญาณอาฆาต (三大怨霊) กันแล้วค่ะ นั่นคือจักรพรรดิสุโตคุ (崇徳天皇) ค่ะ

ประวัติ

 

จักรพรรดิสุโตคุประสูติในปีค.ศ. 1119 และเป็นราชโอรสองค์โตในจักรพรรดิโทบะ (鳥羽天皇) อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันในราชสำนักว่าจักรพรรดิสุโตคุนั้นแท้จริงแล้วเป็นโอรสของอดีตจักรพรรดิชิราคาวะ (白河天皇)ค่ะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จักรพรรดิสุโตคุมักได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากจักรพรรดิโทบะซึ่งเป็นพระบิดาในนาม บ้างกล่าวว่าจักพรรดิโทบะมักเรียกจักรพรรดิสุโตคุว่า “ลูกนอกสมรส” ค่ะ

ทางด้านอดีตจักรพรรดิชิราคาวะผู้เป็นพ่อแท้ๆ ของจักรพรรดิสุโตคุนั้น แม้ว่าจะสละราชบัลลังก์ไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีอำนาจพอสมควรค่ะ และเมื่อตอนที่จักรพรรดิสุโตคุยังมีอายุเพียง 5 ชันษา และจักรพรรดิโทบะมีอายุ 21 ชันษา จักรพรรดิชิราคาวะก็ได้บังคับให้จักรพรรดิชิราคาวะสละราชบัลลังก์ และจักรพรรดิสุโตคุก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนค่ะ

แต่หลังจากที่อดีตจักรพรรดิชิราคาวะสิ้นพระชนม์ อดีตจักรพรรดิโทบะเริ่มเกลี้ยกล่อมจักรพรรดิสุโตคุให้สละราชสมบัติโดยกล่าวว่าชีวิตหลังสละราชสมบัตินั้นดีกว่าตอนเป็นจักรพรรดิอยู่มาก ทั้งยังเสนอให้จักรพรรดิสุโตคุรับโอรสในอดีตจักรพรรดิโทบะ คือเจ้าชายนาริฮิโตะ (体仁親王) มาเป็นบุตรบุญธรรมค่ะ และเมื่อจักรพรรดิสุโตคุทำตามข้อเสนอในที่สุดในปีค.ศ. 1142 เจ้าชายนาริฮิโตะก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิโคะโนะเอะ (近衛天皇) แทนบุตรหลานของจักรพรรดิสุโตคุ และอดีตจักรพรรดิโทบะก็ได้ขึ้นมามีอำนาจแทนค่ะ และเพื่อเป็นการกำจัดอำนาจของจักรพรรดิสุโตคุ อดีตจักรพรรดิโทบะได้ส่งพันธมิตรของจักรพรรดิสุโตคุออกไปยังต่างจังหวัดอันห่างไกล และนำผู้สนับสนุนของตนเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงแทนค่ะ

จักรพรรดิสุโตคุไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนกระทั่งจักรพรรดิโคะโนะเอะทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1155 โดยไม่มีรัชทายาท จักรพรรดิสุโตคุที่มีทายาทเป็นของตนเองแล้วจึงเห็นโอกาสที่จะทวงอำนาจคืนโดยจักรพรรดิสุโตคุและกลุ่มผู้สนับสนุนได้ประกาศว่าบัลลังก์ควรตกทอดสู่รัชทายาทของจักรพรรดิสุโตคุแต่ทางราชสำนักได้ประกาศให้โอรสองค์ที่สี่ของจักรพรรดิโทบะขึ้นเป็นจักรพรรดิโกะชิราคาวะ (後白河天皇) แทน ในปีต่อมาเมื่ออดีตจักรพรรดิโทบะสิ้นพระชนม์ความขัดแย้งนี้ได้กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่รู้จักกันว่า “การปฏิวัติโฮเก็น (保元の乱)”

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์การปฏิวัติโฮเก็น

แต่สงครามกลางเมืองนี้ได้จบลงในศึกเดียวโดยฝ่ายที่ชนะคือฝ่ายจักรพรรดิโกะชิราคาวะค่ะ ผู้ที่สนับสนุนจักรพรรดิสุโตคุทุกคนถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมทั้งคนในครอบครัวทั้งหมด และจักรพรรดิสุโตคุเองก็ถูกเนรเทศออกจากเกียวโต (京都府) ไปยังจังหวัดซานุกิค่ะ (讃岐の国) จักรพรรดิสุโตคุได้ทรงออกผนวชและอุทิศชีวิตที่เหลือในการคัดพระคัมภีร์ส่งกลับไปยังเกียวโตค่ะ แต่ทางราชสำนักกลับปฏิเสธพระคัมภีร์ที่จักรพรรดิสุโตคุส่งกลับมาให้ ด้วยกลัวว่าจักรพรรดิสุโตคุจะพยายามสาปราชสำนักผ่านคัมภีร์เหล่านี้ โดยมีเรื่องเล่าว่าจักรพรรดิสุโตคุได้กัดลิ้นตนเองและใช้เลือดเขียนคำสาปลงในพระคัมภีร์ค่ะ หลังจากนั้นไม่นานจักรพรรดิสุโตคุก็ได้สิ้นพระชนม์ลง โดยบ้างได้กล่าวว่าจักรพรรดิสุโตคุได้ตรัสไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ว่า “เราจะเป็นจอมมารแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นคอยสาปส่งราชวงศ์” ค่ะ และเมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิสุโตคุไปถึงเมืองหลวง จักรพรรดิโกะชิราคาวะได้รับสั่งไม่ให้ใครไว้อาลัยแก่จักรพรรดิสุโตคุและทางราชสำนักจะไม่จัดพิธีศพให้เป็นอันขาด

