จากชายในชุดสตรีถึงนักปรัชญาสายพุทธ

ระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังถกเเถียงเรื่องเศียรพระศรีสรรเพชญดาญาณ ผมอยากจะเถียงกับเขาบ้างก็เลยลองค้นบันทึกการเดินทางของชาวตะวันตกในอยุธยาเกี่ยวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ว่ามีอะไรหลงหูหลงตาหรือไม่ - ปรากฎว่ายังค้นไม่เจอ แต่ไปเจออย่างอื่นคือเรื่องของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (Abbé de Choisy) ซึ่งเป็นคณะทูตเดินทางมาอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และเขียนจดหมายเหตุการณ์เดินทางไว้

บันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ก็งั้นๆ ผมว่าประวัติส่วนตัวผู้บันทึกน่าใจกว่า เพราะ เดอ ชัวซีย์ ชอบแต่งกายข้ามเพศ เพราะถูกแม่จับแต่งตัวเป็นเด็กผู้หญิงมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วพาติดตามคณะนักสนมนางในของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เดอ ชัวซีย์ แต่งตัวเป็นผู้หญิงจนเชี่ยวชาญแถมยังสวยจนรัชทายาทแห่งฝรั่งเศสยังเอ่ยปากชมว่างามเหมือนนางฟ้า แถมยังเป็นผู้นำแฟชั่นในปารีสจนพวกคุณหญิงคุณนายต้องพาลูกสาวมารับการอบรม ชีวิตของ เดอ ชัวซีย์ หวือหวาอื้อฉาวมาก จนถูกเนรเทศจากปารีส ไปเป็นนักแสดงหญิงที่บอร์กโดซ์ แล้วระหกระเหินไปกรุงโรมจนป่วยเกือบตาย ระหว่างที่ใกล้เงื้อมมือทูตมรณะนั้นเองเกิดศรัทธาทางศาสนาแรงกล้า จนเข้าสู่ศาสนาเป็นบาทหลวง (Abbé) กระทั่งได้ติดตามคณะทูตไปเมืองสยาม

บันทึกการเดินทางของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสยามพอควรเช่นเดียวกับบันทึกของคณะเดินทางอื่นๆ คนที่อ่านบันทึกการเดินทางมาสยาม ยังรวมถึงนักปรัชญาคนสำคัญของโลก เช่น มองเตสกิเออ และวอลแตร์ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เอ่ยถึงสยามในเชิงปรัชญาการเมือง  ท่านยอร์ช เซเดส์ เคยรีวิวบันทึกเล่มนี้ และบอกว่าสิ่งที่ชาวตะวันตกรู้เกี่ยวกับชาวสยามยังผิวเผิน ควรรู้ด้วยว่าชาวสยามเป็นคนรื่นเริง มีขันติธรรม ความเชื่อทางศาสนาที่สอนให้มีเมตตา

ส่วน จอห์น ล็อค (John Locke) เอ่ยถึงการไม่เชื่อพระเจ้าของชาวสยาม ในทำนองที่ว่าชาว (พุทธ) สยามไม่ถือพระเจ้าแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมแบบดั้งเดิมที่ไร้ความเชื่อเรื่องพระเจ้า และแสดงว่าความเชื่อนี้มิได้อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ล็อค เห็นว่าพวกไม่เชื่อถือพระเจ้าไม่มีคุณธรรมเอาเลย (จอห์น ล็อค มองคนสยามว่าไร้อารยธรรม จึงยังบันทึกเรื่องเล่าจากทูตวิลันดาด้วยว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ทรงเชื่อว่ามีสิ่งที่เรียกว่าน้ำแข็งอยู่บนโลก)

อีกคนหนึ่งคือ เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาสายเดียวกับจอห์นล็อก ในห้องหนังสือของ ฮูม มีบันทึกการเดินทางของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ รวมอยู่ด้วย นักวิชาการเชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลเรื่องศาสนาพุทธจากบันทึกเรื่องพุทธศาสนาของอยุธยาในหนังสือเล่มนี้ ที่จริงแล้ว ฮูม ยังติดต่อกับบาทหลวงคณะเยสุอิตอีกหลายคน เช่น บาทหลวงโดลือ (Charles Francois Dolu) ซึ่งเคยเดินทางมาสยามหลังคณะของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ และศึกษาพุทธศาสนาอย่างละเอียด ถึงขนาดไปอยู่กับพระที่วัดใกล้ๆ สำนักเยสุอิตในอยุธยา โดยถือวินัยแบบพระ กินอยู่แบบพระ

ฮูม อาจศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธในอยุธยาจากงานของบาทหลวงโดลือ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม ฮูมเคยบอกว่า ถ้าไม่มีผัสสะต่างๆ มาประกอบกันแล้วก็ไม่อาจรู้สึกถึงความเป็นตัวเป็นตนได้ ซึ่งทัศนะนี้คล้ายกับเรื่องขันธ์ 5 เป็นอย่างมาก พุทธศาสนานั้นสอนว่าอัตตาไม่มี มีแต่องค์ประกอบมารวมๆ กันเป็นรูป-นามขึ้นโดยเหตุปัจจัย มิพักจะเอ่ยถึงพระเจ้าสร้างสรรพสิ่ง

ฮูม คิดไม่เหมือนล็อคเรื่องการไม่นับถือพระเจ้า เขาว่าพวกที่โจมตีการไม่นับถือพระเจ้า (อย่างชาวสยาม) มีธงอยู่ในใจแล้วว่าพวกนี้เป็นพวกป่าเถื่อนและไร้การศึกษา ซึ่งท่าทีนี้สะท้อนบันทึกของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสที่บันทึกถึงชาวสยามในทำนองว่า แม้เป็นพวกไม่นับถือพระเจ้า แต่มีความสุภาพเรียบร้อย

ล็อค เสนอแนวคิดเรื่องชาวสยามได้ไม่ตรงนักเพราะข้อมูลที่ได้ไม่เคลียร์ เขายังบ่นว่า สรุปแล้วคนสยามนับถือเทพยดาจำนวนมากมายมหาศาลเหมือนกับที่ บิชอปแห่งเบรุต (Bishop of Beryte) บันทึกไว้ หรือไม่นับถือพระเจ้าเอาเสียเลยเหมือนที่บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้กันแน่

มองดูสยามประเทศตอนนี้เราจะเห็นว่า ชาวพุทธมีทั้งระดับที่ถือเทพเจ้าเป็นที่พึ่ง ทั้งเทพสายพุทธสายพราหมณ์ ผีสางนางไม้ และพุทธในระดับที่มองเห็นว่าคนคือเทพ เทพคือคน สรรพสิ่งเป็นเพียงขันธ์ 5 มารวมๆ กันโดยเหตุและปัจจัย

นับวันกลุ่มหลังเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ
.
.
.
.

*ภาพ - เด ชัวซีย์ แต่งเป็นผู้หญิง จากนิตยสาร Le Musée des familles พิมพ์เมื่อปี 1855 จกาเว็บไซต์ Libération

**อ้างอิง
-Could David Hume Have Known about Buddhism? Charles Francois Dolu, the Royal College of La Flèche, and the Global Jesuit Intellectual Network An Essay Concerning Human Understanding By John Locke โดย Alison Gopnik

-François-Timoléon de Choisy, l’abbé habillé en femme

-M. l'Abbé de Choisy : Journal du Voyage de Siam fait en 1665 et 1686

-Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient Année 1930 Volume 30 Numéro 1

-LA FOLLE VIE DE L’ABBÉ ใน Libération

-An essay concerning human understanding โดย John Locke

5 มี.ค. 59 เวลา 15:04 1,678 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...