 

การกลับมาของวิญญาณอาฆาต

เรื่องเล่าเกี่ยวกับจักรพรรดิสุโตคุได้เล่าว่าภายหลังจักรพรรดิสุโตคุสิ้นพระชนม์พระศพก็ยังไม่ถูกเผาในทันทีเนื่องจากต้องรอคำสั่งจากทางการอีกที ที่น่าแปลกคือแม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 20 วันพระศพก็ยังไม่เน่าสลาย จนกระทั่งเมื่อมีการขนโลงศพมาเพื่อบรรจุพระศพ ก็ได้มีพายุลูกใหญ่พัดเข้ามา ทำให้ทุกคนในบริเวณต้องทิ้งโลงศพไว้และหาที่หลบพายุ จนเมื่อพายุผ่านไปจึงพบว่าพื้นหินรอบๆ บริเวณเปียกไปด้วยน้ำฝนสีแดงที่ดูเหมือนเลือดอยู่ และเมื่อถวายพระเพลิงพระศพก็ได้เกิดกลุ่มเมฆสีดำขึ้นเหนือกรุงเกียวโตซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มเมฆนี้เป็นเขม่าควันจากพระอัฐิค่ะ

หลังจากนั้นก็ได้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นในกรุงเกียวโต เริ่มจากสมาชิกในพระราชวงศ์ของจักรพรรดิโกะชิราคาวะต่างสิ้นพระชนม์กะทันหัน และในตัวเมืองหลวงเองก็ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนค่ะ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้ทำให้อำนาจของราชสำนักอ่อนแอลง นอกจากนี้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติโฮเก็นก็ได้ทำให้เกิดสงครามย่อยๆ ขึ้นจนนำไปสู่สงครามเก็มเปย์ (源平合戦) ระหว่างตระกูลไทระ (平氏) กับตระกูลมินาโมโตะ (源氏) ภายหลังสงครามสงบลง อำนาจการปกครองของญี่ปุ่นก็ได้เปลี่ยนจากจักรพรรดิมาอยู่ในระบบโชกุน (将軍) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่คามาคุระ (鎌倉) แทนค่ะ ซึ่งการเสียอำนาจของระบบจักรพรรดินี้ว่ากันว่าเป็นคำสาปของจักรพรรดิสุโตคุค่ะ

ภาพวาดจำลองสงครามเก็มเปย์

ทั้งนี้ทั้งนั้น คนญี่ปุ่นเองก็มีวัฒนธรรมในการนับถือบูชาวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปในฐานะเทพเจ้าเพื่อให้วิญญาณเหล่านั้นช่วยคุ้มครองดูแลตนค่ะ (คล้ายการบูชาผีในประเทศไทยเลยค่ะ) จักรพรรดิสุโตคุเองก็ได้รับการบูชาในฐานะเทพเจ้าในปีค.ศ. 1868 โดยมีการสร้างศาลเจ้าชิรามิเนะ (白峰神宮) ในเกียวโตขึ้นเพื่อเคารพบูชาจักรพรรดิสุโตคุค่ะ

ทางเข้าศาลเจ้าชิรามิเนะ

เรื่องราวของจักรพรรดิสุโตคุและสามวิญญาณอาฆาตก็ได้จบลงเพียงเท่านี้ค่ะ สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากเรื่องราวของวิญญาณอาฆาตทั้งสามตนนี้คือแม้ว่าแต่ละเรื่องจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่ากลัวเกี่ยวกับการแก้แค้นและคำสาปของวิญญาณอาฆาต แต่หากมองดีๆ แล้วเราจะพบว่าทั้งหมดต่างเป็นผู้ที่พ่ายแพ้ให้กับความไม่สุจริตในเกมการเมืองค่ะ ทั้งการใส่ร้าย การแก่งแย่งชิงดี และการเอารัดเอาเปรียบ ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสิ่งที่เรายังเห็นได้ในการเมืองในทุกวันนี้ในทุกๆ ประเทศค่ะ ซึ่งประวัติของสามวิญญาณอาฆาตนี้ต่างเป็นตัวอย่างในอดีตให้คนในปัจจุบันอย่างพวกเราศึกษาได้ค่ะ

Credit: http://anngle.org/th/j-culture/vips/onryoupt3.html
6 ม.ค. 60 เวลา 05:21 5,288
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...